xs
xsm
sm
md
lg

กระแสสลับขั้ว ญี่ปุ่นตกสวรรค์ ฝากร.ร.อินเดียบ่มเพาะเยาวชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น แต่ญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญวิกฤตความเชื่อมั่นในความสามารถแข่งขันกับคู่แข่งร่วมภูมิภาคที่ผงาดขึ้นมาน่าเกรงขามอย่างจีนและอินเดีย และหนึ่งในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ กระแสความเห่อระบบการศึกษาแดนภารตะ

กระแสดังกล่าวสะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคงที่คนญี่ปุ่นมีต่อโรงเรียนในประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผลิตนักเรียนที่ไปกวาดรางวัลชนะเลิศการแข่งขันระหว่างประเทศมานักต่อนัก แต่วันนี้ร้านหนังสือแดนซากุระกลับเต็มไปด้วยหนังสืออย่าง ‘ลับคมคณิตศาสตร์แบบอินเดีย’ และ ‘ความลับของภารตะที่ไม่มีใครรู้’ ขณะที่ครอบครัวชาวอาทิตย์อุทัยจำนวนมากตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งโดยชาวภารตะในญี่ปุ่น

ที่ลิตเติล แองเจลส์ อะคาเดมี แอนด์ อินเตอร์เนชันแนล คินเดอร์การ์เตน ครูส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียใต้ และบทเรียนทั้งหมดนำเข้าจากอินเดีย ในห้องเรียนประดับด้วยโปสเตอร์รูปสัตว์จากนิทานเมืองโรตี และนักเรียนระบายแผนที่อินเดียด้วยสีเขียวและสีส้ม ซึ่งเป็นสีธงชาติแดนภารตะ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นบอกว่า การมองชาติเพื่อนบ้านในเอเชียเป็นแม่แบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ญี่ปุ่นมักปรามาสชาติอื่นๆ ในภูมิภาค และภูมิใจว่าประเทศของตนก้าวหน้าที่สุด เพราะเป็นผู้ยิ่งใหญ่มากว่าศตวรรษ เริ่มจากการเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ตามด้วยการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเทียบเทียมตะวันตก

แต่ไม่กี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นเริ่มขาดความมั่นใจในตัวเองจากความกลัวว่าจะถูกบดบังรัศมีโดยจีนและอินเดีย ที่มีพละกำลังทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที ทางการโตเกียวพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาความเป็นผู้นำของชาติในด้านเทคโนโลยีและความเข้มแข็งทางทหาร แต่สถานการณ์ที่เผชิญอยู่บีบให้ญี่ปุ่นต้องเริ่มยอมรับความจริง และเคารพในสถานภาพที่สูงขึ้นของเพื่อนบ้าน

ในด้านการศึกษา ญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนมุมมองกระทันหันหลังจากพ่ายแพ้ในการทดสอบระหว่างประเทศ เดือนที่แล้วองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเปิดเผยรายงานการสำรวจทักษะคณิตศาสตร์โดยระบุว่า ญี่ปุ่นตกจากอันดับ 1 ในปี 2000 อยู่ที่ 10 ตามหลังไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ขณะที่วิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนแดนอาทิตย์อุทัยหล่นจากอันดับ 2 ในปี 2000 อยู่อันดับ 6

ขณะที่จีนสั่งสมแสนยานุภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อินเดียกลับผงาดขึ้นมาเด่นดังด้านการศึกษา ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและอุตสาหกรรมที่เน้นองค์ความรู้

สิ่งที่รบกวนจิตใจคนญี่ปุ่นมากที่สุดคือ ระบบการศึกษาของอินเดียที่คนญี่ปุ่นหันมาเชื่อมั่นในขณะนี้นั้น มาจากสูตรเดียวกับระบบที่สร้างชื่อให้ญี่ปุ่นในด้านวินัยและจริยธรรมการทำงาน นั่นคือการเรียนรู้ให้มากตั้งแต่เด็ก เน้นการท่องจำและวิชาพื้นฐาน โดยเฉพาะเลขและวิทยาศาสตร์

คาโอรุ โอคาโมโตะ ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการศึกษาของเนชั่นแนล แกรดูเอต อินสติติวท์ ฟอร์ โพลิซี สตัดดีส์ในโตเกียว บอกว่าความสนใจในระบบการเรียนการสอนของอินเดียของคนญี่ปุ่นขณะนี้ ไม่ต่างจากที่คนอเมริกันเคยสนใจระบบการศึกษาของญี่ปุ่นในอดีต

มาตรฐานการศึกษาที่สูงขึ้นของอินเดียปรากฏให้เห็นชัดเจนที่ลิตเติล แองเจลส์ ที่นักเรียนตัวน้อยอายุแค่ 2 ขวบสามารถนับเลขได้ถึง 20, 3 ขวบเริ่มเรียนคอมพิวเตอร์, 5 ขวบเรียนคูณเลข แก้โจทย์คณิตศาสตร์และเขียนเรียงความหนึ่งหน้ากระดาษเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเทียบเท่าบทเรียนในระดับชั้นประถม 2 ขึ้นไปในโรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่

ความสนใจในระบบการศึกษาแดนโรตีก่อกระแสในสังคมญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องเห่อของใหม่ เรียกได้ว่ากลายเป็นหัวข้อที่พูดถึงกันทุกวงการ ตั้งแต่รายการทอล์กโชว์ไปจนถึงการประชุมทางการศึกษาเลยทีเดียว แม้แต่กระทรวงศึกษาที่มีแนวทางอนุรักษนิยมอย่างมาก ยังเริ่มหารือกันเรื่องวิธีการสอนแบบอินเดีย

พ่อแม่หลายคนส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนอินเดียที่ขณะนี้ยังมีอยู่ไม่ถึง 10 แห่งในญี่ปุ่น ด้วยหวังให้ลูกมีรากฐานที่ดีสำหรับการสอบเอนทรานซ์ที่แข่งขันกันดุเดือด

ในโตเกียว โรงเรียนภารตะใหญ่ที่สุดสองแห่งที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้นมัธยมปลาย ได้รับใบสมัครจากครอบครัวญี่ปุ่นหนาตาขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว

โกลบัล อินเดียน อินเตอร์เนชันแนล สกูลเผยว่า นักเรียน 20 คนจากทั้งหมด 200 คนขณะนี้เป็นเด็กญี่ปุ่น และโรงเรียนตัดสินใจเปิดสาขาเพิ่มอีกแห่งในโยโกฮามาเพื่อตอบรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากชาวอินเดียและญี่ปุ่น เช่นเดียวกับอินเดียน อินเตอร์เนชันแนล สกูลที่เตรียมรับนักเรียนเพิ่มระลอกสอง

การบูมของโรงเรียนแดนภารตะยังสะท้อนว่าคนญี่ปุ่นตั้งแง่กับชาวเอเชียชาติอื่นน้อยลง

ชีวรานี แองเจลินา ผู้ก่อตั้งลิตเติล แองเจลส์ ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทน้ำมันจากเชนไน อินเดีย ที่ตามสามีมาญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1990 เล่าว่า ตอนแรกเธอมีปัญหาในการโน้มน้าวให้เจ้าของที่ยอมให้เช่าที่เพื่อเปิดโรงเรียน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าการที่เธอเป็นชาวเอเชียแต่ไม่ใช่ญี่ปุ่น กลายเป็นจุดขายของโรงเรียน

แองเจลินาเล่าต่อว่า เมื่อเริ่มต้นกิจการ ลิตเติล แองเจลส์เป็นโรงเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษแห่งแรกที่สอนโดยชาวเอเชีย ไม่ใช่ฝรั่ง ข้อแตกต่างของลิตเติล แองเจลส์กับโรงเรียนอินเดียแห่งอื่นๆ ในญี่ปุ่นก็คือ การมุ่งจับเด็กญี่ปุ่น เพื่อเติมเติมช่องว่างที่แองเจลินาพบเมื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลของญี่ปุ่น

เธอบอกว่าโชคดีมากเพราะเริ่มต้นตอนที่คนญี่ปุ่นกำลังเห่อโรงเรียนอินเดีย ทั้งนี้ ลิตเติล แองเจลส์มีการปรับหลักสูตรให้เข้ากับสังคมซากุระด้วยการเพิ่มกิจกรรมกลุ่มมากขึ้น ลดการท่องจำ และตัดวิชาประวัติศาสตร์อินเดียออก และจากความสำเร็จของลิตเติล แองเจลส์ ทำให้แองเจลินามีแผนเปิดโรงเรียนประถมเพิ่มในปีนี้

“ลูกชายฉันรู้ภาษากว่าเด็กวัยเดียวกัน ระบบการเรียนการสอนของอินเดียน่าอัศจรรย์จริงๆ” เอโกะ คิคูตาเกะ ที่ส่งบุตรชายวัย 5 ขวบเข้าเรียนที่ลิตเติล แองเจลส์ การันตีทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น