xs
xsm
sm
md
lg

ทีมแพทย์พระราชทาน ขึ้นซี-130 บินไปช่วยเหยื่อนาร์กีสที่พม่าแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. ส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 30 คน พร้อมเครื่องมือผ่าตัด ยาและเวชภัณฑ์การแพทย์ ขึ้นเครื่องซี-130 ของกองทัพอากาศ ไปประเทศพม่า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีสเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังต้องเดินทางช้ากว่ากำหนด 4 ชั่วโมง เหตุประสานงานล่าช้า ขณะที่ทีมแพทย์พร้อมให้ความช่วยเหลือตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป ได้ประมาณวันละ 800-1,000 ราย ผ่าตัดใหญ่ได้วันละประมาณ 20-30 ราย

เช้าวันนี้ (17 พ.ค.) ที่กองบิน บน.6 ดอนเมือง กทม. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เดินทางไปอำนวยการจัดส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ชุดแรก พร้อมอุปกรณ์ผ่าตัด ยาและเวชภัณฑ์การแพทย์ ไปให้การช่วยเหลือประเทศพม่า โดยจะอยู่ในพม่าเป็นเวลา 2 สัปดาห์

นายไชยา กล่าวว่า ประเทศพม่าได้อนุญาตให้ประเทศไทย ส่งแพทย์ พยาบาล เข้าไปช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ประชาชนชาวพม่า โดยหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ที่เดินทางไปครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและศัลกรรมทั่วไป 7 คน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 2 คน วิสัญญีแพทย์ 1 คน กุมารแพทย์ 1 คน จิตแพทย์ 2 คน นักจิตวิทยา 1 คน สัตวแพทย์ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนำโดยแมลง 1 คน นักระบาดวิทยา 4 คน พยาบาลห้องผ่าตัดและพยาบาลศัลยกรรมหัวใจ 12 คน โดยมาจากโรงพยาบาลรามาธิบดี 6 คน สภากาชาดไทย 11 คน กรมสุขภาพจิต 2 คน กรมควบคุมโรค 4 คน โรงพยาบาลราชวิถี 2 คน โรงพยาบาลราชบุรี 4 คน และศูนย์นเรนทร 1 คน มีนายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร รองผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้นำทีม

โดยอุปกรณ์และเวชภัณฑ์การแพทย์ที่นำไปด้วยครั้งนี้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกทีมแพทย์เตรียมไปเองตามความชำนาญของแพทย์ ประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจรักษาผู้ป่วย เครื่องดมยาสลบ เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อเครื่องมือ ผ้าก๊อซ สำลี เครื่องมือผ่าตัด ชุดดามกระดูก ทำแผล เย็บแผล ทำคลอด เครื่องมือตรวจเลือด ชุดตรวจเชื้อมาลาเรีย/ไทฟอยด์/เบาหวานภาคสนาม วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ไทฟอยด์ ยารักษาโรคมาลาเรียและยารักษาโรคเบื้องต้น เช่น ลดไข้ แก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ลดน้ำมูก ลดกรดในกระเพาะอาหาร เป็นต้น เพียงพอสำหรับผู้ป่วยจำนวน 4,000 คน โดยสภากาชาดไทยได้เตรียมเครื่องยังชีพให้คณะแพทย์เพียงพอใช้ตลอด 2 สัปดาห์ ไม่ต้องรบกวนทรัพยากรของพื้นที่

ส่วนที่ 2 เป็นยาและเวชภัณฑ์ที่ได้รับการบริจาคจากภาคเอกชน ประกอบด้วย ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด และสารน้ำทดแทนเลือด วัคซีนป้องกันโรค รวมมูลค่า 5.5 ล้านบาท จากบริษัทซาโนฟี่ อเวนติส และซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ยาปฏิชีวนะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ยาแก้ปวด มูลค่า 3.5 แสนบาท จากบริษัท ส.เจริญเภสัช เทรดดิ้ง จำกัด ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ยาแก้ปวด ยารักษาโรคผิวหนัง มูลค่า 1.7 ล้านบาท จากบริษัทเชอริ่ง-พลาว จำกัด

ด้านพญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเดินทางไปครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะแพทย์ไทยและคณะแพทย์ของประเทศพม่า โดยทีมแพทย์ที่ไปสามารถให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยได้ทั้งในสถานพยาบาล และเคลื่อนที่ไปให้บริการในพื้นที่ประสบภัยต่างๆ แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ทีม ตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ประมาณวันละ 800-1,000 ราย ผ่าตัดใหญ่ได้วันละประมาณ 20-30 ราย นอกจากทีมแพทย์ชุดแรกแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังได้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมควบคุมป้องกันโรคที่มีประสบการณ์ พร้อมเวชภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ อีกกว่า 100 คน สามารถเดินทางทันทีเมื่อประเทศพม่าร้องขอเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องบินซี 130 ของกองทัพอากาศนำทีมแพทย์ออกเดินทางจากท่าอากาศยาน บน.6 เมื่อเวลาประมาณ 12.20 น.ซึ่งล่าช้ากว่ากำนดการเดิมที่กำหนดไว้ในเวลา 08.00น. หรือกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากทางการพม่ายังไม่แจ้งสัญญาณเปิดน่านฟ้าให้เครื่อง ซี-130 ของกองทัพอากาศไทยบินเข้าสหภาพพม่า อย่างไรก็ดี ครั้งนี้ มีเครื่องบินไปครั้งนี้ 2 เครื่อง โดยเครื่องแรกบรรทุกยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ น้ำหนัก 8 ตัน ส่วนเครื่องที่ 2 ลำเลียงทีมแพทย์ 30 คน พร้อมสัมภาระ และมีช่างภาพโทรทัศน์ติดตามไปด้วยจำนวนหนึ่ง

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร กล่าวถึงกรณีที่สถานีโทรทัศน์พม่ารายงานผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลนนาร์กีสกว่า 77,000 คน สูญหายกว่า 55,000 คน ว่า ความเร็วของพายุกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 3-4 เมตร อีกทั้งเมืองอิระวดีเป็นปากแม่น้ำ จึงได้รับความสูญเสีย อย่างไรก็ตาม ผู้บาดเจ็บสาหัส ทางแพทย์ของพม่าผ่าตัดรักษาดูแลในโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องเป็นห่วง แต่ยังมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ผู้ได้รับความเดือดร้อนหลายร้อยแห่งนั้น ทราบว่ามีผู้ป่วยแผลติดเชื้ออักเสบ การเจ็บป่วยเพราะอาหารและน้ำดื่มไม่สะอาด รวมทั้งเครียดอีกจำนวนไม่น้อย

นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ หน่วยแพทย์พระราชทานยังแบ่งออกเป็น 2 ทีมเช่นเดิม ให้การรักษาและควบคุมโรค ดูแลปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งหน่วยแพทย์พระราชทานที่เดินทางไปครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้มีประสบการณ์ อาทิ นพ.พิชิต ศิริวรรณ จากสภากาชาดไทย เคยไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ไต้หวัน นพ.ธนินทร์ พันธุเดชะ นายแพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชบุรี มีประสบการด้านกระดูกกว่า 30 ปี อีกทั้งทีมศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ถือเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่าการปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 17-31 พฤษภาคม 2551 หน่วยแพทย์ทุกคนพร้อมทุ่มเทความสามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยให้ได้มากที่สุด

"ตอนแรกกำหนดบิน 8 โมงเช้า แต่ความล่าช้าของการเดินทางกว่า 4 ชั่วโมง ไม่ใช่ว่าพม่าไม่รับทีมแพทย์ แต่มาจากข้อปฏิบัติของพม่า เมื่อระดับผู้บริหารอนุมัติให้หน่วยแพทย์เข้าประเทศ เขามีขั้นตอนในการประสานงาน ได้รับแจ้งว่าเขาเตรียมต้อนรับหน่วยแพทย์พระราชทานอย่างสมเกียรติ" นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว

ขณะที่วานนี้ (16 พ.ค.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางกลับจากนครย่างกุ้ง สหภาพพม่า ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินทีจี 0306

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับ นพ.เมียว อู (Dr.Mya-OO) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของพม่า นพ.วิน มินท์ (Dr.Win mint) ปลัดกระทรวงสาธารณสุขของพม่า จนถึงเวลา 18.00 น. ได้รับทราบพื้นที่ที่หน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 30 คน จะเข้าไปทำงานแล้ว โดยแพทย์ไทยจะแบ่งเป็น 2-4 ทีม ลงไปใน 2 เมือง คือ กง เชียง กอน และเมืองจ้าวตาล เดินทางโดยรถยนต์จากกรุงย่างกุ้งประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นพื้นที่ทางใต้ใกล้แม่น้ำอิระวดี ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยหน่วยแพทย์พระราชทานฯ จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาลและควบคุมป้องกันโรค รวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

“สิ่งที่ทางพม่าต้องการมาก และฝากผ่านกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยมาก็คือ ต้องการเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กที่ใช้น้ำมัน เพื่อสูบล้างบ่อน้ำให้สะอาด ผงคลอรีนก็ยังไม่พอ หัวส้วมเพื่อทำส้วนในแคมป์ที่พัก เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์ เพื่อปั่นไฟใช้ในโรงพยาบาล ยา วัสดุทางการแพทย์ และวัคซีน ซึ่งในเช้าวันพรุ่งนี้ (17 พ.ค.) ทางหน่วยแพทย์พระราชทานฯ เดินทางไปพม่าจะได้ลงไปดูข้อเท็จจริงในจุดต่าง ๆ ทั้งหมด” นพ.ปราชญ์ กล่าว และว่าการเดินทางไป-กลับในวันเดียว ได้ลงพื้นที่เพียงจุดเดียว ซึ่งเป็นแคมป์ที่พัก พบสิ่งของพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น