xs
xsm
sm
md
lg

กกร.หวั่นเอกชนกระอักดอกเบี้ยวอนคลังหาช่องทางช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - กกร.ถกรมว.คลังนอกรอบ วอนให้จัดหาสถาบันการเงินของรัฐปล่อยกู้ให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เตือนสติพิจารณาถึงผลกระทบให้รอบคอบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หวั่นNPLหวนกลับมา

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.)ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ได้มีการหารือร่วมกับนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังอย่างไม่เป็นทางการ โดยขอให้หาองค์กรต่างๆ เช่นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐ มาปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งในวันจันทร์ที่ 7 ก.ค.นี้จะมีการประชุมกกร. ก่อนนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อรมว.คลังต่อไป

สำหรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของไทย นายประมนต์ กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ย ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการปรับขึ้นกับไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า จะมีผลกระทบอย่างไร หากไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ภาวะเศรษฐกิจจะรับมือกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้หรือไม่ หรือหากจะปรับขึ้นดอกเบี้ย จะกระทบต่อภาระผู้ประกอบการมากเพียงใด

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบของเงินเฟ้อ จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจให้รอบคอบ และมองว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากต้นทุนน้ำมันเป็นหลัก

"เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมามาก เกิดจากต้นทุน ซึ่ง การขึ้นดอกเบี้ย ทั้งแบงก์ชาติและกระทรวงการคลังควรจะต้องดูในเรื่องของผลกระทบให้ดี ถ้าดอกเบี้ยสูงจะมีผลกระทบต่อลูกค้าที่กู้เงินอยู่ ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)จะกลับมาอีกหรือไม่ รวมทั้งผู้กู้อสังหาริมทรัพย์ทั้งรายใหม่และเก่า" นายสันติ กล่าว

ด้านนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่าการพิจารณาเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แต่ต้องพิจารณาผลกระทบทั้งในส่วนผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ย และผู้กู้เงินรายย่อย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีภาระดอกเบี้ยสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

"ตนตั้งใจที่ไม่ให้ความเห็นเรื่องดอกเบี้ย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องดูให้เหมาะสมทั้ง 2 ส่วน คือทั้งสังคม และการรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน"นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะใช้เป็นกลไกหนึ่งในการลดผลกระทบด้านต้นทุน ให้กับผู้ประกอบการในช่วงหนึ่ง ซึ่ง การเข้าไปดูแลจะขึ้นอยู่กับความผันผวนจากสถานการณ์โดยรวมว่าจะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงของลูกหนี้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น