ปัญหาวิกฤติศรัทธาในสถาบันตำรวจ กำลังเริ่มลุกลามออกไปสู่ปัญหาความไม่เชื่อมั่นในการกำกับดูแลสถาบันตำรวจของฝ่ายการเมือง
ที่ผ่านมา กลไกตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยมิชอบหลายกรณี ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็น กรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 กรณีปล่อยให้คนเสื้อแดงล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา 2552 กรณีจลาจลในช่วงสงกรานต์ 2552 ฯลฯ
และแม้แต่กรณีการดำเนินคดีกับผู้ก่อการลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งในระหว่างการสอบสวนคดีปรากฏข่าวว่า มีการข่มขู่ก้าวก่ายเจ้าพนักงานคดี และเข้าไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน
ทั้งหมดจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีการลงโทษ หรือดำเนินการใดๆ กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทั่งนำมาสู่เสียงเรียกร้องให้ปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทำไมต้องปลด พลตำรวจเอกพัชรวาท ?
1) เหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551
ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการ ขาขาด แขนขาด ลูกตาหลุด เนื้อสมองเสียหาย และบาดเจ็บอีกจำนวนหลายร้อยคน
พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ได้มอบหมายสั่งการให้ลูกน้องเป็นผู้รับผิดชอบและปฏิบัติการ แต่เกิดการปฏิบัติที่อำมหิต เพราะเหตุการณ์ในวันดังกล่าว เกิดความรุนแรงตั้งแต่ช่วงเช้า บริเวณหน้ารัฐสภา มีผู้บาดเจ็บสาหัส ขาขาด แต่ผู้บังคับบัญชาก็มิได้สั่งระงับเหตุ หรือละเว้นที่จะสั่งการทบทวนการปฏิบัติการ แต่กลับดำเนินการให้มีการปฏิบัติการด้วยความรุนแรงยิ่งกว่าเดิมอีกในรอบบ่าย และรอบค่ำ โดยเฉพาะบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างโหดร้ายทารุณอย่างที่สุด
ไม่ว่าจะด้วยความจงใจให้เกิดเหตุ หรือละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยประการใดๆ ทั้งหมดนี้ ย่อมต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.พัชรวาท จึงไม่สมควรจะดำรงอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.อีกต่อไป (เป็นอย่างน้อย)
เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียว ก็ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป
2) เหตุการณ์ล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา และก่อจลาจลในกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์
การประชุมอาเซียนที่พัทยา นอกจากจะเป็นผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลของประชาชนคนไทยทั้งประเทศแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของคนอาเซียนอีกหลายพันล้านคน
ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างการประชุมอาเซียน ทั้งๆ ที่ มีกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 2 เท่าตัว แต่กลับปล่อยให้คนเสื้อแดงบุกเข้าไปทำลายการประชุม ไล่ล่าตัวนายกรัฐมนตรี คุกคามและปิดล้อมผู้นำประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา 16 ประเทศ
หลังจากนั้น ตำรวจก็ยังไม่สามารถดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ชุมนุมเสื้อแดงก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปิดถนน ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ กระทั่งก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง เอารถแก๊สมาข่มขู่คุกคามชีวิตประชาชน ทุบและเผาธนาคาร ทำร้ายชาวบ้านในชุมชนหลายแห่ง เช่น เพชรบุรี ซอย 5-7 ชุมชนนางเลิ้ง จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต 2 คน (ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้)
ไม่ว่า ผบ.ตร. จะรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการของผู้ก่อการ หรือไม่สามารถสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้บังคับบัญชาของตนเองได้ หรือด้วยประการใดๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถช่วยให้รอดพ้นความรับผิดชอบไปได้เลย
เพราะไม่ว่าจะเป็นการสมรู้ร่วมคิดกับผู้กระทำผิดคิดร้ายต่อบ้านเมือง หรือการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ล้วนแต่ไม่สามารถให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งสำคัญเยี่ยง ผบ.ตร.ต่อไปได้อีกเลย
เหตุการณ์นี้เหตุการณ์เดียว ก็ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป
3) เกิดข้อครหา ถูกกล่าวหา หรือถูกจับตามองว่า เป็น “ตอ” อันทำให้การสืบสวนสอบสวนคดีใช้อาวุธสงครามยิงถล่มกลางกรุงฯ กรณียิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล มีปัญหาอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อคนทำงานและผู้เสียหาย
ไม่ว่าข้อครหาจะเป็นจริงหรือไม่ การอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการยอมรับ หรือชำระข้อคลางแคลงสงสัยของทุกฝ่ายได้
การที่เลขาฯ ของพี่ชาย (พี่ชายชื่อ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ออกมาให้สัมภาษณ์ข่มขู่ประชาชน ว่าจะปฏิบัติการตอบโต้ผู้กดดันน้องชาย ทั้งด้วยวิธีการตามกฎหมายและนอกกฎหมาย หรือแม้แต่การออกมาข่มขู่ว่า ถ้าปลดน้องชายจากตำแหน่ง ผบ.ตร. พี่ชายจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ฯลฯ ทั้งหมดนี้ ยิ่งไม่ช่วยให้เกิดการยอมรับ หรือคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย
ขนาดนายกรัฐมนตรี ยังบอกในการให้สัมภาษณ์ในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ว่า เมื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท ลาพัก คดีก็จะคืบหน้าได้ และตำรวจผู้ปฏิบัติงานในคดีก็ยืนยันว่า เมื่อ พล.ตอ.พัชรวาทลาพัก คดีก็น่าจะเสร็จทัน 30 ก.ย. นี้
การเจรจาจน พล.ต.อ.พัชรวาท จะลาไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะลาไปราชการหรือลาพัก ก็คือการให้พ้นจากตำแหน่ง หรือพ้นจากการใช้อำนาจไปก่อน และไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้ ป.ป.ช.น่าจะมีการชี้มูลความผิดในคดี 7 ต.ค.2551 ซึ่งอาจจะต้องออกจากตำแหน่งอยู่ดี
หนทางดังกล่าว น่าจะเป็นทางลง หรือทางออกของการแก้ปัญหาแบบไทยๆ แม้ไม่ดำเนินการแบบ “ตัดบัวไม่เหลือใย” เพราะใช้วิธีกลบๆ เกลื่อนๆ ปัญหาไป รักษาหน้า รักษาน้ำใจ แต่ผลลัพธ์ก็คือพ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะจะมีผู้เอาเป็นแบบอย่างของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อไป
4) ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริต จนถูกนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ย้ายไปประจำในสำนักนายกรัฐมนตรี
กรณีนี้ เป็นการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดย “มิชอบ” ทำให้ราชการเสียหาย กระทำการฝ่าฝืนหรือขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม) กรณีเป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทผลิตรายการโฆษณาและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนงบประมาณ 18 ล้านบาท เข้าข่าย “ฮั้ว” กับเอกชน ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบ และรัฐบาลในยุคสมชายก็ได้ใช้เป็นเหตุผลในการย้ายมาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ เมื่อ 28 พ.ย.2551
เพียงแต่ว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ขณะรักษาการนายกรัฐมนตรี ในวันสุดท้าย ซึ่งขณะนั้น สภาได้ลงมติเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้วก็ตาม นายชวรัตน์ก็ยังอุตส่าห์ใช้อำนาจ รีบโอนย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท กลับไปเป็น ผบ.ตร.ดังเดิม
ปัญหาที่เกิดขึ้น และกำลังมีการต่อสู้ ดิ้นรน ต่อรองกันอยู่ในเวลานี้ สะท้อนบทเรียนที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทย หรือจะแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้สะเด็ดน้ำได้ยากยิ่ง
น่าเห็นใจนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐทมนตรีที่มี “อำนาจ” แต่
(1) ขาดมือไม้ทำงานที่เชื่อใจได้ ผบ.ตร.ถ้าไม่ปันใจให้ฝ่ายอธรรม ก็ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และถ้าปลดย้าย ก็จะเอาใครที่ไม่มีลักษณะ พฤติกรรมอย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท ได้บ้าง ?
ผบ.ตร.ดีๆ กล้าๆ เก่งๆ มีอยู่ที่ไหน หรือไม่มี หาไม่ได้ ?
(2) ผบ.ตร. คนนี้ มีพี่ชายเป็นทหารใหญ่ ครองตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีลูกน้องออกมาข่มขู่จะดำเนินการนอกกฎหมายเอากับประชาชน และยังเป็นผู้ถูกวางตัวทางการเมือง เป็นแกนนำการเมืองขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งขณะนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ยังต้องอาศัยภูมิใจไทยและขั้วอำนาจใหม่ เพื่อประคับประคองให้รัฐบาลเดินต่อไปได้ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของส่วนรวมไม่สะดุด
(2) เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ต้องฟังความรอบด้าน จะคิดและทำทันทีเหมือนสมัยเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ และจะต้องทำตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย มิฉะนั้น จะถูกฟ้องร้อง เล่นเกมทางกฎหมายต่อไปอีก
ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท สมควรจะออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.หรือไม่ เพราะสมควรจะต้องออกไปโดยทันที และโดยปราศจากเงื่อนไขด้วยซ้ำ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เรายังมีตำรวจคุณภาพ ตำรวจที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็น ผบ.ตร.ในยุคนี้ ท่ามกลางสภาวะปัญหาอย่างนี้ อยู่ที่ไหน ? หรือกระทั่งว่า มีอยู่หรือไม่ ด้วยซ้ำ ?