xs
xsm
sm
md
lg

จอห์น ล็อก กับสิทธิในการปราบรัฐบาลที่เป็นขบถ

เผยแพร่:   โดย: สมบัติ จันทรวงศ์

หลักคำสอนทางการเมืองของจอห์น ล็อก ที่ให้แก่ผู้มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย มีอยู่สั้นๆ ว่า รัฐบาลที่ชอบธรรมทั้งปวง มีอำนาจที่จำกัด และดำรงอยู่ได้ด้วยความยินยอม (consent) ของผู้อยู่ใต้ปกครอง รากฐานของคำสอนนี้ คือหลักการที่ว่ามนุษย์เกิดมามีเสรี ซึ่งก็อยู่บนหลักการสากลที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันอีกทีหนึ่ง หลักการของล็อกที่ว่าด้วยความเป็นอิสระและเสมอภาคกันของมนุษย์นี้ ถูกทำให้แพร่หลายไปทั่วโลกโดยโธมาส เจฟเฟอร์สัน ผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา เมื่อ 13 อาณานิคมเดิมของอังกฤษ ประกาศตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776

เจฟเฟอร์สัน กล่าวว่า ความจริงที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกันนี้ เป็นความจริงที่ประจักษ์แจ้งในตัวเอง (self-evident truth) ซึ่งหมายถึงว่ามันเป็นจริงโดยตัวเอง และโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีใครยอมรับว่าเป็นความจริงหรือไม่ ความเสมอภาคนี้ หมายความต่อไปด้วยว่า ระหว่างมนุษย์ด้วยกันแล้ว ไม่มีข้อแตกต่างใดๆ โดยธรรมชาติ อย่างที่อาจเห็นได้ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (เช่น ระหว่างคนกับสุนัข) ที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งอ้างตัวเองว่าเหนือกว่าคนอื่นๆ ได้เลย

ความเป็นเสรีและความเสมอภาคของมนุษย์นี้ หมายความว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์ไม่ได้อยู่ในสังคมที่มีรัฐบาล ที่มีการปกครอง (สังคมการเมือง) โดยธรรมชาติ สภาพธรรมชาติ (state of nature) เป็นสิ่งที่มีมาก่อนสังคมการเมือง ในสภาพธรรมชาติ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีการปกครอง ไม่มีรัฐบาล มีแต่กฎแห่งธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนมีความเป็นอิสระ และไม่ขึ้นแก่ใครทั้งสิ้น มนุษย์มีสิทธิ มีอำนาจโดยธรรมชาติที่จะกระทำการใดๆ ก็ตาม ที่ตนเห็นว่าเหมาะสมในการปกปักรักษาตนเองและผู้อื่น และมีสิทธิ มีอำนาจที่จะลงโทษการกระทำผิดใดๆ ตามกฎแห่งธรรมชาติ การแปรเปลี่ยนจากสภาพธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีความเป็นอิสรเสรี และความเท่าเทียมกัน แต่มีความไม่แน่นอนสูง ไปสู่สังคมการเมืองที่มนุษย์จะถูกปกครองโดยผู้อื่น จึงเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่โดยความยินยอมของมนุษย์เท่านั้น สัญญาประชาคม (social contract) คือข้อตกลงที่จะถ่ายโอนอำนาจต่างๆ ที่มนุษย์แต่ละคนมีในสภาพธรรมชาติ ให้ไปอยู่ในมือของสังคมการเมืองแทน ด้วยประสงค์ให้เป็นการแก้ไขความไม่แน่นอนและอันตรายของสภาพธรรมชาติ

แต่โดยเหตุที่มนุษย์มีความเป็นอิสรเสรีและเสมอภาคกันโดยธรรมชาติ ความจริงนี้จึงเป็นตัวกำหนดว่าสังคมการเมืองดำรงอยู่เพื่อวัตถุประสงค์อะไร และโดยหลักการเดียวกัน ความจริงนี้ก็เป็นตัวกำหนดว่า สิทธิหรืออำนาจอะไรบ้าง ที่มนุษย์อาจถ่ายโอนให้กับสังคมการเมืองไป และสิทธิหรืออำนาจอะไรบ้างที่มนุษย์ไม่อาจยินยอมถ่ายโอนออกไปจากตัวได้ หรือที่เจฟเฟอร์สันเรียกว่าสิทธิอันมิอาจเพิกถอนได้ (unalienable rights) เช่น สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อำนาจที่ยุติธรรมในการปกครองจะต้องมาจากความยินยอมที่รู้แจ้งเห็นจริง (enlightened consent) จากผู้ที่เข้าใจในความเสมอภาคโดยธรรมชาติอย่างถ่องแท้ การยินยอมให้ผู้ปกครองอย่างฮิตเลอร์มีอำนาจโดยไม่จำกัด ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ว่าเป็นความยินยอมในความหมายนี้ เพราะฉะนั้น หลักการเรื่องความเสมอภาคกันของมนุษย์ จึงเป็นทั้งตัวกำหนดที่มาของอำนาจอันยุติธรรมของรัฐบาล ว่าต้องมาจากความยินยอม และเป็นทั้งตัวกำหนดว่ารัฐบาลที่ชอบธรรมจะต้องเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด

ในทางทฤษฎี การตกลงกันในหมู่มนุษย์ให้เกิดสังคมการเมือง (เมื่อมนุษย์ออกจากสภาพธรรมชาติ) ย่อมเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการจัดตั้งรัฐบาลที่ชอบธรรม โดยความยินยอมของพลเมือง แต่ในขณะที่การก่อเกิดสังคมการเมืองโดยสัญญาประชาคม ต้องเป็นไปโดยเอกฉันท์ การก่อตั้งรัฐบาล การดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาล ย่อมไม่อาจอาศัยความเป็นเอกฉันท์ได้ เสียงข้างมากในสังคมจึงเป็นผู้ปกครองที่ชอบธรรม ล็อกแยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างอำนาจทางการเมืองที่ต้องถือว่ามีอำนาจสูงสุด คือฝ่ายนิติบัญญัติกับรัฐบาล หรือฝ่ายบริหารที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย (trust) มาเท่านั้น

ล็อกยอมรับว่า บางครั้งในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร รัฐบาลอาจต้องดำเนินการเหนือกฎหมายหรือนอกกฎหมาย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหาร ในสภาวะเช่นว่า ลักษณะภายนอกของทรราชและเจ้าผู้ปกครองที่ดี อาจไม่แตกต่างกัน แต่ในขณะที่ทรราชปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เจ้าผู้ปกครองที่ดีจะกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ประชาชนจะบอกได้อย่างไรว่า เมื่อใดที่ผู้ปกครองของพวกเขา ปกครองเพื่อตนเอง หรือเพื่อผู้อยู่ใต้ปกครอง คำตอบของล็อกก็คือ ประชาชนจะวินิจฉัยได้เอง มิใช่ด้วยการให้เหตุผลใดๆ

แต่ด้วย “ความรู้สึก” ประชาชนจะรู้สึกได้เองว่าเมื่อใดที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้อำนาจดังกล่าวไปในทางที่ตรงกันข้ามกับการมอบหมายของประชาชน นี่หมายความว่า แม้แต่รัฐบาลที่มีที่มาอย่างชอบธรรม คือได้อำนาจอันยุติธรรมมาตามความยินยอมของประชาชน ก็อาจดำเนินการอย่างไม่ยุติธรรม หรืออย่างที่ไม่ได้รับการยอมรับโดยประชาชนในภายหลังก็เป็นได้ (อย่างที่เจฟเฟอร์สันทำให้ปรากฏชัดในคำประณามการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลอังกฤษในคำประกาศอิสรภาพอเมริกัน) ถึงแม้ว่าทั้งล็อกและเจฟเฟอร์สันจะเห็นตรงกันว่า ปกติแล้วประชาชนจะมีความอดทนสูง ต่อการใช้อำนาจไปในทางที่ผิดดังกล่าว

แต่เมื่อผู้มีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยที่ผู้รับภาระคือประชาชน เมื่อนั้น เขาทำให้ผลประโยชน์ของเขาแปลกแยกออกไปจากผลประโยชน์ของประชาชน ผู้ปกครองเช่นว่า แยกตัวเองออกจากสังคมการเมืองนั้น เขาเอาตัวเองกลับไปสู่สภาพธรรมชาติ และเมื่อเขาใช้กำลังต่อประชาชนโดยไม่มีสิทธิ เมื่อนั้นเขาย่อมอยู่ในสภาพสงครามกับประชาชน ในการทำสงครามกับประชาชนของตนเอง ผู้ปกครองซึ่งกลายเป็นทรราชทำลายล้างรัฐบาลของประชาชนเสียเอง เขาไม่ใช่ผู้ปกครองอีกต่อไปแล้ว ในกรณีเช่นนั้น ประชาชนมีสิทธิโดยธรรมชาติที่จะป้องกันตนเอง

ยิ่งกว่านั้น การขัดขืนต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลดังกล่าว ยังเป็นการปกปักรักษาสังคมการเมืองของพวกเขาไว้ด้วย รัฐบาลที่หันมาทำลายสิทธิต่างๆ ที่สังคมการเมืองถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปักรักษา คือผู้ที่ก่อการขบถ ไม่ใช่ประชาชน ข้อสำคัญได้แก่การที่ล็อกกล่าวว่าสิทธิที่จะปราบรัฐบาลซึ่งเป็นขบถนั้น ไม่ใช่สิทธิทางการเมือง แต่เป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่มาก่อนการเมือง เมื่อวิเคราะห์กันให้ถึงที่สุดแล้ว สิทธิโดยธรรมชาติของประชาชนที่จะแข็งขืนและปราบปรามรัฐบาลที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน ยิ่งกว่าประโยชน์ของผู้อยู่ใต้ปกครอง รัฐบาลที่กลายเป็นพิษเป็นภัยแก่เสรีภาพของประชาชน คือเครื่องมืออย่างเดียวที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุด ในการจำกัดอำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย หรือกรอบทางรัฐธรรมนูญใดๆ ทั้งสิ้น (เจฟเฟอร์สันเองถึงกับกล่าวว่า การต่อต้านการใช้อำนาจที่ผิดอย่างรุนแรงจนถึงขนาดเสียเลือดเนื้อเป็นครั้งคราวนั้น เป็นผลดีต่อการปลุกสำนึกในเรื่องเสรีภาพไว้ไม่ให้เฉื่อยชาไป)

โดยสรุป ล็อกเสนอว่า ด้วยปรารถนาที่จะปกปักรักษาชีวิต เสรีภาพของตนไว้ มนุษย์จึงออกจากสภาพธรรมชาติสู่สังคมการเมือง แต่ในสังคมการเมือง เขากลับต้องเผชิญกับภัยอันตรายที่อาจร้ายแรงยิ่งกว่าสภาพสงครามในสภาพธรรมชาติเสียอีก เพราะสงครามที่ระบอบทรราชนำมาสู่ประชาชนนั้น เกือบเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้เลย ในภาวะปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ว่า มันเกือบเป็นสิ่งที่ป้องกันไม่ได้เลย ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่เกือบมองไม่เห็น หรือบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ประชาชนหลงเชื้อเชิญมาเอง เช่น กรณีการยินยอมให้ฮิตเลอร์ขึ้นครองเยอรมนี โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในแง่นี้ คำสอนของล็อก เรื่องที่มาอันถูกต้องของอำนาจทางการเมืองที่ยุติธรรม และรัฐบาลที่ต้องมีอำนาจจำกัด จึงเป็นสิ่งที่เราสมควรต้องกลับไปพิจารณาอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น