xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.แนะประชุมร่วม2สภาเปิดช่องแก้วิกฤติการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"คำนูณ" เสนอรัฐบาลใช้หนทางรัฐสภาคลี่คลายปมขัดแย้ง แนะหยุดพฤติกรรม ยียวน ยั่วยุ และต้องให้คำมั่นจะไม่ยื่นแก้ไข รธน.ช่วงนี้ หลังจากนั้นใช้ ม.179 เปิดประชุมร่วม 2 สภา อภิปรายทั่วไป รับฟังความเห็น ส.ส.และ ส.ว.ถึงประเด็นความเดือดร้อน และปัญหา 12 ประการตามแถลงพันธมิตรฯ ไม่เช่นนั้น ส.ว.จะขอเปิดอภิปรายทั่วไปเอง ด้าน ปชป.ชิงเสนอญัตติ ตั้งกมธ.ศึกษารธน. หวั่น พปช.เบี้ยว ขณะที่ "หมัก"เบรก"เด็กเนวิน" พักการยื่นแก้รธน.รอบ 2

เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ระบบสรรหา สายวิชาการ กล่าวว่า ในฐานะ ส.ว.ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเป็นการทำการเมืองในระบบ มีความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ คือการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 คือ นายกรัฐมนตรีแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถจะทำได้ ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.นี้
นายคำนูณกล่าวว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน หรือปัญหาอื่นๆ ตามนัยที่แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 11/2551 ได้กล่าวหาไว้ 12 ข้อ ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางในรัฐสภา ซึ่งจะมีทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. หากกระทำเช่นนี้ได้ก็จะทำให้ เวทีรัฐสภา ซึ่งเป็นการเมืองในระบบสามารถเป็นเวทีสะท้อนปัญหาของสังคมได้อย่างรอบด้าน

หารือ ส.ว.เข้าชื่อเปิดอภิปรายทั่วไป

ทั้งนี้ รัฐบาลควรใจกว้าง และทำจิตให้ว่าง รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ที่จะเป็นหนทางที่สง่างามของรัฐบาล ถ้าหากรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี ไม่ทำเช่นนี้ สมาชิกวุฒิสภาก็ควรจะใช้สิทธิตาม มาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด คือ 50 คน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งก็จะกระทำได้ในสมัยประชุมวิสามัญที่จะเปิดในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เช่นกัน
นายคำนูณกล่าวว่า จะเสนอความเห็นนี้เข้าหารือกับเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา ในเช้าวันนี้ (6 มิ.ย.) ที่จะมีการหารือกัน ในกลุ่ม 51 ส.ว. ที่รวมตัวกันในนามคณะกรรมการประสานงาน ส.ว.และเคยแถลงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากพบปะกันที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา
"นี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้ที่ทำการเมืองในระบบ สามารถจะใช้ความพยายามแก้ไขความขัดแย้งในสังคมโดยใช้เวทีรัฐสภาได้หรือไม่ เพราะ การกระทำตามมาตรา 179 และ มาตรา 161 นี้ มีโอกาสที่จะทำได้ เฉพาะในสมัยประชุมวิสามัญนี้เท่านั้น เพราะหากปล่อยถึงการเปิดประชุม สมัยที่ 2/2551 จะเป็นสมัยประชุมนิติบัญญัติ ซึ่ง ม.127 วรรค 4 กำหนดไว้ ให้ประชุมเฉพาะเรื่องการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องอื่นๆ ไม่สามารถให้รัฐบาลเปิดอภิปรายขอรับฟังความคิดเห็น หรือให้ส.ว.เปิดอภิปรายทั่วไปได้" นายคำนูณกล่าว

แนะรัฐบาลเลิกตอบโต้ ยั่วยุ

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะถึงหนทางที่ดีที่สุดตามมาตรา 179 รัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรี และตัวรัฐมนตรีเอง ต้องเลิกตอบโต้ในลักษณะยั่วยุ และเลิกใช้สื่อของรัฐโฆษณานาชวนเชื่อ ทำลายความชอบธรรมของการชุมนุม แต่ควรเปิดใจให้กว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะปัญหา 12 ประการ และถ้าเป็นไปได้นายกฯ ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ควรจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะกระทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงระยะนี้ โดยเฉพาะสมัยวิสามัญนี้ และ สมัยนิติบัญญัติที่ 2/2551 ที่กำลังจะเปิด จากนั้นก็ประกาศว่า จะดำเนินการตาม มาตรา 179 ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ทำตามมาตรา 179 ส.ว.ก็ควรทำตาม มาตรา 161 คู่ขนานกันไป ซึ่งจะมีการพบปะหารือของกลุ่ม 51 ส.ว.ในวันนี้

ปชป.ยื่นญัตติตั้ง กมธ.ศึกษา รธน.

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นตัวแทนพรรคเข้ายื่นญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา การใช้และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าชื่อร่วมกันกว่า 50 คน เพื่อขอยื่นญัตติด่วนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกันระหว่าง ประธานสภาผู้แทนราษฎร วิปฝ่ายค้าน และวิปรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการถอดชนวนในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น ควรใช้เวลาสภาเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแรกที่ยื่นญัตตินี้ ซึ่งคาดว่าฝ่ายรัฐบาล ก็คงจะยื่นร่างมาประกบต่อจากนี้

เสนอคนนอกร่วม กมธ.

นายสาทิตย์กล่าวว่า สำหรับสัดส่วนกรรมาธิการจำนวน 60 คน พรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอคนนอกเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ส่วนการเชิญตัวแทนกลุ่มพันธมิตรฯ มาร่วมเป็นกรรมาธิการด้วยนั้น ตอนนี้พรรคยังไม่มีมติให้เชิญใคร
สำหรับกรณีนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก็ยังไม่มีมติเสนอชื่อ แต่ในฐานะ ส.ส. นายสมเกียรติ สามารถเสนอตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเสนอญัตติตามข้อตกลงของ 3 ฝ่ายแล้ว พรรคพลังประชาชนน่าจะยุติเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเข้ามา เพราะยังมีบางคนที่พยายามจะใช้สิทธิ์ตรงนี้อยู่ ซึ่งน่าเป็นห่วง วันนี้รัฐบาลก็พยายามจุดไฟ ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐบาล และกรณีของ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นคนละเรื่องกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า หากพรรคพลังประชาชนไม่ยอมยื่นญัตตินี้ แต่ยังดึงดันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางพรรคประชาธิปัตย์จะทำอย่างไร นายสาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้หารือกันแล้ว และมีการตกลงกัน ซึ่งนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ ก็นั่งอยู่ด้วย และพลังประชาชนรู้ว่า เรื่องนี้เป็นชนวนของปัญหาการชุมนุมคัดค้าน น่าจะพิจารณาให้ดี
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่พรรคยื่นญัตติขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคิดว่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้มาก และยังสามารถนำมาพิจารณาในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่ตนได้หารือกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในงานศพมารดาของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ที่วัดโสมนัสวรมหาวิหาร ก็ได้มีการคุยกันถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าว ซึ่งนายสมัคร ก็เห็นด้วย
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการอภิปรายร่วม 2 สภา ว่า เป็นวิธีการที่ดี ที่จะนำปัญหามาถกเถียงกันในสภาฯ และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็มีโอกาสแสดงความคิดเห็น รวมถึงรัฐมนตรี จะมีโอกาสชี้แจง ก็จะเป็นเวทีที่ดี และเราก็ต้องการจะมีรัฐสภาไว้เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

พปช.กลับลำจะไม่ทำประชามติ

เมื่อเวลา 10.00น. วันเดียวกันนี้ ได้มีการประชุมวิปรัฐบาล โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เป็นประธาน เพื่อพิจารณากฎหมายเพื่อจะเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาสมัยวิสามัญนี้
ภายหลังการหารือ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคพลังประชาชนในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้พรรคร่วมรัฐบาล ไปร่างญัตติเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีคณะกรรมาธิการ 60 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 29 คน ประชาธิปัตย์ 21 คน ชาติไทย 4 คน เพื่อแผ่นดิน 3 คน มัชฌิมาธิปไตย ประชาราช รวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคละ 1 คน ตามสัดส่วนของแต่ละพรรค โดยแต่ละพรรคสามารถเสนอคนนอกเข้ามาได้
ทั้งนี้หากมีการยื่นญัตติในต้นสัปดาห์หน้า อาจจะมีการพิจารณาได้ในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งใช้เวลาการศึกษา 60วัน หากไม่พอ ขอขยายเวลาการศึกษาได้ การศึกษาการแก้ไขเป็นประเด็น และผูกโยงกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติให้เปลืองงบประมาณ แม้เรื่องนี้จะนำไปคุยกับรัฐบาล ก็มั่นใจว่า รัฐบาลจะเห็นด้วยทุกอย่าง
เมื่อถามว่าในพรรคพลังประชาชน อาจไม่เห็นด้วยเพราะต้องการทำประชามติ นายสามารถ กล่าวว่า การทำประชามติ เป็นเรื่องของรัฐบาล และวันนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ เป็นทางออกที่ดีกว่า และทุกฝ่ายก็เห็นพ้อง แต่ในส่วนร่าง พ.ร.บ.ประชามติจะต้องดำเนินการต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งนายชูศักดิ์ ก็เห็นด้วยในหลักการนี้ด้วย
เมื่อถามว่า ส.ส.บางกลุ่มในพรรคพลังประชาชน เตรียมยื่นญัตติแก้ไข รัฐธรรมนูญ โดยไม่รอผลการศึกษาของคณะกรรมมาธิการฯ นายสามารถกล่าวว่า วิปรัฐบาลในส่วนของพรรคพลังประชาชน จะไปอธิบายให้สมาชิกเข้าใจ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สมาชิกน่าจะเข้าใจสถานการณ์ของการเมืองที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว อยากให้มีการศึกษาเสร็จเสียก่อนการยื่นญัตติแก้ไข จะได้ไม่มีปัญหา
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายสามารถ แก้วมีชัย ระบุว่า หากทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติให้เปลืองงบประมาณ ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นมติของวิปรัฐบาล เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งการจะทำประชามติหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ว่ามีประเด็นใดที่สำคัญๆบ้าง และหากนำประเด็นเหล่านั้นไปสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนได้ ก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องจัดการออกเสียงประชามติ

"หมัก"เบรก"เด็กเนวิน"พักแก้รธน.

เมื่อเวลา 16.00น. วานนี้ พรรคพลังประชาชนได้ประชุมกรรมการบริหารพรรค โดยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นประธานการประชุมด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมัคร ได้มอบหมายให้กรรมการบริหารพรรคไปทำความเข้าใจกับ ส.ส. ที่จะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบ 2 ว่า ขอให้รอผลการทำประชามติก่อน และยังกำชับให้ชะลอการเคลื่อนไหวต่างๆในการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ มีญัตติขอให้ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแก้ไขรธน. ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลแล้ว
นอกจากนี้นายสมัคร ยังกำชับแกนนำของส.ส.กลุ่มต่างๆในพรรคพลังประชาชนให้ประสานไปยังสมาชิกในกลุ่มให้มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่าเสียงแตกเหมือนที่ผ่านมา

"ชัย" ป้อง "เนวิน" ไม่เกี่ยวแก้ รธน.

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการยื่นญัตติ ตั้งกมธ. วิสามัญ ศึกษาปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าหากเสนอมาแล้วที่ประชุมเห็นชอบ ก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ ดังนั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะหยิบยกเรื่องใดเป็นเรื่องเร่งด่วน
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชาชนหมกเม็ดจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย นายชัย กล่าวว่า ไม่มีแน่นอน ไม่มีคำว่า หมกเม็ด ที่นี่ มีแต่ตรงไปตรงมา ถ้ามีการยื่นมาจะแจ้งให้ทราบ
เมื่อถามย้ำว่านายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะนำชาวบ้านจากต่างจังหวัด มายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชัยกล่าวว่า อย่าเอาคนข้างนอกเข้ามาที่สภานี้ เพราะใช้เฉพาะสมาชิกรัฐสภา หากเอาคนนอกเข้ามามันน่าเกลียดมาก เพราะเหตุนี้บ้านเมืองถึงวุ่นวาย
นายชัยยังกล่าวถึงการกำหนดวันประชุมสภา เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 ว่า ได้กำหนดไว้คร่าวๆ ว่า จะเริ่มพิจารณาในวันที่ 25-26 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ต้องรอ ครม.ส่งมาในวันที่ 20 มิ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น