xs
xsm
sm
md
lg

9 เม.ย. 2480 วันสถาปนากองทัพอากาศ (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

อนุสนธิบทนำในหนังสือเรื่อง Aerial Nationalism : A History of Aviation in Thailand หรือการบินเพื่อความเป็นชาติ : ประวัติศาสตร์การบินในประเทศไทย เขียนโดยเอ็ดเวิร์ด เอม ยัง (Edward M. Young) และบทนำโดย ดร.วิลเลียม เอม เลียร์ (Dr. William M. Leary) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา พิมพ์โดยโครงการแห่งสถาบันสมิธโซเนียน ซึ่งพูดถึงประวัติศาสตร์และรากฐานการบินของไทยไว้ว่า

“ก่อน ค.ศ. 1939 เสียด้วยซ้ำที่การพัฒนาการบินทั้งทางทหารและพลเรือนของไทยรุดหน้าไปอย่างเหลือเชื่อ...รัฐบาลไทยก่อร่างสร้างตัวให้มีกองทัพอากาศที่น่าเกรงขาม ทั้งพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินทั่วประเทศ นอกเหนือจากนี้กองทัพอากาศไทยประสบความสำเร็จอย่างสง่าผ่าเผยเป็นอิสระ ปราศจากการพึงพาทั้งที่ปรึกษา และเงินทุนจากต่างชาติเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในเอเชียที่มีวิถีการกำเนิดแตกต่างจากกองทัพอากาศไทย เช่น กำเนิดการบินทางทหารในจีนได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อิตาลี และรัสเซีย”

เมื่อการบินเป็นความฝัน และเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของมนุษย์ทำให้มีการทดลองการบินด้วยยานลักษณะและประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามจินตนาการของปราชญ์และนักประดิษฐ์ทั้งหลาย รวมทั้งเลียวนาโด ดาวินชี แต่เทคโนโลยีและศาสตร์แห่งอากาศยังไม่ได้ถูกค้นพบ มนุษย์จึงบินได้ด้วยยานที่เบากว่าอากาศ Lighter than air เช่น บอลลูน และเรือเหาะ หรือโพยมยานที่ลอยได้เพราะบรรจุก๊าซที่เบากว่าออกซิเจน

จนใน ค.ศ. 1903 พี่น้องตระกูลไรท์สามารถบินได้ด้วยยานที่หนักกว่าอากาศ Heavy than air ด้วยการใช้เครื่องยนต์ลูกสูบพลังน้ำมันเชื้อเพลิง สร้างแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้าจนเกิดแรงอากาศพลศาสตร์ขึ้นที่ปีก ทำให้เครื่องบินพุ่งลอยไปในอากาศที่มีทั้งความเร็วบินได้สูง และไปได้ไกล ทั้งยังบรรทุกคน สิ่งของ ได้อีกต่างหาก

ชั่วเวลาไม่กี่ปี การบินพัฒนาอย่างรวดเร็วในทวีปยุโรป และอเมริกามีการบินที่ไกลขึ้น และค.ศ. 1910 คาร์ล ออฟเฟอร์ (Karl Offer) ชาวฝรั่งเศสก่อตั้งสโมสรการบินแห่งตะวันออกไกล และจัดการประสานให้นักบินฝรั่งเศสชื่อ ชาร์ลส์ วัน เดน บอร์น (Charles Van Den Born) บินเครื่องบินแบบ Henry Farman จากไซง่อนในเวียดนามมาลงที่กรุงเทพฯ ณ สนามม้าสระปทุมในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1911 และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นั้นเอง วัน เดน บอร์น ทำการบินต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีผู้โดยสารไทยได้แก่ พลเอกกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบก และพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ หรือสุณี สุวรรณประทีป

เดอะแบงคอก ไทม์ (The Bangkok Times) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยในครั้งนั้นลงข่าวว่า กองทัพบกไทยให้ความสนใจกับนภานุภาพมาก และมุ่งมั่นที่จะตั้งหน่วยบินขึ้นในกองทัพไทย และหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นยังเห็นว่าฝ่ายทหารสนใจถึงกับทำการศึกษาอำนาจการทำลายอันเกิดการใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศ

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทราบดีถึงการบินเพราะเมื่อครั้งยังทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ในประเทศอังกฤษ ก็ทรงรับรู้ถึงวิทยาการบินเหมือนนายทหารอังกฤษอื่นๆ จึงทรงให้การสนับสนุนพลเอกกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ และเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์สร้างกำลังทางอากาศ และทรงส่งนายทหารไทย 3 ท่านคือ พ.ต.หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร และร้อยโททิพย์ เกตุทัต ไปเรียนวิชาการบิน และการช่างอากาศที่ประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2454 จนสำเร็จใน พ.ศ. 2456 และก่อตั้งแผนกการบินด้วยเครื่องบิน 8 เครื่อง จนใน พ.ศ. 2457 จึงย้ายจากสนามบินสระปทุมมาดอนเมือง เนื่องเพราะน้ำท่วม

และในวันที่ 27 มีนาคม 2457 ได้รับการสถาปนาเป็นกองบินทหารบกมีศักยภาพทำสงครามทางอากาศได้ และใน พ.ศ. 2460 กองบินทหารบกเป็นส่วนหนึ่งกองทัพไทยเข้าร่วมรบกับพันธมิตรในสงครามโลกครั้งนั้นในยุโรป จึงได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่กลับมาพัฒนากองทัพอากาศจนในวันที่ 29 มีนาคม 2461 ได้รับการยกฐานะเป็นกรมอากาศยานทหารบก และ1 ธันวาคม 2464 เปลี่ยนชื่อเป็นกรมอากาศยานขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม

กิจการบินของไทยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วภายใน 7 ปี จากเครื่องบินเพียง 8 เครื่องเป็น 100 กว่าเครื่อง มีนักบินและช่างมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถสร้างเครื่องบินได้เองตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เช่น เครื่องบินแบบประชาธิปกและบริพัตร ทั้งยังบัญญัติศัพท์ภาษาไทยให้ง่ายต่อการเรียนรู้ และเป็นเอกลักษณ์ในกิจการบินของไทย ประชาชนคนไทยให้การสนับสนุนด้วยการบริจาคเงินซื้อเครื่องบินให้กับกองทัพไทย ที่มีการจัด Road Show แสดงการบินทั่วไทยทำให้คนไทยเห็นศักยภาพของเครื่องบินและมีการบินขนส่งไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ การบินส่งกลับทางแพทย์และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยด้วยการทิ้งถุงยังชีพ

ในห้วงนั้นเองประเทศไทยเกิดความผันผวนทางการเมืองอย่างรุนแรง เพราะตั้งแต่มีข้าราชการ เจ้านาย และบุคคลทั่วไปไปศึกษาในต่างประเทศมากขึ้นในห้วงตอนปลายรัชกาลที่ 5 ทำให้ได้รับความรู้ทางการเมืองแบบตะวันตกทุกมิติ ทั้งประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ รวมถึงการปกครองแบบสาธารณรัฐและลัทธิอนาธิปไตย (Anarchy) ซึ่งมีกลุ่มในกบฏ ร.ศ. 130 ในตอนต้นรัชกาลที่ 6 เรียกตัวเองว่าสมาคมอานาคิช หรือมีความหมายว่า อานาคิช (Anarchist) หรือพวกก่อการจลาจลมีสมาชิกประมาณ 800-1,000 คนส่วนใหญ่เป็นทหาร มีจุดมุ่งหมายและวางแผนจะเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการลดพระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นสาธารณรัฐ โดยมุ่งที่จะปฏิบัติการในวันที่ 1 มีนาคม 2454 แต่แผนล้มเหลวผู้ก่อการซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารถูกจับตัวได้ทั้งหมด

ผลพวงของกบฏ ร.ศ. 130 และแนวคิดที่ฝังอยู่กลุ่มก้าวหน้า โดยเฉพาะร้อยเอกแปลก พิบูลสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ และนายควง อภัยวงศ์ ที่พบปะกันเป็นประจำขณะศึกษาในฝรั่งเศสผนวกกับกลุ่มอาจารย์วิชาทหารรุ่นอาวุโส โดยเฉพาะ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช และพ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และพ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ที่ผ่านการศึกษาจากเยอรมนี จึงเรียกตัวเองว่าคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเกิดกบฏบวรเดช ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดซ้ายจัด กรมอากาศยานที่ดอนเมืองถูกฝ่ายกบฏยึด และถูกบังคับให้ใช้เครื่องบินรบสนับสนุนฝ่ายกกบฏโจมตีที่มั่นทหารฝ่ายรัฐบาล แต่ต่อมามีนักบินบนเครื่องบินออกจากดอนเมือง และลพบุรีมารายงานตัวต่อฝ่ายรัฐบาลโดยบินลงที่สนามหลวง

ในขณะเกิดการสู้รบระหว่างฝ่ายทหาร รัฐบาลนำโดย พ.ต.หลวง พิบูลสงคราม กับฝ่ายกบฏนำโดย พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ซึ่งต่อมาถูกปืนเสียชีวิตที่สระบุรีทำให้ทหารฝ่ายต่อต้านรัฐบาลขวัญเสีย และกรมอากาศยานได้ส่งเครื่องบินโจมตีทหารฝ่ายรัฐบาลด้วย ครั้นเมื่อกองทัพพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ถอนตัวออกจากดอนเมืองแล้วฝ่ายรัฐบาลจึงตั้งข้อสังเกตว่า กรมอากาศยานเข้ากับกองทัพกบฎ แต่ขุนรณนภากาศ (ฟื้นฤทธาคนี) เป็นผู้ที่มีส่วนในการพลิกผันสถานการณ์เพื่อปกป้องทหารอากาศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายกบฏ และเป็นครั้งแรกที่กรมอากาศยานหรือกองทัพอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น