xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโปงเส้นทางขายชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชาธิปัตย์ ตะเพิด"หมัก- นพดล" พ้นเก้าอี้ หลังเสียค่าโง่เขมร ทำไทยเสียอธิปไตย ปราสาทเขาพระวิหารอย่างถาวร "อภิสิทธิ์" ซัด"หมัก" เนรคุณผู้ให้กำเนิดทางการเมือง มุ่งสนองคุณ"แม้ว" เป็นหลัก หยันแค่มือสมัครเล่น อดสู รมว.ต่างประเทศของไทย เป็นทนายเขมร เปิดช่องให้ฮุบเขาพระวิหาร ลุกลี้ลุกลนรีบเซ็นแถลงการณ์ร่วม ทั้งที่อยู่คนละทิศละทาง แฉมีผลประโยชน์ทับซ้อน ช่วยนายทุนใหญ่สร้างศูนย์บันเทิงครบวงจร เรียกร้องให้ ส.ส.ทุกคนสวมวิญญาณคนไทยรักแผ่นดิน โหวตไล่ ให้ชาวโลกได้รู้ว่า คนไทยคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ด้าน"หมัก" ลมออกหู ตอบไม่ตรงคำถาม อัดเด็กเมื่อนวานซืน อยากเป็นนายกฯ ยันไม่เคยเนรคุณ "ม.ร.ว.เสนีย์" คุยทับมีบุญคุณท่วมหัว"แม้ว" ขณะที่ครม.ทบทวนมติ ตบตาเรียก"แผนที่" เป็น"แผนผัง" หวังลดกระแสต้าน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรี อีก 7 คนประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.พาณิชย์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น.วานนี้ (24 มิ.ย.)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน ได้เริ่มการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพุ่งเป้าไปที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กรณีการปล่อยให้ประเทศไทยหมดสิทธิ์ในการคัดค้านการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร ของประเทศกัมพูชาว่า แม้ตนจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์คดีเขาพระวิหาร เมื่อปี 2505 แต่ไม่ได้แปลว่าไม่รู้เรื่อง แต่ที่ตนไม่เชื่อคือ ความพยายามที่จะเบี่ยงเบน และกลบเกลื่อนความเสียหายในวันนี้ ทำให้นายกฯ ถึงขั้นกล่าวหา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคของตนเอง ซึ่งเป็นคนที่รับเข้าสู่การเมืองระดับชาติให้เป็นลูกทีมในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกว่า ที่ไทยแพ้คดีตั้งแต่ปี 2505 นั้น ทนายความ ไปรับแผนที่ จึงเป็นเรื่องที่ทำให้แพ้คดีสูญเสียเขาพระวิหาร แม้ตนจะอายุไม่มากเท่านายกฯ แต่เล่นการเมืองแบบมีหลัก มีแหล่ง มีรากฐาน คือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คนจรจัด เร่ร่อนทางการเมือง และได้รู้ความเป็นมาของประวัติของพรรค และมีหนังสือของ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่เขียนเรื่องนี้อยู่ในมือด้วย

จวก “หมัก” บิดเบือนหลังเสียรู้เขมร

นายอภิสิทธิ์ อภิปรายพร้อมแสดงแผนที่ประกอบด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ประเทศไทยมีสนธิสัญญา ยึดถือว่าเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา จะใช้สิ่งที่เรียกว่า สันปันน้ำในการแบ่งเขตแดน ฉะนั้นเราจะยึดถือตามสนธิสัญญา ส่วนปราสาทพระวิหารอยู่บนหน้าผา เราก็ยึดถือเข้าใจยืนยันมาตลอดว่า สิ่งที่อยู่บนหน้าผาทั้งหมดและดินแดนที่อยู่ทางเหนือตรงนั้นเป็นของเรา แต่กัมพูชาไปอ้างแผนที่ ที่มาจากการตั้งคณะกรรมการผสม แล้วต่อมาก็มีคนในคณะกรรมการบางคน พยายามไปจัดทำแผนที่อ้างว่าไปดูสันปันน้ำ บังเอิญช่วงนั้นคนไทยไม่มีความเชี่ยวชาญ ทางฝรั่งเศส จึงนำไปทำ สิ่งที่อยู่บนหน้าผาทั้งหมดเลยกลายเป็นของกัมพูชา ซึ่งความจริงเป็นแผนที่ภายในของไทย แต่ให้ฝรั่งเศสไปทำ แต่พอตกไปถึงมือฝ่ายกัมพูชา เลยไปร้องต่อศาลโลก ว่าปราสาทพระวิหาร เป็นของเขา ขณะที่คนไทยยังเชื่อว่า เป็นของไทย เพราะทางขึ้น หรือบันไดนาค อยู่ฝั่งไทย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างที่นายกฯบิดเบือนที่ว่า ทีมทนายไทย ไปยอมรับแผนที่เส้นสีแดง ( นายอภิสิทธิ์ ยกแผนที่มาประกอบการอภิปราย ) ก็เลยทำให้เราแพ้คดีไปนั้นไม่ใช่ ทีมทนายความฝ่ายไทยทั้งหมด ซึ่งมีทั้งชาวต่างประเทศ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ข้อต่อสู้หลักของเราก็คือ ไม่ยอมรับแผนที่ เพราะเป็นเรื่องภายใน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะไปใช้เป็นเขตแดนอ้างอิง และเราไม่เคยยอมรับความถูกต้องว่า แผนที่ที่ให้ไปทำตามสันปันน้ำตรงกับข้อเท็จจริง แต่ที่แพ้คดี เพราะศาลโลกบอกว่า จะดูว่าไทยรับแผนที่หรือไม่ โดยดูจากการกระทำในอดีตของรัฐบาล นับร่วม 50 ปี ที่รับเอาแผนที่ที่ให้ส่งมาให้รัฐบาลไทย โดยไม่ทักท้วง

“โชคดีอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือศาลโลกไม่เคยตัดสินในเรื่องของเขตแดน แม้จะบอกว่าประเทศไทยยอมรับ แต่มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ศาลโลกได้ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารอยู่บนพื้นที่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา 2.ให้ไทย ถอนกำลัง ที่อยู่ในที่ตรงนั้น และ 3.อะไรที่คนไทยได้เอาไปจากตัวปราสาท หรือบริเวณปราสาท ต้องคืนไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายอภิสิทธิ์ อภิปรายมาถึงช่วงนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ได้ลุกขึ้นประท้วง และเสนอให้มีการอภิปรายลับ โดยอ้างว่าข้อมูลที่นำมาอภิปรายเป็นเรื่องสำคัญอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เสียงรับรองไม่ถึง 1 ใน 4 ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าจะใช้ความระมัดระวังในการอภิปราย เพราะไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลสาธารณะ สามารถหาได้จากเวปไซต์ของทางศาลโลก

สลดใจ รมต.ไม่รักแผ่นดินเกิด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บริเวณปราสาทปรากฏอยู่เฉพาะในคำตัดสิน ข้อที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องการคืนของ แต่คำตัดสินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตย คือปราสาท แต่รัฐมนตรีพยายามชี้แจงหลายเวทีว่า พอศาลตัดสินอย่างนั้น เราก็เลยไปกำหนดเขตแดนตามมติ ครม.2505 ซึ่งไม่มีที่ไหนเขาขีดเขตแดนโดยมติครม. เพราะสามารถเปลี่ยนมติได้ ซึ่งพอศาลตัดสิน รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ได้ออกหนังสือถึงนายกฯในขณะนั้นว่า ไทยอาจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกในบางส่วน แต่การปักหลักเขตแดนเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาเกี่ยวกับบริเวณพระวิหารนั้น น่าจะทำได้ เมื่อกัมพูชาขอมาและด้วยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย บันทึกลงวันที่ 27 มิ.ย. 2505 และมีการนำเรื่องเข้าประชุมจนมีมติออกมาวันที่ 10 ก.ค.2505

“จุดยืนของไทยชัด คือเราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลโลก ประท้วง และสงวนสิทธิ์ แต่ในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ เราจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก ครม. เลยบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตาม กำหนดแนวปฏิบัติไว้ ว่า จะต้องถอยออกมาอย่างไร ซึ่งศาลตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาท แต่ มติ ครม.2505 เป็นเรื่องของพื้นที่ และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติให้เห็นว่า เราไม่ได้ฝ่าฝืนสิ่งที่ศาลโลกสั่ง และไม่ให้เกิดความขัดแย้ง รมว.ต่างประเทศได้ทำบันทึกไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อประท้วงคำพิพากษาดังกล่าว”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการเขียนเอาไว้ การขอทบทวนคำพิพากษานั้น จะต้องทำภายใน 10 ปี นับจากวันที่มีคำพิพากษา แต่ความหมาย เกี่ยวกับขอบเขตของคำพิพากษานั้น ไม่มีอายุความ รัฐมนตรียืนยันได้อย่างไรว่า วันข้างหน้าจะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นมา ที่ทำให้เราสามารถไปใช้สิทธิ์ของเราเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่นี้ทั้งหมด และตราบเท่าที่เรายังไม่สละสิทธิ์ตรงนี้ สิทธิของการทักท้วงยังอยู่ แต่ที่รัฐบาลทำไป เป็นการสละสิทธิ์ครั้งแรกที่นึกไม่ถึงว่าคนที่จะหยิบยกเรื่องอายุความ 10 ปีนั้น จะเป็น รมว.ต่างประเทศของไทย ถ้ามาจากทนายของรัฐบาลกัมพูชา ตนจะเชื่อ เพราะคนเป็นรัฐมนตรีไทยนั้น ต้องรักษาผลประโยชน์ของคนไทย หยิบยกเฉพาะข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับไทยขึ้นมา

“ผมเคยเตือนว่า มาเป็นรัฐมนตรี ยุติบทบาท ทนายของอดีตนายกฯ ท่านเลยไปเป็นทนายให้กัมพูชา ไม่ใช่เรื่องเลยครับ ตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำอะไรไปลบล้างข้อสงวนในปี 2505 สิทธิของเราก็จะยังดำรงอยู่ แต่จะได้คืนมาหรือไม่ ขึ้นกับข้อเท็จจริงที่จะปรากฏขึ้นในอนาคต และการใช้สิทธิตามกฎหมายและกฎหมายระหว่างประเทศ”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รมว.ต่างประเทศ คิดว่าตัวเองเป็นพระเอก แต่ได้หลงเดินผิดทาง ก็เลยมานั่งกังวลว่า ให้เขากลับไปปรับแผนที่ และแผนผัง และมาบอกว่าให้เขาจดเฉพาะตัวปราสาท แล้วให้เขาทำแผนที่ แผนผังมาอย่างพยามรีบร้อน แล้วก็อ้างว่าจะเอาแผนที่มาตรวจ ว่าเป็นไปตามความเป็นจริง รีบขนาดว่า พอกัมพูชาบอกว่าพื้นที่อื่นๆ เขาจะตีนเส้นรอบปราสาท ส่งพิกัดมาให้รัฐมนตรี เมื่อเขาทำมา รัฐมนตรีเอาไปเทียบกับมติ ปี 2505 มีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ประมาณ 38 ตารางวา เลยบอกว่าตรงนี้ให้ตัดออก เขาก็ตัดตรงนี้

“ผมไม่เถียง แต่ว่าท่านคิดว่า ท่านแก้ปัญหาได้ 38 ตารางวา แต่ผมไม่รู้ว่าสูญเสียไปกี่ตารางกิโลเมตร และที่แปลกกว่านั้นคือ วันที่ท่านเอาพิกัดให้ทางทหารไปตรวจสอบดูเขาทำกลับมาให้ท่าน ท่านยังไม่สนใจแม้แต่จะดูรายละเอียด ว่าเวลาที่เขาไปตรวจพิกัดหรือว่าหมุด หรือจุดที่ 10 และ 11 เขาบอกว่าตรงนั้นอยู่ตีนบันได บันไดชนเลยครับ แต่เวลาที่กัมพูชาวาดให้ท่าน มันเลยจากบันไดออกมา ก็ไม่สนใจ รีบร้อนกันจนคลาดเคลื่อนอย่างไรก็ไม่สนใจที่จะสอบถาม หากเขาบอกว่ามาถึงแค่บันไดในการแก้ปัญหาชุมชนที่อยู่หน้าบันไดก็จะง่าย แต่เวลานี้ไม่ว่าจะแผนที่ แผนผัง รูป ที่ท่านไปยอมรับแล้ว คนดูก็เข้าใจว่าพื้นที่ข้างหน้าตรงนั้น เป็นของกัมพูชาไปแล้ว จะให้ไว้วางใจต่อไปได้อย่างไร”

นอกจากนี้ การ ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ก็มีความน่าทึ่งในตัวของมันเอง คือ ลงเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เซ็นโดยรองนายกฯ ของกัมพูชา รมว.ต่างประเทศ และผู้แทนของยูเนสโก คนหนึ่งเซ็นที่พนมเปญ แต่อีกคนหนึ่งเซ็นที่กรุงเทพฯ และอีกคนเซ็นที่ปารีส รีบกันมาก ขอให้ส่งเป็นไฟล์ทางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้เซ็น แล้วก็ใช้ชื่อว่า แถลงการณ์ร่วม เจตนาเพื่อที่จะไม่ให้เอาเข้าสภาฯ โดยอ้างว่าเป็นแถลงการณ์ร่วม ไม่ใช่สัญญา ซึ่งถ้าไม่ใช่สัญญาก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

ยอมปกปิด ปชช.กลัวสมเด็จเขมรกริ้ว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทิศเหนือ และทิศตะวันตก ของตัวปราสาท หากเป็นเขตไทยการที่เขายังไม่กำหนดเขตตรงนี้ ต้องประนีประนอม ในบันทึกที่ส่งมาถึงไทย เขาไม่ได้เรียกแม้แต่ว่าทับซ้อน แต่เขายืนยันว่าเป็นของเขา และท่านก็ไปเขียนแถลงการณ์ร่วมแบบนี้ ฉะนั้นไม่ใช่แค่ตัวขอบปราสาทเท่านั้น ปัญหาคือ การบริหารจัดการพื้นที่เป็นของไทย ปัจจุบันตามสันปันน้ำต่อไปนี้เขามีสิทธิ์เข้ามาร่วมบริหารจัดการ และบริหารจัดการอย่างไร ทางยูเนสโกจะคุยกับกัมพูชา โดยไม่ต้องคุยกับไทย

นอกจากนี้ในข้อ 3 ยังบอกว่าให้ใช้แผนที่แนบท้ายแทนแผนที่ แผนผังอื่นๆ ที่เคยเสนอไป รัฐมนตรีชี้แจงกับคนไทย ก็จะดูตรงขอบปราสาท แล้วจะตีเส้นตามปี 2505 เพื่อที่จะบอกว่า ไม่มีความเกินเลย แต่ รัฐมนตรีกล้ายืนขึ้นแล้วบอกว่า ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศตะวันออกไม่ใช่ของคนไทย วันนี้ท่านไปรับแผนที่ แล้วให้เหตุผลว่า เรื่องมรดกโลก ไม่เกี่ยวกับเรื่องเขตแดน แต่ท่านก็รับแผนที่ไปแล้ว เป็นการซ้ำรอยกับการแพ้คดีของปี 2505

ส่วนข้อ 4 พื้นที่ด้านตะวันตก ทิศเหนือของไทย ที่ว่าขณะนี้คณะกรรมการปักปันเขตแดนยังทำงานไม่เสร็จ ซึ่งผู้เชียวชาญบอกว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี แต่กลับไปตกลงกับเขาว่า ภายในปี 2553 ไทยและกัมพูชา ต้องเสนอแผนการจัดการบริเวณพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ตนถือว่าเป็นการไปยอมรับเรื่องแผนที่ และยอมรับสิทธิของกัมพูชา ในการบริหารจัดการในเขตของชายแดนไทย และซ้ำร้ายยังเอายูเนสโก มาเป็นพยานให้อีกด้วย ทุกคนถึงตกใจ กับความกล้ากันขนาดนี้ ตกใจว่าใครก็ตามที่พยามที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทย ท่านก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้าง ไม่รู้ว่าเป็น การกระทำของรัฐมนตรี คือที่มาของความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทำให้ทั้งฝ่ายไทย และฝ่ายกัมพูชา จะเกิดความไม่พอใจ

“เหตุผลนี้ผมถือว่าหนึ่ง ท่านหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญไม่เอาหนังสือสัญญาที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของไทย มาผ่านสภาฯ และผ่านการให้ข้อมูล กับความเห็นชอบของประชาชน ข้ออ้างท่านข้อเดียวคือ ไม่เปิดเผยอะไรเลย เสนอกี่ครั้งก็วาระจร ลับ เก็บหมดเลย โดยให้เหตุผลว่า กลัวว่าชาวกัมพูชาโกรธ ถ้าเพื่อ ส.ส.เป็นตัวแทนฯคนไทย สิ่งหนึ่งที่ทำได้เลยเพื่อช่วยเรา บอกกับยูเนสโกว่า เราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ คือการไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี ที่เคยบอกว่าเสียไปหนึ่งบาท วันนี้ขอหนึ่งเสียง ที่จะบอกว่าเรายังสงวนสิทธิ์อยู่ ไม่ได้ไปรุกราน ไม่ได้ไปทะเลาะกับเพื่อนบ้าน แต่ว่าใช้สิทธิอันพึงมีกับกฎหมายที่รัฐบาลทุกชุดได้ปฏิบัติมา”

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หาก 4 เดือนที่ผ่านมาเป็น 4 เดือนที่ครม.ทดแทนบุญคุณของประเทศ พวกตนไม่มายืนตรงนี้ แต่ ถ้าทดแทนบุญคุณใครไม่รู้ แต่กระทบกระเทือนต่อประเทศ พวกตนยอมไม่ได้ และที่มีข้อสงสัยว่ามีเหตุผลจูงใจอะไร หรือมีผลประโยชน์แอบแฝง โฆษกของทางกัมพูชา เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อไม่นานนี้ว่า อดีตนายกฯไทยกำลังไปทำธุรกิจใหญ่ในเกาะกง ไม่ใช่โรงไฟฟ้าตามที่นายกฯพูด แต่จะเนรมิตให้เป็นศูนย์บันเทิงครบวงจร

“เรื่องของประเทศ มือสมัครเล่นไม่ได้ และวันที่นายกฯสมัครไปหารือกับกัมพูชาเรื่องเขตแดนใต้ผืนทะเล จะพูดอะไรก็พูด แต่อย่าเอา ปตท.ส่วนผลิต ไปขอสัมปทานข้างล่าง เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่า เป็นที่ของเขา ท่านก็อุตส่าห์เผลอพูดไปด้วย เหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ผมไว้วางใจท่านไม่ได้ และที่ผมไม่อยากเชื่อคือว่า ความเสียหายร้ายแรงขนาดนี้ ที่ท่านทำได้ กลับเบี่ยงเบนประเด็น มากล่าวหาอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมเรียนว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำอะไรผิด ในเรื่องนี้ มีเรื่องเดียวครับ คือ ทำให้สองท่านนี้เกิดทางการเมือง (สมัคร สุนทรเวช , นพดล ปัทมะ) และบุญคุณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ แผ่นดิน ท่านจะเนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่จริงที่ท่านจะเนรคุณ พ.ต.ท. ทักษิณ ซะครึ่งหนึ่งที่เนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผมว่าบ้านเมืองจะไปได้ดีกว่านี้”

เมื่อมาถึงช่วงนี้ ส.ส. พลังประชาชนได้ประท้วงให้ถอนคำว่าเนรคุณ ทำให้นายชัย ได้ขอให้นายอภิสิทธิ์ ถอนคำพูดดังกล่าว ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ยอมถอน และว่า หากนายสมัครเดินหน้าตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน เพื่อพี่น้องประชาชน ปัญหาบ้านเมืองจะค่อยๆ หมดไป ประชาชนก็จะให้โอกาส แต่ถ้าการทำงานยังสร้างปัญหาความขัดแย้ง ความคลางแคลงใจว่าทำงานเพื่อใคร บ้านเมืองไม่มีทางสงบ ด้วยเหตุผลทั้งหลายที่ได้กราบเรียนมา และจะมีสมาชิกอีกจำนวนมากลุกขึ้นมาอภิปรายขยายความต่อไป พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า 4 เดือนที่ผ่านมาเพียงพอแล้ว ที่จะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พวกตนไม่ไว้วางใจนายกฯ รมว.ต่างประเทศ และรัฐมนตรีอีก 6 คนอีกต่อไป

“หมัก” ไม่ยอมรับเป็นคนเนรคุณ

จากนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนไม่เคยเนรคุณ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะม.ร.ว.เสนีย์ เป็นอาจารย์ของตน นายอภิสิทธิ์ สมควรแล้วที่พูดผิดแล้วถอน นอกจากนี้ที่กล่าวหาว่าการทำงานของรัฐบาล 4 เดือนที่ผ่านมา ตนทดแทนบุญคุณอดีตนักการเมืองที่เสียประโยชน์ ขอชี้แจงว่า ตนเป็นคนที่มีบุญคุณต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องตอบแทนบุญคุณตน

“ส่วนที่เขียนญัตติมายาวเหยียด รวมถึงเรื่องเขาพระวิหาร ไม่รู้ว่า พูดอะไรกันนักหนา ตอนเกิดเหตุเมื่อปี 2505 ผมอายุ 29 ปี อายุห่างกับผู้นำฝ่ายค้านเยอะ แต่ไม่เป็นไร จะพูดอย่างไรผมฟังได้ ในสภามีคนละเสียงเท่ากัน แต่การจะมาอบรมบ่มนิสัยกันแบบนี้ พ่อแม่ผมสั่งสอนว่า ไม่ให้ไปดูแคลนใครโดยไม่มีเหตุผล แต่วันนี้ ผมโดนคนอายุ 40 กว่าๆ ดูแคลนโดยไม่มีเหตุผล นึกหรือว่า คนอายุ 73 ไม่รู้เรื่องที่ยกกันมาพูด เพราะข้อเท็จจริงคือ ไทยแพ้คดีความ และ ยอมมา 45 ปีแล้ว แต่รัฐบาลก็สงวนสิทธิ์ มาวันนี้ที่ทำมาทั้งหมดกระทรวงต่างประเทศไม่ได้เป็นพวกรัฐบาลประชากรไทย”

ยังตะแบงไทยไม่เสียดินแดน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถึงตรงนี้ที่นายสมัคร พูดชื่อพรรคผิด ทำให้สมาชิกที่นั่งในห้องประชุม ส่งเสียงฮือฮาเล็กน้อย แต่นายสมัคร ก็ไม่ได้ตกใจ และชี้แจงต่อไป ว่า กระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบทุกระยะ รัฐบาลไม่ได้คิดเองทำเอง แต่ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมกลายเป็นเรื่องเอาประเทศชาติไปขาย มีการจุดชนวนปลุกระดมกันใหญ่ ทำให้คนสองประเทศไม่เข้าใจกันกัน และคนไทยในกัมพูชานอนไม่หลับ มีการสอบถามมาว่า เครื่องบินซี 130 ของกองทัพอากาศไทย ยังอยู่ในกัมพูชาหรือเปล่า

นายสมัคร กล่าวต่อว่า ที่เอามากล่าวหา เป็นสิ่งที่คนไทยที่สนใจรู้กันอยู่ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปสู้คดีมาแล้วแพ้ แต่ก็สงวนสิทธิ์ไว้ ถึงตอนนี้ไทยก็ยังสงวนสิทธิ์อยู่ และยืนยันพื้นที่ทับซ้อน เรื่องนี้ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น และไทยไม่เสียอะไรเลย เพราะพื้นที่ทับซ้อนยื่นกัมพูชาไปยื่นขึ้นทะเบียนไม่ได้ ไทยก็เจรจา จนกัมพูชาขีดเฉพาะตัวปราสาท แล้วก็ออกแถลงการณ์ และไม่มีใครคิดว่านั่นเป็นสนธิสัญญา และไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 แต่ปรากฏว่า ทำกันจนตื่นเต้นว่า ประเทศไทยจะเสียดินแดน ทั้งนี้ 45 ปีที่ผ่านมา อยู่กันได้ดี แต่ตอนนี้จะทำอย่างไร พื้นที่นั้นจะกลายเป็นพื้นที่ โนแมนส์แลนด์ ทั้งที่ถึงอย่างไร ไทยก็ไม่เสีย

เพราะมีกติกาชัดว่า ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท เรื่องเขาพระวิหารตนรู้ดี ตนนั่งดูอยู่ด้วยในการพิจารณาแผนที่ของฝ่ายไทย ถ้าไม่เช่นนั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญา ปลัดกระทรวงต่างประเทศ แม่ทัพ นักวิชาการ ไม่มีความหมายเลยหรือ แต่ในสภา ก็กล่าวหากัน ตนขอให้เอาหลักฐานมาพิสูจน์ ไม่ใช่ปลุกระดมจนร้อนฉ่า ถึงกับต้องไปห้ามทัพ เพราะกองทัพจะขึ้นไปข้างบน ตนสงสารคนศรีสะเกษ จะนอนหลับหรือ ถ้าจะหาว่า มีการรีบตกลงเพื่อ ผลประโยชน์ของอดีตนายกฯ ก็ฟ้องเลย เพื่อพิสูจน์ว่า อดีตนายกฯเกี่ยวข้องหรือไม่ ไปทำมาหากินอะไรในนั้น และมาเกี่ยวข้องเรื่องนี้ได้อย่างไร เอากันให้ตายเลยก็ได้ ลากขึ้นศาลจะได้มาว่ากัน

“สุขุมพันธุ์” ย้ำต้องให้รัฐสภาเห็นชอบ

ต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ รมว.ต่างประเทศ (เงา) ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนพดล ปัทมะในเรื่องเขาพระวิหารว่า เสียใจที่ต้องอภิปรายวันนี้ ทำให้มองว่าเป็นการทำลายความสัมพันธ์สองประเทศ แต่ตนอยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาดีต่อกัน เหมือนนายกฯ อยากให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันอย่างยั่งยืน และมีความสัมพันธ์ที่ดี

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาได้มีการลงนาม 3 ฝ่าย ของตัวแทนไทย กัมพูชา และยูเนสโก โดยไทยได้สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร แต่เรื่องนี้มีนัยยะที่กว้างไกลมาก มีผลทำให้ประเทศชาติเสียหาย โดยเฉพาะในคำแถลงการณ์ร่วม ในเรื่องเขตที่จะต้องจัดการพื้นที่ที่ดินรอบปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งรัฐบาลมักบอกคำแถลงการณ์ไม่มีข้อผูกพันเป็นสนธิสัญญา ซึ่งสนธิสัญญา หมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศ โดยรัฐ แม้จะเป็นเอกสารฉบับเดียว หรือหลายฉบับ จะเรียกชื่อว่าอย่างไร ดังนั้นคำแถลงการณ์ดังกล่าวก็ถือเป็นสนธิสัญญา จะปฏิเสธว่าเราไม่ยอมรับอนุสัญญาฉบับนี้ไม่ได้

นอกจากนี้ ยังเคยมีคำแถลงของอาเซียน ที่มีความหมายเดียวกับแถลงการณ์ร่วม ดังนั้น จะบอกว่าคำแถลงการณ์ไม่มีความหมายกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คงไม่ได้ เมื่อสนธิสัญญาเป็นเช่นนี้ ควร หรือไม่ควร ที่จะเสนอต่อรัฐสภา เพราะนายกรัฐมนตรี รมว.ต่างประเทศ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศบอกว่าไม่ต้องนำเข้าสภา ก่อนจะทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศรัฐบาลจะต้องให้ข้อมูล และนำให้ รัฐสภาให้ความเห็นชอบ

ขอ ส.ส.ที่รักแผ่นดินไล่ “นพเหล่”

ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ กล่าวว่า ในเรื่องนี้ หมกเม็ด ลุกลี้ลุกลน พยายามเร่งทำให้เสร็จทันการประชุมเรื่องนี้ในเดือนกรกฎคมนี้ ทำไม รัฐบาลต้องรีบไปยุ่ง ขนาดต้องบินไปถึงปารีส พร้อมยังให้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ บินไปบินไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงที่มีการโยกย้ายปลัดกระทรวงต่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ พร้อมหนังสือเวียน

“ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข ทุกฝ่ายและรัฐบาล หาก รมว.ต่างประเทศ ประกาศกลางสภาว่า เราจะชะลอพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ ซึ่งรัฐบาลสามารถแจ้งไปยังกัมพูชา และยูเนสโก โดยอ้างมติจากสภา หวังว่ารัฐบาลจะชะลอตามที่ผมเสนอ หรือยื่นขึ้นทะเบียนทั้งสองประเทศ หากรัฐบาลยังดื้อดันที่จะทำต่อไป ขอเรียกร้องให้ ส.ส.ทุกคน ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ให้ชาวโลกได้รู้ว่า เราคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้ ควรสวมวิญญาณคนไทย โหวตให้คนที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายให้พ้นจากตำแหน่งไป”

ตบตาทบทวนมติ ครม.

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯ รองหัวหน้าพรรคพรรคชาติไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม.ว่าในที่ประชุมครม. ตนเอง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม และนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกปัญหาเรื่องเขาพระวิหารมาหารือ เพราะอยากจะให้เขียน มติครม.ให้รัดกุม เพื่อในอนาคตจะได้ส่งต่อ ในกรณีที่ยังมีข้อพิพาทกันอยู่ โดยตนได้บอกกับครม.ว่าขอให้ทบทวนมติ ครม. ครั้งที่แล้วดูว่าเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่ามติครม.ครั้งที่แล้ว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอมา 2 ประการ คือ เรื่องแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมกับแผนที่แนบท้าย และให้ รมว.ต่างประเทศ ลงนามแถลงการณ์ร่วม

“แต่ผมเห็นว่า เรื่องของแผนที่มันคงไม่ใช่ เพราะถ้าเป็นแผนที่เดี๋ยวจะเกิดผลในอนาคต นายกฯ จึงได้บอกว่า ให้เปลี่ยนจากแผนที่เป็นแผนผัง และผมก็ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมไปว่า สำหรับที่ที่เกิดกรณีพิพาทกันอยู่นั้น จะต้องเขียนให้ชัดเจนว่า จะไม่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นมรดกโลก ไม่เช่นนั้นเราก็เป็นห่วงว่าเมื่อประกาศเป็นมรดกโลกไปแล้ว พื้นที่กรณีพิพาทกันอยู่จะถูกอ้างได้ว่าเป็นส่วนควบของมรดกโลก จึงได้คุยกับนายกฯ รองฯสุวิทย์ และรองฯ สหัส ว่า จะต้องเขียนประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจน แต่ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนมติครม.ใหม่ เพียงแต่เขียนให้มันรัดกุม เพราะอนาคตข้างหน้าเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแต่ถ้าเรามีมติ ครม.ที่รัดกุมออกไป มันก็จะสามารถยืนยันได้ว่า ครม.ประเทศไทยได้มีมติแค่นี้นะ ไม่ใช่เกินเลยไปว่า การลงนามร่วมในมรดกโลก หมายถึง เราจะรับรองเขตแดนที่มีกรณีพิพาทกันอยู่ด้วย เพราะมันคนละประเด็นกัน”นายสมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มติ ครม.ที่ให้กลับไปเขียนให้รัดกุมจะต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบใหม่อีกครั้งในคราวหน้าหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ต้อง เพียงแต่ให้เขาไปเขียน และบอกว่า ก่อนที่จะพิมพ์ออกมาก็ขอให้พวกเราได้ตรวจทานดูอีกที

เมื่อถามว่า หากมีการเขียนมติครม.ใหม่ให้รัดกุมขึ้น ทางพรรคชาติไทยจะทบทวนท่าทีเรื่องที่มีข่าวว่า จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า “อันนี้เป็นเรื่องของ ครม. ส่วนเรื่องรัฐบาลก็คือเรื่องของรัฐบาล”

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า รายละเอียดที่ให้เลขา ครม.จัดทำคือ การให้ยกร่างรายละเอียดให้ชัดเจน และนำเข้ากลับ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะมีการออกหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยการยกร่างมติ ครม.ใหม่ครั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบเรื่องดินแดน ประเด็นที่เป็นห่วงคือ อำนาจอธิปไตย

ตะแบงเปลี่ยน “แผนที่” เป็น “แผนผัง”

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธว่า ที่ประชุมครม. ไม่ได้มีการให้ทบทวนมติ ครม. เรื่องเขาพระวิหาร ที่รมว.ต่างประเทศ ลงนาม แต่ยอมรับว่าให้มีการเปลี่ยนถ้อยคำ จากคำว่า "แผนที่" เป็น "แผนผัง" เพราะหากแปลถ้อยคำจากภาษาอังกฤษอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของดินแดน

ขณะที่ พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุขโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ที่ทางการไทยรับรองไปนั้น เป็นแผนผังไม่ใช่แผนที่ แต่มีคนไปพูดว่า สิ่งที่เราลงนาม คือ การรับรองแผนที่ ความจริงแล้วแผนผัง คือตัวอาคารปราสาท และในวันที่ รมว.ต่างประเทศ นำมาแถลงข่าว ก็มีทั้งแผนที่ และแผนผัง ซึ่งตัวแผนผังก็อยู่ในตัวแผนที่ และเรารับรองเฉพาะตัวแผนผัง ที่เป็นปราสาท ที่เขาจะนำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งศาลโลกตัดสินไปแล้วว่า เป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 ยืนยันว่าเรารับเฉพาะแผนผังตัวปราสาทเขาพระวิหาร แต่มีคนพยามไปพูดว่า เป็นแผนที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องของดินแดน ส่วนกรณีที่ รมว.ต่างประเทศ มีความคิดว่าจะนำเอาบันไดทางขึ้นฝั่งไทย ไปขึ้นเป็นมรดกโลกนั้น รมว.ต่างประเทศไม่ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.

อย่างไรก็ตาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งมีเรื่องนี้ด้วย นายกรัฐมนตรี ก็ให้เวลาฝ่ายค้าน 35 ชั่วโมง หากใครสงสัยก็ไปบอกฝ่ายค้านให้ซักไซ้ไล่เรียงตรงนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ เป็นห่วงประเด็นเหล่านี้หรือไม่ โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ไม่ห่วงเลย สิ่งที่พูดกันในที่ประชุมครม. คือต้องการให้เขียนให้ละเอียดในเรื่องมติ ครม. ต่อเรื่องดังกล่าว ซึ่งมติครม.ก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ รมว.ต่างประเทศได้ลงนามไป เพราะเรารับเฉพาะตัวปราสาท เราเขียนมติครม.เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ต่อไป เลขาฯครม.จะเป็นผู้เขียน ในสัปดาห์หน้าจะนำกลับเข้ามาที่ประชุมครม.อีกครั้ง

“นพดล” แก้เกี้ยวจะขอขึ้นทะเบียนฯ

นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีขอจดทะเบียนร่วมเขาพระวิหาร เป็นมรดกระหว่างไทยและกัมพูชา ว่า จะมีการหารือกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงจดทะเบียนไม่ทันแล้ว เพราะต้องเตรียมเอกสารมาก แต่อาจจะมีการแสดงเจตจำนงว่า ไทยประสงค์ขอขึ้นทะเบียนของประเทศไทย

เมื่อถามถึงเหตุผลที่กลับลำเพราะอะไร นายนพดล กล่าวว่า ไม่ได้กลับลำ เพราะขึ้นทะเบียนร่วมไม่ได้ เพราะกัมพูชาปฏิเสธเรา จึงคิดว่าน่าจะขึ้นในส่วนของเรา เหตุผลก็เพราะว่า ตนพึ่งมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแค่ 4 เดือน กัมพูชายื่นตั้งแต่ปี 2490 และเป็นโอกาสแรกที่ตนคิดแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการเปิดเผยหรือพูดคุยกันเท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมก่อนลงนามไม่คิดเรื่องนี้ก่อน นายนพดล กล่าวว่า ก่อนลงนามกัมพูชาปฏิเสธไม่ลงนามร่วมกับเรา ทั้งๆ ที่เรายื่นไปตั้งแต่ปี 2490 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการยื่นแสดงเจตจำนงไป แต่กัมพูชาก็ยังปฏิเสธไม่ร่วมกับเรา เมื่อถามว่า ทำไมไม่เปิดเผยเรื่องนี้ก่อน นายนพดล กล่าวว่า เรื่องนี้มันอยู่ในแฟ้มอยู่แล้ว หลายเรื่องที่เวลาเราบริหารงาน บางอันก็เป็นความลับ บางอันก็เป็นประเด็นที่ไม่ควรเปิดเผย

เมื่อถามว่า แต่เรื่องนี้เป็นการเสนอของกรมศิลปากรเอง แต่ถูกปฏิเสธ นายนพดล กล่าวว่า ถูกปฏิเสธเพราะเวลาเจรจาต้องเจรจาผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อถามว่า เรื่องนี้ไม่เคยมีการหยิบขึ้นมาที่จะขอขึ้นทะเบียน ทำไมวันนี้จึงมีการเสนอเรื่องนี้ เป็นเพราะถูกคัดค้านหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า จะอย่างไรก็แล้วแต่ คนจะมองว่าเป็นเพราะเสียงคัดค้าน จึงยอมที่จะขึ้นทะเบียน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คิดกันมานานแล้ว ซึ่งตนก็เรียนว่า เรายื่นร่วมไม่ได้ เราก็ยื่นแยก เขาก็ยื่นในส่วนของเขา เราก็ยื่นในส่วนของเรา

เมื่อถามว่า ในเมื่อสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วทำไมเราไม่สานต่อตั้งแต่แรก นายนพดล กล่าวว่า ก็อย่างที่บอกว่า เรายื่นร่วมไม่ได้ เพราะคิดว่ามันมีคุณค่าทางศิลปะ เราก็ยื่นในส่วนของเราเท่านั้นเอง เมื่อถามว่าไปยื่นตามหลังจะมีผลอย่างไร นายนพดล กล่าวว่า ประเด็นแรกคือ เรายื่นร่วมไม่ได้ เพราะเขาปฏิเสธ เหมือนเราจะแต่งงานกันแต่เขาไม่ยอมแต่งกับเรา ไม่ยอมอยู่กับเรา เราก็ขึ้นทะเบียนในส่วนของเรา ก็เท่านั้นเอง ตอนแรกมีประเด็นว่าเสียดินแดน ก็เรียนแล้วว่ามันไม่เสียดินแดน แล้วมาบอกว่า ทำไมยื่นร่วมอีก ฉะนั้นตนพยายามทำหน้าที่ของตน รักษาผลประโยชน์ของชาติมารุกล้ำที่ดินทับซ้อน พอแก้ไขที่ทับซ้อนได้แล้วเราก็ไปทำงานใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข่าวในอินเตอร์เน็ตกัมพูชาไม่เห็นด้วยที่เราจะขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกบ้าง รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า เขาไม่มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโสในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ระบุว่า พื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ถึงแม้ว่าศาลโลกจะมีการพิพากษาออกมาว่าเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ 2505 แต่ไทยไม่เคยยอมรับเลยว่า เป็นของกัมพูชา นายนพดล กล่าวว่า หลังจากมีคำวินิจฉัยเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครม.สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยกตัวปราสาทให้ จึงเป็นมติครม.ที่ชัดเจน มันก็เกิดตั้งแต่สมัยตนหนึ่งขวบ ฉะนั้น 46 ปี เราก็ไม่มีการทักท้วงใดๆ เราก็แบ่งเส้นเขตแดนใหม่ตามแผนที่ L 7017 ได้มีการกั้นรั้วให้เขาไปหมดแล้ว ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นด้วยเหมือนคำพิพากษาที่ศาลฎีกา แต่ในที่สุดแล้วทำให้มีผลต้องผูกพัน

เมื่อถามว่า เมื่อบอกว่าถึงที่สุดแล้วปราสาทก็เป็นของกัมพูชา ทำไมมายื่นขอให้เป็นมรดกโลก รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนที่ตนยื่นเป็นการยื่นขอในส่วนของประเทศไทย เช่น สระตราว สถูปคู่ ผามออีแดง เมื่อถามอีกว่า กัมพูชา ทราบหรือไม่ว่าเราจะยื่นในส่วนนี้ นายนพดล กล่าวว่า ต้องไปหารือกัมพูชา อย่างน้อยเราต้องไปแถลงที่ควิเบก ประเทศแคนนาดา ว่าเรามีเจตจำนงที่จะยื่น ส่วนจะได้หรือไม่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการมรดกโลกจะพิจารณา

อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ต้องขอความเห็นชอบจากกัมพูชา เพราะเป็นส่วนในประเทศของเรา เหมือนที่เขาจะขึ้นปราสาท ก็ไม่จำเป็นต้องมาขอความเห็นจากเรา ประเด็นสำคัญคือ ปราสาทเป็นของใครก่อน ซึ่งอันนี้ศาลโลกได้ตัดสินใจว่า เป็นของเขา แม้เราจะเสียใจ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นนานแล้ว ก็ต้องยอมรับคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่ามีหลักฐานชัดเรื่องคำพิพากษาต่างๆ นายนพดล กล่าวว่า ตนก็จะชี้แจง เมื่อถามอีกว่า ศาลตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาท และที่ดินไม่น่าจะมีที่ทับซ้อนอะไร รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ศาลตัดสินให้ว่า ปราสาทตั้งอยู่บนที่ดินที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ฉะนั้นไม่ได้ตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาท บางคนคิดว่า ดินเป็นของเรานั้นไม่ใช่

ส่วนกรณีที่กัมพูชาทำการปิดเขาพระวิหาร จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างนั้น นายนพดล กล่าวว่า ส่งผลกระทบแน่นอน เพราะพ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ ตนย้ำเสมอความสัมพันธ์ที่ดีเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย การที่กัมพูชาปิดประตูปราสาทไม่ให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางไปท่องเที่ยว จ.ศรีสะเกษ ทำให้เราเสียรายได้ก็เลยเดือดร้อนตนที่ต้องไปเจรจากับกัมพูชาให้เปิดด่าน แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งว่ามีการปิดนานเท่าไร

เมื่อถามว่า ปัญหาความบกพร่องอยู่ที่ใคร นายนพดล กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ตน “ผมเหนื่อย และก็หนัก แต่ยังไม่ถอดใจ ผมเชื่อมั่นว่า ผมทำในสิ่งที่ถูกต้องก็ต้องชี้แจงออกไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักฐาน และหลักฐานผมก็ชัดเจน” เมื่อถามอีกว่า มีการะบุว่า เขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จะกินอาณาบริเวณโดยรอบ นายนพดล กล่าวว่า คงไม่ เขาทำแผนที่แค่ไหน ยื่นไปเท่าไร ก็จะขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถกินพื้นที่ของบ้านเราด้วย นี้คือปัญหาที่เราต้องไปแก้ไขกันครับ ถ้าปล่อยให้ช้าไปเขาจะขึ้นทะเบียน และจะบวกพื้นที่ทับซ้อนของเราด้วย

"ถ้าเราไม่ไปเจรจา เขาก็จะไปขึ้นทะเบียน เพราะแผนที่ที่เขายื่นไว้มีปราสาทบวกพื้นที่ทับซ้อนค้างไว้ในมรดกโลก ถ้าเราปล่อยไป ไม่ได้ไปแก้ไข เขาก็จะขึ้นตามนั้น”นายนพดล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเราสนับสนุนกัมพูชา แต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า มันก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการมรดกโลกและกัมพูชาไม่เกี่ยวกับเรา ส่วนที่กลุ่ม ส.ว.จะไปยื่นคัดค้านกับยูเนสโกนั้น รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ตนตอบแทนไม่ได้ เมื่อถามว่า ถ้าเรื่องนี้มีผลทำให้ไม่ไว้วางใจจะทำอย่างไร นายนพดล กล่าวว่า ถ้าไม่ไว้วางใจเดี๋ยวมีคำตอบในวันที่ 26 มิ.ย.ที่จะมีการลงมติ

ทหารติดตามจับผิดรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในประเด็นปราสาทเขาพระวิหารนั้น ผบ.เหล่าทัพ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวของแต่ละเหล่าทัพ ติดตามการอภิปรายโดยละเอียด เพื่อประเมินถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งนี้เท่าที่ได้ติดตามดูการชี้แจงของรัฐบาล โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีนั้น ตอบไม่ค่อยตรงประเด็น และยิ่งดูการอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ ก็ยิ่งเห็นช่องโหว่ของรัฐบาลในการลงนามข้อตกลงเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ มีความคิดเห็นจากแหล่งข่าวทางทหารว่า ในการตั้งข้อสังเกตเรื่องอำนาจของนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ในการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชานั้น ต้องมีการตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ให้อำนาจไว้หรือไม่ หากศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่สามารถลงนามได้ แถลงการณ์ดังกล่าวก็จะเป็นโมฆียะ สำหรับแผนที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้นำมาเปิดเผยมีความแตกต่างจากที่ นายนพดล นำมาแถลง กลายเป็นว่า เขาพระวิหารอยู่นอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลโลก

“เชื่อว่าการพิจารณาของยูเนสโก้ ในเดือนก.ค.นี้ คงไม่ยินยอมขึ้นทะเบียนให้ปราสาทเขาพระวิหาร ขึ้นเป็นมรดกโลกแน่นอน เพราะขณะนี้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ และควรจับตาดูการพิจารณางบประมาณประจำปี 2552 ของรัฐบาลนายสมัครให้ดี โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยว ที่อาจจะมีการทุ่มงบประมาณเข้าไปในพื้นที่ย่านฝั่งตะวันออก ในการสร้างถนน ตั้งแต่ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด เพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าไปที่เกาะกง ของประเทศกัมพูชา”แหล่งข่าว กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตรวจสอบโทรสารเอกสารที่ส่งมาห้องผู้สื่อข่าว ที่ลงชื่อของ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประธานคณะที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ได้ส่งถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เรื่องการรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนกรณีปราสาทเขาพระวิหาร โดยอยากให้ทุกฝ่ายดำเนินการด้วยความรอบคอบ พบว่าในเอกสารลงรับเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 51 มีการเขียนด้วยปากกว่าว่า "เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินทางหนึ่ง" และมีลายเซ็นของ พล.อ.เปรม กำกับ ทั้งนี้ ลายเซ็นดังกล่าวเมื่อเทียบกับการลงนามในประกาศ มูลนิธิรัฐบุรุษ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือหลักสูตร และแนวปฏิบัติในโครงการดังกล่าว เป็นลายเซ็นเดียวกัน

“เขาพระวิหาร”ลามล้มรัฐบาล

ผศ.ปกรณ์ ปรียากร คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ หรือ GSPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่า กระบวนการทำงานของภาครัฐที่ผ่านมาในเรื่องของปราสาทเขาพระวิหาร โดยรัฐบาลได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกรณีขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น ได้ส่งผลให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในผลดีผลเสียที่ประเทศไทยจะได้รับ โดยที่ รมว.ต่างประเทศ ไม่ได้อธิบายข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้สังคมทราบก่อนลงนาม โดยอ้างว่าเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชานั้น ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นว่ากระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างโปร่งใส

ทั้งนี้ จึงไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด รัฐบาลจึงไม่เห็นความสำคัญกับการชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบ ข้อเท็จจริงของเรื่องเขาพระวิหารตั้งแต่ต้น ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญ และกระทบกับความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ

“ทุกวันนี้ คนไทยเชื่อว่าไทยเสียดินแดนให้กับกัมพูชาไปแล้ว พอรัฐบาลมาอธิบายให้กับประชาชนในตอนนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนใจให้ประชาชนเชื่อถือได้ว่าการแก้ปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร จะอยู่บนผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง”ผศ.ปกรณ์ กล่าว

ผศ.ปกรณ์ กล่าวว่า ความแคลงใจของประชาชนต่อการแก้ปัญหากรณีนี้ของภาครัฐ จะนำไปสู่เหตุการณ์บานปลายจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้อีกต่อไป หากประชาชนในสังคมขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ และมีสิทธิที่จะถามรัฐบาลต่อว่า มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างรอบคอบหรือไม่ โดยเฉพาะตัวของรมว.ต่างประเทศเอง ที่ขณะนี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นว่าจะดำเนินการเรื่องนี้แบบมืออาชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ ที่ปลุกให้คนในประเทศเกิดความขัดแย้งรุนแรงกับประเทศกัมพูชา จนกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งหากเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นจริง รัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบกับกรณีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แฉ “สมชาย-นภดล” มุบมิบเจรจาเขมร

เผยเอกสารของรัฐบาลกัมพูชา ที่เสนอขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ต่อยูเนสโก โดยมีการจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ในเอกสารยังระบุภาพถ่ายของรัฐมนตรีไทยสองคนคือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ และนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ได้ร่วมหารือกับรัฐบาลกัมพูชาในประเด็นดังกล่าว ก่อนที่จะมีมติ ครม.วันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งอ้างกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนกัมพูชา เมื่อวันที่ 3-4 มี.ค. ว่ามีการหารือในประเด็นดังกล่าวด้วย

ในเอกสารดังกล่าว ยังระบุด้วยว่ามีการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. พร้อมกับมีภาพถ่ายการประชุมร่วมกัน นอกจากนี้ระหว่างการร่วมพิธีเปิดถนนหมายเลข 48 นายสมชาย และนายนพดล ยังมีการหารือในเรื่องเขาพระวิหาร กับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การเจรจาดังกล่าวไม่เคยเปิดเผยมาก่อนว่ามีประเด็นของการรับรองมรดกโลกเขาพระวิหาร จนกระทั่งก่อนการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. มีการเปิดประเด็นดังกล่าวขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น