อันที่จริงในฐานะมนุษย์ทั้งผองพี่น้องกัน ไม่ควรมีชุดความคิดหรือคำอธิบายแก้ต่าง (Apology) ใดหนักแน่นชอบธรรมมากพอจะประหัตประหารผู้เห็นแตกต่างกันกับเรา ไม่ว่าศรัทธาศาสนาหรืออุดมการณ์การเมืองของเขาจะอันตรายต่อทัศนะเรามหาศาลขนาดไหนก็ตาม
ด้วยความตายของผู้คนเห็นต่างนั้นไม่ได้หมายความว่าศรัทธาและอุดมการณ์เช่นนั้น จะปลาสนาการตามไปด้วยแต่อย่างใดไม่
แม้นว่าการสังหารแกนนำเพื่อสิ้นสุดภัยคุกคามความคิดความเชื่อจักเป็นไปได้ในทางยุทธวิธี ทว่าทางยุทธศาสตร์แล้วล้มเหลวสิ้นเชิง เพราะการเด็ดหัวผู้นำนั้นนำมาสู่ปรากฏการณ์ ‘ตายสิบเกิดแสน’ เสมอๆ ทางการเมือง หรือน้อยสุดก็เกิดเครือข่ายพลเมืองเข้มแข็งตามมา ดังหลังการจากไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และเจริญ วัดอักษร ที่ความเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนได้ก้าวสู่ปริมณฑลทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของนโยบายสาธารณะที่กว้างขวางกว่าประเด็นแรกเริ่มในที่สุด
อุดมการณ์ที่ต้องการขจัดจึงกลับทวีคูณคู่เคียงขยายข่ายใยยุติธรรม ในขณะเดียวกันก็อาจเผาผลาญภราดรภาพจากความคับแค้นอาฆาตปรารถนา ‘เอาคืน’ ด้วยเหมือนกัน
วิญญูชนพลเมืองจึงพึงตระหนักว่าคลื่นเคียดแค้นชิงชังพังพินาศความยุติธรรมมากกว่าจะสร้างเสริม เพราะเกลียวเกรี้ยวกราดกวาดสรรพสิ่งร่วงหลุบหุบเหวหายนะ กระทั่งความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างก็ยังถูกลดทอนจนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ได้ในสมรภูมิแตกหัก
การสิ้นสุดชีวิตอีกฝ่ายที่ถือเป็นชัยชนะช่วงแรกนั้นจึงกลายเป็นความแพ้พ่ายท้ายสุดได้ ดังพลพรรคนาซีที่ขยี้ชีวิตชาวยิวอย่างทารุณเหี้ยมโหดช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในแคมป์ Auschwitz ที่วันนี้ก็ไร้ใครโอ่อวดภาคภูมิใจได้อีกต่อไป ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ละม้ายการล้อมปราบอัปยศกลางเมืองฟ้าอมร 6 ตุลา 19 ที่ฝ่ายยึดกุมชัยชนะจะเงียบเสียงฮึกเหิมเมื่อเวลาล่วงเลย แล้วหันมาปกปิดบิดเบือนหรือแสร้งหลงลืมความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ดังกล่าวแทนที่
ถึงแม้ว่าอาชญากรรมรัฐไทยครานั้นจะมีมิติต่างกับความขัดแย้งแตกแยกปัจจุบันอยู่มาก หากทว่าก็มีคุณลักษณะสำคัญหนึ่งร่วมกันคือการสร้างมวลชนเพื่อมาหักหาญกับผู้ต่อต้านรัฐ
การปลุกระดมมวลชนด้วยข้ออ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสอดไส้ยึดโยงประชาชนเข้ากับนโยบายประชานิยมที่ซ้อนทับกับความเป็นภูมิภาคนิยมและชนชั้นนิยมเพื่อมาประจันหน้าขั้นแตกหักกับมวลชนอีกฝั่งนั้นนับเป็นมหันตภัยใหญ่ยิ่ง เนื่องด้วยหมวกผู้กุมอำนาจรัฐนั้นควรถูกสวมใส่โดยผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอที่จะไม่นำเหตุส่วนตัวพัวพันกับการดึงผู้คนในชาติมาคลี่คลายวิกฤตประเทศที่มีกลุ่มก้อนตนเองเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง
ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ปวารณาตัวผ่านถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะบริหารชาติบ้านเมืองด้วยการสร้างความสมานฉันท์แก่คนไทยทุกภาคส่วนเพื่อนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ และสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับประเทศในอนาคตด้วยแล้ว ยิ่งต้องห่างไกลการปลุกปั่นประชาชนขึ้นมาเข่นฆ่ากันเพียงเพื่อหวงแหนรักษาประโยชน์ปัจเจกบุคคลมากกว่าสาธารณะ
กระนั้นด้วยธรรมชาติรัฐไทยทั้งใส่สูทผูกไทประชาธิปไตยหรือสวมเครื่องแบบทหารล้วนแล้วแต่มีทีท่าปฏิบัติต่อผู้คัดค้านอย่างรุนแรงทั้งทางกายภาพ และมโนภาพผ่านการสลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยัดเยียดข้อหากบฏต่อราชอาณาจักร เรื่อยเลยถึงพยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามที่ปรากฏกว้างขวางนับแต่ 14 ตุลา 16
ทั้งที่ถ้ารัฐบาลปัจจุบันเรียนรู้บทเรียนประวัติศาสตร์บ้าง ก็จะแจ้งว่าการกร้าวแตกหักกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สงบสันติ หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนย่อมเท่ากับปิดสนิทประตูสมานฉันท์ ด้วยการปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนจะไปผลักพลังมวลชนลงสู่ท้องถนนมหาศาลกว่าเดิม เพราะนอกจากจะปรารถนาข้อเท็จจริงในภาคสนามที่รัฐบาลพยามปกปิดแล้ว พวกเขายังต้องการส่งเสียง (Voice) ถึงความไม่ชอบธรรมที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยด้วย
ถึงกระนั้นเอาเข้าจริงๆ เมื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยกลับพบมาก ‘ฉากการกุมโกร่งไกปืน’ เพื่อควบคุมหรือสลายฝูงชนของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในเครื่องแบบทหารและตำรวจหลังภารกิจปกปิดบิดเบือนข้อมูลข่าวสารล้มเหลว และสถานการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อรัฐต้องการหยุดคลื่นมหาชนพลเมืองเนืองแน่นที่ชุมนุมดังฉากชีวิตมหาวิปโยค 14 ตุลา 16 และพฤษภาประชาธรรม
เลือดเนืองนองผืนแผ่นดินไทยจึงเป็นไปได้เสมอตราบใดที่ต่อมขันติธรรมของผู้นำรัฐนาวายังไม่ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางสถานการณ์สุกงอมแตกหัก ไม่ให้สั่งกองกำลังออกมาสลายการชุมนุม หรือเล่นเล่ห์ร้ายเลวลวงหลอกประชาชนออกมาทำสงครามตัวแทน
แต่กระนั้นที่ผ่านมาเหตุการณ์รุนแรงส่วนใหญ่ก็จะใช้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการ เว้น 6 ตุลา 19 ที่ไม่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐจะพรากชีวิตนิสิตนักศึกษาอย่างบ้าระห่ำ หากมวลชนที่ถูกปลุกระดมต่อเนื่องยาวนานผ่านกลไกรัฐยังเป็นแนวร่วมขาดสติ ปฏิบัติกับปฏิปักษ์ลูกหลานราวไม่ใช่มนุษย์ด้วยหลงผิดคิดว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่ ‘ไทย’ ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องเคารพให้เกียรติกัน
ชาวบ้านร้านตลาดที่ผันตัวเองเป็นกลจักรขับเคลื่อนอุดมการณ์ตามผลาญผู้คนคิดเห็นแตกต่างจึงอันตรายยิ่งทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ยิ่งปฏิบัติการด้วยฤทธิ์รุกเร้าโฆษณาชวนเชื่อโดยผู้นำรัฐที่จงใจใส่ข้อมูลผิดๆ ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต่างอะไรกับศัตราวุธมีชีวิตที่พร้อมจะคร่าทุกชีวิตตามสั่งหากอยู่ในระยะทำการ!
แม้นวาดหวังของสังคมไทยร่วมกันจะไม่อยากเห็นภาพความรุนแรงแห่งการเงื้อสุดหล้าฟาดเก้าอี้ใส่ศพที่ถูกห้อยคอโต่งเตง ล้อมวงเผาศพสดๆ ด้วยยางรถยนต์ ร้อยคอศพก่อนลากไปตามพื้นดินแดงฉาน หรือรุมประชาทัณฑ์นิสิตนักศึกษาที่หนีออกนอกธรรมศาสตร์ อีกแล้ว
แต่ท้ายสุดคนใดใครจะกล้ารับประกันว่ามือผู้นำจะไม่พร้อมเปื้อนเลือดพลเมืองอีก เมื่อเร็ววันนี้ยังเลือกลืมเลือนและบิดเบือนอาชญากรรมรัฐทั้ง 6 ตุลา 19 และโศกนาฎกรรมตากใบ ไม่เพียงเท่านั้นยังแสดงความแข็งกร้าวต่อการเมืองภาคประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
ฉะนั้นฐานะพลเมืองดีที่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าจะสังกัดฟากฝั่งรัฐหรือต่อต้านก็ต้องมีขันติธรรม (Tolerance) ไม่ให้ถูก ‘ปั่นหัว’ โดยผู้สวมหัวโขนการเมืองชั่วครั้งชั่วคราวที่มักจะยุยงให้เหี้ยมโหดรุนแรงกับผู้เห็นต่างผ่านการสถาปนาความรู้ว่าถ้าได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วมีเอกสิทธิ์จะบริหารชาติบ้านเมืองอย่างไรก็ได้ ไปพร้อมๆ กับลุอำนาจรัฐติดฉลากเสียงข้างน้อยที่ต่อต้านว่าขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือทำลายเม็ดเงินเศรษฐกิจการลงทุนและท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบข้อมูลฝ่ายต่อต้านรัฐเพื่อชั่งน้ำหนักความถูกต้องทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมเช่นเดียวกัน ก่อนคัดกรองให้เหลือเพียงข้อเท็จจริงที่จะเป็นแสงสว่างทางปัญญาเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยต่อไป หรือถึงขั้นเปลี่ยนใจสลับขั้วเข้าข้างคุณธรรม
มากกว่านั้น ‘ดุลยภาพจากการถักถ้อยของขันติธรรม’ จะไม่มอบความรู้สึกผิดเสียใจมาให้ ด้วยไม่เกิดเหตุปะทะระหว่างคนขั้วคิดต่างกันกระทั่งสูญเสียพลัดพราก เพราะต่างเปิดกว้างทางความคิดความเชื่อ ไม่วินิจฉัยชี้ขาด ครอบครองความถูก-ผิด เพียงฝ่ายเดียว
หาไม่แล้วหากเกิดสภาวะเหยื่อ (Victim) และผู้กระทำ (Victimizer) ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะเจ็บปวดรวดร้าวใจในทุกฝ่ายไม่ว่าจะคว้าชัยชนะหรือแพ้พ่าย เพราะส่วนเสี้ยววินาทีที่ทำร้ายทำลายกัน ภาพตัวตนของปฏิปักษ์จะปรากฏในดวงตาเรา เช่นเดียวกันกับตัวเราจะปรากฏในดวงตาของปฏิปักษ์ ทั้งเราทั้งเขาจึงเป็นกระจกสะท้อนตัวตนด้านมืดบอดของกันและกัน
ตัวตนของเราในนัยน์ตามนุษย์ผู้ที่เราคิดว่าเขาเป็นปฏิปักษ์จนลงมือด้วยจะตามหลอนหลอกตลอดไป ไม่มีวันแก้ไขและเลือนลบออกไปจากความทรงจำได้ไม่ว่ากาลเวลาจะกัดกินตัวเองอย่างไร เพราะต่อให้เราเลือกลืม หรือตีความอดีตให้ลงร่อยลงรอยกับอุดมการณ์ความคิดความเชื่อตนเองอย่างไรก็ไม่อาจทำให้ความสูญเสียของปรักษ์เปลี่ยนแปรเป็นอื่นได้ ยังไม่นับเทคโนโลยีสื่อสารที่จะบันทึกภาพเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารสาธารณะกระทั่งเป็นตราบาปติดตัวถึงลูกหลานวงศ์วานว่านเครือ
การผนวกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของพลังภาคประชาชนในห้วงวิกฤตการเมืองไม่อาจแก้ไขได้ในสภาหินอ่อน ต้องออกมาขับเคลื่อนข้างถนนอย่างที่นักเลือกตั้งปรามาสหยามหมิ่นนั้นจึงต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองไม่ให้เป็นดั่งอาวุธมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขลาดเขลาหวาดกลัวเกินกว่าจะเผชิญภยันตรายต่างๆ จากการหวงแหนอำนาจอธรรม เพราะความกล้าหาญทางศีธรรมของพลเมืองได้พิสูจน์ชัดในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยและทั่วโลกแล้วว่าสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตเป็นโอกาสที่จะสลัดเปลือกประชาธิปไตยทิ้งไปให้เหลือแต่แก่นแกนได้
ขอเพียงแค่พลเมืองดีที่ตื่นรู้จะรอบคอบระมัดระวังย่างก้าวทั้งรับและรุกไม่ให้ไปหมุนวงล้อประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 ‘ไทยคร่าไทย’ คืนถนนราชดำเนินอีกคราว ด้วยการไม่แยก ‘มิตร-ศัตรู’ จนห่วงโซ่ภราดรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ขาดสะบั้นอันเนื่องมาจากต่างฝ่ายต่างครอบครองนัยน์ตาเกลียดชังคับแค้นแทนที่จะแวววาวประกายกัลยาณมิตรที่พร้อมสร้างแสงสว่างทางปัญญาร่วมกัน
ไม่เช่นนั้นแล้วสักวันห่วงโซ่ปฏิปักษ์จะผลักให้เรากลายเป็นคนก่อความรุนแรงเฉกเช่นผู้มีอำนาจที่เราเกลียดกลัวขยะแขยงเข้าสักวันก็ได้!.
คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
ด้วยความตายของผู้คนเห็นต่างนั้นไม่ได้หมายความว่าศรัทธาและอุดมการณ์เช่นนั้น จะปลาสนาการตามไปด้วยแต่อย่างใดไม่
แม้นว่าการสังหารแกนนำเพื่อสิ้นสุดภัยคุกคามความคิดความเชื่อจักเป็นไปได้ในทางยุทธวิธี ทว่าทางยุทธศาสตร์แล้วล้มเหลวสิ้นเชิง เพราะการเด็ดหัวผู้นำนั้นนำมาสู่ปรากฏการณ์ ‘ตายสิบเกิดแสน’ เสมอๆ ทางการเมือง หรือน้อยสุดก็เกิดเครือข่ายพลเมืองเข้มแข็งตามมา ดังหลังการจากไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และเจริญ วัดอักษร ที่ความเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนได้ก้าวสู่ปริมณฑลทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมของนโยบายสาธารณะที่กว้างขวางกว่าประเด็นแรกเริ่มในที่สุด
อุดมการณ์ที่ต้องการขจัดจึงกลับทวีคูณคู่เคียงขยายข่ายใยยุติธรรม ในขณะเดียวกันก็อาจเผาผลาญภราดรภาพจากความคับแค้นอาฆาตปรารถนา ‘เอาคืน’ ด้วยเหมือนกัน
วิญญูชนพลเมืองจึงพึงตระหนักว่าคลื่นเคียดแค้นชิงชังพังพินาศความยุติธรรมมากกว่าจะสร้างเสริม เพราะเกลียวเกรี้ยวกราดกวาดสรรพสิ่งร่วงหลุบหุบเหวหายนะ กระทั่งความเป็นมนุษย์ของผู้เห็นต่างก็ยังถูกลดทอนจนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ได้ในสมรภูมิแตกหัก
การสิ้นสุดชีวิตอีกฝ่ายที่ถือเป็นชัยชนะช่วงแรกนั้นจึงกลายเป็นความแพ้พ่ายท้ายสุดได้ ดังพลพรรคนาซีที่ขยี้ชีวิตชาวยิวอย่างทารุณเหี้ยมโหดช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในแคมป์ Auschwitz ที่วันนี้ก็ไร้ใครโอ่อวดภาคภูมิใจได้อีกต่อไป ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ละม้ายการล้อมปราบอัปยศกลางเมืองฟ้าอมร 6 ตุลา 19 ที่ฝ่ายยึดกุมชัยชนะจะเงียบเสียงฮึกเหิมเมื่อเวลาล่วงเลย แล้วหันมาปกปิดบิดเบือนหรือแสร้งหลงลืมความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ดังกล่าวแทนที่
ถึงแม้ว่าอาชญากรรมรัฐไทยครานั้นจะมีมิติต่างกับความขัดแย้งแตกแยกปัจจุบันอยู่มาก หากทว่าก็มีคุณลักษณะสำคัญหนึ่งร่วมกันคือการสร้างมวลชนเพื่อมาหักหาญกับผู้ต่อต้านรัฐ
การปลุกระดมมวลชนด้วยข้ออ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสอดไส้ยึดโยงประชาชนเข้ากับนโยบายประชานิยมที่ซ้อนทับกับความเป็นภูมิภาคนิยมและชนชั้นนิยมเพื่อมาประจันหน้าขั้นแตกหักกับมวลชนอีกฝั่งนั้นนับเป็นมหันตภัยใหญ่ยิ่ง เนื่องด้วยหมวกผู้กุมอำนาจรัฐนั้นควรถูกสวมใส่โดยผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอที่จะไม่นำเหตุส่วนตัวพัวพันกับการดึงผู้คนในชาติมาคลี่คลายวิกฤตประเทศที่มีกลุ่มก้อนตนเองเป็นศูนย์กลางความขัดแย้ง
ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ปวารณาตัวผ่านถ้อยแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะบริหารชาติบ้านเมืองด้วยการสร้างความสมานฉันท์แก่คนไทยทุกภาคส่วนเพื่อนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ และสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับประเทศในอนาคตด้วยแล้ว ยิ่งต้องห่างไกลการปลุกปั่นประชาชนขึ้นมาเข่นฆ่ากันเพียงเพื่อหวงแหนรักษาประโยชน์ปัจเจกบุคคลมากกว่าสาธารณะ
กระนั้นด้วยธรรมชาติรัฐไทยทั้งใส่สูทผูกไทประชาธิปไตยหรือสวมเครื่องแบบทหารล้วนแล้วแต่มีทีท่าปฏิบัติต่อผู้คัดค้านอย่างรุนแรงทั้งทางกายภาพ และมโนภาพผ่านการสลายการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ยัดเยียดข้อหากบฏต่อราชอาณาจักร เรื่อยเลยถึงพยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามที่ปรากฏกว้างขวางนับแต่ 14 ตุลา 16
ทั้งที่ถ้ารัฐบาลปัจจุบันเรียนรู้บทเรียนประวัติศาสตร์บ้าง ก็จะแจ้งว่าการกร้าวแตกหักกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สงบสันติ หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนย่อมเท่ากับปิดสนิทประตูสมานฉันท์ ด้วยการปิดหูปิดตาปิดปากประชาชนจะไปผลักพลังมวลชนลงสู่ท้องถนนมหาศาลกว่าเดิม เพราะนอกจากจะปรารถนาข้อเท็จจริงในภาคสนามที่รัฐบาลพยามปกปิดแล้ว พวกเขายังต้องการส่งเสียง (Voice) ถึงความไม่ชอบธรรมที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตยด้วย
ถึงกระนั้นเอาเข้าจริงๆ เมื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยกลับพบมาก ‘ฉากการกุมโกร่งไกปืน’ เพื่อควบคุมหรือสลายฝูงชนของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในเครื่องแบบทหารและตำรวจหลังภารกิจปกปิดบิดเบือนข้อมูลข่าวสารล้มเหลว และสถานการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อรัฐต้องการหยุดคลื่นมหาชนพลเมืองเนืองแน่นที่ชุมนุมดังฉากชีวิตมหาวิปโยค 14 ตุลา 16 และพฤษภาประชาธรรม
เลือดเนืองนองผืนแผ่นดินไทยจึงเป็นไปได้เสมอตราบใดที่ต่อมขันติธรรมของผู้นำรัฐนาวายังไม่ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางสถานการณ์สุกงอมแตกหัก ไม่ให้สั่งกองกำลังออกมาสลายการชุมนุม หรือเล่นเล่ห์ร้ายเลวลวงหลอกประชาชนออกมาทำสงครามตัวแทน
แต่กระนั้นที่ผ่านมาเหตุการณ์รุนแรงส่วนใหญ่ก็จะใช้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติการ เว้น 6 ตุลา 19 ที่ไม่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐจะพรากชีวิตนิสิตนักศึกษาอย่างบ้าระห่ำ หากมวลชนที่ถูกปลุกระดมต่อเนื่องยาวนานผ่านกลไกรัฐยังเป็นแนวร่วมขาดสติ ปฏิบัติกับปฏิปักษ์ลูกหลานราวไม่ใช่มนุษย์ด้วยหลงผิดคิดว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่ ‘ไทย’ ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องเคารพให้เกียรติกัน
ชาวบ้านร้านตลาดที่ผันตัวเองเป็นกลจักรขับเคลื่อนอุดมการณ์ตามผลาญผู้คนคิดเห็นแตกต่างจึงอันตรายยิ่งทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ยิ่งปฏิบัติการด้วยฤทธิ์รุกเร้าโฆษณาชวนเชื่อโดยผู้นำรัฐที่จงใจใส่ข้อมูลผิดๆ ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต่างอะไรกับศัตราวุธมีชีวิตที่พร้อมจะคร่าทุกชีวิตตามสั่งหากอยู่ในระยะทำการ!
แม้นวาดหวังของสังคมไทยร่วมกันจะไม่อยากเห็นภาพความรุนแรงแห่งการเงื้อสุดหล้าฟาดเก้าอี้ใส่ศพที่ถูกห้อยคอโต่งเตง ล้อมวงเผาศพสดๆ ด้วยยางรถยนต์ ร้อยคอศพก่อนลากไปตามพื้นดินแดงฉาน หรือรุมประชาทัณฑ์นิสิตนักศึกษาที่หนีออกนอกธรรมศาสตร์ อีกแล้ว
แต่ท้ายสุดคนใดใครจะกล้ารับประกันว่ามือผู้นำจะไม่พร้อมเปื้อนเลือดพลเมืองอีก เมื่อเร็ววันนี้ยังเลือกลืมเลือนและบิดเบือนอาชญากรรมรัฐทั้ง 6 ตุลา 19 และโศกนาฎกรรมตากใบ ไม่เพียงเท่านั้นยังแสดงความแข็งกร้าวต่อการเมืองภาคประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
ฉะนั้นฐานะพลเมืองดีที่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่ว่าจะสังกัดฟากฝั่งรัฐหรือต่อต้านก็ต้องมีขันติธรรม (Tolerance) ไม่ให้ถูก ‘ปั่นหัว’ โดยผู้สวมหัวโขนการเมืองชั่วครั้งชั่วคราวที่มักจะยุยงให้เหี้ยมโหดรุนแรงกับผู้เห็นต่างผ่านการสถาปนาความรู้ว่าถ้าได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วมีเอกสิทธิ์จะบริหารชาติบ้านเมืองอย่างไรก็ได้ ไปพร้อมๆ กับลุอำนาจรัฐติดฉลากเสียงข้างน้อยที่ต่อต้านว่าขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หรือทำลายเม็ดเงินเศรษฐกิจการลงทุนและท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบข้อมูลฝ่ายต่อต้านรัฐเพื่อชั่งน้ำหนักความถูกต้องทั้งทางกฎหมายและศีลธรรมเช่นเดียวกัน ก่อนคัดกรองให้เหลือเพียงข้อเท็จจริงที่จะเป็นแสงสว่างทางปัญญาเพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยต่อไป หรือถึงขั้นเปลี่ยนใจสลับขั้วเข้าข้างคุณธรรม
มากกว่านั้น ‘ดุลยภาพจากการถักถ้อยของขันติธรรม’ จะไม่มอบความรู้สึกผิดเสียใจมาให้ ด้วยไม่เกิดเหตุปะทะระหว่างคนขั้วคิดต่างกันกระทั่งสูญเสียพลัดพราก เพราะต่างเปิดกว้างทางความคิดความเชื่อ ไม่วินิจฉัยชี้ขาด ครอบครองความถูก-ผิด เพียงฝ่ายเดียว
หาไม่แล้วหากเกิดสภาวะเหยื่อ (Victim) และผู้กระทำ (Victimizer) ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะเจ็บปวดรวดร้าวใจในทุกฝ่ายไม่ว่าจะคว้าชัยชนะหรือแพ้พ่าย เพราะส่วนเสี้ยววินาทีที่ทำร้ายทำลายกัน ภาพตัวตนของปฏิปักษ์จะปรากฏในดวงตาเรา เช่นเดียวกันกับตัวเราจะปรากฏในดวงตาของปฏิปักษ์ ทั้งเราทั้งเขาจึงเป็นกระจกสะท้อนตัวตนด้านมืดบอดของกันและกัน
ตัวตนของเราในนัยน์ตามนุษย์ผู้ที่เราคิดว่าเขาเป็นปฏิปักษ์จนลงมือด้วยจะตามหลอนหลอกตลอดไป ไม่มีวันแก้ไขและเลือนลบออกไปจากความทรงจำได้ไม่ว่ากาลเวลาจะกัดกินตัวเองอย่างไร เพราะต่อให้เราเลือกลืม หรือตีความอดีตให้ลงร่อยลงรอยกับอุดมการณ์ความคิดความเชื่อตนเองอย่างไรก็ไม่อาจทำให้ความสูญเสียของปรักษ์เปลี่ยนแปรเป็นอื่นได้ ยังไม่นับเทคโนโลยีสื่อสารที่จะบันทึกภาพเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารสาธารณะกระทั่งเป็นตราบาปติดตัวถึงลูกหลานวงศ์วานว่านเครือ
การผนวกตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของพลังภาคประชาชนในห้วงวิกฤตการเมืองไม่อาจแก้ไขได้ในสภาหินอ่อน ต้องออกมาขับเคลื่อนข้างถนนอย่างที่นักเลือกตั้งปรามาสหยามหมิ่นนั้นจึงต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองไม่ให้เป็นดั่งอาวุธมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขลาดเขลาหวาดกลัวเกินกว่าจะเผชิญภยันตรายต่างๆ จากการหวงแหนอำนาจอธรรม เพราะความกล้าหาญทางศีธรรมของพลเมืองได้พิสูจน์ชัดในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยและทั่วโลกแล้วว่าสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตเป็นโอกาสที่จะสลัดเปลือกประชาธิปไตยทิ้งไปให้เหลือแต่แก่นแกนได้
ขอเพียงแค่พลเมืองดีที่ตื่นรู้จะรอบคอบระมัดระวังย่างก้าวทั้งรับและรุกไม่ให้ไปหมุนวงล้อประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 ‘ไทยคร่าไทย’ คืนถนนราชดำเนินอีกคราว ด้วยการไม่แยก ‘มิตร-ศัตรู’ จนห่วงโซ่ภราดรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ขาดสะบั้นอันเนื่องมาจากต่างฝ่ายต่างครอบครองนัยน์ตาเกลียดชังคับแค้นแทนที่จะแวววาวประกายกัลยาณมิตรที่พร้อมสร้างแสงสว่างทางปัญญาร่วมกัน
ไม่เช่นนั้นแล้วสักวันห่วงโซ่ปฏิปักษ์จะผลักให้เรากลายเป็นคนก่อความรุนแรงเฉกเช่นผู้มีอำนาจที่เราเกลียดกลัวขยะแขยงเข้าสักวันก็ได้!.
คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org