xs
xsm
sm
md
lg

เขาพระวิหารต้องเสียไป แท้จริงอำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย

เผยแพร่:   โดย: ป. เพชรอริยะ

ผู้มั่นคงในอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างมีปัญญาควรสนใจเป็นพิเศษ จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเผด็จการมายาวนาน ย่อมละเลยเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน จึงทำให้อำนาจอธิปไตยด้านชาติอ่อนแอไปด้วยอย่างเป็นไปเอง และส่งผลระยะยาว ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบในหลายๆ ด้านและแต่ละด้าน ก็ยากที่จะแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ เช่น

1. กรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างเพื่อนบ้าน เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยตกเป็นเบี้ยล่างของประเทศเพื่อนบ้านมาตลอดไม่ว่าจะเป็นเขมร ลาว มาเลเซีย และพม่า อันนี้ย่อมเห็นชัดอันใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่ใครจะรู้สักกี่คนว่าเหตุที่แท้จริงเกิดจากประเทศเป็นเผด็จการ อำนาจอธิปไตยเป็นชนส่วนน้อย

2. กรณีเขาพระวิหาร รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงประกาศตั้งรัฐชาติ (Nation State) เมื่อ พ.ศ. 2434 ขอให้พวกเราเข้าใจอย่างถูกต้องว่า นับแต่ พ. ศ. 2434 เป็นต้นมา ที่ดินสยามหรือประเทศไทยทุกตารางนิ้วอันใครๆ ประเทศใดจะแย่งชิง หรือแบ่งแยกเอาไปไม่ได้ แผ่นดินไทยจำนวนมากที่ฝรั่งเศส ยึดเอาไปจากสยาม ในขณะที่อำนาจอธิปไตยของกัมพูชายังไม่มี พูดง่ายๆ รัฐกัมพูชายังไม่มีประเทศ เมื่อฝรั่งเศสถอยออกไป แผ่นดินซึ่งเดิมเป็นของไทยก็จะต้องกลับมาเป็นของไทย ไม่ใช่ของกัมพูชา แต่ผู้ปกครองในยุคนั้น ถึงยุคนี้มันอ่อนแอ ทั้งนี้เหตุที่แท้จริงคือประเทศไทยเป็นประเทศเผด็จการ อำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อยไม่ได้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง จึงส่งผลให้อำนาจอธิปไตยของชาติอ่อนแอตามไปด้วย เราขอบอกตามตรงเขาพระวิหารยังเป็นของไทย พร้อมทั้งมณฑลบูรพาด้วย (พระตะบอง เสียมราช และศรีโสภณ) ขอให้ผู้รักชาติทั้งหลายย้อนกลับไปดูอนุสัญญาโตเกียว ด่วน

3. ถูกครอบงำทางการเมือง
การเมืองปัจจุบันเป็นการเมืองที่เรียกว่า “ตัวเป็นไทยแต่ใจเป็นฝรั่ง” เมื่อถูกครอบงำทางการเมืองได้ การครอบงำด้านอื่นๆ อย่างเป็นไปเอง ก็จะส่งผลร้ายออกไปทุกทิศทาง ทั้งการครอบงำทางการเมือง, การปกครอง, เศรษฐกิจ, การศึกษา, สังคม, ประเพณีวัฒนธรรม ตามลำดับ

4. ความสำนึกที่ถูกละเลยในความเป็นชาติ ความเป็นคนไทย ผลที่ตามมาคือประชาชนไม่มีความมุ่งมั่น ไม่ขยันอดทน เรียนหนังสือหรือทำหน้าที่ไม่อุทิศตนให้กับประเทศชาติ ประชาชนขาดจิตสำนึก จึงดำเนินชีวิตอย่างตัวใครตัวมัน ไม่สอดส่อง ไม่สังเกต ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ไม่ช่วยกันยุติการกระทำที่เลวทราม ชั่วร้าย เป็นผลร้ายต่อเพื่อนร่วมชาติ เพิ่มความอ่อนแอให้กับประเทศชาติให้อ่อนล้าลงไปเรื่อยๆ

5. ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ เหตุที่จริงอันเป็นเงื่อนไขที่ดำรงอยู่ คือ อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง เหมือนลิงติดแห เพราะความโง่เขลาของรัฐบาล นั่นเอง เก่งแต่แก้ปัญหาปลายเหตุ ทุกรัฐบาลภายใต้ระบอบเผด็จการ “มีอำนาจ แต่ไม่มีประสบการณ์”

6. รูปธรรมที่เป็นผลจากอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน
ด้านอื่นๆ ที่เห็นกันได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงในเวลานี้คือ ยาบ้า แหล่งอบายมุขต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ปัญหาคอร์รัปชันทุกระดับชั้น ปัญหาความเห็นแก่ตัวของคนในสังคม ตลอดทั้งปัญหาสังคมทั้งหลายทั้งปวง ก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น เยาวชนบ้ากามตั้งแต่อายุน้อยๆ

ขอให้มีปัญญาอย่างถูกต้องว่า อำนาจอธิปไตยของปวงชน เป็นหลักการปกครองอันสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในการปกครองแบบสมัยใหม่ และในรูปแบบรัฐสมัยใหม่ที่เรียกว่า รัฐชาติ (Nation State) สำหรับประเทศไทยองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาความเป็นรัฐชาติไทยขึ้นในสมัยของพระองค์ (พ.ศ. 2434) เพื่อความเป็นปึกแผ่น ให้เกิดเอกภาพขึ้นแก่ประเทศ อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองของประเทศหรือรัฐ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่

(1) อำนาจอธิปไตยด้านชาติ คืออำนาจในการปกครองประเทศของตนอย่างอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากต่างประเทศ เป็นอำนาจที่สัมพันธ์อย่างอิสระระหว่างรัฐหรือประเทศต่างๆ

(2) อำนาจอธิปไตยของปวงชน อำนาจอธิปไตยด้านชาติจะเข้มแข็งหรือไม่เพียงไรขึ้นอยู่กับอำนาจอธิปไตยของปวงชน อำนาจอธิปไตยของปวงชนเข้มแข็ง อำนาจอธิปไตยด้านชาติก็จะเข้มแข็งด้วย จะไม่ถูกแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจ และนานาประเทศต้องเกรงขาม ในความเป็นเอกภาพของประชาชนภายในชาติ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าประเทศมีอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน หรือเป็นของชนส่วนน้อย จะทำให้อำนาจอธิปไตยด้านชาติอ่อนแอ ก็ถูกแทรกแซงได้ง่ายจากนานาประเทศ

ประเทศไทยตามสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย ถ้าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ก็ตาม นั่นเป็นการเขียน เพื่อตบตาลวงประชาชนค่อนประเทศ ส่วนกรรมกร เกษตรกร ชาวนา ไม่มีอำนาจอธิปไตย กลายเป็นประชาชนชั้นสอง เพราะเขาไม่สามารถที่จะมีผู้แทนในระบอบฯ นี้ได้ พวกเขาจึงไม่มีสิทธิอำนาจในการปกครองตนเอง แต่ถูกบังคับให้ไปเลือก ส.ส. การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงกระบวนการทางพิธีกรรมเพียงชั่ววูบเท่านั้น โดยหลอกว่าการเลือกตั้งคือระบอบประชาธิปไตย

โดยในทางที่ถูกต้องสมบูรณ์ประชาชนจะต้องมีสิทธิอำนาจในการปกครองตนเอง แต่เพราะไม่ถนัด หรือไม่พร้อมด้วยเหตุต่างๆ จึงได้เลือกตัวแทนของตน (ส.ส.) ไปทำหน้าที่แทนตนในสภา เสมือนตนเป็นผู้ทำหน้าที่เอง ในทำนองเดียวกับการที่เราได้แต่งตั้งทนายความ เพื่อเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ในคดีความฟ้องร้องต่างๆ แต่อำนาจสิทธิอันชอบธรรมยังเป็นของเราอยู่ นั่นเอง

ฉะนั้นอำนาจที่ระบอบการปกครองปัจจุบัน (ระบอบเผด็จการระบบรัฐสภา) รัฐบาล บังคับให้ประชาชนไปเลือกผู้แทน จึงเป็นกระบวนการที่เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นการหลอกลวงประชาชนค่อนประเทศ ทั้งเป็นการทำลายจิตสำนึกอันสูงส่งที่จะต้องรับผิดชอบต่อประเทศร่วมกัน พวกผู้ปกครองหลอกประชาชนมาตลอด การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่เป็นการบั่นทอน ทำลายประเทศชาติและประชาชน เลือกตั้งแต่ละครั้ง พวกเขาใช้เงินซื้อเสียงอย่างมหาศาล หวังอำนาจทางการเมือง แล้วเข้าไปทำการคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นชาติ กดขี่ ประชาชน จึงเรียกกระบวนการนี้ว่า กระบวนการทรยศต่อชาติ พวกผู้ปกครองรุ่นแล้ว รุ่นเล่า ไม่ต้องการให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เพราะกลัวประชาชนจะมีความสำนึกต่อประเทศชาติอย่างแรงกล้า พวกเขาก็จะคอร์รัปชัน, ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือโกงกินชาติบ้านเมืองไม่ได้ถนัด พวกเขาจึงต้องทำให้ประชาชนอ่อนแอลงๆ

ประเทศชาติ เป็นเรื่องของทุกคน การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคน จึงไม่ควรแบ่งฝ่าย และที่รัฐบาลไหนๆ ก็ล้มเหลวอย่างซ้ำซาก ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริงแล้ว รัฐบาลสมัคร และรัฐมนตรีจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะขายชาติ ต้องลาออกสถานเดียว เช่น นักการเมืองประเทศญี่ปุ่น

การปกครองแบบรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน เป็นการปกครองที่องค์พระมหากษัตริย์ ก็ทรงอยู่ใต้กฎหมาย ด้วยสิทธิอันชอบธรรมในฐานะพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ยังทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทางด้านองค์การปกครองคือทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้อย่างสมบูรณ์ เว้นแต่พระองค์ไม่ทรงใช้ จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยกับประมุขแห่งรัฐ
ย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ความเป็นลักษณะทั่วไป (Comprehensiveness) คือครอบคลุมทั้งประเทศ และ มีความเด็ดขาด (Absoluteness)มีความถาวร (Permanence)แบ่งแยกมิได้ (Indivisibility) และ มีลักษณะอำนาจทั่วไป (General power) คือครอบคลุมอำนาจอื่นๆ ที่ต่ำกว่าอำนาจอำนาจอธิปไตยทั้งหมด เช่น อำนาจทางนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อันเป็นอำนาจลักษณะเฉพาะ (Individual Power) ที่แตกต่างหลากหลาย และเป็นอำนาจที่มีอยู่อย่างชั่วคราว ตามวาระ เป็นต้น

ประมุขแห่งรัฐย่อมใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อแก้ไขเหตุวิกฤตสำคัญๆ ของชาติ ซึ่งองค์กรอำนาจอื่นไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น อำนาจในการยุติการจลาจลทางการเมือง, อำนาจในการยุติสงครามกลางเมือง, หรือสงครามระหว่างประเทศ, และ การใช้อำนาจในการแก้ไขเหตุวิกฤตแห่งชาติ ทั้งนี้โดย องค์ประมุขแห่งรัฐทรงใช้อำนาจในลักษณะเป็นธรรมสูงสุด โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งชาติเป็นสิ่งสูงสุด

องค์พระประมุขแห่งรัฐย่อมมีอำนาจลักษณะทั่วไป
ดังกล่าวแล้ว และอาจจะนำอำนาจดังกล่าวออกมาใช้ แก้ไขเหตุวิกฤตชาติ เมื่อคราวจำเป็นจริงๆ เรียกอำนาจดังกล่าวนั้นว่า “ธรรมาธิปไตย” ประมุขแห่งรัฐย่อมใช้อำนาจนั้นในคราวที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ในยามปกติ ก็ให้เป็นไปตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยกับประชาชน ถือกันโดยทั่วไปว่า ในรัฐสมัยใหม่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ประชาชนมีลักษณะเฉพาะ (Individual) อันแตกต่างหลากหลาย ผลในทางปฏิบัติที่จะสร้างความเป็นเอกภาพของประชาชน ให้มีความสำนึกรับผิดชอบในความเป็นชาติ เป็นรัฐ ได้นำไปสู่ความเป็นเอกภาพรวมทั้งประเทศ จึงต้องรวมศูนย์อำนาจอธิปไตย หรือ เอกภาพแห่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนตามลักษณะพิเศษของประเทศไทย ได้รวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ (แห่งราชอาณาจักร) นั่นเอง

ฉะนั้นผู้รับผิดชอบต่อประเทศหรือผู้ปกครอง ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน มีความจริงใจต่อประเทศอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะไม่ละเลยเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชน


การสร้างจิตสำนึกต่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อันเป็นอำนาจที่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วยังนับว่าน้อยมาก

ปัญหาอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน เป็นปัญหาหลัก เป็นปัญหาพื้นฐานของชาติที่สำคัญยิ่งยวดอีกข้อหนึ่ง อันเป็นเหตุแห่งความวิกฤตทั้งปวงของชาติ ใครเล่า? จะแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วงผ่านพ้นไปได้ เพื่อความสงบสุขร่วมกันของปวงชนไทย มีเพียงสถาบันหลักของชาติเท่านั้น โดยพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา หลักการปกครองโดยธรรม เป็นธรรมาธิปไตย คือการสร้างความถูกต้อง สร้างความเป็นธรรม สร้างอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน สร้างเสรีภาพของปวงชน สร้างความเสมอภาคของปวงชน สร้างภราดรภาพ ดุลยภาพ เอกภาพ และหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในแผ่นดินอย่างเป็นรูปธรรม สมดัง พระปฐมบรมราชโองการว่า.. “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง ก้าวหน้า มั่นคง อันบุคคลสำคัญไม่ต้องนอนก่ายหน้าผากอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น