xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “หมอไทย” บุกพม่าช่วยเหลือเหยื่อนาร์กีส‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับตั้งแต่ชาวพม่าประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส เป็นเวลาเกือบ 10 วัน แล้ว กว่าที่ทางการพม่าจะอนุญาตให้นานาชาติเข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2551 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีกระแสรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยแพทย์ในพระองค์ จัดส่งทีมแพทย์ไปดูแลให้ความช่วยเหลือในนามประเทศไทย จำนวน 32 คน

ทั้งนี้ แพทย์ พยาบาลจำนวน 32 คน ประกอบด้วย ศัลยแพทย์กระดูก อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ จิตแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์ด้านระบาดวิทยา สัตวแพทย์และพยาบาล มาจากกรมสุขภาพจิต 2 คน กรมควบคุมโรค 4 คน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1 คนโรงพยาบาลรามาธิบดี 8 คน สภากาชาดไทย 10 คน โรงพยาบาลราชวิถี 2 คน โรงพยาบาลราชบุรี 3 คน โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 1 คน และศูนย์นเรนทร 1 คน

**“หมอไทย” ช่วยเหลือเหยื่อนาร์กีส
นพ.ธนินทร์ พันธุเดชะ นายแพทย์ 8 ด้านออร์โธปิดิกส์ จากโรงพยาบาลราชบุรี อายุ 57 ปี หนึ่งใน 32 แพทย์ชุดแรกที่ได้เดินทางไปพม่า กล่าว่า การเดินทางครั้งนี้ ไม่รู้สึกกังวลแต่เท่าใดนัก แม้ว่าจะยังไม่ทราบว่า จะต้องทำอะไร อย่างไร หรือลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ส่วนใดบ้าง แต่ก็พร้อมที่จะลงไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุเกย์ และ สึนามิ โดยการปฐมนิเทศก็ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมของร่างกาย ซึ่งทางกระทรวงจะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค นอกจากนี้จะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว

“จริงๆ ที่ แพทย์ พยาบาล ที่ จ.ราชบุรี มีผู้ที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือชาวพม่าเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากพม่าอนุญาตเพียง 30 คน จึงมีตัวแทนของโรงพยาบาลราชบุรี 3 คน เท่านั้น ซึ่งในทีมโรงพยาบาลราชบุรี จะต้องเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดเล็กเป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ที่ใช้เย็บแผล ทำแผล ล้างแผล รวมถึงยารักษาโรคมาลาเรีย”

นพ.ธนินทร์ บอกต่อว่า ทั้งนี้ คาดว่า ผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ เมื่อผ่านช่วงเวลานับ 10 วัน หากบาดแผล และไม่ได้รับการดูแล อาจทำให้กลายแผลติดเชื้อ เรื้อรังอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น แพทยออร์โธปิดิกส์ จึงมีความสำคัญอย่างมาก

ขณะที่ ผศ.นพ.วิชัย พันธ์ศรีมังกร กุมารศัลยแพทย์ ภาควิชาศัลยแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล อายุ 52 ปี ในฐานะหัวหน้าคณะแพทย์ของ รพ.รามาธิบดี ที่จะเดินทางไปประเทศพม่า พร้อมกับทีมแพทย์ กว่า 30 คน บอกว่า ภารกิจในครั้งนี้เป็นการทำเพื่อมนุษยชนเป็นหลัก ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แม้ยังไม่ทราบข้อมูลว่า จะต้องทำอะไร อยู่อย่างไร เพราะสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งแหล่งน้ำ อาหาร ห้องน้ำ ได้รับความเสียหายทั้งหมด แต่ก็จะช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ

“ในฐานะแพทย์ อีกทั้งยังเป็นคณะแพทย์ทีมแรกที่ประเทศพม่าอนุญาตให้เข้าประเทศ ก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ อุทิศตัวทำงานเพื่อผู้อื่น และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้พม่าเข้าใจวัตถุประสงค์ ที่นานาประเทศ ต้องการให้ความช่วยเหลือ”

ที่ยิ่งกว่านั้น ผศ.นพ.วิชัย บอกว่า ขณะนี้รู้สึกเป็นห่วงประชาชนชาวพม่าอย่างมาก ในเรื่องของโรคระบาด เพราะเท่าที่คณะแพทย์ซึ่งจะเดินทางเข้าประเทศพม่า ต้องได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง เป็นโรคที่ไม่มีในเมืองไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งความปลอดภัยของคณะแพทย์นั้น เชื่อว่าจะสามารถดูแลกันได้ แต่สำหรับประชาชน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ด้าน นพ.อุกฤษฎ์ คุณาธรรม ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล แพทย์อีกท่านที่เดินทางไปพม่า บอกว่า เชื่อว่า จะมีความปลอดภัยในการทำงาน เพราะในครั้งนี้เดินทางไปเป็นคณะและมีทีมของประเทศพม่า ให้การดูแล คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาในการทำงาน และมีความรู้สึกยินดีที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

น.ส.ประนอม ดวงใจ พยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลราชวิถี อายุ 51 ปี บอกถึงความรู้สึกที่จะเดินทางไปพม่าพร้อมกับคณะแพทย์ พยาบาลในครั้งนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกดีที่จะได้เข้าร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งได้รับความทุกข์ ลำบาก ด้วยความตั้งใจ และเต็มใจ ซึ่งก่อนจะเดินทางไปก็มีการเตรียมพร้อมร่างกาย จิตใจ ซึ่งที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการช่วยเหลือเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่หาดใหญ่ ในสถานการณ์ที่ไม่ทราบว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในพม่า น่าจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ และคิดว่า การทำงานเป็นไปอย่างปลอดภัย

**แพทย์คนแรกของไทยที่ไปเยี่ยมดู “ย่างกุ้ง”
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข
รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ถือเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปพม่า พร้อมนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเพื่อเข้าพบ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า หารือในเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุนาร์กีส

นพ.เจษฎา เล่าถึงช่วงที่ได้รับฟังบรรยายจาก พล.อ.เต็ง เส่ง ในช่วงเที่ยงของวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งได้ลงพื้นที่จริงที่ศูนย์ย่อยในกรุงย่างกุ้งเพียงแห่งเดียวพร้อมด้วยรถบรรทุกขนยาและเวชภัณฑ์ ว่า เมื่อไปถึงพม่าเรามีเวลาสั้นมาก โดยเวลาส่วนใหญ่เป็นการฟังบรรยายสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จาก พล.อ.เต็งเส่ง ว่า มีการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไรบ้าง โดยทุกอย่างเป็นไปอย่างเร่งด่วน มีการขนส่งผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ และทางเรือ มาที่ศูนย์การส่งต่อผู้ป่วยในแต่ละเมือง จากนั้นมีการลงทะเบียนและส่งต่อผู้ป่วยไปยังศูนย์แนวหลังหรือศูนย์ย่อย ทั้งนี้พม่ามีศูนย์ใหญ่ประมาณ 5-6 ศูนย์และมีศูนย์ย่อยๆกว่า 600 ศูนย์ มีการบริหารจัดการอย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 400 ศูนย์ แต่ละศูนย์มีประชาชนอาศัยประมาณ 200-300 คน

“หลังจากที่คณะจากไทยได้หารือกับนพ.วินวิน รองปลัดสธ. กับผู้อำนวยการกองดับเพลิงเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือที่สนามบินแล้ว เราจึงนั่งรถบัสไปยังศูนย์ย่อยในย่างกุ้ง ซึ่งสองข้างทางที่เห็นนั้นมีสภาพความสูญเสียที่เกิดจากพายุนาร์กีสอย่างชัดเจน เสียหายมากกว่าที่คาดคิดไว้ครั้งแรก เพราะหลังคาตามอาคารต่างๆในกรุงย่างกุ้งได้รับความเสียหายมาก ต้นไม้สองข้างทางล้มระเนระนาด ซึ่งย่างกุ้งถือเป็นเมืองหลวงสภาพก็อาจจะดีกว่าในส่วนของภาคอิระวดีที่โดนหนักกว่านี้หลายเท่าแต่ไม่ได้เดินทางไป”นพ.เจษฎาบรรยายสภาพ

นพ.เจษฎา บอกเล่าถึงศูนย์ที่เดินทางไปช่วยเหลือว่า ที่นั้นจะมีการกางเต็นท์ผ้าใบที่ได้รับการบริจาคจากจีน มีแทงค์น้ำ เครื่องกรองน้ำ และที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ถุงยังชีพพระราชทาน ซึ่งชาวพม่าต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศเป็นล้นพ้น ถือว่า สภาพทั่วๆ ไป ของศูนย์ย่อยนี้ค่อนข้างดี มีแพทย์ พยาบาลเป็นสิบราย มีมุมหนึ่งจัดเป็นที่พักผ่อน มีโทรทัศน์ให้ดู ได้ผ่อนคลาย

“ตอนนี้สภาพที่ย่างกุ้ง ความเสียหายไม่เท่าใดนัก เริ่มได้รับการฟื้นฟูขึ้นแล้วประมาณ 60-70% ทำให้มีไฟฟ้าใช้ ถนนหนทางดีขึ้น จากเดิมที่ได้รับการบอกเล่าว่า ในช่วงวันที่เกิดเหตุ ถนนที่ออกจากสนามบินถูกตัดขาด เพราะว่าต้นไม้ล้มปิดเส้นทาง ไฟฟ้าดับทั้งเมือง เพราะต้นไม้ล้มไปพาดสายไฟ ทั้งนี้ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพราะได้เดินทางไปเพียงแค่แห่งเดียว”

นพ.เจษฎา เล่าต่อว่า ทางการพม่าบอกว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว แต่พื้นที่อื่นเราก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อเขาบอกว่า สามารถบริหารจัดการได้ จึงต้องการให้ทีมไทยไปช่วยเสริมบุคลากรของเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้น อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องการจัดการผู้เสียชีวิตเลย

แม้ว่าในสภาพภายนอกของศูนย์ที่ไปเยี่ยมจะถือว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่นพ.เจษฎา วิเคราะห์ว่า ในระยะยาวเรื่องของสุขภาพจิตอาจยังคงมีปัญหาอยู่ ซึ่งฟื้นฟูต้องติดตามอาการต่อไปเพื่อให้ประชาชนกลับไปยังถิ่นบ้านเกิด รวมถึงการฟื้นฟูสภาพบ้านเมือง ผู้ประสบภัยไม่มีบ้าน และอาชีพซึ่งเดิมเขาทำประมงและปลูกข้าว ดังนั้น นอกจากเวชภัณฑ์ ยา หรือวัคซีนไทฟอยด์ อหิวาตกโรค ฯลฯ แล้ว ยังมีการประสานขอความช่วยเหลือเครื่องมือประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นเครื่องสูบน้ำ ที่จะสูบน้ำเค็มจากไร่นาออก เรือท้องแบน ตะปู รถไถ่หรือควายเหล็ก

“อยากฝากบอกแพทย์ที่จะเดินทางไปว่าให้เข้าใจสภาพว่าต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ เพราะทางพม่ามีภาระมากมาย และอยู่ในช่วงโกลาหลอยู่แล้ว และไม่ควรไปเพิ่มภาระให้เขาด้วยเช่นกันทั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าทีมแพทย์ที่เดินทางไปช่วยนั้นจะรวมกันหรือจะกระจายแยกย้ายกันทำงานตามส่วนต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าในการหารือของนพ.ปราชญ์ และคณะที่จะเดินทางไปยังพม่าในวันที่ 16 พ.ค.นี้”

ทั้งนี้ คาดว่า ทีมแพทย์ไทยที่จะเดินทางมาช่วยเหลือนั้น จะไปที่เมืองปะ เต็ง ในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี เพราะถนนได้รับความเสียหายไม่มาก รถสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมง ทั้งนี้การสื่อสารไม่สามารถใช้การได้ ต้องใช้โทรศัพท์ผ่านทางดาวเทียมเท่านั้น

นพ.โม โก อู (MOE KO OO) แพทย์ชาวพม่า ผู้ประสานงานทีมควบคุมและเฝ้าระวังโรคประจำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเป็นผู้ประสานในการเดินทางของทีมแพทย์ ในวันที่ 16 พ.ค.นี้ บอกว่า สถานการณ์ในพม่าขณะนี้ มีรายงานจากสาธารณสุขพม่าว่าผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือโดยทางการพม่าได้จัดเต็นท์ที่พักพิงชั่วคราวให้ เริ่มมีโรคระบาดเกี่ยวกับทางเดินอาหาร อาทิ บิด ท้องร่วงรุนแรงเฉียบพลัน มีอาการเจ็บปวดตามแขน ขา มีแผลพุพอง น้ำกัดเท้า และมีไข้ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือของทางการพม่ายังไม่ทั่วถึง ซึ่งในพื้นที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือทำให้ไม่ทราบว่าประชาชนมีอาการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง

“ทั้งนี้ พม่าต้องการแพทย์เคลื่อนที่เร็ว ร้อยละ 24 แพทย์ควบคุมโรค ร้อยละ 4 จิตแพทย์ ร้อยละ 2 แต่สิ่งที่สำคัญ คือ จะเสนอทีมแพทย์ลงพื้นที่จุดแรกคือที่เมือง KYUNG GYAN GONE ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในประเทศ ใช้เวลาเดินทางห่างจากเมืองย่างกุ้ง 1 ชั่วโมง ซึ่งทีมแพทย์ของไทยถือเป็นประเทศแรกที่พม่าขอความช่วยเหลือ ซึ่งจากนี้จะมีการขอความช่วยเหลือไปยังประเทศจีน อินเดีย และนานาชาติ โดยไทยถือเป็นแพทย์ 30 คนแรกใน 160 คน” นพ.โม โก อู กล่าว

ทั้งนี้ แพทย์ทั้ง 32 คนที่เดินทางไปพม่า ได้แก่ พญ.เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต, นางวัลลี ธรรมโกสิทธิ์ นักจิตวิทยา กรมสุขภาพจิต, นพ.ธนินทร์ พันธุเดชะ นายแพทย์ ด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชบุรี น.ส.ฤดี กุลอึ้ง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลราชบุรี, น.ส.วริศรา ม่วงช่วง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลราชบุรี, น.ส.ประนอม ดวงใจ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลราชวิถี, น.ส.ลออ อริยกุลนิมิต พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลราชวิถี, นพ.ชนินันท์ สนธิไชย นักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นายพิษณุวัฒน์ พานารถ นักวิชาการสาธารณสุข เชี่ยวชาญด้านโรคนำโดยแมลง นพ.โรม บัวทอง นักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, น.สพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า สัตวแพทย์ กรมควบคุมโรค, นพ.อุกฤษฎ์ คุณาธรรม แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, นพ.วรสรวง ทองสุข วิสัญญีแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี, พญ.พรรณอร เฉลิมดำริชัย แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี

นายอรรถพล พลพาน พยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี, นายวัชรินทร์ เลิศสงคราม พยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี, นพ.อัจฉริย สาโรวาท โรงพยาบาลรามาธิบดี, ผศ.นพ.วิชัย พันธ์ศรีมังกร กุมารศัลยแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี,นพ.พิชิต ศิริวรรณ, นพ.รัฐพลี ศิริวรรณ, นพ.ธัญญพงษ์ ณ นคร, นพ.สีหธัช งามดูโฆษ, นพ.อรุณชัย นรเศรษฐ์กมล, น.ส.สุวภา หงส์ศิริวรรณ, น.ส.กฤวิสรา ธนเพิ่มพร, น.ส.สวรส เสรีย์วงศ์ ณ อยุธยา, น.ส.วันวิสาข์ ตันลิกมล, น.ส.อนันธนา ตันประยูร, น.ส.คนึงนิจ จันทรทริน จากสภากาชาด, นพ.อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และ นพ.ธัญญณัฐ บุนนาค สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติราชินี
กำลังโหลดความคิดเห็น