xs
xsm
sm
md
lg

ประธานเฟดออกโรงเตือน“เงินเฟ้อ”สูงอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี – ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เบน เบอร์นันกี ระบุ การที่เวลานี้อัตราเงินเฟ้อในระยะยาว กำลังได้รับการคาดหมายไปในทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คือสิ่งที่ทำให้ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯทั้งหลายรู้สึกว่า “ต้องใส่ใจให้ความสำคัญ” อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธความกังวลของหลายฝ่ายที่ว่า กำลังเกิดภาวะที่ค่าจ้างและราคาส่งผลกระทบหนุนเนื่องซึ่งกันและกันจนอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นลิ่วๆ
“สัญญาณบ่งชี้บางตัวแสดงให้เห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กำลังมีความคาดหมายกันมากขึ้นในเรื่องอัตราเงินเฟ้อระยะยาวจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯรู้สึกต้องใส่ใจให้ความสำคัญ” เบอร์นันกีกล่าวในสุนทรพจน์ของเขาต่อนักศึกษาหลักสูตรหลังปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันพุธ(4) “และธนาคารจะต้องการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด”
เขาบอกด้วยว่า ภาวะเงินเฟ้อโดยรวม ก็“เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าที่เราต้องการจะเห็น” ทั้งนี้นับเป็นวันที่สองแล้วที่เบอร์นันกีออกมาเตือนสหรัฐฯเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดการเงินเห็นว่าเป็นสัญญาณอันชัดเจนว่าเฟดจะไม่มีการลดดอกเบี้ย และน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ไปอีกพักหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เบอร์นันกีบอกว่าเขาไม่เห็นสัญญาณการเริ่มต้นของ “การควงคู่พุ่งขึ้นไปด้วยกันของค่าจ้างและราคาแบบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งระดับค่าจ้างและระดับราคาส่งผลหนุนเนื่องไล่ตามกัน จนทะยานขึ้นไปตลอดเวลา” ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 3.5% แต่ก็ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษที่ 1970 และ 1980 มากนัก
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่าสำเนียงของเบอร์นันกีในการกล่าวครั้งนี้ ยิ่งชี้ชัดว่าเฟดกำลังเน้นไปที่ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ และมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกแล้ว
“ผมไม่ได้บอกว่าเขาจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก แม้กระทั่งเมื่อเศรษฐกิจร่วงลงอย่างรุนแรง แต่เขาออกมาชี้ให้เห็นว่าตอนนี้เงินเฟ้อเป็นประเด็นที่เฟดให้ความสำคัญพอ ๆกับเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจc]h;” จอห์น แมคคาร์ธี ผู้อำนวยการด้านอัตราแลกเปลี่ยนของไอเอ็นจี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ในนิวยอร์กกล่าว
หลังจากคำกล่าวของเบอร์นันกีถูกเผยแพร่ออกมา ราคาพันธบัตรลดลง เพราะนักลงทุนเห็นว่าโอกาสที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกนั้นน้อยลงไปแล้ว แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเงินสกุลสำคัญอื่น ๆ แต่ตลาดหุ้นร่วงลงเพราะรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่ทำท่าจะเพิ่มขึ้นๆ
เบอร์นันกีกล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น จนถึงเวลานี้มีผลกระทบ “ไม่ค่อยชัดเจนนัก” เพราะว่าสหรัฐฯประสบความสำเร็จในการทำให้จำนวนพลังงานที่ใช้ในการผลิตต่อหน่วยการผลิต หรือที่เรียกกันว่า “ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน” ลดต่ำลงมาตั้งแต่ปี 1970 แล้ว
ขณะเดียวกันเขาก็กล่าวว่าบรรดาผู้ดูแลนโยบายเศรษฐกิจ ต่างก็ได้เรียนรู้จากช่วงทศวรรษ 1970 ว่าพวกเขาจะต้องทำให้ความคาดหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อระยะยาว ยังคงอยู่ในระดับต่ำเข้าไว้ เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อแท้จริงอยู่ในระดับต่ำอย่างมีเสถียรภาพ
“หากว่าคนเชื่อว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเพียงในระยะสั้น และไม่นำเอาเรื่องนี้มาคำนวณไว้ในแผนการระยะยาวของพวกเขา โดยเฉพาะในเรื่องผลกระทบที่จะมีต่ออัตราค่าจ้างและระดับราคา ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว อัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดจากราคาน้ำมันพุ่งลิ่วก็มีแนวโน้มที่จะจางหายไปในเวลาอันค่อนข้างรวดเร็ว” เบอร์นันกีกล่าว

**สหรัฐฯรับมือภาวะช็อกจากราคาน้ำมัน**
เกี่ยวกับราคาน้ำมันนี้ เบอร์นันกีย้ำว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังสามารถรับมือกับ “ภาวะช็อกอย่างร้ายแรงจากราคาน้ำมัน” เพราะเวลานี้ต้องพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียมน้อยกว่าในทศวรรษ 1970 เป็นอย่างมาก
“การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในปัจจุบัน เป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในครั้งนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดสถานการณ์เหมือนในทศวรรษ 1970”
แต่เขาก็เตือนอีกว่า “แม้ว่าสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆของโลกจะสามารถรับมือกับวิกฤตราคาน้ำมันครั้งนี้ได้ดีเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้ว แต่โลกก็ยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องความต้องการเชื้อเพลิงในโลกจะเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ปริมาณที่จำกัด ยังคงส่งผลกดดันให้ราคาเพิ่มขึ้นไปอีกได้”
นอกจากนั้น เบอร์นันกียังมองแง่ดีที่อาจเกิดขึ้นจากราคาน้ำมันแพง โดยกล่าวว่า เป็นการสร้าง “แรงจูงใจอันทรงพลังให้ลงมือปฏิบัติการ” ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และในการหามาตรการอื่นๆ เพื่อให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น