xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางกลาโหม 2551 : ปัญหาหรือความเป็นปกติ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

จุดเริ่มต้นของการเมืองไทยใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 กำลังจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างภายในประมาณไม่เกิน 23 มกราคม ที่จะถึงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยประกาศที่จะแถลงจุดยืนของพรรคชาติไทยว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ในวันที่ 17 มกราคม เวลาประมาณ 20.00 นาฬิกา ซึ่งก่อนหน้านี้นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินได้แถลงข่าวว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี พรรคชาติไทยโดยนายบรรหารเองก็แสดงท่าทีมาตลอดว่าจะเข้าร่วมรัฐบาล จนมีเสียงล่ำลือว่าพรรคชาติไทยสร้างอำนาจต่อรองมากเกินจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในอาณัติ ขณะที่ความนิยมของประชาชนเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ครั้งหนึ่งเป็นพื้นที่พรรคชาติไทยและการพลิกลิ้นของนายบรรหารทำให้ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่ปรึกษาให้กับพรรคชาติไทยมานานหลายปี ทั้งเป็นนักวิชาการผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่ปกป้องภาพพจน์ของพรรคชาติไทยมาตลอด ถึงกับออกปากเสียใจมาก จึงมองอนาคตว่าเมื่อสิ้นรัฐบาลผสมแบบเฉพาะกิจ ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคพลังประชาชนนี้แล้ว พรรคชาติไทยคงจะระเหยหายไปจากบรรยากาศการเมืองไทย เพราะนายบรรหารคงจะหมดพลังทั้งหลายทั้งปวงเช่นเดียวกับพรรคการเมืองระบบเถ้าแก่อื่นๆที่มีมาก่อนหน้านี้นับสิบพรรค

เป็นอันว่าพรรคพลังประชาชนจะตั้งรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงข่าวผ่านสื่อต่างประเทศในฐานะประธานสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และอดีตนายกรัฐมนตรีโดยใช้จังหวะขณะชมฟุตบอลเอฟเอคัพระหว่างสโมสรเวสแฮม ยูไนเต็ด กับ “เรือใบฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคมนี้เองว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนมีคุณสมบัติสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะประชาชนเลือกพรรคพลังประชาชน

ดังนั้น อำนาจในการตัดสินใจเลือกใครที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลนั้นขึ้นอยู่กับนายสมัคร แต่ตำแหน่งที่เป็นข่าวมากที่สุดในสื่อรายสัปดาห์ชั้นแนวหน้าห้วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้แก่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเป็น พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับอดีตรัฐบาล และเป็นตัวแปรสำคัญฐานกำลังของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการควบคุมสถานการณ์ แต่ก็ไม่สามารถจะสั่งการตอบโต้สยบฝ่ายคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่สามารถปฏิบัติการยึดอำนาจการสั่งการทางทหารได้ก่อน และยึดอำนาจการปกครองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ด้วยแนวทางใหม่ของการรัฐประหาร คปค. จึงแต่งตั้งให้พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ เป็นที่ปรึกษา คปค.จนครบเกษียณอายุราชการในปีนั้นเอง

ชีวิตราชการของพล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ในช่วงกลางนั้นไม่หวือหวานักอยู่ในสายฝ่ายส่งกำลังบำรุง แต่เข้าสัมผัสกับอำนาจทางทหารและอำนาจรัฐเมื่อเป็นฝ่ายเสนาธิการประจำตัวผู้บังคับบัญชา พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.สูงสุด และประธาน รสช.และต่อมาเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำเสนาธิการทหาร พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ และอยู่ในสายธุรการและทหารพัฒนาก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนให้เป็น ผบ.สูงสุดแทนพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีเรื่องราวภายในกองทัพจนชีวิตต้องหักเหเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ย้ายจาก ผบ.ทบ.และให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน

พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ก็มีโอกาสได้รับเลือกให้เป็น รมว.กลาโหมเช่นเดียวกันเพราะมีความใกล้ชิดกันในฐานะญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาของนายทหารระดับสูงของกองทัพบก และกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดจนมีกลุ่มธุรกิจหลายค่ายสนับสนุน

แต่ทั้งสองคนนี้อาจจะสร้างปัญหาแตกแยกในกองทัพก็ได้ จึงทำให้ทหารอาชีพหลายคนในระดับบริหารและบังคับบัญชาไม่สบายใจ แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ คมช.ที่กำลังจะเป็นอดีตต้องไม่สบายใจเพราะต้องอึดอัดใจก่อนเกษียณอายุราชการใน 30 กันยายนนี้เป็นอย่างมากที่ต้องรับคำสั่งจากญาติและผู้ใกล้ชิดของบุคคลที่คมช.ยึดอำนาจและกล่าวโทษว่าหมิ่นเหม่ต่อการล่วงละเมิดพระราชอำนาจและทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะพล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.บุญสร้างเนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศที่จะต้องถูกบีบให้ออกคำสั่งแต่งตั้งพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศในปี 2550 แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อนแผนนี้จึงเป็นโมฆะไปโดยปริยายให้กลับเข้าตำแหน่งที่จะเป็น ผบ.ทอ.ในเดือนตุลาคม 2551 หรือคนอื่นๆ หรือออกนโยบายอื่นๆที่ขัดต่อความตั้งใจของ คมช.

พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบารมีมากพอสมควรในกองทัพ เพราะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมประมาณ 1 ไตรมาสกว่าในคณะรัฐบาลทักษิณ 1 ทั้งยังเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าหากท่านใช้ตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เพื่อเป็นตั๋วชิงตำแหน่ง รมว.กลาโหม แล้วสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อยับยั้งการนี้คือนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีและควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมอีกด้วยอันเป็นวัฒนธรรมการเมืองของไทยมาช้านานแล้ว นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และที่เป็นพลเรือนเคยมีปรากฏมาแล้วในยุคของนายเสนีย์ ปราโมทย์ เป็นนายกรัฐมนตรีและนายชวน หลีกภัย เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และควบรัฐมนตรีกลาโหมในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 เป็นสมัยที่สองหลังจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกเพราะวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อฟองสบู่แตกต้องลอยค่าเงินบาท

สภาพกองทัพจะเป็นอย่างไร เมื่อมีนายกรัฐมนตรีชื่อสมัคร สุนทรเวช ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ความก้าวร้าว ความเป็นอัตตา ความคิดอาฆาต และความเชื่อมั่นในตัวเองสูง คนในกองทัพคงจะต้องอดทนอย่างมหาศาลหรือหน้าตากองทัพจะเป็นอย่างไรทำให้นึกถึงภาพนาย โดนัล รัมสเฟล อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องปลดเพราะบัญชาการรบในอิรักจนเกิดการผิดพลาด

กองทัพเคยมีพลเรือนท่านหนึ่งที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายซ้าย เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมคือ นายชวน หลีกภัย แต่ปรากฏว่ายุคนั้นเป็นยุควิกฤตเศรษฐกิจที่กองทัพเหลืองบประมาณเพียงร้อยละ 1.3 ของ GDPจนกองทัพต้องฝ่าวิกฤตวิธีต่างๆ แต่นายชวน หลีกภัย ไม่เคยใช้วิธีรุนแรงในการบริหารงบประมาณกองทัพในภาวะวิกฤตกลับให้สวัสดิการ และแทรกแซงกองทัพน้อยที่สุด ทั้งยังไม่ยอมใช้งบราชการลับและให้ส่งคืนคลัง

ในภาวการณ์เช่นนี้บุคคลหนึ่งที่กองทัพ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายเศรษฐกิจ อาจจะยอมรับได้แก่ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่บริหารหน่วยทหารในภาวะวิกฤต ทั้งยังสามารถลดภาระหนี้สินให้กลาโหมเพราะเจรจาต่อรองจนฝ่ายสหรัฐฯ ยอมให้นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหมขณะเข้าพบประธานาธิบดี คลินตัน โดยมีการเพิ่มวาระเรื่องกองทัพอากาศไทยขอระงับการซื้อ F-18 เพราะไม่มีเงินซื้อซึ่งเป็นความสามารถของพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ที่สามารถโน้มน้าวให้มีการเจรจาในเรื่องนี้ มิฉะนั้นกองทัพอากาศและประเทศไทยคงมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดซื้อ F-18 ในขณะนั้น

พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ น่าจะเป็นบุคคลที่ ส.ส.หลายพรรคเห็นด้วย หากพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นเจ้าภาพเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม อย่างน้อยพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ มีความใกล้ชิดกับทุกพรรคการเมืองเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร และพล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ผู้ที่เสมือนหนึ่งเป็นกลางเชื่อมกับกองทัพ นักการเมือง และนายทหารอาชีพยุคใหม่ ทั้งยังเป็นราชภักดี และทั้ง 3 ท่านนี้มีความใกล้ชิดกับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเงื่อนไขนี้จะพิสูจน์ว่านายสมัคร สุนทรเวช มีความเคียดแค้นพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถาวรหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น