xs
xsm
sm
md
lg

"ซับไพรม์" ประทุฉุดดัชนีตลาดหุ้น ธปท.รับฝรั่งขนเงินหนีพันล.ดอลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาซับไพรม์พ่นพิษรอบใหม่ ผสมโรงปัญหาเศรษฐกิจโลกหดตัวจากปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง กดดันนักลงทุนต่างชาติหุ้นไทยต่อเนื่อง ฉุดดัชนีหุ้นไทยร่วงอีก 11 จุด ส่งผลให้ยอดขายสุทธิ มิ.ย.เดือนเดียวสูงถึง 2.28 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีทิ้งหุ้นไปแล้ว 3.74 หมื่นล้านบาท ทำลายสถิติสูงสุดในปี 37 ด้านแบงก์ชาติ ยอมรับ 2 สัปดาห์ต่างชาติขนเงินออกนอกประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (18 มิ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศในหุ้นกลุ่มพลังงาน แบงก์ ส่งผลดัชนีปรับตัวลดลงต่ำสุดระหว่างวันที่ 765.35 จุด สูงสุด 773.10 จุด ก่อนจะปิดที่ 765.74 จุด ลดลง 11.43 จุด หรือลดลง 1.47% มูลค่าการซื้อขาย 16,883.74 ล้านบาท

โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 774.10 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 398.50 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 375.60 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 22,867.37 ล้านบาท หากรวมตั้งแต่ต้นปี 51 ถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิไปแล้ว 37,467.40 ล้านบาท

**เงินไหลออกลด-บาทเริ่มนิ่ง**

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเริ่มนิ่งและสมดุลมากขึ้น หลังจาก 2-3 วันที่ผ่านมามีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยบ้าง ขณะที่ผู้ส่งออกบางส่วนเริ่มกลับมาขายเงินดอลลาร์อย่างเดิม รวมทั้งมีการขายหุ้นออกไปจากตลาดหุ้นด้วย โดยขณะนี้เงินทุนเริ่มทยอยออกไปเหลือแค่วันละ 1,000-3,000 ล้านบาท หรือประมาณ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินทุนจากต่างชาติไหลออกประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท (คำนวณอัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งธปท.ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด

"ขณะนี้การกู้เงินบาทไปซื้อเงินดอลลาร์ เพื่อเก็งกำไรไม่ได้หวือหวานัก และทุกอย่างกลับเป็นไปตามช่องทางที่ธปท.วางกรอบไว้ ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีนักลงทุนต่างชาติ 3-4 รายเก็งกำไรในลักษณะนี้เป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากเท่าที่พูดคุยกัน พบว่า มีการส่งรายงานการชี้แจงที่ผิดหรือบางส่วนก็ไม่ครบ"

ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยังมีเม็ดเงินส่วนนี้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกยังเป็นบวกอยู่ แต่หลังจากนั้นเริ่มชะลอการลงทุนนับตั้งแต่ในช่วงเดือนพ.ค.จากปัญหาค่าเงินบาทอ่อนและปัญหาการเมือง

**ธปท.ยันไม่ใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้อ**

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ต่างกับปี 49 ที่ผ่านมาที่เกิดจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจากความต้องการต้นทุนแท้จริง (Demand Pull) แต่ในปี 51 อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจากต้นทุนสินค้า (Cost Push) โดยเฉพาะราคาน้ำมันสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การดำเนินนโยบายการเงินไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ให้มีความตึงตัวมากขึ้น แต่การจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไป เพื่อให้ตามเงินเฟ้อที่เกิดจาก Cost push ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก คงทำไม่ได้ เพราะต้องดูการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ธปท.ส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน แต่ถือเป็นเรื่องปกติของกระทรวงการคลัง และธนาคารกลางทั่วโลก เพราะกระทรวงการคลัง หรือรัฐบาล กับ ธปท.มีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน กระทรวงการคลังต้องการเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ ธปท.ต้องเป็นฝ่ายระวังหลังในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

"จุดที่สมดุล คือ เราก็ต้องไม่ห่วงแต่เงินเฟ้ออย่างเดียว จะต้องดูแลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย โดยในส่วนของนโยบายการคลังเองก็สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่ผ่านมาหลายองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนก็มีการเพิ่มค่าครองชีพให้กับพนักงาน ข้าราชการแล้ว"

"ในการรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อครั้งหน้า ประมาณเดือน ก.ค.นี้ คงจะต้องปรับเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป จากเดิมที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ทั้งปีที่ 4-5% เพิ่มขึ้น เพราะในขณะนี้ เงินเฟ้อ 5 เดือนแรกอยู่ที่ 5.8% แล้ว แต่ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังดูแลให้อยู่ภายใต้เป้าหมายได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้"

***ต่างชาติปรับพอร์ตลดความเสี่ยง***

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เอ็มเอฟซี กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นการตองสนองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนี้ ซึ่งในระยะสั้นยังคาดการณ์ได้ยาก ทำให้มองว่าไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น นักลงทุนเหล่านี้จึงมองหาการลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือมองหาการลงทุนในประเทศอื่นที่มีความแน่นอนของผลตอบแทนมากกว่า

"ความไม่สงบทางการเมืองเป็นเรื่องปลายเหตุ นักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลมากนัก เพราะเกิดขึ้นอยู่ในทุกประเทศ แต่เรื่องที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจและเป็นห่วงคือแนวทางการบริหารจัดการที่ดี หรือเคารพกติกาบ้านเมืองหรือไม่"

นายพิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยยังได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เพราะไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น ทำให้เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรอบที่สามารถจัดการได้ ทั้งแผนการการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการบริโภคในประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ

***ซับไพรม์ประทุกดดันตลาดหุ้น***

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศในเรื่องความกังวลปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำ (ซับไพรม์) จากที่โกลด์แมน แซคส์ ประสบปัญหาขาดทุน และคาดว่าปัญหาซับไพรม์จะมีความรุนแรงสูงสุดในปี 2552 ส่งผลให้สถาบันการเงินจะต้องเพิ่มทุน และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องเพิ่มทุนอีก 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อรองรับการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน ทำให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวดลลง 108 จุด

จากปัญหาต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว จึงไม่มีแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุน และนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิต่อเนื่อง ในหุ้นหุ้นกลุ่มพลังงาน จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความกังวลในเรื่องสถาบันการเงินของอเมริกา

ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศคือเรื่องความกังวลการที่ กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจตอบรับที่จะร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะเคลื่อนขบวนไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันศุกร์นี้

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าจะยังคงแกว่งตัวในทิศทางปรับตัวลดลง จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุน แต่อาจจะเริ่มมีแรงเก็งกำไรในช่วงที่จะเริ่มมีการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/51 โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 750-760 จุด แนวต้านที่ระดับ 781-795 จุด

**ดัชนีตลาดหุ้นซึมลงต่อเนื่อง

นางสาววิริยา ลาภพรมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงสวนทางกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีแรงขายหุ้นปตท. และปตท.สผ.ออกมาจำนวนมาก จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลง เพื่อรอการประชุมของกลุ่มโอเปกในการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน และความกังวลในเรื่องกลุ่มสมาพันธ์แรงงานฯ จะเข้าร่วมชุมนุมกับทางกลุ่มพันธมิตรฯในวันศุกร์

"ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ซึมตัวในช่วงที่ใกล้วันศุกร์ เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนปัจจัยต่างประเทศเรื่องปัญหาซับไพรม์นั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในวานนี้ แต่เริ่มมีสถาบันการเงินต่างประเทศที่ประกาศงบออกมาขาดทุน โดยบริษัทประเมินแนวรับที่ระดับ 760 จุด แนวต้านที่ระดับ 770-775 จุด"

**เสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติยังขายในหุ้นกลุ่มพลังงาน และแบงก์ จากความกังวลในเรื่องปัจจัยทางการเมืองจากการที่กลุ่มสมาพันธ์แรงขายฯจะมีการร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลกดดันรัฐบาลลาออก และจากการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะสร้างแรงกดดันในเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น บวกกับมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่เดินหน้า รวมทั้งการคาดการณ์ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่จะประกาศออกมาในปลายสัปดาห์นี้ ถึงต้นเดือนหน้าจะขาดดุลต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยยังขาดทุนบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง

"แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความกังวลการชุมนุม และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิ บริษัทแนะนำนักลงทุนระยะยาวให้ถือเงินสดไว้รอดูสถานการณ์ก่อน ส่วนนักลงทุนระยะสั้นเก็งกำไร โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 755-757 จุด แนวต้านที่ระดับ 770-773 จุด"

**ต่างชาติขายสุทธิทำนิวโฮด์รอบ15ปี

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส ได้รวบรวมข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติย้อนหลังจากปี 2536 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 พบว่า นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสะสมในตลาดหุ้นไทย 3.38 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเพียง 6 เดือน โดยปีที่มียอดขายสุทธิสูงสุดคือปี 2537 ที่36,350 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2551 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 พบว่านักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิไปแล้ว 33,770 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมกับวานนี้ 18 มิถุนายน 2551 พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 37,467 .40 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดขายสูงสุดในปี 2537 แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น