xs
xsm
sm
md
lg

เผยไทยขาดนักวิจัย รัฐให้แค่ 500 ล.ต่ำกว่ามาตรฐานโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยขาดแคลนนักวิจัย เหตุรัฐลงทุนวิจัยน้อยแค่ปีละ 500 ล้านบาท ต่ำกว่ามาตรฐานโลก เร่งผลิตนักวิจัยคุณภาพ 1 คน ใช้เงิน 5 ล้าน ขณะที่การประชุมนักวิจัยเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมส่งสารถึง “ฮู” ให้เจรจาแหล่งเงินทุนระดับโลก กระจายงบวิจัยโรคต่างๆให้ประเทศกำลังพัฒนา มั่นใจมีศักยภาพทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว

วานนี้ (10 มิ.ย.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และ Global Forum for Health Research ได้จัดการประชุม Asia Pacific Preparatory Meeting for 2008 Global Ministerial Forum on Research for Health เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนาระบบวิจัยของประเทศสมาชิก องค์การอนามัยโลก ตามข้อเรียกร้องจากการประชุม เม็กซิโก มินิสเตอเรียล ซัมมิต 2004 ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกลงทุนด้านการวิจัยสุขภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยจะมีการทบทวนปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่างๆ นำเสนอในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 17-19 พฤศจิกายน ที่เมืองบามาโค (Bamako) ประเทศมาลี เพื่อเป็นกรอบปฏิบัติให้ประเทศต่างๆ ทั้งนี้ มีผู้บริหาร และนักวิจัยจากประเทศต่างๆ จาก 17 ประเทศเข้าร่วม

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ประสบปัญหาการขาดแคลนนักวิจัยที่มีคุณภาพที่จะสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การพัฒนานโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ สาเหตุที่ทำให้ประเทศพัฒนาขาดแคลนนักวิจัยที่มีคุณภาพ คือแหล่งเงินทุนวิจัย หรือหุ้นส่วนวิจัยระดับโลก ที่มักให้เงินทุนวิจัยเฉพาะนักวิจัยในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น ขณะที่โครงการวิจัยต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนาแทบทั้งสิ้น

“โครงการวิจัยเกี่ยวกับโรคระบาดนักวิจัยต่างชาติจะเลือกประเทศที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเพื่อทำวิจัย เช่น โรคไข้เลือดออก ก็เดินทางมาเก็บตัวอย่างในประเทศไทย จากนั้นก็นำผลการสำรวจไปวิเคราะห์ประเมินผลที่ต่างประเทศ ไม่มีการถ่ายทอดความรู้ หรือเทคโนโลยีให้กับนักวิจัยของคนไทยเพื่อให้ทำงานวิจัยได้เอง หรือคิดสมมติฐานได้ เมื่อผลการวิจัยประสบความสำเร็จ ก็นำข้อมูลไปให้เจ้าของเงินทุนซึ่งก็คือบริษัทยาต่างชาติ พัฒนาคิดค้นยารักษาโรค หรือวัคซีนป้องกันโรคชนิดใหม่เพื่อนำมาขายในราคาแพงให้กับคนไทย ขณะที่ประเทศไทยที่เป็นฐานในการศึกษากลับไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการวิจัยดังกล่าวได้เลย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้จะทำข้อเสนอไปถึงองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ช่วยเจรจากับแหล่งทุนวิจัยระดับโลกต่างๆ เปลี่ยนแนวทางการทำงานใหม่ ให้กระจายงบลงทุนการวิจัยด้านสุขภาพให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ มากขึ้น เพราะนักวิจัยจากประเทศกำลังพัฒนาก็มีศักยภาพที่สามารถทำวิจัยโครงการใหญ่ๆ ได้ไม่น้อยหน้าประเทศพัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพนักวิจัยท้องถิ่นให้มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ รวมถึงต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลข่าวสารเพื่อรองรับการทำวิจัยใหม่ๆ ด้วย

“รัฐบาลไทยควรจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลงทุนวิจัยใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาด้านสุขภาพทั้งระบบ เงินทุน และเทคโนโลยีใหม่ของประเทศ เพราะไทยมีการลงทุนวิจัยด้านสุขภาพน้อยมากคือปีละ 500 ล้านบาท คิดเป็น 0.5% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานโลก ที่ต้องมีเงินลงทุนวิจัยสุขภาพอย่างน้อย 2% และเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนโดยภาครัฐ ขณะที่ภาคเอกชนแทบจะไม่มีเลย ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่การลงทุนวิจัยส่วนใหญ่เป็นของเอกชน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาการลงทุนด้านการวิจัยน้อย ทำให้นักวิจัยขาดการสนับสนุน และส่วนใหญ่นักวิจัยจะทำการวิจัยตามความสนใจ และกลายเป็นนักวิจัยพาร์ตไทม์ที่ทำงานหลักเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัย ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่

“หากจะพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ๆ นั้น จะต้องลงทุนตั้งแต่การสนับสนุนการศึกษา ซึ่งต้องใช้งบประมาณสนับสนุนประมาณ 5 ล้านบาท ต่อนักวิจัยที่จบการศึกษาปริญญาเอก 1 คน จากนั้นยังต้องฝึกฝนเรียนรู้การทำวิจัยด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีระบบรองรับ นักวิจัยส่วนหนึ่งที่เรียบจบออกมาจึงมักจะทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนนักวิจัยในระบบก็มีไม่เพียงพอ ซึ่งหากผู้บริหารฝ่ายการเมืองให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา ควรมีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักวิจัย"นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น