xs
xsm
sm
md
lg

คูปองคนจน ลอบพิมพ์แบงก์ ซื้อเสียงคนจน ?

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

การช่วยเหลือคนจนเป็นเรื่องดี เป็นบุญ และเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานของรัฐบาล

แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า แทนที่จะทุ่มเทใช้โอกาสและอำนาจรัฐไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนคนไทยวันนี้ ได้แก่ ปัญหาข้าวของราคาแพง รายได้ของประชาชนเพิ่มไม่ทันรายจ่าย ตลอดจนปัญหาการทุจริตโกงชาติโกงแผ่นดินของนักการเมือง ฯลฯ แต่กลับมุ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยเหลือตนเองและพรรคพวก ก่อปัญหาการเมืองซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจบ้านเมือง

ล่าสุด นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาประกาศดำเนินนโยบาย เรื่อง “คูปองคนจน” มีสาระสำคัญเบื้องต้นระบุว่า จะแจกคูปองให้กับคนจน โดยคนที่ได้รับก็จะสามารถนำคูปองดังกล่าวไปแลกซื้อสินค้าบางชนิดจากร้านค้าบางแห่งได้

นพ.สุรพงษ์ ระบุด้วยว่า “รูปแบบจะใช้วิธีทยอยเติมเงินผ่านบัตรประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (สมาร์ทการ์ด) ให้ทุกเดือน ซึ่งอาจเป็นเดือนละ 300-400 บาท เพื่อให้ประชาชนในเมืองใช้ซื้ออาหารและค่าเดินทาง แต่ถ้าผู้ไม่มีบัตรสมาร์ทการ์ด และเป็นคนจนในพื้นที่ห่างไกลอาจให้เงินสด”

รัฐบาลอ้างว่า เป็นมาตรการเฉพาะหน้า ชั่วคราว อาจจะใช้เพียง 6 เดือน - 1 ปี จึงถือเป็นนโยบายการเมืองเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ โดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุ หรือที่โครงสร้างพื้นฐาน แต่จะเป็นผลประโยชน์ของใคร อย่างไร มีประเด็นคำถามและเรื่องที่ต้องรู้ทัน ดังต่อไปนี้

1. แจกให้ใคร ?

ไม่ว่าจะแจกเป็น “คูปอง (coupon)” หรือจะแจกเป็นเงินสดก็ตาม ทั้งหมด ก็คือ การแจกทรัพย์สินอันมีมูลค่าแทนเงิน มีสภาพคล่อง เพราะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรือซื้อสินค้าบางชนิดได้

มันก็เหมือนกับการแจกเงินดีๆ นี่เอง

แต่เลือกแจก ไม่ได้แจกประชาชนทุกคน


ก็ในเมื่ออยู่ๆ มีคนมาแจกคูปองหรือแจกเงินให้ เดือนละ 400 บาท (ปีละ 4,800 บาท) ใครจะไม่อยากได้


แม้อ้างว่า จะแจกให้เฉพาะคน “ยากจน” ก็จะมีคนที่ “อยากจน” จำนวนมาก ด้วยหวังอยากได้รับลาภลอยแบบนี้

คนใกล้ชิด หรือเป็นลูกน้อง บริวาร ลิ่วล้อ ฐานเสียง หรือเป็นเครือข่ายพวกพ้องที่ยอมรับใช้ผู้มีอำนาจการเมือง จะมีโอกาสได้รับแจกกว่าใคร หรือไม่ ?

ถ้าแจกคนละ 400 บาทต่อเดือน หากแจกให้คน 10 ล้านคน ก็จะต้องใช้เงินแผ่นดิน 4,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 48,000 ล้านบาทต่อปี !

มากหรือน้อยกว่าเงินซื้อเสียงเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา ?

2. “คนจน” คือใคร ?


ถ้าเป็นการแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเป็นเบี้ยเลี้ยงสำหรับสตรีตั้งครรภ์ แบบนี้ ก็จะระบุได้อย่างชัดเจน แม่นยำว่า ใครคือผู้สูงอายุ อายุเท่าไหร่ขึ้นไป เพราะทุกคนมีวันเดือนปีเกิดที่ชัดเจน หรือใครคือสตรีตั้งครรภ์ เราก็พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ใครตั้งครรภ์หรือไม่

แต่ถ้าเป็นการแจกเงินหรือแจกคูปองให้คนจนอย่างนี้ ก็จะมีคำถามต่อไปว่า ใครคือ “คนจน” ?

เพราะการจะดูว่า ใครจนหรือไม่จน ไม่สามารถไปดูที่บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ถิ่นกำเนิด หรือแม้แต่จะตรวจเลือดหรือตรวจร่างกาย ก็ไม่ได้ข้อยุติที่แน่ชัด

หากจะยึดเกณฑ์ระดับความยากจนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการกำหนดไว้ว่า คนที่รายได้ต่ำกว่า 1,530 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นคนจน ก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่า จะนับรวมรายได้จากอะไรบ้าง ปลูกข้าว-จับปลากินเอง จะนับเป็นรายได้ไหม

แต่ถ้ารัฐบาลใช้วิธีสกปรก มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากนโยบายดังกล่าว โดยมอบอำนาจให้หัวคะแนนของพรรคการเมืองตน หรือเครือข่ายการเมืองของตน ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นผู้กำหนด หรือมีอำนาจตัดสินว่าใครจนหรือไม่จน อันหมายถึง จะแจกเงินใครหรือไม่แจกเงินใคร

เท่ากับว่า พรรครัฐบาลกำลังจะเอาทรัพยากรของคนไทยทั้งชาติ เบียดบังเงินหลวง นำมาแจกจ่ายแบ่งปันกันเอง

3. แลกซื้ออะไร ? และซื้อจากใคร ?


หากแจกเป็นคูปอง (coupon) รัฐบาลอาจจะกำกับควบคุมเอาไว้ด้วยว่า สามารถจะนำไปแลกสินค้าชนิดใด หรือที่ร้านค้าแห่งใดได้บ้าง อาทิ ให้แลกซื้อได้เฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบางชนิด เช่น ข้าว น้ำตาล หรืออาจจะพ่วงเอาสินค้าบางชนิดที่ตนเองต้องการกระตุ้นการบริโภค หรือสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บัตรเติมเงินโทรศัพท์ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับว่า ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าชนิดที่รัฐบาลอนุญาตให้แลกซื้อได้นั้น ย่อมจะได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยตรง เพราะได้ระบายสินค้าออกจากสต็อก จากการที่รัฐทำโปรโมชั่น ออกเงินให้ผู้ซื้อส่วนหนึ่ง

ส่วนร้านค้าหรือจุดที่อนุญาตให้นำคูปองมาแลกสินค้า หรือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการที่มีลูกค้าที่ถือเงินหลวงมาจ่ายให้คนละ 400 บาทต่อเดือนต่อคน

คูปองก็คงจะใช้แทนเงิน แทนธนบัตรได้ ตราบใดที่รัฐประกันการแลกเปลี่ยนคูปองกับธนบัตร จึงน่าคิดว่า จะมีขบวนการปลอมคูปองหรือไม่ เพราะคูปองย่อมปลอมง่ายกว่าธนบัตร

ขนาดธนบัตรที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ยังมีคนชั่วกล้าปลอม แล้วคูปองที่เกิดจากนโยบายของนักการเมือง จะไม่มีการปลอมหรือ ?

4. พิมพ์แบงก์เพิ่มปริมาณเงิน ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ

ปัญหาข้าวของโดยทั่วไปมีราคาแพงขึ้นในขณะนี้ เป็นอาการของปัญหาเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่เงินมีค่าน้อยลง เพราะสินค้าทั่วไปราคาแพงขึ้น ประชาชนทุกคนจึงเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ประจำคงที่ หรือคนที่มีเงินออม

ล่าสุด อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.6 % และเศรษฐกิจไทยจะแย่หนัก ถึงกับวิกฤติร้ายแรง หากปีนี้อัตราเงินเฟ้อทะลุขึ้นไปถึง 10%

ไม่ว่าจะเป็นการออกคูปอง หรือแจกเงินให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งในนามของคนจน ล้วนแต่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น อันจะเป็นการซ้ำเติม และเร่งเร้าสภาพปัญหาเงินเฟ้อของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ

ยิ่งหากเป็นการพิมพ์คูปองแจก ก็ไม่ต่างอะไรกับการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ “เหมือนเสกกระดาษให้กลายเป็นเงิน” มูลค่า 48,000 ล้านบาทต่อปี โดยไม่ต้องมีทองคำหรือเงินสำรองหนุนหลัง ยิ่งจะโหมกระพือภาวะเงินเฟ้อของประเทศ คล้ายกับเศรษฐกิจยุคสงครามโลก ที่รัฐบาลบางประเทศพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นโดยพลการ ทำให้เศรษฐกิจย่อยยับ เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง หรือแม้แต่ประเทศไทยสมัยสมัยจอมพลสฤษดิ์ ก็เคยพยายามจะพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟูฟ่องด้วยเงิน เป็นเหตุให้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้นถึงกับคัดค้านด้วยการประกาศลาออก

นับเป็นความแยบยลของรัฐบาลหุ่นเชิด ที่ตัดตอนอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์แบงก์เสียเองโดยเรียกว่า คูปอง

5. การแจกคูปองหรือแจกเงิน ไม่ได้ช่วยให้ “คนจน” ช่วยตัวเองได้ในระยะยาว แต่ตอกย้ำระบบอุปถัมภ์ พึ่งพิง ให้คนจนคอยรับแจก รับความช่วยเหลือจาก “นาย” เป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนคนไทย จึงจำเป็นต้องทบทวนวิธีการที่รัฐบาลจะต้องช่วย “ให้เขาช่วยตัวเอง”

6. จะช่วยบรรเทาทุกข์คนจนในระยะสั้นอย่างไร ?


สำหรับคนจนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ (ซึ่งมีคนต่างจังหวัดเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก) ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้บริการรถโดยสาร ขสมก. หรือรถเมล์ โดยเฉพาะรถเมล์ร้อน รัฐบาลสามารถช่วยเหลือคนจนกลุ่มนี้ได้ โดยการอุดหนุนค่าโดยสารของ ขสมก. ให้บริการแก่ประชาชนในอัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่าปกติต่อไป ก็จะเท่ากับว่า รัฐได้ช่วยคนจนกลุ่มนี้จ่ายค่าโดยสารรถเมล์ โดยตั้งงบประมาณแผ่นดิน ผ่านรัฐสภา อุดหนุนให้ทุกปี

น่าแปลกใจ รัฐบาลชุดนี้กลับพยายามเร่งรัดจะยกเลิกรถเมล์ร้อน เพื่อจัดซื้อจัดเช่ารถเมล์ใหม่จากต่างประเทศ จนกระทั่งมีข่าวครหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตปูดออกมา

สำหรับคนจนทั่วประเทศ ทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ทุกคน ล้วนเป็นผู้ใช้บริการน้ำประปาและไฟฟ้าของหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลสามารถช่วยเหลือคนจนเหล่านี้ได้ โดยที่คนจนมักจะใช้น้ำ-ไฟฟ้าน้อยกว่าคนรวย ดังนั้น ภาครัฐควรช่วยเหลือให้คนจนได้ใช้น้ำ-ไฟฟ้าราคาถูก โดยกำหนดจำนวนหน่วยที่ใช้ ว่าถ้าใช้ไม่เกินกี่หน่วย คิดราคาในอัตราถูกพิเศษ

การคิดค่าน้ำ-ไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้า จะช่วยส่งเสริมการประหยัดพลังงานและสร้างรายได้เพิ่มเข้ามาชดเชยได้ด้วย โดยถ้าใครใช้น้ำ-ไฟฟ้าจำนวนหน่วยมากๆ ถึงระดับหนึ่ง จะต้องจ่ายค่าน้ำ-ไฟฟ้าในอัตราแพงพิเศษ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น หากรัฐบาลเอาจริง ควรจะมีการประสานกับองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ตามท้องถิ่นต่างๆ ก็จะพบคนจนที่ “จนจริงๆ” ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นของตนเอง ไม่มีเงินจ่ายค่ามิเตอร์ แต่ต้องอาศัยหรือซื้อไฟฟ้าต่อจากบ้านข้างๆ ภาครัฐก็ควรจะดำเนินการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ไม่เพียงจัดหาน้ำ-ไฟฟ้าให้ใช้เท่านั้น ยังควรมีมาตรเสริมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยกลุ่มนี้ด้วย

ทั้งหมดนี้ รัฐบาลสามารถดำเนินการผ่านกลไกของรัฐปกติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ลูกเล่นทางการเมือง ออกคูปองหรือแจกเงินให้ประชาชน เพียงแต่ตั้งเป็นงบอุดหนุนการดำเนินการช่วยเหลือคนจนของหน่วยงานต่างๆ ผ่านกระบวนการงบประมาณแผ่นดิน ผ่านรัฐสภา จะช่วยแก้จุดอ่อนของนโยบายประชานิยมได้บ้าง

เว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลต้องการเพียงจะผันงบประมาณเหล่านี้ไปสู่มือหัวคะแนนหรือเครือข่ายของพรรคการเมืองตนเอง เพื่อให้นำไปใช้สร้างอำนาจต่อรองกับคนจน เสริมสร้างฐานคะแนนเสียง กระทั่งว่า ซื้อเสียงคนจนผ่านคูปองหรือเงินสดแบบนี้

หรือว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังส่งสัญญาณว่า จะอยู่ต่อไปได้อีกไม่นานแล้ว จึงต้องเร่งรีบเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถึงกับรีบใช้เงินหลวงไปซื้อเสียงคนจนล่วงหน้า สอดคล้องกับท่าทีเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่มีข่าวเรื่องส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล

ขอสนับสนุนการแก้ปัญหาและการช่วยเหลือคนจน แต่ขอประณามการซื้อเสียงคนจนด้วยเงินภาษีอากรของประชาชนทุกรูปแบบ !

กำลังโหลดความคิดเห็น