xs
xsm
sm
md
lg

คิดถึง ศนท.

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ศนท.ที่ผมคิดถึงนี้มีชื่อเต็มว่า “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ถูกรัฐไทยจำกัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว อาจจะไม่รู้จักองค์กรนี้ ทั้งที่เป็นเคยเป็นองค์กรที่ทรงพลังองค์กรหนึ่งของสังคมไทย

ศนท.นี้ถือกำเนิดก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา (2516) ไม่กี่ปี เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของบรรดานิสิตนักศึกษาหลายๆ มหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์ตอนแรกตั้งนั้นคงเป็นไปเพื่อให้เป็นองค์กรกลางเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมของนิสิตนักศึกษา

การเคลื่อนไหวเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนแทบทั้งประเทศรู้จักองค์กรนี้ก็คือ การเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น และเนื่องจากเวลานั้นคนที่เป็นเลขาธิการ ศนท.คือ อ.ธีรยุทธ บุญมี (ตอนนั้นยังเป็นนิสิตวิศวะฯ จุฬาฯ อยู่) ผู้คนก็เลยรู้จักองค์กรนี้ไปพร้อมกับรู้จัก อ.ธีรยุทธ

แต่การเคลื่อนไหวที่เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอันสำคัญก็คือ การประท้วงการจับกุมเหล่านิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และปัญญาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2516 เพราะจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้เองที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ 14 ตุลา

ดังนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาผ่านไป ศนท.จึงกลายเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่ว และเริ่มปรากฏบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งที่ควรกล่าวด้วยก็คือ ในระหว่างนั้นเช่นกันที่แกนนำของ ศนท.เริ่มมีความขัดแย้งภายในกันเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้แกนนำในองค์กรนี้บางคนแยกออกมาตั้งองค์กรนิสิตนักศึกษาของตนขึ้นมาใหม่

ในขณะเดียวกันแกนนำบางคนที่เคยเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาที่จบการศึกษาไปแล้วก็ตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาเช่นกัน เนื่องจากในกรณีหลังนี้มีนิสิตนักศึกษาเข้าไปมีบทบาทอยู่ด้วย ผู้คนจึงเข้าใจไปว่าเป็นองค์กรของนิสิตนักศึกษาไปด้วย

เรียกได้ว่า เวลานั้นถ้าใครได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนิสิตนักศึกษาแล้วก็มักจะถูกมองในแง่ดี และด้วยสายตาที่ชื่นชม

แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ดำรงอยู่ไม่นาน คือพอเหตุการณ์ 14 ตุลาผ่านไปสักปีสองปี ความรู้สึกที่มีต่อนิสิตนักศึกษาก็เริ่มเปลี่ยนไป บางสายตาเริ่มไม่ไว้ใจองค์กรนิสิตนักศึกษา บางคนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว บางคนเริ่มระแวงแนวโน้มนิยมซ้ายของคนเหล่านี้ ฯลฯ

ความรู้สึกในแง่ลบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่ค่อยๆ สะสมขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยควบคู่ไปกับกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา และเมื่อความรู้สึกเปลี่ยนไป ผลกระทบนั้นก็ส่งมาถึง ศนท.ด้วย ทั้งที่การเคลื่อนไหวในหลายเรื่อง ศนท.ไม่ได้ริเริ่มหรือแม้แต่เกี่ยวข้องด้วย แต่ก็อย่างที่ว่าไปแล้วว่าเมื่อมีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมเคลื่อนไหวเสียแล้ว ผู้คนก็มักเข้าใจว่า ศนท.มีส่วนร่วมด้วย

คิดถึงประเด็นนี้ในตอนนี้แล้วบางคนอาจนึกขำ เรื่องของเรื่องก็คือว่า เคยมีบทความชิ้นหนึ่งเขียนอธิบายแยกแยะบทบาทขององค์กรนิสิตนักศึกษาในขณะนั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าองค์กรไหนก้าวหน้า เป็นกลาง หรือล้าหลัง โดยผู้เขียนบทความชิ้นนี้ได้ใช้เกณฑ์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ว่าองค์กรไหนทำเพื่อมวลชน (หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าคนรากหญ้า) มากกว่ากัน แล้วพบว่า ศนท.เป็นองค์กรที่เป็นกลาง เพราะไม่ได้มีกิจกรรมเพื่อมวลชนมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ ที่เกิดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

แต่จะเป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่ไม่ทราบได้ ที่ต่อมาได้ทำให้นิสิตนักศึกษาที่นิยมซ้ายได้เข้าไปมีบทบาทในองค์การบริหารนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ตนสังกัดอยู่มากขึ้น และทำให้สามารถแทรกตนเข้าไปมีตำแหน่งกรรมการองค์การในสัดส่วนที่มากขึ้นๆ จนยึดองค์การได้ในที่สุด

และเนื่องจากองค์การนี้ถูกถือเป็นองค์กรสมาชิกของ ศนท. ดังนั้น เมื่อกรรมการขององค์การนิยมซ้ายเป็นส่วนใหญ่ มันก็เลยทำให้กรรมการกลางของ ศนท. มีคนที่นิยมซ้ายเข้าไปนั่งอยู่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้กิจกรรมหลังจากนั้นจึงค่อยๆ ใกล้ชิดมวลชนคนรากหญ้ามากขึ้น และทำให้ฐานะที่ถูกระบุว่า “เป็นกลาง” แต่เดิมได้เขยิบขึ้นมาเป็น “ก้าวหน้า” ในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็เช่นกันที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เริ่มเกิดขึ้นทีละน้อยตั้งแต่ปี 2518 และพอถึงปี 2519 รูปโฉมของ ศนท. ก็ “ก้าวหน้า” แทบจะเต็มตัว

การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นของ ศนท. ผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดีอย่างไร เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอภิปรายกันมามากแล้ว ผมจึงไม่ขออภิปรายในเรื่องนี้ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญไม่น้อยก็คือ ผลจากการเปลี่ยนแปลงที่ว่าได้ทำให้นิสิตนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ “ก้าวหน้า” มีท่าทีและท่วงทำนองที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นั่นก็คือ ใครที่ไม่ “ก้าวหน้า” เหมือนตัวเองก็จะถูกมองไปในแง่ลบต่างๆ นานา

เช่นถูกมองอย่างดูถูกว่ามีความคิดที่ “ล้าหลัง” สู้ตนไม่ได้ ทั้งที่คนคนนั้นอาจเป็นเพียงคนที่มีความคิดเสรีนิยมเหมือนชนชั้นกลางทั่วๆ ไป แต่ที่แน่ๆ คือเขารักความเป็นธรรม ในขณะที่บางคนที่มีความคิดอนุรักษนิยม แต่ไม่เคยมองขบวนการนิสิตนักศึกษาในแง่ลบ หรือถ้ามีอะไรติติงก็ติติงกันอย่างผู้ใหญ่ที่มีความเมตตาต่อเด็ก (นิสิตนักศึกษา) อาจจะถูก “วิพากษ์” จาก “เด็ก” เหล่านี้อย่างรุนแรงเอาได้ง่ายๆ

ปัญญาชนบางคนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในแวดวงการศึกษาระหว่างประเทศ ก็ถูกระแวงว่าทำงานให้กับ ซีไอเอ (หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ) บางถูกมองไปไกลว่าเป็นสมุนรับใช้จักรวรรดินิยมเพียงเพราะไปนั่งคุยกับฝรั่งก็มี ฯลฯ

การมีท่าทีและท่วงทำนองอย่างที่ว่านี้ได้ทำให้กิจกรรมของ ศนท. ค่อยๆ ห่างเหินจากชนชั้นกลางในเมืองออกไปทุกที ส่วนความสัมพันธ์ในเชิงปัจเจกนั้น ก็ปรากฏว่า มีนิสิตนักศึกษาหลายคนที่เริ่มห่างไกลจากเพื่อนที่เคยคบหา บางคนถึงกับโกรธเคืองกันเพราะความไม่ลงรอยกันระหว่างสิ่งที่เรียกว่าก้าวหน้า เป็นกลาง และล้าหลังไปอย่างน่าเสียดาย

ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมหลายเรื่องที่ดีๆ ของ ศนท. จึงมีคนเข้าร่วมน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเริ่มไม่แน่ใจหรือไม่ก็ไม่มีอารมณ์ร่วม ยิ่งแกนนำหลายคนมีภาษาที่ฟังดูดุดัน แข็งกร้าว และอหังการในอุดมการณ์ด้วยแล้ว ผู้คนก็ชักเกรงๆ ด้วยไม่แน่ใจตัวเองว่าจะ “ก้าวหน้า” เท่าทันแกนนำเหล่านี้หรือไม่

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาขึ้นมา แม้คนจำนวนมากจะสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรอะไรไม่ควร แต่ก็หาน้อยมากที่จะแสดงตนออกมาเข้าข้าง ศนท.และนิสิตนักศึกษาที่เป็นฝ่ายสูญเสียในเวลานั้นอย่างเปิดเผย

จะว่าไปแล้วการเปลี่ยนแปลงในเรื่องท่าทีและท่วงทำนองอาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญมากไปกว่าสิ่งที่เป็น “เนื้อหา” ในทางความคิดก็จริง แต่ถ้าเราเข้าใจวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งแล้ว เราก็ควรเข้าใจด้วยว่าท่าทีและท่วงทำนองที่ว่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่งสำหรับคนไทย

ผมเขียนถึงประเด็นข้างต้นด้วยความคิดถึง ศนท. จริงๆ และที่คิดถึงก็เพราะรู้สึกเป็นห่วงท่าทีและท่วงทำนองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่าชักจะเหมือนกับ ศนท.ยังไงอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น