xs
xsm
sm
md
lg

สู่ ‘เอกราช’ ทิเบต! ฝันที่(ไม่)เป็นจริง?

เผยแพร่:   โดย: สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์


สัปดาห์ที่ผ่านมาทิเบตกลายเป็นประเด็นร้อน ที่ถูกจับจ้องจากทั่วโลก อะไรทำให้เกิดการประท้วงขึ้น? ทิเบตจะเรียกร้องเอกราชได้จริงหรือ? หรือสุดท้าย เรื่องราวทั้งหมดจะปลิวหายไปกับสายลม เช่นเหตุการณ์ประท้วงของพระสงฆ์ ที่พม่าเมื่อปี 2007

ในภาษาจีน ผืนแผ่นดิน “ทิเบต” ถูกเรียกว่า “ซีจั้ง” ซึ่งหมายถึง “ขุมสมบัติแห่งทิศปัจฉิม”

ด้วยสถานะดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ1 และยังเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ ทำให้ทิเบตกลายเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้ง ที่มหาอำนาจยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สัมพันธ์จีน-ทิเบต

ราวต้นศตวรรษที่ 7 วีรบุรุษซรอนซันกัมโป (ซงจั้นกันปู้ - ชื่อตามเอกสารจีน) ของชนชาติทิเบตได้สถาปนาราชวงค์ทูโป (Tubo) อย่างเป็นทางการ ตั้งเมืองหลวงที่นครลาซา ภายใต้การปกครองของพระองค์ กษัตริย์ซงจั้นกันปู้ได้ศึกษาวิทยาการต่างๆที่ทันสมัยจากราชวงศ์ถัง2 หลักฐานทางประวัติศาสตร์ฝ่ายจีนอ้างว่า ในปีค.ศ. 634 เจ้าของแคว้นทิเบตได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิราชวงศ์ถังของจีนเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามฐานะที่ไม่เท่าเทียมดังกล่าวอาจเป็นการตีความเข้าข้างตนเองของฝ่ายจีน เนื่องจากช่วงศตวรรษที่ 7-9 มีหลักฐานยืนยันว่า พระเจ้ากรุงจีนและทิเบตมีฐานะเท่าเทียมกันและเป็นมิตรต่อกัน3

ครั้นต่อมาในยุคราชวงศ์ซ่ง, หมิง กระทั่งถึง ราชวงศ์ชิง ทางฝ่ายจีนได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแต่งตั้ง สถาปนายศทางศาสนาให้พระลามะหลายตำแหน่ง ในสมัยราชวงศ์ชิง จีนให้ความสำคัญกับการปกครองทิเบตมากขึ้น มีการแต่งตั้งข้าหลวงส่วนพระองค์ชาวแมนจู ที่เรียกว่า อัมบัน (Amban) ไปประจำที่ทิเบต ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารกิจการทิเบต

ในช่วงสมัยราชวงศ์ชิง (1662-1911) จีนเผชิญกับภัยคุกคามจากตะวันตก โลกทัศน์เรื่องความเป็นรัฐชาติ (nation state) หรือประเทศที่มีขอบเขตพรมแดนชัดเจน ตามแนวคิดแบบฝรั่ง กลายเป็นพลังหนึ่งที่ท้าทายอำนาจการปกครองของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง4 พร้อมกับการแผ่ขยายของลัทธิจักรวรรดินิยมที่มีอังกฤษเป็นผู้นำอีกทางหนึ่ง

พร้อมกับการเข้ามามีอิทธิพลในอินเดียตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 17 กระทั่งเข้ายึดครองอินเดียโดยสมบูรณ์ในปีค.ศ. 18875 อังกฤษก็ค่อยๆแผ่อิทธิพลเข้าไปยังทิเบต ซึ่งมีอาณาบริเวณ ติดต่อทางเหนือของอินเดีย สำหรับจีนในขณะนั้นอำนาจการปกรองของราชวงศ์ชิงก็เริ่มถูกกัดกร่อนลงเรื่อยๆนับแต่การปราชัยในสงครามฝิ่น (1839-1840)

ในปี 1901-1902 รัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย หวั่นเกรงกับข่าวลือว่า รัสเซียอาจใช้ทิเบตเป็นฐานในการจู่โจมพรมแดนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เนื่องจากขณะนั้นรัสเซียได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปยังเอเชียกลาง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียง6 รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจึงส่ง พันโทฟรานซิส ยังฮัสแบนด์ (Francis Younghusband) พร้อมกองกำลังติดอาวุธไปเจรจากับองค์ทะไล ลามะ7 พูดง่ายๆตามภาษาชาวบ้านว่า เจรจาพร้อมปืน

การรุกเข้าไปของอังกฤษเผชิญกับการต่อต้านของชาวทิเบต อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดกองกำลังของอังกฤษสามารถบดขยี้การต่อต้านขององค์ทะไล ลามะองค์ที่ 13 ทำให้พระองค์ต้องลี้ภัยไปยังมองโกเลีย ในปี 1904 ภารกิจของยังฮัสแบนด์จบลงด้วยการลงนามในอนุสัญญาปี 1904 ระหว่างอังกฤษ-จีน-ทิเบต ในครั้งนั้นข้าหลวงใหญ่ประจำทิเบต (อัมบัน) ได้ลงนามสนับสนุนด้วย แม้ภายหลังข้อความในอนุสัญญาบางส่วนจะไม่ได้รับอนุมัติจากทางอังกฤษและปักกิ่ง ทว่ายังฮัสแบนด์ได้แถลงไว้อย่างชัดเจนว่า “อังกฤษรับรองความเป็นเจ้าเหนือดินแดน (suzerainty) ทิเบตของจีน” ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการที่ผู้แทนอังกฤษใช้คำว่า เจ้าเหนือดินแดน (suzerainty) แทนคำว่า อธิปไตย (sovereignty) เป็นเล่ห์กลอย่างหนึ่ง เผื่อวันหน้าอังกฤษมีแสนยานุภาพขยายอำนาจเข้าไปแทนที่จีนในทิเบตได้ ก็อาจอ้างอิงคำว่า “เจ้าเหนือดินแดน” ว่ามีความชอบธรรมในการปกครองน้อยกว่า “อธิปไตย”8

ครั้นปี 1907 มหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งคือ รัสเซียก็ได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษว่า ทั้งสองจะเคารพบูรณภาพเหนือดินแดนของทิเบต ผ่านจีนซึ่งครองความเป็นเจ้าหนือดินแดน9

ปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับทิเบต เริ่มขึ้นภายหลังการปฏิวัติซินไฮ้ (1911) โค่นล้มราชวงศ์ชิง ภาวะสูญญากาศทางการเมือง ทำให้ทิเบตถือโอกาสประกาศเอกราช อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลจีนไม่เคยยอมรับเอกราชของทิเบตและยังคงประกาศว่า ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน พร้อมกับได้พยายามส่งกองทหารไปฟื้นฟูอำนาจปกครองเหนือทิเบตโดยตลอด10

ระหว่างปี 1912-1950 ทิเบตสามารถดำรงเอกราชโดยพฤตินัย ทว่าในทางนิตินัยค่อนข้างคลุมเครือ เนื่องจากจีนมิได้ยอมรับว่า ทิเบตเป็นเอกราช คณะที่มหาอำนาจอื่นๆ คืออังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็มิได้ยอมรับเช่นกัน ทางอังกฤษยืนสูตรเดิม “รับรองความเป็นเจ้าเหนือดินแดนทิเบตของจีน” ขณะที่สหรัฐฯเองก็รับรองอธิปไตยของจีนเหนือทิเบต ระหว่างที่ทะไล ลามะ ส่งคณะการค้าเดินทางเยือนสหรัฐฯ อังกฤษ และยุโรปในปี 1947-1948 ทางสหรัฐฯได้ออกวีซ่า FORM 257 ให้คณะการค้าทิเบต โดยวีซ่าประเภทนี้จะออกให้กับบุคคลที่สหรัฐฯไม่รับรองรัฐบาลของประเทศนั้นๆ

ล่วงเข้าปี 1950 พรรคคอมมิวนิสต์ได้ส่งทหารเข้าไปปลดแอกทิเบต รัฐบาลของทะไล ลามะองค์ที่ 14 ไม่สามารถต่อต้านได้จึงถูกกดดันให้ลงนามใน “ข้อตกลงแห่งรัฐบาลกลางของประชาชนกับรัฐบาลท้องถิ่นแห่งทิเบตว่าด้วยมาตรการปลดปล่อยทิเบตโดยสันติวิธี” ในวันที่ 23 พฤษภาคม 198811 อย่างไรก็ตามการต่อต้านของชาวทิเบตยังคงดำเนินไปตลอด ระหว่างช่วงสงครามเย็น ในปี 1956 ชาวทิเบตทำการประท้วงต่อต้านจีน โดยได้รับความสนับสนุนจากซีไอเอ12 เหตุการณ์บานปลาย กระทั่งจีนต้องใช้กำลังเข้าปราบปรามในปี 1959 ส่งผลให้องค์ทะไล ลามะต้องหลบหนีออกจากทิเบตในวันที่ 10 มีนาคม 1959 โดยมุ่งเดินทางไปยังอินเดีย

หลังการลี้ภัยมายังอินเดีย องค์ทะไล ลามะได้เคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพให้กับทิเบต อย่างไรก็ตามไม่มีประเทศใดให้การรับรองเอกราชของทิเบต หรือกล่าวประฌามว่า จีนละเมิดอธิปไตยทิเบต ข้อเรียกร้องที่นานาประเทศกล่าวประฌามจีนก็เป็นเพียงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น13 ดังนั้นหลังทศวรรษ 1970 ที่สหรัฐฯหันมาจับมือกับแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับยุติการสนับสนุนขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชทิเบต การเคลื่อนไหวของชาวทิเบต จึงเน้นที่การเคลื่อนไหว อย่างสันติ เพื่อรักษาวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของตน14 อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องเอกราชก็ยังฝังรากอยู่ในสำนึกของพวกเขา

หากใช้มุมมองด้านกฏหมายระหว่างประเทศเข้ามาพิจารณา ข้อถกเถียงของรัฐบาลจีนย่อมมีน้ำหนักกว่าทิเบต เนื่องจากจีนไม่เคยยอมรับว่าทิเบตเป็นประเทศเอกราช และพยายามฟื้นฟูอำนาจเหนือดินแดนมาตลอดและก็ทำได้จริง นอกจากนี้ประชาคมระหว่างประเทศก็มิได้รับรองฐานะรัฐเอกราชของทิเบตในช่วง 1912-1950 ที่ทิเบตเป็นเอกราชโดยพฤตินัย15

49 ปีแห่งการลี้ภัย: ชนวนเอกราช กับ ฝันที่ไม่เป็นจริง

อย่างไรก็ตามในปี 2008 ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาวทิเบตนับว่าคึกคักยิ่ง ด้วยปี 2008 นี้มีชนวนเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้ชาวทิเบตลุกขึ้นมาต่อต้านจีนอย่างแข็งขัน

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ โคโซโว ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบียได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย ความสำเร็จของโซโวดังกล่าว สร้างความวิตกให้จีนกังวลว่าอาจเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทิเบต, ซินเจียง (ซินเกียง) และไต้หวัน ประกาศเอกราชตาม

นอกจากนี้ปี 2008 จีนยังได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เมื่อเป็นงานระดับโลก สายตาทุกคู่ย่อมจับจ้องมาที่จีน ฉะนั้นปี 2008 จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับทิเบตในการเคลื่อนไหว เนื่องจากความสนใจต่อเหตุการณ์ใดๆที่เกี่ยวข้องกับจีนในปีนี้ย่อมได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

ส่วนปัจจัยภายในประเทศที่สร้างความอึกอัดให้กับชาวทิเบต พอๆกับชาวจีนโดยทั่วไปคือ ปัญหาเงินเฟ้อที่ทำสถิติพุ่งพรวดสู่งสุดในรอบทศวรรษ โดยสถิติเงินเฟ้อเดือนก.พ. ได้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 8.7% ทำลายสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคถีบตัวไม่หยุด เหตุปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้ปลุกเร้าอารมณ์ของชาวทิเบต กระทั่งมาปะทุขึ้น ในวันที่ 10 มีนาคม 2008 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 49 ปีที่องค์ทะไล ลามะ ลี้ภัยออกจากทิเบต ชาวทิเบตพลัดถิ่น ที่ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ได้เริ่มเคลื่อนขบวนเดินทัพเรียกร้องเอกราชอย่างสันติ โดยมุ่งเดินทางเหยียบแผ่นดินทิเบตในช่วงที่จีนเริ่มมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

พร้อมกับการเดินขบวนดังกล่าว ลามะและประชาชนชาวทิเบตในจีน ได้ร่วมกันชุมนุมประท้วงเรียกร้องเอกราช กระทั่งรัฐบาลจีนต้องส่งกำลังทหารเข้าไปในลาซา พร้อมกับการประกาศทำสงครามประชาชน เพื่อควบคุมสถานการณ์ในลาซา

อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวของชาวทิเบต มีทีท่าว่าจะเป็นหมัน

เนื่องจากสภาพการณ์ปัจจุบัน ประเทศต่างๆมีผลประโยชน์ผูกพันกับจีนอย่างมากมาย ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, แคนาดา หรือเยอรมนี ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการกล่าวประฌามจีนในประเด็นทิเบต ก็หยิบยกแต่ปัญหาสิทธิมนุษยชนมาพูด แต่มิเคยเข้าไปกดดันหรือแตกหักกับจีนอย่างแท้จริง ด้วยผลประโยชน์มหาศาลต่อการเข้าไปลงทุนในตลาดที่มีกำลังบริโภคถึง 1,300 ล้านชีวิต เป็นชิ้นเนื้อสำคัญที่มิอาจปล่อยให้หลุดลอย

นอกจากนี้ความขัดแย้งกับทางการจีนรังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงตามมา เพราะความขัดแย้งกับจีนมิได้หมายถึงความขัดแย้งกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแห่งเดียว แต่หมายถึงความขัดแย้งกับชาวจีนโพ้นทะเลด้วย แม้ปัจจุบันชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้าไปอยู่อาศัยยังประเทศต่างๆทั่วโลกจะถูกกลืนกลายให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้นๆ ทว่าสำนึกของความเป็นชาติส่วนหนึ่งยังผูกพันกับแผ่นดินใหญ่ ฉะนั้นความขัดแย้งใดๆที่จะตามจึงมีราคาที่ต้องจ่ายมากมาย

อย่างมากที่สุดประเทศตะวันตกคงออกมาประฌามจีนเรื่องสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรง พร้อมกับแสดงความเสียใจต่อชาวทิเบตอย่างสุดซึ้ง แต่สุดท้ายแล้วละครเรื่องนี้ก็จบลงด้วยการ “เกี๊ยะเซี้ย” ระหว่างมหาอำนาจ ตบหน้าลามะ และชาวทิเบตที่ได้แต่เหนื่อยฟรี

58 ปีผ่านไป ไฉนความขัดแย้งยังไม่จาง?

แม้ฉากสุดท้ายของละครเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ ตั้งแต่ยังไม่เปิดม่าน ทำนองเดียวกับละครน้ำเน่าของทีวีไทย ทว่าบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นจากการต่อต้านของชาวทิเบตคือการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของจีน

นโยบายจีนต่อทิเบตในช่วง 58 ปีนับแต่ประธานเหมาสั่งกรีฑาทัพปลดแอกทิเบตในปี 1950 เป็นเพียงการกดทับความขัดแย้งระหว่างชาวทิเบตกับจีน ที่ดูเผินๆแล้วเหมือนความขัดแย้งจะหายไป ทว่าความขัดแย้งนั้นกลับเพิ่มพูนรอวันปะทุ

ทิเบตเป็นเขตปกครองตนเอง ซึ่งรัฐบาลจีนให้สิทธิว่า ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองต้องเป็นคนชนชาติท้องถิ่น ดูเผินๆเหมือนทิเบตจะได้รับอิสระพอสมควร ทว่าบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก มักเป็นคนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลือกแล้วว่าคุยกันได้ หรือไม่ก็เป็นเด็กในคาถา นอกจากนี้อำนาจที่แท้จริงยังตกอยู่กับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเอง ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นชาวจีนฮั่น และเป็นคนที่ส่วนกลางส่งมา

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังเข้าไปหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในทิเบต อาทิการขุดเจาะเหมืองแร่ต่างๆ ตามอภิมหาโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาภาคตะวันตก ซึ่งเริ่มในปี 1999 จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับท้องถิ่น เนื่องจากชาวทิเบตให้ความเคารพนับถือธรรมชาติมาก ธงมนต์ระโยงระยางที่โบกสะพัดไปตามสายลม สะท้อนความเชื่อ ความเคารพนับถือ ที่ชาวทิเบตมีต่อธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ด้วยการอาศัยสายลมเป็นสื่อกลาง คำภาวนาที่จารบนผืนธงจะถูกพัดพาไปยังเทพเจ้า

หากการพัฒนาส่งดอกออกผลให้กับชาวทิเบต ก็เป็นเรื่องดี ทว่าพร้อมกับการเข้าไปปลดแอกในปี 1950 ร้านรวงต่างๆของชาวฮั่นผุดขึ้นราวดอกเห็ดในทิเบต ความจริงใจของจีนที่อ้างว่าไปปลดปล่อยทิเบต จึงถูกตั้งคำถาม ผลประโยชน์จาการพัฒนาตกอยู่ในมือใครกันแน่?

การุกคืบของทุนที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตดั้งเดิมก่อให้ความตึงเครียด ที่รอวันปะทุ ความตึงเครียดระหว่างจีน-ทิเบตถูกสั่งสมมาเรื่อยๆ กระทั่งรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต เริ่มให้บริการในปี 2006 ชาวจีนฮั่นก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในทิเบตมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวทิเบตซึ่งเป็นชนท้องถิ่น ที่รู้สึกว่าวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนกำลังถูกคุกคาม วัดวาอารามทิเบตได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างสวยงาม ทว่าความสวยงามดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวเสพเท่านั้นหรือ?

สุดท้ายความพยายามในการกลืนกลายชนชาติทิเบต ด้วยการสนับสนุนให้ชาวจีนฮั่นเข้าไปตั้งรกราก รวมทั้งกระบวนการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ เปลี่ยนวัฒนธรรมทิเบตให้เหลือสถานะเป็นเพียงวัตถุที่เสพได้ จึงออกผลเป็นข่าวการปะทะระหว่างชาวจีนฮั่นกับชาวทิเบตที่ปรากฏอยู่เนืองๆ





เอกสารอ้างอิง

[1] “สภาพทั่วไปของทิเบต,” [http://thai.cri.cn/1/2003/12/02/3@4943.htm], 3 ธันวาคม 2546.
[2] “เขตปกครองตนเองทิเบต,” [http://th.wikipedia.org/wiki/ทิเบต], 6 มีนาคม 2551.
[3] เขียน ธีระวิทย์, “ปัญหาทิเบต,” ใน นโยบายต่างประเทศจีน (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541), 163.
[4] ความคิดเรื่องขอบเขตดินแดนที่แน่นอน นับเป็นเรื่องใหม่ของสังคมตะวันออก อาทิ ประเทศไทยที่มีรูปลักษณ์เป็นขวานทองในปัจจุบันก็เพิ่งมีเค้าร่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ก่อนหน้านี้มโนทัศน์เรื่องแผนที่ ขอบขัณฑสีมายังไม่เกิด เส้นแดนพื้นที่ของประเทศมักอ้างอิงกับพระบารมีที่แผ่ไพศาลของจักรพรรดิ / กษัติรย์ซึ่งไม่มีความชัดเจน
[5] “ประเทศอินเดีย,” [http://th.wikipedia.org/wiki/อินเดีย], 3 มีนาคม 2551.
[6] Ranbir Vohra, “The Republic that never was: 1912-1927,” in China’s Path to Modernization: A Historical Review From 1800 to the Present, (Princeton: Princeton-Hall, 1987), 114.
[7] “Tibet: A Futile Mission,” [http://uk.geocities.com/ticketyboo13/page10.html], 16 March 2008.
[8] เขียน ธีระวิทย์, “ปัญหาทิเบต,” ใน นโยบายต่างประเทศจีน, 166.
[9] Ibid.
[10] เขียน ธีระวิทย์, “ปัญหาทิเบต,” ใน นโยบายต่างประเทศจีน, 171.
[11] Ibid., 172.
[12] “Tibet,” [http://en.wikipedia.org/wiki/Tibet], 16 March 2008.
[13] เขียน ธีระวิทย์, “ปัญหาทิเบต,” ใน นโยบายต่างประเทศจีน, 174.
[14] “Tenzin Gyatso, 14th Dalai Lama,” [http://en.wikipedia.org/wiki/Tenzin_Gyatso%2C_14th_Dalai_Lama#Tibetan_independence_movement], 17 March 2008.
[15] Ibid., 175.
กำลังโหลดความคิดเห็น