xs
xsm
sm
md
lg

เมล็ดพันธุ์พลเมืองบนพื้นดินแตกระแหง

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ความรุนแรงสูญเสียน่าจะถูกเขียนเป็นบทสุดท้ายในสังคมไทยห้วงยามนี้ ด้วยต่างฝ่ายต่างหยัดยืนอยู่คนละขั้วคิดและผลประโยชน์สุดโต่งในนามการช่วงชิงความหมายประชาธิปไตย ที่ต่างกันนับแต่นิยามฉาบฉวยว่าแค่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จนลุ่มลึกถึงจิตวิญาณยึดความเสมอภาคเป็นรากฐาน การมองต่างมุมเป็นคุณลักษณะประจำระบอบ

กระนั้นเมื่อประชาธิปไตยถูกบิดเบือนให้เข้ารูปเข้ารอยกับความคิดตนเองมากกว่ายึดมั่นหลักการสากล ลำพังการประหัตประหารกันทางความคิดจึงไม่เพียงพอเสียแล้ว การก่อความรุนแรงเชิงกายภาพด้วยการสลายการชุมนุม เรื่อยเลยถึงปลุกระดมมวลชนชูธงผิดแผกกันให้ทำ ‘สงครามตัวแทน’ จึงพบได้ไม่ยากยามคู่ขัดแย้งเทหมดหน้าตักเช่นนี้

มิเอ่ยว่าในเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมไทยจะคุ้นเคยยินยอมให้เกิดความรุนแรงเลยถ้าสามารถสร้างความชอบธรรมได้ว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง

‘สายเกินการณ์’ จึงอาจเป็นถ้อยคำที่เอ่ยพร้อมน้ำตาในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะถ้ารัฐยังล้าหลังพัฒนาการภาคพลเมืองที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หวงแหนอำนาจกระทั่งขลาดเขลาก่ออาชญากรรมรัฐซ้ำซากกับพลเมืองดีที่ตื่นตัว

ทั้งนี้ด้วยปัดปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้อยู่ภายใต้ฉากหน้าระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจสูงสุดแก่ประชาชนเฉกเช่นประเทศตะวันตก แต่สำหรับประชาชนไทยไม่ได้ใช้พรรคการเมืองและนักการเมืองรักษาประโยชน์ประเทศชาติ ทว่าตาลปัตรกลับถูกพรรคการเมืองและนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือแสวงหา รักษา และเสริมสร้างผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง

เนื่องด้วยต้นประชาธิปไตยไทยวัยกว่า 7 ทศวรรษเพียงผลิดอก ‘รัฐธรรมนูญ’ แต่ไม่เคยออกผล ‘พลเมือง’ ผู้ฟูมฟักรักษาประชาธิปไตยในยามบ้านเมืองสงบสุขสามัคคีได้เลย ต้องรอล่วงถึงจุดสุกงอมคอร์รัปชันหรือขัดแย้งแตกแยกอันเนื่องมาจากการบริหารชาติบ้านเมืองของรัฐบาลทั้งเผด็จการและเลือกตั้ง จึงจะปลิดผลที่อุดมด้วยเมล็ดพันธุ์พลเมืองสักคราวหนึ่ง!

ประชาธิปไตยไทยที่ถูกบอนไซให้แคระเกร็นจากการไม่ได้เปลี่ยนประชาชนเป็นพลเมือง (Citizen) หรือไม่มีการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic education) ให้กับประชาชน อย่างน้อยๆ ก็ได้นำไปสู่การเกิดชนชั้นปกครองใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพวกเขาจะยึดโยงประชาชนที่ไม่เป็น ‘อิสระชน’ ไว้ด้วยระบอบอุปถัมภ์ที่ครอบคลุมเครือข่ายท้องถิ่นถึงนโยบายประชานิยม

ครั้นสังคมเกิดแตกแยก ประชาชนผู้ขาดการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองที่ยอมรับความแตกต่างและเคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น จึงตกอยู่ใต้อาณัติอิทธิพลพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เปลี่ยนแปรพวกเขาให้เป็นศัตราวุธทิ่มแทงศัตรู โดยส่วนใหญ่ไม่เคยเฉลียวรู้เลยว่าถูกหลอกถูกเสี้ยมให้หักหาญกับคู่ขัดแย้งด้วยผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองหรือเรื่องส่วนตัว และควรจะเข้าฝักฝ่ายใดในยามความเป็น ‘กลาง’ แสดงความอับจนทางปัญญา หรือไม่ก็ลุ่มหลงโลกอุดมคติที่ถักทอจากตรรกะทางวิชาการที่ขาดข้อเท็จจริงแห่งโลกความเป็นจริงรองรับสนับสนุน

พรรคการเมืองจึงทำให้สังคมตั้งแต่ระดับคู่ชีวิต ครอบครัว ชุมชน จนถึงประเทศชาติแตกแยกขัดแย้งมากกว่าจะสมานฉันท์สามัคคี ยิ่งเป็นพรรคเฉพาะกิจที่จัดวางวาระประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมยิ่งนำพาสังคมดิ่งลึกหุบเหว อีกทั้งยังเลวร้ายขึ้นมากหากชี้นำสังคมเข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยจะใช้สิทธิเสรีภาพตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ขอให้กุมเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้ก็พอ

ปรากฏการณ์พวกมากลากไปในนามของเสียงข้างมากจึงอาจคร่าทำลายกฎกติกาสูงสุดของประเทศ กระบวนการยุติธรรมเอาผิดคนคอร์รัปชัน และคุณธรรมจริยธรรมค้ำจุนชาติจนแหลกลาญได้ในที่สุด อย่าว่าแต่แค่จะเคารพเสียงข้างน้อยที่แตกต่างจากตนเลย

กล่าวถึงที่สุด ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative democracy) จึงเป็นปัญหาประชาธิปไตยของเมืองไทยไม่น้อย ด้วยผู้แทนในสภาฯ ส่วนมากมาจากการเลือกของประชาชนที่ยังไม่เรียนรู้คุณลักษณะความเป็นพลเมือง วงจรอุบาทว์ซื้อสิทธิขายเสียงเลือกตั้ง คัดค้านรัฐบาลฉ้อฉล แล้วก็รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญจึงยังคงวนเวียนบดขยี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ถึงกระนั้น ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็จำเป็นยิ่งยวดในวันเวลาที่ประชากรไทยกว่า 60 ล้านคนแตกต่างกันทางภูมิหลัง การศึกษา แนวทัศนะ และผลประโยชน์ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรงไร้ทางหลอมรวมเป็นหนึ่งดั่งปัจจุบันนี้

การถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงควรอยู่ในมือประชาชนผู้รดน้ำพรวนดิน ‘เมล็ดพันธุ์พลเมือง’ ในตัวจนเจริญงอกงาม แตกยอดอิสรภาพ เป็นอิสระชนผู้ครอบครองชีวิตตนเองและเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในประเทศที่เท่าเทียมกันภายใต้หลักความเสมอภาค ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกันตามระบอบประชาธิปไตย

แม้นพลเมืองมีเสรีภาพจะคิดต่างมองต่างกระทำต่างกันได้ แต่ก็ต้องเคารพ ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น ตามหลักระบอบประชาธิปไตยที่การมีสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก การจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องยกเว้น และยังต้องก้าวหน้ารับผิดชอบต่อสังคมด้วยการไม่ใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยตามอำเภอใจ หากต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมสร้างสรรค์สังคม

ไม่เท่านั้น พลเมืองยังต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งหลักการปกครองโดยประชาชน และหลักนิติรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย (The rule of law)

ระบอบประชาธิปไตยไทยจักถึงฝั่งฝันได้ก็ด้วยมีพลเมืองขับเคลื่อนรัฐนาวาเท่านั้น

มากกว่านั้นหากชอบอ้างอิงความเป็นเมืองพุทธ คนไทยก็ควรน้อมนำหลักธรรมวินัยพุทธศาสนามาสร้างประชาสังคม (Civil society) ขึ้นในเมืองไทย เพื่อให้การแย่งชิงฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติ พึ่งพิงพึ่งพาระบบอุปถัมภ์ที่ลดทอนความสามารถ บั่นทอนความสัมพันธ์ผู้คน ตลอดจนครอบงำจิตสำนึกสังคมภายใต้การรวมศูนย์วิกฤตการเมืองลดน้อยถอยถดลงได้

ความกล้าหาญทางศีลธรรม (Moral courage) ของพลเมืองควรถ้อยถัก ‘คุณธรรมพลเมือง’ (Civic virtues) เข้ากับจริยธรรมพุทธศาสนา อาทิ มีวินัยในตนเอง เห็นแก่ส่วนรวม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และให้อภัย รวมถึงหมวดธรรมสังคหวัตถุ 4 ฆราวาสธรรม 4 และบุญกิริยาวัตถุ 10 โดยเฉพาะทานมัยหรือการให้แบ่งปัน ไวยาวัจจัยหรือการขวนขวายรับใช้ผู้อื่น และปัตติทานมัยหรือการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม

ยิ่งกว่านั้นพลเมืองที่ตื่นรู้ต้องดำเนินการกว้างขวางกว่ามิติทางการเมืองภาคประชาชน ด้วยควรเข้าไปมีส่วนร่วมเข้มข้นในกิจการสาธารณะระดับต่างๆ อย่างอิสระจากรัฐและทุนธุรกิจ หนุนเสริมศักยภาพการคัดค้านนโยบายสาธารณะที่กระทบสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านปลายอ้อปลายแขม นักกิจกรรม และศิลปินที่ชุมนุมหรือรังสรรค์ศิลปวัฒนธรรมต่อต้านอย่างอหิงสาสันติ

พัฒนาการประชาธิปไตยจึงเกี่ยวกับการมีหรือไม่มีพลเมืองอย่างสำคัญ ความล้มละลายยาวนานนับแต่ 2475 จะเปลี่ยนถึงแก่นได้ก็ต่อเมื่อสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งเป็นปราการยันกองทัพหน้าที่พร้อมจะกรีฑาท้าทายปัญหานานัปการทางสังคมที่กร่อนกัดลึกถึงรากแก้วแล้ว

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความขัดแย้งที่ไม่จบด้วยความความรุนแรงนับเป็นคุณูปการมากต่อระบอบประชาธิปไตยพหุนิยมที่เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหลากหลาย เปิดเวทีถกเถียงกันด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงได้โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะถูกกลุ้มรุมประทุษร้าย ขอเพียงแค่คู่ขัดแย้งเพาะเมล็ดพันธุ์พลเมืองในหัวใจให้สามารถเบิกบานบนผืนดินแตกระแหงจากทุนนิยมที่นำผู้คนไปสู่ธุระไม่ใช่ ตัวใครตัวมัน โกงแต่ทำงาน สมานสามัคคีแต่ซุกขยะใต้พรมสมานฉันท์

ดังแบบเรียนพลิกผืนดินแล้งร้อนของประเทศเยอรมนีที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการจากไปของเผด็จการฮิตเลอร์ โดยการสร้างพลเมืองตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงผู้ใหญ่ให้คิดวิเคราะห์ทุกคำของผู้นำ และไม่ถลำให้ความคิดต่างนำความรุนแรงมาสู่ประเทศ

ไม่ใช่ไทยๆ ที่พร่ำอวดอ้างว่ามีความชอบธรรมเพราะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันกลับลุอำนาจ สกัดกั้นการแตกแขนงกิ่งก้านการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and balance) ของเมล็ดพันธุ์พลเมืองด้วยการปักป้ายปฏิปักษ์แก่กลุ่มต่อต้านคัดค้านว่าทำลายความสงบสุขสามัคคีของบ้านเมือง.-

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น