xs
xsm
sm
md
lg

ชงข้อมูลเช็กบิลหมัก ย้ำชิมไปบ่นไปผิดชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นาย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กระทำผิดขัดรัฐธรรมนูญ ที่ไปจัดรายการ "ชิมไปบ่นไป" เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ก็ได้ทำหนังสือถึง นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. พร้อมแนบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4 / 2544 ที่วินิจฉัยในกรณีนาย วิชิต พูลลาภ พร้อม ส.ว ขณะนั้น 32 คน ขอให้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี 10 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ กรณีที่ดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัท เพื่อให้ส่งต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดที่มี พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ เป็นประธาน ใช้ประกอบแนวทางการพิจารณา
ทั้งนี้ ในเนื้อหาของคำวินิจฉัยในกรณี อดีต 10 รัฐมนตรี หน้าที่ 40 ตอนหนึ่งมีการระบุว่า การเป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์จะเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยเมื่อ ปี 2531 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เคยหารือแล้วว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในธุรกิจเพื่อค้าหากำไร มีเจตนารมณ์จะไม่ให้รัฐมนตรีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเพื่อค้าหากำไรของเอกชน แม้จะไม่ห้ามไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญก็ตาม ดังนั้นรัฐมนตรีจะเป็นประธานกิตติมศักดิ์ไม่ได้
และในเนื้อหาคำวินิจฉัยหน้า 45 ก็ยังมีการระบุว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 208 ว่า " รัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่ง หรือกระทำการใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 110 มิได้ เว้นแต่ตำแหน่งที่ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย
นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวหน้า 47 ก็ระบุว่า เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 208 มีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันมิให้มีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนบุคคล โดยปิดกั้นมิให้รัฐมนตรี อาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่ตนมีส่วนได้เสีย หรือที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ อีกทั้งเพื่อให้รัฐมนตรีอุทิศเวลาและทุ่มเทกำลังให้กับการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐธรรมนูญมอบหมายอย่างเต็มที่ ดังนั้นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ จึงต้องเป็นนิติบุคคลที่ประกอบการหรือมีการดำเนินการอยู่ตามปกติ อันอาจจะนำไปสู่การขัดกันของผลประโยชน์ หรือทำให้รัฐมนตรีต้องแบ่งเวลาจากการบริหารราชการแผ่นดินมาให้ มิใช่นิติบุคคลที่เลิกกิจการ หรือไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แล้ว"
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ ประธานอนุกรรมการสอบ กรณีนายสมัคร ของกกต. ได้กล่าวผ่านเว็บไซด์ ไทยอินไซเดอร์ ถึงการสอบสวนว่าขณะนี้ได้เรียกตัวบุคคล รวมถึงเอกสารบางส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบบ้างแล้ว ซึ่งคณะทำงานเร่งทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจาก เป็นคดีที่สำคัญ และประชาชนให้ความสนใจ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะเสร็จสิ้นเมื่อไร เนื่องจากคณะกรรมการหลายคนซึ่งเป็นข้าราชการที่ยังมีภารกิจหลัก ที่ต้องปฏิบัติอยู่ด้วยจึงอาจจะสามารถทำหน้าที่กรรมการไต่สวนในคณะได้เพียงอาทิตย์ละ 2-3 วัน แต่จนถึงขณะนี้ก็ถือว่า มีความคืบหน้าไปมากแล้วเช่นกัน

**กกต.แจงยกคำร้องสำนวนทุจริต
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องให้ กกต.ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบสำนวนของพรรคพลังประชาชน ที่ถูกยกคำร้องกว่า 700 สำนวนว่า สำนวนที่มีการร้องคัดค้านเข้ามายัง กกต. มีเพียงแค่ 648 สำนวนเท่านั้น และมีการลงมติไปแล้ว 300 กว่าสำนวน ส่วนที่มีการยกคำร้องไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นการกล่าวหากันลอยๆ พอเชิญผู้ร้องมาให้ปากคำ ก็ไม่มีข้อมูลหลักฐาน ดังนั้นสำนวนที่ยกคำร้องไป กกต.สามารถชี้แจงได้ทุกเรื่อง เพราะกกต. พิจารณาเท่าเทียมกันทุกพรรคไม่เฉพาะพรรคใดพรรคหนึ่ง ยืนยันว่าเราทำงานตามกฎหมาย พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นหลัก
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวถึง กรณีกล่าวหาว่า กกต.แตกเป็น 2 ฝ่าย โดยยอมรับว่า ลำบากใจ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ กกต.ทั้ง 5 คนยังทำงานทำงานร่วมกัน ไม่ได้แบ่งแยกการทำงาน ไม่มีการถูกชักจูงในเรื่องความคิดเห็น ทำงานโดยอิสระ และการพิจารณา ก็ไม่ได้เข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งตนได้กำชับกับเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ทำองค์กร กกต. เป็นกลางที่สุด ไม่ฝักใฝ่ หรือเข้าข้างฝ่ายใด ถ้าใครมีพฤติกรรมช่วยเหลือ เอนอียงก็ต้องดำเนินการจนถึงที่สุด
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสำนวนที่มีการยกคำร้องไปแล้วนั้น นายอภิชาต กล่าวว่ายังไม่มีการหารือในเรื่องในที่ประชุม กกต. อย่างไรก็ตาม ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องสำนวนและชี้แจงให้ประชาชนทราบ
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ที่กล่าวหาว่า กกต.ยกคำร้องสำนวนร้องคัดค้านเลือกตั้ง 700 สำนวน คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เพราะสำนวนร้องคัดค้านที่อยู่ระหว่างการดำเนินของ กกต.มีทั้งหมดเพียง 648 สำนวนเท่านั้น ซึ่ง กกต.ได้พิจาณณาเสร็จสิ้น 328 สำนวน ประกอบด้วย สำนวนที่ยกคำร้องคัดค้าน 248 สำนวน ยกคำร้องคัดค้านและดำเนินคดีอาญา 23 สำนวน ไม่รับคำร้องคัดค้าน 31 สำนวน ถอนคำร้องคัดค้าน 4 สำนวน เลือกตั้งใหม่โดยการใบเหลือง 16 สำนวน มีจำนวน 30 คน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือให้ใบแดง 6 สำนวน จำนวน 8 คน รวมสำนวนที่พิจารณาเสร็จสิ้น 328 สำนวน
นายสุทธิพลยังยกตัวอย่างจากการสำรวจคดีเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้งแต่ละสมัยของกกต.ที่ผ่านมา พบว่าสำนวนส่วนใหญ่ที่ร้องคัดค้านเข้ามาท้ายที่สุดจะถูกเป็นการยกคำร้อง โดยในการเลือกตั้ง ส.ส .เมื่อ 6 ก.พ. 48 มีเรื่องร้องคัดค้านเข้ามาทั้งหมด 870 เรื่อง และกกต.ได้ยกคำร้อง 535 สำนวน
" ขอให้มั่นใจว่าการทำงานของ กกต.ตรงไปตรงมา และยินดีให้มีการตรวจสอบ แต่จะให้รื้อสำนวนที่พิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น ผมคิดว่าจะทำได้ลำบาก เพราะถ้าจะหยิบ ที่ยกคำร้องไปแล้วจะมีการรับรองการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา จึงควรปล่อยไปตามกติกามากกว่า และสำนวนที่เหลือก็พิจารณากันต่อไป"
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่กกต.รู้เห็นและวางตัวไม่เป็นกลางในการทำงาน กกต.น้อมรับที่จะเอาไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบหลักฐานตามที่กล่าวหาและทำให้องค์กร ประเทศชาติเสื่อมเสียก็ต้องดำเนินการลงโทษทางวินัย และดำเนินคดีอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องจนถึงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น