xs
xsm
sm
md
lg

คนลันตากับตำราเล่มใหญ่ ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวลาเพิ่งเลยหัวค่ำมาไม่นาน สมชาย มุดา ยังนั่งอยู่ในร้านอาหารที่ซ่อมแซมต่อเติมขึ้นมาจากบ้านยาวศรีรายา บรรยากาศเงียบงำยามค่ำคืนทำให้หัวใจของเขาเปลี่ยวเหงาขึ้นมาจับใจ ด้วยอายุที่ล่วงเลยวัยฉกรรจ์ เขาอดคิดย้อนหลังไปไม่กี่สิบปีให้หลังที่ฉายไปมาในห้วงคำนึง

บุรุษอาวุโสเล่าด้วยรอยยิ้มหมอง “เมื่อก่อนเกาะลันตาตอนกลางคืนสนุกคึกคักกว่าตอนนี้มาก โดยเฉพาะที่เมืองเก่าศรีรายา แทบทุกคืนชาวเกาะจะมารวมตัวสังสรรค์กัน มีรองแง็ง-รำมะนา-รำวง มีหนังวิก-หนังโรง มีร้านขายขนมของหวานอร่อยๆ เรียงรายอยู่ตามถนน หนุ่มสาวจะออกมาพบปะกัน สมัยนั้นผู้ชายถ้าชอบพอผู้หญิงจะฉุดไปนั่งคุยกันตามริมทะเล แต่ไม่ใช่ฉุดเหมือนทุกวันนี้นะ ฉุดไปก็ไปนั่งคุยกัน ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัว ผู้ชายจะเป็นสุภาพบุรุษมาก ถ้าชอบพอกันทั้งสองผ่ายก็จะไปสู่ขอแต่งงานตามหลักศาสนา เดี๋ยวนี้ไม่เหลือบรรยากาศแบบนั้นแล้ว”

สมชาย คือผู้หนึ่งในชุมชนชาวเกาะลันตา ที่เกิดและเติบโตมาบนแผ่นดินที่โอบล้อมด้วยทะเล มีภูเขา ป่าไม้ น้ำตก เกาะที่เคยเป็นเมืองท่าพาณิชย์กับต่างประเทศ มีชุมชนเก่าแก่ทั้งอิสลาม พุทธ ชาวเล (ลูโม๊ะ-ลาโว๊ย) เป็นความหลากหลายของผู้คนและภูมิความรู้ มีเรื่องราวและประสบการณ์ร่วมของชุมชน มีสำนึกในความเป็นคนถิ่นลันตา และเป็นหนึ่งในขุมพลังชุมชนที่เร้นซ่อนอยู่ของชุมชนชาวเกาะ

เพราะชีวิตหลังเหตุการณ์ “สึนามิ” ทำให้ชุมชนพบอีกด้านหนึ่งของภัยพิบัติว่า แท้จริงแล้วมันคือโอกาสในการแสดงศักยภาพของคน เพราะปัญหานานัปการหลังสึนามิได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญให้ชาวลันตาเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง รู้ว่ามนุษย์อยู่ไม่ได้โดยลำพัง เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือกันและกัน เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ ทั้งการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และการมองย้อนกลับไปหาเครื่องมือที่จะนำมาเป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการก่อรูปสำนึกร่วมของท้องถิ่น

เมื่อโครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมและการจัดการระบบนิเวศที่ยั่งยืนของเกาะลันตาได้รับโอกาสในการเข้ามาร่วมเรียนรู้ เสริมสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนขึ้น พร้อมเผยให้เห็นศักยภาพของชุมชนที่ซุกซ่อนเอาไว้ทำให้ชุมชนชาวเกาะได้ร่วมกันซ่อมแซมสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตาขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการเปิดเผยศักยภาพนั้น และสิ่งสำคัญที่ได้พบก็คือความรู้ที่มีอยู่ในตัวตนของคนทุกระดับชนชั้นบนเกาะลันตา

แนวคิดเบื้องต้นในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา คือการที่ชุมชนชาวเกาะเริ่มจากการมองเห็นคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของอาคารที่ว่าการอำเภอเกาะลันตา (เก่า) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (colonial) จากตะวันตก จึงเกิดเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารที่ว่าการอำเภอเกาะลันตาเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเกาะลันตา โดยมุ่งให้เกิดกระบวนการบริหารจัดการโดยชุมชน บนความร่วมมือของชุมชน
 
ผู้รับเหมาซ่อมบำรุงจากหมู่บ้านเจ๊ะหลี ช่างไฟจากบ้านศรีรายา ช่างปั้นเตาจากบ้านสังกาอู้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ภายในจากบ้านเกาะปอ และคณะกรรมการบริหารและดำเนินการมาจากตัวแทนเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา ตัวแทนจากชุมชนศรีรายา ตลอดจนข้าราชการท้องถิ่น ส่วนการปกครองท้องถิ่นทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล

ภายหลังซ่อมแซมอาคารแล้วเสร็จ การเตรียมการจัดแสดงทั้งในแง่ของการเก็บรวบรวมข้อมูลบอกเล่าจากคนในพื้นที่ และการหาสิ่งของที่เป็นหลักฐานพยานจากคำบอกเล่า ล้วนได้รับความสนใจและความกระตือรือร้น จากผู้บอกเล่าทุกคน ทำให้ทุกคนได้เห็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าอาคารที่ได้ทำไปแล้ว

“อาม่าผมเอง ชื่อมุกข์ดา กุลสถาพรครับ” พงศ์ธร มีสิทธิ์ ลูกหลานชาวศรีรายาแนะนำชื่อสกุลเต็มๆ ของญาติผู้ใหญ่ที่กำลังเพิ่มเติมตกแต่งข้าวของในพิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตาให้ทุกคนรู้จักอย่างภูมิใจ

พงศ์ธร คือชายหนุ่มที่ทิ้งเมืองหลวงคืนถิ่นกลับมาซ่อมแซมบ้านปู่ย่าเพื่อเปิดเป็นเกสเฮาท์ เขายังคงนั่งมองกิจวัตรยามว่างของอาม่าและเพื่อนบ้านที่ยังหยิบข้าวของมาตกแต่งภายในพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมเพื่อให้เหมือนภาพในความทรงจำที่พวกเธอเคยเห็นมากที่สุด เพราะห้องโถงชั้นบนในเรือนไม้แห่งนี้ เธอและเหล่าเพื่อนบ้านชาวศรีรายาได้นำข้าวของเครื่องใช้ที่ตกทอดมาแต่โบราณมาวางประดับ ทำให้บรรยากาศคล้ายดั่งได้นั่งอยู่ในบ้านของชาวจีนในยุคที่บรรพบุรุษได้ล่องเรือขึ้นมาอาศัยยังเกาะลันตา ซึ่งกว่าจะได้รูปแบบและกลิ่นอายดั้งเดิมนี้มาก็ผ่านการปรึกษาบอกเล่าจากผู้คนมามากมาย

ทีมงานด้านการสืบเสาะข้อมูลเล่าว่า บางครั้งเมื่อเวลาของการสัมภาษณ์ล่วงไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง ผู้บันทึกก็พยายามยุติการสนทนาด้วยความเกรงใจคนเฒ่าคนแก่ แต่กลับได้รับการยืนยันที่จะเล่าเรื่องราวที่บันทึกไว้มานานต่ออีก ทั้งจาก ปลัดสุขุม ครูเมตตา โต๊ะอิหม่าม แม่มยุรี ม๊ะปีดะ และชาวเกาะอีกหลายคน จนทุกคนสัมผัสถึงพลังแห่งความภาคภูมิใจ ที่คำบอกเล่า บทบาท และความรู้สึกของตนเอง จะกลายมาเป็นสิ่งทีมีคุณค่าและได้รับการบันทึก บางคนหยิบเอาข้าวของ รูปภาพมาให้ดู บางคนให้มาเพื่อใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ นี้คือคุณค่าและความหมายที่ถูกบรรจุ เข้าไปในอาคารที่ว่างเปล่า

เช่น ชุมชนเตาเผาถ่าน เช่น บ้านโคกยูง คลองยาง ต้นทัง ที่ถึงแม้จะร้างลาอาชีพไปแล้วแต่พิพิธภัณฑ์ก็ได้บันทึกความเข้าใจจากเรื่องราวไว้มากมาย เพราะเตาถ่านไม่ได้เป็นเพียงเตาถ่านที่ถูกทิ้งร้างเพราะผิดกฎหมาย แต่ “อาชีพเถื่อน” ได้ทำให้เรารับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ทางการค้าในอาณาบริเวณ พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของคนเกาะลันตาและดินแดนค้าขายในเวิ้งทะเลอย่างเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน ทั้งเถ้าแก่เจ้าของเตา แรงงานในเตาต่างก็สั่งสมประสบการณ์ บ่มเพาะเป็นความรู้ ผู้คนทั่วไปบนเกาะจนสามารถอธิบายภาพเหตุการณ์และความสัมพันธ์เหล่านั้นได้อย่างแจ่มชัด

ครั้นเมื่อสืบค้นและหาหลักฐานเรื่องราวเส้นทางชีวิตของชาวเล ก็ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของลูโม๊ะลาโว้ยบนท้องทะเลอันไพศาลแห่งอันดามัน ในตลาดศรีรายาก็เต็มไปด้วยร่องรอยของภูมิรู้เชิงพาณิชย์ที่ฝังรากและผลิหน่อสู่ลูกหลานของคนจีนโพ้นทะเล ในส่วนใหญ่ของคนเกาะลันตาที่เป็นพี่น้องมุสลิมก็เห็นภาพเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาต่อองค์อัลเลาะห์ผู้นำทางให้กับชีวิตมุสลิม

ในวันเตรียมการเพื่อเปิดพิพิธภัณฑ์ คนเฒ่าคนแก่จากชุมชนศรีรายา พี่น้องมุสลิมจากบ้านโคกยูง คลองยาง ชาวเลสังกาอู้ มาช่วยกันจัดบ้านของตนเอง ช่วยกันจัดวางข้าวของเพื่อให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมและประเพณีของตน และเพื่อให้ได้บรรยากาศ อารมณ์ ที่สามารถอธิบายเรื่องราวในอดีตได้ชัดขึ้น พวกเขาคิดเหมือนกันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ส่งผ่านความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความต้องมีส่วนร่วม เข้ามาจัดการ และช่วยให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งคุณค่าและความหมายเหล่านี้ได้ถูกบันทึกเป็นข้อความบนผืนผ้าใบที่ปรากฏบนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ด้วย

วิธีคิดที่ได้เรียนรู้จากคนลันตานี้เองที่เป็นที่มาของแนวทางและรูปแบบการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และต่อมาก็ได้เปิดให้ผู้เข้ามาชมได้เห็นความสัมพันธ์ในเชิงการเกื้อหนุน พึ่งพา และหนุนช่วยของแต่ละกลุ่มชน การเรียนรู้ถึงการมีชีวิตร่วมกันบนความหลากหลายของความเชื่อและต้นสายแห่งชีวิตดังที่ตั้งเป้าหมาย พวกเขาเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคน และวิถีของชุมชนที่ไหลรวมเป็นแอ่งอารยธรรมของลันตา จะเป็นปราการอันสำคัญในการคุ้มครองตัวตนของลันตา และความพร้อมในการจะเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมแบบทวีคูณ ภายใต้การหมุนของโลกที่ไร้ขอบเขต อันนำมาสู่การเปลี่ยนทางความคิด ความเชื่อ และวิถีการปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งเป้าหมายของชีวิตที่เปลี่ยนไปภายใต้กลไกของ เวลา และ สถานที่ ตามแบบของสังคมบริโภค

อย่างไรก็ตาม การศึกษาค้นคว้าและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับลันตายังคงไม่มีที่สิ้นสุดเมื่อพิพิธภัณฑ์ได้สร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดต้อนรับผู้มาเยือน หากพิพิธภัณฑ์เป็นเหมือนสมุดบันทึกเล่มใหญ่ บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องราวของลันตาเอาไว้ ก็คาดหวังว่าสมุดเล่มนี้จะถูกเปิดอ่านอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคนในชุมชนมองเป็นความจำเป็นที่ต้องมีการบันทึกสิ่งใหม่ต่อเนื่อง และสิ่งที่บันทึกผ่านมาแล้ว หากมีข้อผิดพลาดก็ต้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข

ดังนั้น “พิพิธภัณฑ์” จึงไม่ได้เป็นบทสรุปของการเรียนรู้เกี่ยวกับลันตา หากแต่เป็นเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ ก่อเกิดคำถาม และความสงสัยใคร่รู้ของคนรุ่นหลัง แล้วขยายไปสู่การเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

ท้ายที่สุดทุกคนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่มีพลังและมีชีวิต ต้องบันทึกโดยผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ คุณค่าของประวัติศาสตร์อยู่ความสามารถที่จะกำหนดปัจจุบันและทิศทาง...อนาคตของวิถีของชุมชนลันตาได้

เปรียบดังคำกล่าวของโต๊ะหมอ สิเก็น ทะเลลึก ที่ว่า
“ชาวเลอย่างไรต้องออกทะเล หากินกับเล ชาวเลที่ไม่ออกเล ก็เป็นเหมือนชาวเลที่ตายแล้ว” ชาวเลในที่นี้มิได้จำกัดเพียงแค่ลูโม๊ะลาโว้ยเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์และทำมาหากินกับทะเลทุกคน อันหมายถึง “คนลันตา”

ในวันนี้...เกาะลันตาถือเป็นชุมชนที่มีความชัดเจนและคงวิถีชีวิตตามแบบบรรพบุรุษทั้งความคิด ความเชื่อ ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ดนตรี รองแง็ง รวมถึงวิถีแห่งท้องทะเล

วันพรุ่ง...วันที่ลูกหลานคนลันตาเริ่มหันหลังให้อาชีพประมง ละทิ้งห้องเรียน มุ่งหน้าฝากปากท้องและอนาคตไว้กับบังกะโล รีสอร์ท และงานบริการนักท่องเที่ยว น่าจะเป็นสัญญาณแห่งการคืบคลาน ยอมรับวัฒนธรรมต่างถิ่น จากแดนไกล ขยับเขยื้อนเคลื่อนย้ายวิถีบรรพบุรุษให้พ้นทางและพร่ามัว พิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตาจะทำหน้าที่เป็นบ้านที่หลอมรวมเรื่องราวเรื่องเล่าถึงปูมชีวิต ภูมิรู้จากบรรพบุรุษ ก่อร่างสร้างบ้าน ด้วยแรงกายแรงใจของผู้ใหญ่ทั้งชายหญิง เพื่อส่งผ่านคุณค่าแห่งชีวิตที่ลูกหลานต้องเรียนรู้ จดจำให้ขึ้นใจ เข้าใจ และเกิดความภูมิใจ และเป็นความหวังของการฟื้นฟู คงอยู่ และสืบต่อของชาวเกาะลันตาแห่งทะเลอันดามัน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนชาวเกาะลันตา จึงมิได้เป็นเพียงสถานเก็บซากความทรงจำที่พร้อมจะตายลงในเวลาอันรวดเร็ว แต่คือลมหลายใจในการต่อชีวิตให้ผู้คนบนเกาะสามารถดำเนินวิถีต่อไปได้อย่างภาคภูมิ

*สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา lantaproject@gmail.com

เรื่อง เครือข่ายชุมชนฟื้นฟูเกาะลันตา
ภาพ วสันต์ เตชะวงศ์ธรรม










กำลังโหลดความคิดเห็น