xs
xsm
sm
md
lg

แฉพิรุธดุษฎีนิพนธ์ป.เอก“ดร.เป็ดเหลิม” อยู่บำรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้ทุกองคาพยพของสังคมไทยกำลังติดตามความจริงในกรณีการจบปริญญาเอกจากม.รามคำแหงของ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเต็มไปด้วยพิรุธและเงื่อนงำที่ไม่สามารถตอบสังคมได้หลายประเด็น โดยเฉพาะคำถามที่ว่า ร.ต.อ.เฉลิมมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะได้รับปริญญาเอกหรือไม่ และทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าวเองหรือไม่

ขณะเดียวกันก็มีคำถามพุ่งตรงไปสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยว่า อนุมัติปริญญาเอกให้ ร.ต.อ.เฉลิมได้อย่างไร หรือเป็นเพราะว่า มี“นายประจวบ ไชยสาส์น” กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค นั่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้

227 หน้ามีสาระแค่ 80 หน้า
  
ศ.ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาโทและเอกที่ ม.รามคำแหงด้วย ให้ข้อมูลว่า ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกของ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นดุษฎีนิพนธ์ที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก เพราะยาวถึง 3 บรรทัดว่า “ปัญหาการบังคับใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา : ศึกษากรณีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

นอกจากนี้ เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษก็มีความยาวถึง 5 บรรทัด ซึ่งผิดวิสัยหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่ดีที่ต้องสั้นกระชับและเข้าใจง่ายที่สุด

แต่ที่สำคัญที่สุดคือดุษฎีนิพนธ์ฉบับดังกล่าว เป็นดุษฎีนิพนธ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานเนื่องจากในเนื้อหาจำนวน 277 หน้า มีเนื้อหาจริงๆ เพียง 80 กว่าหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้ทำวิจัยยังมีแต่ข้อมูลชั้นสอง (ทุติยภูมิ) มิได้เป็นข้อมูลชั้นแรก (ปฐมภูมิ) ดังที่มาตรฐานของดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกควรจะเป็น

หรือสรุปให้เข้าใจง่ายได้ว่า ขณะที่ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้อ้างว่า เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ แต่ทั้งหมดกลับเป็นการอ้างอิงผลงานจากนักวิชาการคนอื่นๆ ที่ทำไว้แล้ว หรือที่เรียกว่าเป็นการอ้างอิงจากเอกสารชั้นรอง ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารชั้นแรกแม้แต่ชิ้นเดียว จึงไม่ทราบว่าเรียกงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพได้อย่างไร

“ไม่ทราบว่า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ปล่อยให้ผ่านออกมาได้อย่างไร เพราะถ้าพิจารณาโดยทั่วไปแล้วอย่าว่าแต่ระดับปริญญาเอกเลย แต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโทยังไม่ให้ผ่านเลย” ศ.ดร.ภูวดลตั้งข้อสงสัย

ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ภูวดลยังระบุด้วยว่า นายกสภามหาวิทยาลัยคนปัจจุบันคือ นายประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย
       
“ผมไม่ได้ดูแคลนม.รามคำแหง เพราะเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน อีกทั้งผมยังเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย แต่ตนรับไม่ได้ที่มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางคนไปรับใช้นักการเมืองบิดเบือนหลักการศึกษา และเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการศึกษาจนบิดเบี้ยว โดยเฉพาะอดีตอธิการบดีที่ระบุว่า เป็นศาสตราจารย์ประจำ ทั้งที่ยังไม่เคยเป็นแม้กระทั่งรองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ แต่กลับแต่งตั้งตัวเองเป็นศาสตราจารย์ประจำ ซึ่งไม่มีที่ใดในโลก”ศ.ดร.ภูวดลกล่าว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าว ถูกเสนอต่อม.รามคำแหงเพื่อเป็นสาระสมบูรณ์ของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ปีการศึกษา 2547 โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ประกอบด้วย ศ.(ประจำ)รังสรรค์ แสงสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย รศ.ดร.มัลลิกา พินิจจันทร์ และ รศ.พูนศักดิ์ วรรณพงษ์ ขณะที่คณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ประกอบไปด้วย รศ.จตุพร วงศ์ทองสรรค์ เป็นประธาน พล.อ.ดร.จารุภัทร เรืองสุวรรณ, รศ.ดร.โกเมศ ขวัญเมือง, พล.ต.ดร.สวัสดิ์ ศรลัมพ์, รศ.พรชัย สุนทรพันธุ์ และ ผศ.ดร.กิจบดี ชินเบญจภุช ลงนามอนุมัติโดย ผศ.พิมล พูพิพิธ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และ ศ.พิเศษ ดร.จรโชค วีระศย

ใช้ภาษาอังกฤษผิดวิสัยดอกเตอร์
       
สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกเปิดออกมาก็คือ ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องมาตรฐานการสอบ TOEFL

ในกรณีเรื่องมาตรฐานการใช้ภาษาอังกฤษ ศ.ดร.ภูวดลชี้ให้เห็นว่า มีการใช้คำผิดมากมาย เช่นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษในบทคัดย่อ (Abstract) ก็ไม่ตรงกัน อย่างเช่น ในบทคัดย่อหน้า (4) ที่ระบุว่า ในส่วนของระเบียบวิธีการวิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยโดย การวิจัยเชิงคุณภาพ ขณะที่บทแปลบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษในหน้า (7) กลับบอกว่า In this research, the quantitative research is used as the research methodology, อันมีความหมายว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ ทำการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยโดย การวิจัยเชิงปริมาณ” ซึ่งตรงตรงกันข้ามกับเนื้อหาบทคัดย่อภาคภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง

มิหนำซ้ำในบรรณานุกรมยังได้อ้างอิงงานวิจัยของชาวต่างประเทศอย่างยาวเหยียดถึง 3 หน้าเลยทีเดียว

จากข้อผิดพลาดดังกล่าวได้ตอกย้ำข้อสงสัยเรื่องความสามารถในภาษาอังกฤษของ ร.ต.อ.เฉลิม ว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของผู้ที่สมควรจะจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจริงหรือไม่
       
ทั้งนี้ ศ.3 ดร.ภูวดลได้เรียกร้องให้อาจารย์ในม.รามคำแหง และสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงถอดถอนวิทยานิพนธ์ของ ร.ต.อ.เฉลิมเพื่อศักดิ์ศรีของชาวรามคำแหง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ สตง.ไปตรวจสอบงบการเงินของโครงการภาคพิเศษของมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศด้วย

สำหรับในกรณีของการสอบ TOEFL นั้น จากการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ด้านสังคมศาสตร์ ม.รามคำแหง ก็พบว่า ม.รามคำแหงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาระดับโครงการดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ว่า ผู้สมัครต้องมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ได้ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 หรือ ต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษจากสถาบันภาษา ม.รามคำแหงโดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 กรณีไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด หรือ ต้องสอบผ่านความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา

นอกจากนั้น ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ในหัวข้อ 13.3 คือ "สอบผ่านภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสถาบันอุดมศึกษากำหนด" และปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อ 13.3.2 ที่กำหนดว่า ผลงานวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร หรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่กรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง(Peer Review) ก่อนการตีพิมพ์และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
       
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ในหัวข้อ 13.3 ระบุไว้ชัดว่า "สอบผ่านภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษา" ดังนั้นการเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขมหาวิทยาลัยรามคำแหงกำหนดในข้อ 2 จึงขัดกับหลักเกณฑ์ของกระทรวงด้วย

อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิมไดเกล่าวถึงกรณีเอาไว้ 2 วาระด้วยกันคือ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ให้สัมภาษณ์ว่า หลักสูตรปริญญาเอกนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่ศึกษาไม่ได้บังคับให้ต้องสอบคะแนน TOEFL แต่มีเงื่อนไขต้องจบปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านกฎหมาย เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.5

จากนั้น วันที่ 11 มิ.ย. ร.ต.อ. เฉลิมได้กล่าวย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้ไปนำเอาระเบียบปี 48 มาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งความจริงตนเข้าเรียนปี44 ซึ่งไม่ต้องสอบ TOEFL ก็เข้าไปเรียนต่อสู้หัวข้อวิทยานิพนธ์นำเสนออีก 9 ครั้ง และไปทำระเบียบวิจัยไม่จำเป็นต้องไปสอบ TOEFL
กำลังโหลดความคิดเห็น