xs
xsm
sm
md
lg

"ซับไพรม์"ปะทุฉุดดัชนีตลาดหุ้นธปท.รับฝรั่งขนเงินหนีพันล.ดอลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ปัญหาซับไพรม์พ่นพิษรอบใหม่ ผสมโรงปัญหาเศรษฐกิจโลกหดตัวจากปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง กดดันนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ฉุดดัชนีหุ้นไทยร่วงอีก 11 จุด ส่งผลให้ยอดขายสุทธิ มิ.ย.เดือนเดียวสูงถึง 2.28 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีทิ้งหุ้นไปแล้ว 3.74 หมื่นล้านบาท ทำลายสถิติสูงสุดในปี 37 ด้านแบงก์ชาติ ยอมรับ 2 สัปดาห์ต่างชาติขนเงินออกนอกประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (18 มิ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศในหุ้นกลุ่มพลังงาน แบงก์ ส่งผลดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดระหว่างวันที่ 765.35 จุด สูงสุด 773.10 จุด ก่อนจะปิดที่ 765.74 จุด ลดลง 11.43 จุด หรือลดลง 1.47% มูลค่าการซื้อขาย 16,883.74 ล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 774.10 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 398.50 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 375.60 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 22,867.37 ล้านบาท หากรวมตั้งแต่ต้นปี 51 ถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิไปแล้ว 37,467.40 ล้านบาท

เงินไหลออกลด-บาทเริ่มนิ่ง

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหว ของค่าเงินบาทเริ่มนิ่งและสมดุลมากขึ้น หลังจาก 2-3 วันที่ผ่านมามีเงินทุนจาก ต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยบ้าง ขณะที่ผู้ส่งออกบางส่วนเริ่มกลับมาขายเงินดอลลาร์อย่างเดิม รวมทั้งมีการขายหุ้นออกไปจากตลาดหุ้นด้วย โดยขณะนี้เงินทุนเริ่มทยอยออกไปเหลือแค่วันละ 1,000-3,000 ล้านบาท หรือประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินทุนจากต่างชาติไหลออกประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท (คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่ง ธปท.ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด

'ขณะนี้การกู้เงินบาทไปซื้อเงิน ดอลลาร์ เพื่อเก็งกำไรไม่ได้หวือหวานัก และทุกอย่างกลับเป็นไปตามช่องทางที่ธปท.วางกรอบไว้ ส่วนกรณีที่ระบุว่ามี นักลงทุนต่างชาติ 3-4 รายเก็งกำไรในลักษณะนี้เป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากเท่าที่พูดคุยกัน พบว่า มีการส่งรายงานการชี้แจงที่ผิดหรือบางส่วนก็ไม่ครบ'

ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยังมีเม็ดเงินส่วนนี้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกยังเป็นบวก อยู่ แต่หลังจากนั้นเริ่มชะลอการลงทุน นับตั้งแต่ในช่วงเดือน พ.ค.จากปัญหาค่าเงินบาทอ่อนและปัญหาการเมือง

ธปท.ยันไม่ใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อ

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ต่างกับ ปี 49 ที่ผ่านมาที่เกิดจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจากความต้องการต้นทุนแท้จริง (Demand Pull) แต่ในปี 51 อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจากต้นทุนสินค้า (Cost Push) โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การดำเนินนโยบายการเงินไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ให้มีความตึงตัวมากขึ้น แต่การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไป เพื่อให้ตามเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost push ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก คงทำไม่ได้ เพราะต้องดูการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ควบคู่กันไปด้วย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยาย ตัวต่อเนื่อง ขณะที่ ธปท.ส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน แต่ถือเป็นเรื่องปกติของกระทรวงการคลัง และธนาคารกลางทั่วโลก เพราะกระทรวงการคลัง หรือรัฐบาล กับ ธปท.มีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน กระทรวงการคลังต้องการเห็นการขยาย ตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ ธปท.ต้องเป็นฝ่ายระวังหลังในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

'จุดที่สมดุล คือ เราก็ต้องไม่ห่วงแต่เงินเฟ้ออย่างเดียว จะต้องดูแลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย โดยในส่วนของ นโยบายการคลังเองก็สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนก็มีการเพิ่มค่าครองชีพให้แก่พนักงาน ข้าราชการแล้ว'

'ในการรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อครั้งหน้า ประมาณเดือน ก.ค.นี้ คงจะต้องปรับเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป จากเดิม ที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ทั้งปีที่ 4-5% เพิ่มขึ้น เพราะในขณะนี้ เงินเฟ้อ 5 เดือนแรกอยู่ที่ 5.8% แล้ว แต่ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังดูแลให้อยู่ภายใต้เป้าหมายได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้'

ต่างชาติปรับพอร์ตลดความเสี่ยง

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการ ผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นการตองสนองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งในระยะสั้นยังคาดการณ์ได้ยาก ทำให้มองว่าไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น นักลงทุนเหล่านี้จึงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือมองหาการลงทุนในประเทศอื่นที่มีความแน่นอนของผลตอบแทนมากกว่า

'ความไม่สงบทางการเมืองเป็นเรื่องปลายเหตุ นักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลมากนัก เพราะเกิดขึ้นอยู่ในทุกประเทศ แต่เรื่องที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและเป็นห่วงคือแนวทางการบริหารจัดการที่ดี หรือเคารพกติกาบ้านเมืองหรือไม่'

นายพิชิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เพราะไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น ทำให้เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรอบที่สามารถจัดการได้ ทั้งแผนการการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการบริโภคในประเทศ ที่ได้ประโยชน์ จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ

ซับไพรม์ปะทุกดดันตลาดหุ้น

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้น ไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัย ต่างประเทศในเรื่องความกังวลปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพ ต่ำ (ซับไพรม์) จากที่โกลด์แมน แซคส์ ประสบปัญหาขาดทุน และคาดว่าปัญหา ซับไพรม์จะมีความรุนแรงสูงสุดในปี 2552 ส่งผลให้สถาบันการเงินจะต้องเพิ่มทุน และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องเพิ่มทุนอีก 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อรองรับการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 108 จุด

จากปัญหาต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว จึงไม่มีแรงจูงใจในการ เข้ามาลงทุน และนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ในหุ้นหุ้นกลุ่มพลังงาน จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความกังวลในเรื่องสถาบันการเงินของอเมริกา

ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศคือเรื่องความกังวลการที่ กลุ่มสมาพันธ์แรงงาน รัฐวิสาหกิจตอบรับที่จะร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันศุกร์นี้

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทย วันนี้คาดว่าจะยังคงแกว่งตัวในทิศทาง ปรับตัวลดลง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุน แต่อาจจะเริ่มมีแรง เก็งกำไรในช่วงที่จะเริ่มมีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/51 โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 750-760 จุด แนวต้านที่ระดับ 781-795 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นซึมลงต่อเนื่อง

นางสาววิริยา ลาภพรมรัตน ผู้อำนวย-การอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงสวนทาง กับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีแรงขายหุ้น ปตท. และ ปตท.สผ.ออกมาจำนวนมาก จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลง เพื่อรอการประชุมของกลุ่มโอเปกในการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน และความกังวลในเรื่องกลุ่มสมาพันธ์ แรงงานฯ จะเข้าร่วมชุมนุมกับทางกลุ่มพันธมิตรฯในวันศุกร์

'ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการเคลื่อนไหว ในลักษณะที่ซึมตัวในช่วงที่ใกล้วันศุกร์ เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนปัจจัยต่างประเทศเรื่องปัญหาซับไพรม์นั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในวานนี้ แต่เริ่มมีสถาบันการเงินต่างประเทศที่ประกาศงบออกมาขาดทุน โดยบริษัทประเมินแนวรับที่ระดับ 760 จุด แนวต้านที่ระดับ 770-775 จุด'

เสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการ อาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติยังขายในหุ้น กลุ่มพลังงาน และแบงก์ จากความกังวลในเรื่องปัจจัยทางการเมืองจากการที่กลุ่มสมาพันธ์แรงงานฯจะมีการร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลกดดันรัฐบาลลาออก และจากการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะสร้างแรงกดดันในเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น บวกกับมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เดินหน้า รวมทั้งการคาดการณ์ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่จะประกาศออกมาในปลายสัปดาห์นี้ ถึงต้นเดือนหน้าจะขาดดุลต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยยังขาดทุนบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง

'แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความกังวลการ ชุมนุม และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิ บริษัทแนะนำนักลงทุนระยะยาวให้ถือเงินสดไว้รอดูสถานการณ์ก่อน ส่วนนักลงทุนระยะสั้นเก็งกำไร โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 755-757 จุด แนวต้านที่ระดับ 770-773 จุด'

ต่างชาติขายสุทธิทำนิวไฮด์รอบ 15 ปี

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ได้รวบรวมข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติย้อนหลังจากปี 2536 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 พบว่า นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้นไทย 3.38 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเพียง 6 เดือน โดยปีที่มียอดขายสุทธิสูงสุดคือปี 2537 ที่ 36,350 ล้าน บาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2551 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 พบว่านักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิไปแล้ว 33,770 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมกับวานนี้ 18 มิถุนายน 2551 พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 37,467.40 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสูงสุดในปี 2537 แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น