xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "ชัย" ดื้อแก้ รธน.เข้าข่ายปฎิบัติมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-"ชัย โมเช่" ไม่สน"หมัก"ประชามติ ยันเดินหน้าบรรจุญัตติแก้ "รธน.ฟอกแม้ว" ตามแผน ด้าน ปชป.ประชุมด่วน ค้านการแก้รธน.ถึงที่สุด จี้ ส.ส.-ส.ว.ถอนชี่อจากญัตติ "คำนูณ" แฉร่างแก้ไขฉบับดื้อด้าน ก๊อปปี้ฉบับ"เหวง-จรัล"มาทั้งดุ้น เตือนปธ.สภาฯ ดูให้ดี บรรจุเมื่อไร เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบทันที ด้าน "สดศรี" ขานรับแนวคิด"หมัก" ประชามติ ด้านปธ.กกต. ห่วงเรื่องพิมพ์บัตร

หลังจากที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งส.ว.บางส่วน ได้เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นร่างแก้ไขต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา และในวันเดียวกันนั้น นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ก็ให้สัมภาษณ์ว่า จะยอมทุ่มงบ 2พันล้าน ทำประชามติ เพื่อขอความเห็นประชาชนว่า จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายว่า หากจะมีการทำประชามติ ก็ควรถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส.ส.และส.ว. ยื่น ออกไปก่อน

"ชัย" เดินหน้าฟอก "แม้ว" ตามแผน

เรื่องนี้ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การดำเนินการจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2544 โดยจะต้องบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน ส่วนการทำประชามติ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องการฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศว่าจะเอาอย่างไร ไม่เกี่ยวกับสภา

"ส.ส.และภาคประชาชน ไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ ขณะนี้มีความเข้าใจไขว้เขวกัน หากดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 44 จะเห็นว่า ต้องบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภา ไม่ใช่นับจากวันยื่นญัตติ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องถอนญัตติ" นายชัยกล่าว และว่า การบรรจุญัตติ ต้องรอให้เปิดสมัยประชุมเสียก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเมื่อใด เพราะตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุม เราบอกไม่ได้ แต่ถ้าเปิดแล้วก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทำประชามติก่อน เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน และเมื่อถึงเวลานั้น ก็คงไม่ยกมือผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่

ต้องมีรายละเอียดไม่ใช่แค่แก้-ไม่แก้

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่รู้จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ ถ้าจะเปิดเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 อาจจะเปิดเพียง 3 วัน เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้ ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับรัฐบาล

"ส่วนการทำประชามติ ผมไม่ทราบรัฐบาลจะทำลักษณะไหน จะตั้งหัวข้อว่าแก้ หรือไม่แก้ ผมคิดว่าควรจะตั้งเป็นหัวข้อ มันจะได้ชัดเจน เช่น ส.ว. ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือเปล่า ยกมาเป็นประเด็นเลย และถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ ผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับมัดมือชก แต่ยังไม่รู้รัฐบาลจะทำอย่างไร" พ.อ.อภิวันท์ กล่าว

ปชป.ค้านแก้ รธน. จี้ ส.ส.-ส.ว.ถอนชื่อ

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดประชุมส.ส.นัดพิเศษ เพื่อหารือถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.บางส่วนร่วมลงชื่อ ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน. 50 โดยหลังการประชุมนาน 3 ชั่วโมงครึ่ง นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ดังกล่าว 3 ด้าน คือ 1. เนื้อหาสาระของร่างแก้ไข ที่เราเห็นว่า ยังคงไม่มีความสุจริต เป็นการช่วยพวกพ้อง พยายามปลดล็อกคดียุบพรรค และยุบองค์กรต่างๆ เช่น คตส. เป็นต้น รวมถึงนำไปสู่การซ้ำเติมสถานการณ์ในบ้านเมืองที่อ่อนไหว เช่น การบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

2. เจตนาของการยื่นญัตติ มีความฉ้อฉลในการลงชื่อของ ส.ส.และส.ว. โดยให้เฉพาะส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคลงชื่อได้เท่านั้น ซึ่งเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และยังมีการนำชื่อผู้ที่ระบุว่าถูกหลอกให้ร่วมลงชื่อมาปะปนด้วย จึงขอเรียกร้องให้ประธานสภาฯ ตรวจสอบรายชื่อของผู้ที่ยื่นญัตตินี้ด้วย

3.ผลกระทบที่จะตามมาถ้ามีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราเห็นว่าจะเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญมาสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งและซ้ำเติมวิกฤติต่างๆในบ้านเมือง ดังนั้น พรรคจึงมีมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ ส.ส.ที่มีลงชื่อเสนอญัตตินี้ถอนเรื่องออกจากสภาฯ และขอให้ส.ส.เหล่านั้นถอนชื่อออกจากการเสนอญัตติดังกล่าว ถ้ายังมีจิตสำนึกเห็นแก่ความสงบของบ้านเมือง โดยพรรคจะให้เวลาส.ส. และส.ว.ที่ลงชื่อไปได้พิจารณาข้อเรียกร้องนี้ ถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้

ส.ว.แห่ถอนชื่อหลังรู้ถูกหลอก

วันเดียวกัน ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไข รธน. ได้หารือกันอย่างเคร่งเครียด ที่ห้องรับรองพิเศษ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีรายงานว่า ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อประมาณ 10 คน อาทิ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร นายจตุรงค์ ธีระกนก ส.ว.ร้อยเอ็ด นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล ส.ว.กาฬสินธุ์ นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว . สมุทรสาคร ได้พากันถอนรายชื่อ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ตั้งใจลงชื่อญัตติขอแก้ไขรธน. แต่เป็นการถูกหลอกให้ลงชื่อว่าเป็นการยื่นญัตติขอทำประชามติแก้ไขรธน.

นายสุรชัย กล่าวว่า ตนได้ตัดสินใจที่จะถอนรายชื่อออก เพราะรู้แล้วว่าไม่ใช่การยื่นญัตติเพื่อความเป็นกลางของบ้านเมือง การยื่นญัตตินี้ตนได้ร่วมลงชื่อไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยไม่มีเอกสารแนบมาให้ทราบว่าเป็นการยื่นญัตติอะไร ส.ว.ผู้ที่มาชักชวนให้ตนได้มีเพียงกระดาษ 2 แผ่น ให้อ่าน และบอกแต่เพียงว่าเป็นการเสนอญัตติทำประชามติ เพื่อแก้ไขรธน. เท่านั้น

แฉร่างแก้ไขฉบับ ส.ส. ก็อปปี้ "เหวง"

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากการที่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ของ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้ พบว่าเป็นร่างเดียวกับที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตแกนนำกลุ่ม นปก. ที่เคยยื่นต่อรองประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ค. แล้วมีปัญหาโดยคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ให้ความเห็นว่าไม่อาจบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายของประชาชนใช้บังคับ กฎหมายฉบับเก่าปี 42 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ก็ ไม่อาจนำมาปรับใช้ได้

เตือน "ชัย" ก่อนบรรจุดู กม.ให้ดี

นายคำนูณ ยังกล่าวด้วยว่า ร่างรธน. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มีปัญหา ประธานรัฐสภาไม่อาจบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ ด้วยเหตุผลหลักอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ 1.เกี่ยวกับรูปแบบในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน. มีข้อพิจารณาว่า โดยหลักการแล้ว รูปแบบของร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติมต้องแบ่งเป็นรายมาตรา และต้องมีบันทึกประกอบ 1.หลักการแห่งร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม 2.เหตุผลในการเสนอร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม โดยหลักการแห่งร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะต้องกำหนดโดยชัดแจ้ง การแก้ไขเพิ่มเติม หรือการยกเลิกมาตราใดของรธน. ให้ระบุมาตราที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกไว้ในหลักการ หรือจะระบุไว้ในเหตุผลด้วยก็ได้

แต่เมื่อได้มาพิจารณารูปแบบของร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ มิได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว กล่าวคือ มีรูปแบบในการให้นำบทบัญญัติของรธน. 40 มาใช้บังคับแทน บทบัญญัติของรธน. 50 ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ไม่เข้าตามองค์ประกอบรธน. 50 มาตรา 291

"ในความเห็นของผม หากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกมาตราใดของรธน.แล้ว จะต้องมีการระบุมาตรา และเนื้อหาที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกไว้ในหลักการในแต่ละมาตราอย่างชัดเจน การเขียนหลักการคลุมๆ ไม่ชัดเจน และมีลักษณะเป็นการยกเลิก รธน. ทั้งฉบับมากกว่า แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของรธน. 50 มาตรา 291 แล้ว ยังจะมีปัญหาต่อการแปรญัตติร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม หากร่างฯนี้ผ่านการลงมติเห็นชอบ ในวาระที่ 1 เพราะการขาดเนื้อหา และรายละเอียดในร่างรธน. แก้ไขเพิ่มเติม โดยเรียงตามลำดับหมวด และรายมาตรา จะทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถที่จะเสนอคำแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรธน. แก้ไขเพิ่มเติมเป็นอย่างอื่นได้ “

"ดังนั้น ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ตามรูปแบบที่ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้เสนอมานั้น จึงเท่ากับเป็นการขัดกับหลักการในการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ทั้งนี้โดยเหตุที่หากสมาชิกรัฐสภาท่านใดมีความไม่เห็นด้วยในเนื้อหาของมาตราใด หรือในประเด็นใดแล้ว สมาชิกรัฐสภาก็ไม่สามารถที่จะแปรญัตติในเนื้อหาหรือรายละเอียดในแต่ละหมวด หรือ ในแต่ละมาตรา ให้มีความแตกต่างไปจากร่าง รธน. ดังกล่าวได้เลย หากจะกระทำได้ก็แต่เพียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในภาพรวมของร่างรธน. เท่านั้น"

บรรจุเมื่อไรเข้าข่ายปฏิบัติมิชอบ

นายคำนูณ เห็นว่า ประธานรัฐสภาไม่น่าจะบรรจุร่างรธน. แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เข้าสู่ระเบียบวาระได้ เพราะทั้งเนื้อหา และรูปแบบที่เสนอมานั้นไม่ชอบด้วยรธน. 50 มาตรา 291 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หากยังขืนบรรจุเข้าระเบียบวาระ อาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้

"นอกจากนั้นที่ว่าจะนำหลักการรัฐธรรมนูญ 2540 และไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 1 และหมวด 2 ก็ไม่จริง เพราะในร่างนี้ได้มีการแก้ไขให้บัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งอยู่ใน หมวด 1 และไม่เคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือฉบับอื่นใดมาก่อน"นายคำนูณ กล่าว

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวถึงการที่รัฐบาลต้องการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เกี่ยวกับการแก้ไขรธน. ช่วงเดือนก.ค.ว่า กกต.อาจต้องเร่งทำร่าง พ.ร.บ. การอออกเสียงประชามติให้เสร็จเร็วขึ้น จากเดิมที่จะเสร็จในเดือนส.ค. เพื่อนำส่งให้สภาฯพิจารณา อย่างไรก็ตาม แม้กกต.จะสามารถจัดการออกเสียงประชามติได้ทันในช่วงปลายเดือน ก.ค. แต่ยอมรับว่ารู้สึกกังวลต่อการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติ โดยวิธีพิเศษ ที่อาจถูกครหา และถูกนำมาเป็นประเด็นโจมตีว่ากกต.ไม่โปร่งใสได้

นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า หากมีการลงประชามติ ครั้งนี้จะมีประชาชนมาออกเสียงมากกว่าการครั้งก่อน เนื่องจากครั้งนี้ ส.ส. คงจะพูดจา ชักจูงให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิมากขึ้น คาดว่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ส่วนประเด็นที่จะสอบถามประชาชน ในการลงประชามตินั้น คิดว่าหากจะให้ง่ายขึ้น ควรถามให้ชัดไปเลยว่า จะแก้ไขโดยยึดรธน. 40 ทั้งฉบับ หรือใช้รธน. 50 มากกว่าการถามประชาชนเรียงมาตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น