xs
xsm
sm
md
lg

พปช.ค้านประชามติเกินกึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา เวลา10.00 น. วานนี้ (12 มิ.ย.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญโดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายชัยได้สั่งให้สมาชิกแสดงตน โดยการเสียบบัตร ผลปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมประชุม 245 คน ครบองค์ประชุม จากนั้นได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ....ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ จะต้องพิจารณาให้เสร็จก่อนวันที่ 30 ก.ย.2551
นาย ประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการเลือกตั้ง กกต.ชี้แจงหลักการและเหตุผล ของร่างฯว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 165 บัญญัติให้การออกเสียงประชามติ สามารถกระทำได้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่ากิจการเรื่องใด อาจกระทบถึงประโยชน์ ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติอาจจัดให้มีการออกเสียง เพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หรือกรณีให้คำปรึกษาของ ครม.ก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวมี 42 มาตราส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2541 ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2550และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายภายใน1 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550กำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.จากพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับมาตรา 8 ที่ระบุว่าหากผู้ออกเสียงประชามติใช้สิทธิ มีจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ถือว่า ประชาชนเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยกับเรื่องที่จัดทำประชามติ เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง จะออกมาใช้สิทธ์มากเกินกึ่งหนึ่ง ดูกรณีการลงประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่าน
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีกฎหมายออกเสียงประชามติในปี 2542 ออกตามรัฐธรรมนูญปี 2540แล้ว ฉบับนี้ ยังใช้อยู่หรือไม่ เพราะการจะใช้บังคับ ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าจะยกเลิก ซึ่งในช่วงมีรัฐประหารยึดอำนาจได้มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายหลายฉบับถูกยกเลิก และประกาศให้กฎหมายฉบับใดบังคับใช้ได้ แต่ปรากฏว่ามีคดีสำคัญในคดียุบพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองนั้นได้อ้างว่ามีการยุบพรรคไปตามกฎหมายเลือกตั้งแล้วและให้ กกต.ยุติการพิจารณาทั้งหมดเพราะกฎหมายเลือกตั้งถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อมีการปฎิวัติ จึงเห็นว่าการเสนอกฎหมายโดยไม่ยกเลิกกฎหมายเดิมเห็นว่าไม่ถูกต้อง
ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะตัดสินเรื่องสำคัญของประเทศ ควรให้ประชานเป็นผู้ตัดสินใจ แต่เป็นห่วงการใช้อำนาจฝ่ายการเมือง เมื่อให้อำนาจนายกฯในการขอทำประชามติ เกรงว่าจะมีการชี้นำว่าประชาชนจะเห็นชอบตามผู้ใช้อำนาจเพราะรัฐมีสื่ออยู่ในมือ รวมทั้งไม่แน่ใจว่าเมื่อมีผลประชามติออกมาแล้วฝ่ายรัฐบาลจะนำไปดำเนินการตามนั้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ฝ่ายการเมืองมักจะใช้อำนาจที่ตนเองมีอยู่ตัดสินใจดำเนินการโดยไม่ฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว แต่ในร่างกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษอะไรไว้เลย
นาย ชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การทำประชาชามติ หากทำเพื่อแก้ไขความขัดแย้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อทุกคนว่า คงยอมรับไม่ได้ หากมีการแก้ไขบทเฉพาะกาล เพื่อไม่ให้บุคคลบางคนถูกดำเนินการ ตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่มีสมาชิกกังวลมาตรา 8 ที่กำหนดให้ผู้ออกเสียงประชามติผ่านต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จะเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ต้องใช้เสียงข้างมาก เชื่อว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงเกินร้อยละ50 ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ทาง กกต.จะต้องยืนยันมาตรา 8 นี้ มิฉะนั้น จะหาข้อยุติไม่ได้
อย่างไรก็ตามนายประพันธ์ ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้เมื่อ กกต.ยกร่างเสนอต่อ สภาแล้ว ที่เหลือขึ้นอยู่ที่สภาจะพิจารณา จะเพิ่มเติมอะไรก็สามารถแก้ไข ปรับปรุงได้ โดยสภาจะมีเวลาพิจารณา120 วันและวุฒิสภามีเวลา 90 วัน พร้อมยืนยันการออกเสียงลงประชามติ ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ถือว่าประชาชนเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อภิปรายสลับกันอย่างกว้างขวางนานกว่า 8 ชั่วโมงแล้ว ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่างดังกล่าวด้วยเสียงเอกฉันท์ 318 ต่อ 0 พร้อมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 36 คน พิจารณาแปรญัตติภายในเวลา 7 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น