xs
xsm
sm
md
lg

‘แตกแยกขัดแย้ง’ ความจริงที่ถูกซุกใต้พรมสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

‘สมานฉันท์สามัคคีมีวินัย’ นับเป็นพรมผืนใหญ่ในชาติไทยที่คลี่คลุมซุกซ่อนซากปรักหักพังแห่งความขัดแย้งแตกแยกมาเนิ่นนาน

ห้วงผ่านมาคนส่วนใหญ่จึงหลงเข้าใจไปว่าสังคมไทยทุกอณูอิ่มเอิบสมานฉันท์สามัคคีมีวินัย ทุกคนยึดมั่นสันติ ขันติธรรม ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดำเนินชีวิตด้วยการยึดมั่นศรัทธาแบบแผนทางสังคมตามหลักธรรมวินัยพุทธศาสนาที่เน้นการกำกับความประพฤติ กล่อมเกลาจิตใจ และพัฒนาปัญญาให้เป็นไปในทางถูกต้องงดงามด้วยจริยธรรม

ทว่าข้อเท็จจริงกลับตรงข้าม ศาสนาพุทธอันเป็นศาสนาประจำชาติด้วยเหตุที่มีคนระบุว่านับถือมากสุดตามทะเบียนบ้านไม่อาจยึดเหนี่ยวบ้านเมืองให้ไร้ความรุนแรงแตกแยกทั้งระดับปัจเจกยันรัฐชาติได้ ความจริงชวนช็อกจึงค่อยๆ ทยอยสู่สายตาสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่องนับแต่เหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ตุลา 16, อาชญากรรมรัฐ 6 ตุลา 19, พฤษภาประชาธรรม 35 เรื่อยลงมาถึงรัฐประหารลับลวงพราง 49

ทุกครายามเผชิญวิกฤตขัดแย้งแตกแยกอันเนื่องมาจากคนในชาติลุกขึ้นมาคานอำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุล รัฐจะพยายามกล่าวอ้างความเป็นชาตินิยมและวาทกรรมประเทศชาติต้องก้าวเดินต่อไปตามระบอบประชาธิปไตยผ่าน ‘ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี ไทยนี้รักสงบ...’ อยู่เสมอๆ โดยการแยกผู้คน สื่อ หรือองค์กรอื่นๆ ที่แตกแถวแตกแนวจากนโยบายรัฐบาลออกไปด้วยการปักป้ายปรปักษ์ให้แก่พวกเขาว่าไม่ใช่คนไทย ไม่รักหวังดีต่อชาติบ้านเมือง ไม่ร่วมกันพัฒนาประเทศ เพราะคนไทยในนิยามรัฐไทยนั้นต้องสมานสามัคคีกับรัฐบาล ไม่วิพากษ์วิจารณ์นโยบาย ว่านอนสอนง่าย เป็นประชาชนมากกว่าพลเมือง

มากกว่านั้น หน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยยังคอยย้ำเตือนตนเองว่านอกจากจะไม่สัมฤทธิผลในการรวมผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนาเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันดังปรากฏการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมักกีดกันผลักไสให้คนที่มองต่างคิดต่างกลายเป็น ‘อื่น’ (Others) แบ่งแยกซอยย่อยออกเป็นฝักฝ่าย กลายเป็น ‘พวกเขา-พวกเรา’ โดยเฉพาะทางการเมืองที่ต้องเลือกข้างผ่านการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งที่มีการชุมนุมทั้งประท้วง และสนับสนุนรัฐบาลอย่างดุเดือดจากคนที่เลือกขั้วตรงข้ามกัน

ตัวกูของกูจึงเฟื่องฟูเท่าทวีตามดีกรีความหมกมุ่นและเอาชนะคะคานกันทางการเมือง เนื่องด้วยมนุษย์มีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะแบ่งฝักฝ่ายโดยเอาความแตกต่างหลากหลายมาเป็นเส้นแบ่งเพื่อกีดกันใครต่อใครออกไปจนเหลือแต่ตัวเองเป็นที่ตั้งดังที่พระไพศาล วิสาโลอรรถาธิบายไว้

วงจรอุบาทว์ทางการเมืองอันเนื่องมาจากความแตกแยกขัดแย้งจึงระเบิดเป็นคราวครั้ง ทั้งรวดร้าวรุนแรง เช่น โศกนาฏกรรม 6 ตุลา 19 ที่นิสิตนักศึกษาจำต้องพรากจากโลกจำนวนมาก และนุ่มนิ่มอย่างรัฐประหาร 2549 ที่แม้ไม่มีผู้เสียชีวิตแต่ก็ทำลายพลังการเมืองภาคประชาชนลงไป

กล่าวถึงที่สุด การไม่ยอมรับว่าประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาขับเคลื่อนด้วยความแตกแยกขัดแย้งจึงเท่ากับปัดปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่จริง อีกทั้งสังคมไทยยังยิ่งกว่าคุ้นเคยกับการปัดกวาดซากเศษความร้าวฉานไปซุกซ่อนไว้ใต้พรมผืนเก่าคร่ำคร่าที่ถักทอลวดลายสมานฉันท์สามัคคี ที่แรกแม้จะสีสันสวยสดงดงามจนเจ้าของบ้านนำมาอวดโอ่ใครต่อใคร เชิญชวนให้มาท่องเที่ยวลงทุน ทว่าท้ายสุดแล้วลวดลายใยเส้นสีสันก็ไม่คงทนถาวร อย่าว่าแต่แขกเหลื่อหรือกระทั่งคนในบ้านจะเดินไม่สบายเท้าเพราะมักเหยียบลงบนพรมตรงที่มีขยะกองโตหมักหมมเลย

ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่มีใครคิดปัดกวาดความแตกแยกขัดแย้งออกมาจากข้างใต้ผืนพรมอย่างจริงจัง ด้วยหลงยึดติดภาพลักษณ์ว่าบ้านเมืองไทยต้องสงบสุขเรียบร้อย ผู้คนสมานสามัคคี มีขันติธรรมยามเผชิญหน้าคู่ขัดแย้ง และถึงแตกแยกก็มีวิธีพิเศษแบบไทยๆ ช่วยให้คลี่คลายไปได้ด้วยดี

หากปรารถนาปัดกวาดเศษซากความขัดแย้งแตกแยกออกมาก็ต้องเตรียมรับการต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถูกทำให้เซื่องแล้วว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่ไม่มีความขัดแย้งแตกแยก ต้องรู้รักสมัครสมานสามัคคีแม้กับผู้ทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

ต้องรอล่วงถึงยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ความแตกแยกขัดแย้งที่ถูกปกปิดเก็บงำไว้ถึงเผยตัวตนออกมาอย่างรวดเร็วรุนแรงกว้างขวางผ่านการกระชากพรมสมานฉันท์สามัคคีมีวินัยผืนสวยทิ้งไปไม่ไยดี ความแตกแยกขัดแย้งที่ถูกซุกซ่อนกดทับมานานปีจึงถาโถมโหมไฟใส่สังคมจนคนจำนวนมากรับไม่ได้กับสภาพบ้านเมืองแตกแยกความสมัครสมานสามัคคี

ทั้งๆ ก่อนหน้านั้นหากไม่แสร้งหลับตาก็จะแลเห็นปรากฏการณ์ความแตกแยกฉายชัดผ่านฉากชีวิตทางการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และความขัดแย้งยังพานพบได้ในทุกระดับของชีวิต ตั้งแต่เล็กน้อยอย่างคู่ชีวิต ครอบครัว เพื่อนบ้าน สำนักงาน ชุมชน สังคม ประเทศชาติ ทวีป และโลกอันเนื่องมาจากสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอก ยิ่งกว่านั้นในทางวรรณกรรมเองก็ให้ภาพความขัดแย้งไว้ครบถ้วน ตั้งแต่ความขัดแย้งภายในตัวตน กับผู้อื่น จนถึงกับแม่ธรรมชาติ

ความขัดแย้งจึงเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดด้วยอุปาทานตัวกูของกูอยู่นั่นเอง

เฉพาะประเทศไทยเวลานี้ คงไม่มีความแตกแยกขัดแย้งใดแหลมคมร้อนเร่าเท่าการเมืองที่ไม่ได้ผูกขาดแค่ความไม่ลงรอยกันของนักการเมืองดังเดิม หากเชื่อมร้อยประชาชนทุกชนชั้น ‘ล่าง-กลาง-สูง’ เข้าฝักฝ่ายที่แตกต่างกัน และพร้อมจะหักหาญกันเพื่อยืนยันความคิดความเชื่อตนเอง

อย่างไรก็ดี การมองความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยปัจจุบันมาจากตัว ‘บุคคล’ เพียงคนเดียวอาจเป็นการวิเคราะห์เพียงผิวเผินชั้นเชิงเดียว ด้วยปรากฏการณ์ ‘เอา-ไม่เอาทักษิณ’ นั้นเกี่ยวพันกับความขัดแย้งที่สั่งสมมายาวนาน อย่างน้อยนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นต้นมา

ด้วยจะว่าไปแล้วปรากฏการณ์นี้คือภาพสะท้อนความคิดต่างขั้วที่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นง่ายๆ อย่าง ‘ทุนเก่า-ทุนใหม่’, ‘อำนาจเก่า-อำนาจใหม่’ และ ‘เผด็จการ-ประชาธิปไตย’ หรือสลับซับซ้อนขึ้นมากอย่างการเลือกระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต ‘ศักดินาอำมาตยาธิปไตย-ประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี’

ทั้งนี้ ไม่ว่าเวลาจะล่วงไปแค่ไหน ตราบใดที่เชื้อไฟจากการมองแบบตัดตอน มองแบบสุดโต่ง และมองทุกอย่างแบบคู่ขัดแย้ง (Binary opposition) อย่าง (+)-(-), ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว, พระอาทิตย์-พระจันทร์ ผู้ชาย-ผู้หญิง และข้างนอก-ข้างใน ยังครอบงำสังคมไทยอยู่ ตราบนั้นประเทศชาติก็จะยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยกเพราะนักการเมืองจะฉกฉวยใช้วิธีการมองโลกแบบนี้ของประชาชนมาแสวงหาประโยชน์โภชย์ผลเข้าตนเองและพวกพ้องผ่านการปลุกปั่นมวลชนให้เลือกฝ่ายตนเอง และชี้หน้ากล่าวหาอีกฝั่งว่าชั่วช้าสามานย์ โดยไม่ต้องนำพาข้อเท็จจริง

พัฒนาการของความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยวันนี้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าถึงจุด ‘วิกฤต’

ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อวิกฤตเปิดโอกาสให้ ‘เลือก’ เพื่อ ‘รอด’ แล้ว สังคมไทยเองต่างหากที่พร้อมมากน้อยแค่ไหนในการเรียนรู้กรณีศึกษา ทบทวนประวัติศาสตร์ เลือกยุทธวิธี ยึดยุทธศาสตร์ใดในการคลี่คลายตนเองออกจากวิกฤตแตกแยกขัดแย้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยไม่ต้องรวดร้าวสูญเสีย

ครั้นหวังให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้ามาไกล่เกลี่ยความแตกแยกขัดแย้งในปัจจุบันก็ยากยิ่ง ด้วยไม่เพียงจะหาผู้ใหญ่ที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้งได้ยากมาก หากการไกล่เกลี่ยโดยผู้ใหญ่ที่เอาเข้าจริงแล้วดำรงสถานะแค่ ‘สื่อกลาง’ นั้นก็ยังไม่รับประกันว่าจะสร้างสถานการณ์การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ได้มากน้อยเพียงใด

อีกทั้งผู้ใหญ่จะวิเคราะห์จุดยืนของแต่ละฝ่าย ความต้องการหรือความเข้าใจแท้จริง และอุปสรรคข้อจำกัดได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากมายเพียงใดก่อนจะสรุปทางออกหรือข้อตกลงร่วมกัน ในเมื่อต่างฝ่ายต่างกุมแผนลับที่จะโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม การบอกเป้าประสงค์ของแผนการทั้งใต้ดินบนดินทั้งหมดแก่ผู้ใหญ่ที่อาสาเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยจะเป็นไปได้หรือ การรู้เท่าทันสถานการณ์ความขัดแย้ง และการได้รับชุดข้อมูลที่อ้างว่าเป็นจริงมากสุดนั้นจะเชื่อถือได้เพียงใด

มิพักจะเอ่ยว่าข้อสรุปหรือข้อตกลงร่วมกันนั้นมักถักถ้อยอยู่บนการแบ่งสันปันส่วนอำนาจและผลประโยชน์ของกุล่มชนชั้นนำมากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

การร้องขอผู้ใหญ่ให้มาเจรจาไกล่เกลี่ยในความแตกแยกขัดแย้งที่ยึดโยงกับการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนอย่างเบียดเบียนส่วนรวม ก็เป็นไปในทางเดียวกันกับการเรียกร้องความสมานฉันท์สามัคคีอย่างไม่จำแนกของประชาชนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการโฆษณาชวนเชื่อมามาก

ข้อควรระวังหากเรียกร้องความสมานฉันท์สามัคคีในบ้านเมืองไทยยามนี้คือจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งในการกระทำซ้ำซากซุกซ่อนขยะไว้ใต้พรมสมานฉันท์สามัคคีเก่าคร่ำคร่าอีกคราหนึ่ง ด้วยหากเผอเรอซุกซ่อนไปอีก ก็ยากที่จะปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาดสะอ้านได้อีกนาน ตราบใดที่การจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำทั้งทางการเมือง ธุรกิจ ข้าราชการยัง ‘ลงตัวดี’ จากการกีดกันผลประโยชน์ของประชาชนออกไปได้มากสุดเท่าที่จะมากได้ผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ

กระบวนการคลี่คลายความแตกแยกขัดแย้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนในฐานะพลเมืองมีส่วนร่วมไกล่เกลี่ยในฐานะผู้ได้เสีย (Stakeholder) จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าจับตามากสุดยามความคิดต่างขั้วอุดมการณ์มีพลังทัดเทียมกันทั้งทางวิชาการ กำลัง อำนาจมาประจันหน้ากัน เหนืออื่นใดเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ ‘คนไทยฆ่ากัน’ ตามมาหลอกหลอนสังคมไทยอีกคราวหนึ่งนั่นเอง.

คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น