ในวาระที่รัฐบาลจีน และสื่อต่างกำลังโหมประโคมความสำเร็จของ ‘การปฏิรูปเศรษฐกิจ’ ซึ่งริเริ่มโดยเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อปี 1978 หรือนับรวมเวลาได้ 30 ปีแล้ว หลายฝ่ายต่างก็พลอยระเริง ชื่นชมกับความสำเร็จของมังกรจีน ที่สามรถผงาด ประกาศศักดาได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องเผชิญกับศตวรรษอัปยศ ที่แผ่นดินจีนเผชิญกับการรุกรานจากต่างชาติ และการแตกแยกภายในร่วมศตวรรษ (นับแต่สงครามผิ่นในปี 1839 - การแตกแยกทางการเมืองในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งสิ้นสุดในปี 1976)
อย่างไรก็ตามท่ามกลางกระแสชื่นชมนี้ การย้อนพินิจหนทางที่มังกรจีนได้ก้าวผ่านมา ในช่วง 3 ทศวรรษก็อาจทำให้เราได้เห็นแนวโน้มจีนในอนาคตได้บ้างว่า จะเดินไปในทิศทางใด
1978 เสียวกั่ง, ระบบความรับผิดชอบ, ป๋าเติ้ง และนักเรียนนอก
หลังจากระหกระเหินในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ด้วยถูกโจมตีจากแก๊ง 4 คนอย่างหนัก เติ้ง เสี่ยวผิงได้กลับมาผงาด หวนคืนสู่อำนาจอย่างยิ่งใหญ่ในปลายทศวรรษ 1970 ครั้นต้นปี 1978 มวลชนจีนส่วนหนึ่งที่อัดอั้น ผิดหวังกับการดำเนินนโยบายสังคมนิยมสุดขั้ว ก็ได้ท้าทายอำนาจรัฐด้วยการทำตัวเป็น ‘ปฏิปักษ์ปฏิวัติ’ซึ่งเป็นอาชญากรรมที่มีโทษถึงชีวิต
ณ หมู่บ้านเสียวกั่ง มณฑลอันฮุย ชาวนา 18 คนรวมทั้งสมาชิกพรรคที่อยู่ในหมู่บ้านได้เสี่ยงชีวิต แอบลงนามในข้อตกลงลับ ซอยที่ดินคอมมูนลงเป็นแปลงๆ สำหรับแต่ละครอบครัว
อย่างไรก็ตามการกระทำแหวกแนว ล้ำยุคสมัยนี้ กลับได้รับการสนับสนุนจาก เติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งเป็นนักปฏิบัตินิยม ที่มีหัวใจปฏิรูป ไม่ยึดติดกับแนวคิดมาร์กซิสม์อย่างตายตัว
ครั้นปลายปี 1978 เติ้งได้ผลักดันนโยบาย ‘เปิดและปฏิรูปประเทศ’ ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยอาศัยกลไกตลาด ประสบการณ์ของเสียวกั่งถูกนำมาใช้เป็นตัวแบบในการพัฒนาที่ดินเกษตรกรรม ภายใต้ระบบความรับผิดชอบของครัวเรือน ที่ครอบครัวเกษตรแต่ละครอบครัว จะได้รับจัดสรรที่ดินเป็นของตนเพื่อทำการผลิต และขายสินค้าส่วนเกินได้ ดังนั้นเสียวกั่งจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูป
ในปี 1980 การปฏิรูปที่เริ่มจากภาคเกษตรกรรมนี้ได้ลามไปยังอุตสาหกรรม จากระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางที่โรงงานอุตสาหกรรมถูกกำหนดให้ผลิตตามคำสั่ง เติ้งได้เริ่มนำระบบความรับผิดชอบมาใช้กับภาคอุตสาหกรรม โดยให้โรงงานแต่ละแห่งมีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น นอกจากนี้โรงงานยังสามารถขายสินค้าส่วนเกินหารายได้เข้ากระเป๋าได้
ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่าในช่วงปี 1978 นั้นทางการจีนกับสหรัฐอเมริกา เริ่มญาติดีกันแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงอาศัยโอกาสดังกล่าว ส่งนักเรียนจีนจำนวนมากไปศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารธุรกิจที่สหรัฐฯ เพื่อสร้างบุคลากรในการปฏิรูปประเทศด้วย1
ครั้นปี 1979 จีนกับสหรัฐฯก็ได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ โดยในปี 1979 นั้นเติ้งได้เดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดตัวสู่โลกภายนอกครั้งใหญ่ สำหรับประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยถูกขึ้นป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่โหดร้าย การเปิดตัวสู่โลกภายนอกด้วยการเดินทางเยือนสหรัฐฯนับว่าเป็นจุดผลิกผันความรับรู้เกี่ยวกับจีนครั้งใหญ่ ทั้งนี้ระหว่างที่ความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจกำลังดำเนินไปอย่างชื่นมื่นนั้น สถิติการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯระหว่างปี 1978-1979 ก็เพิ่มขึ้นถึง 200% ขณะที่การท่องเที่ยวจีนโดยนักท่องเที่ยวสหรัฐฯก็เพิ่มถึง 300%2
1980s หัวเลี้ยวหัวต่อปฏิรูป เมื่อปัญหาปรากฏ
หลังจากเริ่มการปฏิรูป ถางทางสู่กลไกตลาดขั้นแรกแล้ว ในปี 1980 จีนก็เริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกใน บริเวณชายฝั่งภาคใต้ ในมณฑลกว่างตง ที่เมืองเซินเจิ้น, จูไห่, ซ่านโถว(ซัวเถา), และเซี่ยเหมิน ในมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากโลกภายนอกเข้าสู่ยุคการพัฒนาโดยอาศัยยุทธศาสตร์ ‘เมด อิน ไชน่า’ นั่นคือการดึงดูดทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในจีน ด้วยการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ร่วมกับปัจจัยแรงงานราคาถูก ส่วนสินค้าที่ผลิตได้นั้นก็จะถูกส่งไปขายยังตลาดต่างประเทศ สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับจีน
การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดทุนต่างชาติ ซึ่งหมายถึงการสร้างงาน และเงินให้กับจีนนั้น อีกด้านหนึ่งยังหมายถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และระบบการบริหารสมัยใหม่ที่จีนขาดแคลน
ในการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดทุนต่างชาตินั้น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกทั้ง เซินเจิ้น, จูไห่, ซ่านโถว(ซัวเถา), และเซี่ยเหมิน ล้วนเป็นภูมิลำเนาของจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก เบื้องหลังการเลือกเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณนี้จึงควรได้รับการพิจารณาร่วมด้วย นอกจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ติดทะเลชายฝั่งตะวันออกซึ่งง่ายต่อการขนส่งสินค้า ความไม่แน่ใจต่อทุนตะวันตกว่า พร้อมจะเข้ามาลงทุนแค่ไหน (แม้ว่าการค้ากับสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นมากก็ตาม) ทำให้จีนเลือกที่จะเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณภูมิลำเนาเดิมของจีนโพ้นทะเล เพื่อดึงดูดทุนจากลูกจีน หลานจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบ จนสร้างตัวเป็นเจ้าสัวในต่างแดน ให้กลับมาร่วมลงทุนพัฒนาประเทศ
ดังนั้นความสำเร็จของการเปิดและปฏิรูปประเทศส่วนหนึ่งจึงมาจากบทบาทของจีนโพ้นทะเล
อย่างไรก็ตามการดำเนินการปฏิรูปประเทศจีน ก็มิได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเสียทีเดียว การผลิตโดยอาศัยกลไกตลาด และการเปิดรับการหลั่งไหลของทุนต่างชาติจำนวนมหาศาล ย่อมหมายถึงการที่รัฐไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นเดิม
ในปี 1985 40% ของสินค้าเกษตรกรรม, 34% ของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายในร้านค้า และ 13% ของสินค้าที่ผลิตจากโรงงาน หลุดลอยจากการควบคุมราคาโดยรัฐ3 เข้าสู่การกำหนดราคาโดยตลาด แม้รัฐบาลจีนจะยังคงคุมการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิรูป ไม่ให้เร็วจนเกินไป ทว่าผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ใช่ว่าจะควบคุมได้ง่ายๆ
ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างพรวดพราด ร่วมกับการหลั่งไหลของทุนจำนวนมหาศาลทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อกระทั่งในปี 1988 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเลขหลักสิบ ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจซึ่งกระทบมวลชนจำนวนมากนี้ได้นำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปีต่อมา นั่นคือ ‘วิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน’
ความเดือดร้อนที่เกิดจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพุ่งขึ้นพรวดพราด เมื่อปะทะ ประสานเข้ากับความไม่พอใจข้ารัฐการกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ที่แอบเกาะกระแสปฏิรูป ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า ทำให้นักศึกษาและกรรมกรจำนวนมากร่วมชุมนุมทางการเมือง ณ จตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989
การแสดงออกทางการเมือง ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับรัฐบาลจีน กระทั่งท้ายที่สุดรัฐบาลได้ตัดสินใจใช้กำลังปราบปรามจนเกิดการนองเลือด
หลังการปราบปรามสิ้นสุดบรรดาผู้นำจีนได้ถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งว่า ‘ควรดำเนินการปฏิรูปต่อไปหรือไม่?’ ในเมื่อการปฏิรูปนั้นนำมาสู่การท้าทายอำนาจรัฐ ดังนั้นการปฏิรูปจึงชะงักงัน แม้จะมีการเปิดตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ่ในปี 1990 เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของแผ่นดินใหญ่4 ทว่าการปฏิรูปก็มิได้เดินหน้าเต็มสูบเหมือนช่วงที่ผ่าน มาจนกระทั่งถึงปี 1992
ในปี 1992 หลังจากถกเถียงกันอย่างคร่ำเคร่งว่า ‘ควรเดินหน้าปฏิรูปต่อไปหรือไม่?’ บรรดาผู้นำก็ได้ข้อสรุปว่า ‘วิกฤตการณ์ทางการเมือที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการปฏิรูปที่ล่าช้า หากเดินหน้าปฏิรูปเต็มที่ปัญหาไม่น่าจะเกิดขึ้น’
ดังนั้นเพื่อส่งสัญญาณต่อโลกภายนอกว่า จีนจะเดินหน้าปฏิรูปต่ออย่างเต็มที่ ในปี 1992 เติ้งจึงได้เดินทางลงใต้ โดยเลือกเดินทางไปเยือนเซินเจิ้นพร้อมประกาศวาทะเด็ดนั่นคือ ‘เมื่อเปิดหน้าต่างก็ย่อมมีแมลงวันบินเข้ามาบ้าง’
นอกจากนี้เติ้งยังได้กล่าวถึงโอกาส ในการสร้างความร่ำรวยจากเศรษฐกิจระบบตลาดแบบสังคมนิยม คำประกาศข้างต้นจึงเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนต่อโลกภายนอกและมวลชนชาวจีนว่า ‘จีนจะเดินหน้าปฏิรูปต่อไป’5
อย่างไรก็ตามควรกล่าวด้วยว่า นอกจากปัญหาการท้าทายอำนาจรัฐแล้ว นับแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาปัญหาด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมก็เริ่มปรากฏขึ้น การขับเคลื่อนพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยเน้นภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดมลภาวะอย่างมาก ขณะเดียวกันการเข้าสู่กลไกตลาดก็ทำให้รัฐลดบทบาทในการดูแลประชากรลง และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตลาดแทน สวัสดิการต่างๆที่รัฐเคยให้ตั้งแต่เกิดยันตาย ถูกลดทอนลง กระทั่งบรรดาผู้ที่ไม่สามารถปรับตัว รับความเปลี่ยนแปลงได้ทันก็ต้องเผชิญชะตากรรมที่โหดร้าย บางคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อจำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆอาทิ ค่ารักษาพยาบาลที่ครั้งหนึ่งรัฐเคยจ่ายให้
ปลาย 1990s – 2000s ยุคประกาศศักดา ก้าวกระโดดสู่ทุน
ในปี 1993 เจียง เจ๋อหมิน ทายาททางการเมืองของเติ้งได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจีน ในยุคของเจียงการปฏิรูปก็ดำเนินต่อไปโดยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง
ครั้งแรกคือการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 ซึ่งเท่ากับว่า บัดนี้เศรษฐกิจจีนได้ต่อเชื่อมเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างเข้มข้น โดยการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกนี้ทำให้จีนสามารถเข้าถึงตลาดตะวันตกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกทำให้จีนต้องเปิดตลาดภายในประเทศมากขึ้นตามข้อบังคับขององค์การ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 2 คือการเปลี่ยนแปลงในปี 2002 ที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์ยอมปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ อนุญาตให้นายทุนผู้ประกอบการเข้าเป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นร่วม 2 ทศวรรษทำให้ นายทุนเติบโตขึ้นมาเป็นกลุ่มพลังที่สำคัญในสังคมและทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของนายทุนได้อีกต่อไป
ครั้นหู จิ่นเทาขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2003 เศรษฐกิจจีนที่พัฒนามากว่า 2 ทศวรรษก็ทำสถิติ ขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกในปี 2005 และเมื่อเวลาล่วงมาถึงปี 2006 จีนก็ได้ดำเนินการเปิดตลาดการเงินตามกฏขององค์การการค้าโลก ซึ่งเท่ากับว่า บัดนี้เศรษฐกิจจีนได้เชื่อมต่อเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตามปัญหาสิ่งแวดล้อม, สังคม และการเมือง ซึ่งเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยอาศัยกลไกตลาด ก็ผุดขึ้นมาอย่างมากมายในยุคของหู ปัญหาน้ำเน่าเสีย และมลภาวะต่างๆ รวมทั้งปัญหาสังคม-การเมือง อาทิการประท้วงของชาวนา และชนชั้นกลาง กระทั่งบางครั้งนำมาสู่การใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข่าวการประท้วงของประชาชน และการท้าทายอำนาจรัฐเริ่มปรากฏมากขึ้น
รัฐบาลหูพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการปฏิรูปสังคมด้วยการ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชนบทอาทิ การริเริ่มระบบประกันสุขภาพ นอกจากนี้รัฐยังปกป้องกรรมสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรมากขึ้น ดังเช่น การอนุมัติหลักนโยบายปฏิรูปชนบทในปี 2008 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการอนุญาตให้ เกษตรกรสามารถซื้อขาย เช่า และจำนองสิทธิการใช้ที่ดินได้อย่างอิสระ
ส่วนทางด้านการเมืองนั้น การปรับโครงสร้างการบริหารของรัฐในปี 2008 ด้วยการตั้งกระทรวงใหม่ๆขึ้นมาดูแลปัญหาด้านพลังงาน, คมนาคม, สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ก็แสดงถึงความพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น
การปฏิรูปที่ไม่จบสิ้น
หากจะวัดความสำเร็จด้วยตัวเลขแล้ว นับว่าจีนประสบความสำเร็จอย่างมาก สถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จีนนับแต่ปี 1978-2003 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9.6% ต่อปี หรือจากยอดรวม 216,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 1978 มาเป็น 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 20076
อย่างไรก็ตามในปี 2008 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 3 ทศวรรษของการปฏิรูป หู จิ่นเทายังคงย้ำว่าจีนยังต้องเดินหน้าปฏิรูปต่อไป เนื่องด้วยยังมีปัญหาทางสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข อาทิ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับจน และการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างชี้ว่าในรอบนี้จีนจะเน้นการปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่
หากย้อนดูกระบวนการปฏิรูปของจีนตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว กระทั่งถึงปัจจุบัน จะพบว่าการปฏิรูปเน้นหนักไปทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนการปฏิรูปสังคมนั้นก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการเมือง กลับไม่ค่อยก้าวหน้ามากนัก พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงปกครองด้วย ‘กำปั้นเหล็ก’ การปฏิรูปสถาบันการเมืองในปี 2008 ที่ตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมา ก็เน้นหนักไปทางประสิทธิภาพในการบริหาร
เมื่อเศรษฐกิจกับสังคมพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่การเมือง (ในความหมายกว้างอันหมายถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ) ยังไม่พัฒนา ประชาชนยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ก็อาจก่อให้เกิดความไม่สมดุล ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาเสถียรภาพทางสังคม-การเมือง ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาดู และลุ้นกันต่อไป คือโจทย์สำคัญว่า ‘ในวันข้างหน้าพรรคอมมิวนิสต์ จะปฏิรูปการเมืองหรือไม่? และจะปฏิรูปอย่างไร?’ หลังจากที่ปฏิรูปเศรษฐกิจและกำลังปฏิรูปสังคม
เอกสารอ้างอิง
1. Judith F Kornberg and John R. Faust, “The Ascendary of Adam Smith over Karl Marx,” in China in World Politics: Policies, Processes, Prospects, 2nd ed. (London: Lynne Rienner, 2005), 70.
2. Ibid., 137.
3. Will Hutton, “The Odd Couple: Communism and Capitalism,” in The Writing on the Wall: China and the West in the 21st Century (London: Little, Brown 2006), 101.
4. “CHRONOLOGY-China milestones since 1978,” [http://www.fxstreet.com/news/forex-news/article.aspx?StoryId=437be8f8-602f-4cd6-9904-9ddeae663624], 8 December 2008.
5. Judith F Kornberg and John R. Faust, China in World Politics: Policies, Processes, Prospects, 77.
6. “Changes and challenges with China's 30 years reform and opening up,” [http://english.peopledaily.com.cn/90001/90776/90882/6510350.html], accessed on 9 December 2008.