ผู้จัดการออนไลน์ - เปิดบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ดร.เฉลิม อยู่บำรุง หลักฐานชี้ชัดต่ำกว่ามาตรฐาน แค่คำแปลระเบียบวิธีวิจัยง่ายๆ และถือเป็นหัวใจของงานวิจัยทั้งเล่มยังแปลผิด
หลังจากที่ในวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศ.ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ ณ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน เพื่อเปิดโปงเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านการรับรองจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ไม่ได้มาตรฐาน และทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ร.ต.อ.เฉลิม เป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าวเองหรือไม่
สำหรับดุษฎีนิพนธ์ดังกล่าวมีหัวข้อว่า ปัญหาการบังคับใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา : ศึกษากรณีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 277 หน้า (ISBN 974-09-1829-8) ถูกเสนอต่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อเป็นสาระสมบูรณ์ของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ปีการศึกษา 2547
คณะกรรมการที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ประจำรังสรรค์ แสงสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา พินิจจันทร์ และ รองศาสตราจารย์พูนศักดิ์ วรรณพงษ์ ขณะที่คณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ประกอบไปด้วย รศ.จตุพร วงศ์ทองสรรค์ เป็นประธาน พล.อ.ดร.จารุภัทร เรืองสุวรรณ, รศ.ดร.โกเมศ ขวัญเมือง, พล.ต.ดร.สวัสดิ์ ศรลัมพ์, รศ.พรชัย สุนทรพันธุ์ และ ผศ.ดร.กิจบดี ชินเบญจภุช ลงนามอนุมัติโดย ผศ.พิมล พูพิพิธ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และ ศ.พิเศษ ดร.จรโชค วีระศย
ศ.ดร.ภูวดล ได้ชี้ให้เห็นว่า วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวที่ ร.ต.อ.เฉลิม ใช้อ้างอิงในการจบหลักสูตรระดับปริญญาเอกนั้น เป็นวิทยานิพนธ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานเนื่องจากในเนื้อหาวิทยานิพนธ์ 277 หน้า มีเนื้อหาจริงๆ เพียง 80 กว่าหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้ทำวิจัยยังมีแต่ข้อมูลชั้นสอง (ทุติยภูมิ) มิได้เป็นข้อมูลชั้นแรก (ปฐมภูมิ) ดังที่มาตรฐานของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกควรจะเป็น อีกทั้งยังมีการใช้คำผิดมากมาย เช่นภาษาไทยกับภาษาอังกฤษในบทคัดย่อ (Abstract) ก็ไม่ตรงกัน
อย่างเช่น ในบทคัดย่อหน้า (4) ที่ระบุว่า ในส่วนของระเบียบวิธีการวิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยโดย การวิจัยเชิงคุณภาพ ขณะที่บทแปลบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษในหน้า (7) กลับบอกว่า In this research, the quantitative research is used as the research methodology, อันมีความหมายว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ ทำการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยโดย การวิจัยเชิงปริมาณ” ซึ่งตรงกันข้ามกับเนื้อหาบทคัดย่อภาคภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง โดยข้อผิดพลาดดังกล่าวยิ่งตอกย้ำข้อสงสัยเรื่องความสามารถในภาษาอังกฤษของ ร.ต.อ.เฉลิม ว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของผู้ที่สมควรจะจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจริงหรือไม่
วานนี้ ศ.ดร.ภูวดล ยังกล่าวด้วยว่า ตนเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณาจารย์ที่ได้รับเชิญให้ไปสอนในมหาวิทยาลัยรามคำแหงมายาวนาน มีความรักและห่วงในในสถาบันแห่งนี้เห็นว่ากรณีข้อพิรุธในการได้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกของ ร.ต.อ.เฉลิม ได้สร้างความด่างพร้อยให้กับ ม.รามฯ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นด้วยว่ามีการเมืองจากระบอบทักษิณได้แทรกแซงเข้าสู่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของเงินทอง มากกว่าที่จะเป็นการให้ความรู้ ให้สติปัญญาแก่ผู้คนอย่างแท้จริง
สำหรับบทคัดย่อภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ของงานวิจัยชิ้นดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้