“ยามเฝ้าแผ่นดิน” ย้ำเหตุพันธมิตรฯ ชุมนุมใหญ่ 25 พ.ค. หลังพลพรรค “พลังแม้ว” เดินหน้าล้มล้าง รธน.50 ฟอกผิดให้นายใหญ่ ประกาศทำประชามติแค่เล่นละครตบตา แนะ ปชช.เตรียมสำเนาบัตรพร้อมยื่นถอดถอน ส.ส. พร้อมชำแหละร่างแก้ไข รธน.ฉบับฟอกมาร ผิดหลักแก้ไขรัฐธรรมนูญ มุ่งยกเลิกประกาศ คปค.ล้มล้างกระบวนการตรวจสอบ คงไว้แต่ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง แฉซ้ำแผนที่กัมพูชาขีดเส้นล้ำแดนไทย เตือนรัฐบาลลูกกรอกมัวเกียร์ว่างเสียดินแดนแน่
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 1
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ยามเฝ้าแผ่นดิน โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สโรชา พรอุดมศักดิ์ ช่วงที่ 2
รายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ออกอากาศทางเอเอสทีวี คืนวันที่ 22 พฤษภาคม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และนางสาวสโรชา พรอุมดศักดิ์ ร่วมดำเนินรายการ โดยในข่วงแรกผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงแกลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 9/2551 เตรียมจัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 25 พฤษภาคม เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พันธมิตรฯ ประกาศชุมนุมใหญ่ เพราะมีความชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชามติของประชาชน และกระทำไปเพื่อลบล้างความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ช่วยเหลือนักการเมืองให้หลบหนีคดียุบพรรคการเมือง
สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจตุลาการกำลังถูกทำลายด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ สมคบกับฝ่ายบริหาร ตลอดจนดำเนินการทุกวิถีทางทำให้กระบวนการตรวจสอบนักการเมืองอ่อนแอลง องค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญอยู่ภายใต้การคัดสรรจากอิทธิพลทางการเมืองจนไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายการเมือง บริหารบ้านเมืองจนเข้าสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยของชาติ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ จงใจนำพุทธศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแต่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติทั้งสิ้น
ถึงแม้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะกลับลำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรชะลอการบรรจุวาระ โดยอ้างจะดำเนินการขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ทำประชามติสอบถามประชาชนว่าเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆ ที่นายสมัคร สามารถสั่งให้ลูกพรรคพลังประชาชนถอนญัตติให้ออกกจากวาระการประชุมได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ แสดงให้เห็นว่า นี่คือกระบวนการตบตาหลอกลวงอำพรางให้ประชาชนหลง พันธมิตรฯ จึงไม่ลังเลที่จะประกาศชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 พฤษภาคม
นอกจากนี้ พันธมิตรฯ จะดำเนินการยื่นถอดถอนนักการเมืองที่เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีพฤติกรรมขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยจะยื่นต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้เลิกการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือยุบพรรคการเมืองดังกล่าว และมีมติใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญรณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อใช้สิทธิร้องขอต่อประธานวุฒิสภาให้ถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่ลงชื่อทุกคน โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ จะเป็นตัวแทนยื่นต่อประธานวุฒิสภา วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคมนี้
ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ประชาชนต้องออกมาร่วมใช้สิทธิในฐานะปวงชนชาวไทย มีหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องร่วมกันสร้างภาพประวัติศาสตร์ ในการร่วมล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นบรรยากาศที่เราต้องออกมาแสดงพลังต่อต้านการกระบวนการล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของพวกพ้องที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประชาชนที่จะไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ในวันที่ 25 พ.ค.ขอให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชนไปด้วย เพื่อเข้าชื่อยื่นถอดถอนนักการเมือง
** ร่างแก้ไขฯ ขัดหลักการล้มล้าง รธน.
ในช่วงที่ 2 ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงข้อสังเกตของนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา-สายวิชาการต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งได้เข้าชื่อยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการแก้ไขให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าจะไม่แก้ไขหมวดที่ 1
นอกจากนี้ เมื่อดูทั้งร่างยังเป็นร่างเดียวกับที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตแกนนำ นปก.เคยยื่นต่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎรพร้อมรายชื่อประชาชนเมื่อวันที่ 8 พ.ค.แล้วมีปัญหา เพราะยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายของประชาชนใช้บังคับ เมื่อทำไมได้จึงใช้วิธีให้ ส.ส.เข้าชื่อ แล้วเอาร่างเดิมมาใช้จนได้
นอกจากนี้ โดยหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้นจะต้องกำหนดโดยชัดแจ้ง การแก้ไขเพิ่มเติม หรือการยกเลิกมาตราใดของรัฐธรรมนูญ ให้ระบุมาตราที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกไว้ในหลักการ หรือจะระบุไว้ในเหตุผลด้วยก็ได้ แต่ในร่างแก้ไขนี้ กลับระบุให้นำบางบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้แทนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยให้ยกเลิกชื่อหมวดและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 แม้กระทั่งบทเฉพาะกาลมาตรา 309 และเอาหมวดของรัฐธรรมนูญปี 2540 ยกมาทั้งโขยงโดยไม่ต้องอภิปรายรายมาตรา เอามาใช้ทั้งกระบวน ซึ่งนี่คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มาจากประชามติ 14 ล้านเสียง
ที่สำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีบทเฉพาะกาลมาตรา 14 กำหนดให้บรรดาประกาศ คำสั่ง กฎ หรือการใดทั้งหลายที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)ได้ดำเนินการหรือจัดให้มีขึ้น รวมถึงการจัดตั้งองค์กรใดขึ้นมา หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรต่างๆ มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. คตส.จะอยู่ไม่ได้ รวมถึงกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ด้วย แต่ก็มีบทเฉพาะกาลเพื่อให้พวกเขาอยู่ต่อได้ ขณะที่กระบวนการตรวจสอบที่ตั้งขึ้นมาถูกล้มล้างทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตจากนายคำนูณว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนหลักการคลุมๆ ไม่ชัดเจน และมีลักษณะเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมากกว่าแก้ไขเพิ่มเติม นอกจากจะไม่ต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 แล้วยังจะมีปัญหาต่อการแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หากร่างฯ นี้ผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระที่ 1 เพราะการขาดเนื้อหาและรายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยเรียงตามลำดับหมวดและรายมาตรา จะทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่สามารถที่จะเสนอคำแปรญัตติเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นอย่างอื่นได้ หรือต่างไปจากร่างตามที่ ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้เสนอได้
**แฉแผนที่เขมรฮุบ “เขาพระวิหาร” - มัวเกียร์ว่างเสียดินแดนแน่
ต่อมา ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงปัญหาเขตแดนไทยกัมพูชาที่เขาพระวิหารว่า เรื่องนี้ทำให้เหล่าทัพต้องประชุมเครียดในช่วงหลายวันที่ผ่านมา พร้อมๆ กับเรื่องการจาบจ้วงพระมหากษัตริย์ ล่าสุดจากคำให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสมัครเองก็รู้ว่าการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้น ทางยูเนสโกต้องการให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่โดยรอบด้วย ซึ่งพื้นที่โดยรอบดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนและไทยจะต้องยื่นร่วมกับกัมพูชา แต่ก่อนหน้านี้นายสมัครกลับบอกว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของกัมพูชาดำเนินการเองแต่ฝ่ายเดียว และเพิ่งจะมาเปลี่ยนท่าทีว่าไทยจะร่วมยื่นด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่หรือไม่ หรือตกหลุมพรางที่ทำให้เราไม่รู้เท่าทัน
ผู้ดำเนินรายการกล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ ทางกัมพูชาได้เขียนแผนที่บริเวณเขาพระวิหารขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่เดิมนั้นศาลโลกได้ตัดสินให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่รอบๆ เป็นของไทย อย่างไรก็ตามแผนที่ซึ่งทางกัมพูชาทำขึ้นมาใหม่นั้น ได้ลากเส้นเขตแดนกินพื้นที่โดยรอบปราสาทหินรุกเขามาในเขตไทยรวมถึงบริเวณตลาดด้วย เพราะฉะนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่า ในการยื่นขอจดทะเบียนเขาพระวิหารเป้ฯมรดกโลกนั้น ได้ยื่นแผ่นที่ฉบับไหนเข้าไป
รัฐบาลชุดนี้สนใจที่จะตรวจสอบหรือไม่ เราจะต้องทักท้วงถ้าทางกัมพูชายื่นแผนที่ที่ขีดเส้นไม่ถูกต้องเข้าไป โดยทางฝ่ายกัมพูชานั้น ได้จ้างฝ่ายวิชาการจากต่างประเทศมาทำแผนที่ให้ ถ้าเราไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้บริบูรณ์ หรือใส่เกียร์ว่าง ก็มีแนวโน้มที่จะสูญเสียดินแดนบริเวณดังกล่าวไป
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 1
( 56 k ) | ( 256 K )
คลิกที่นี่ เพื่อชมวิดีโอคลิป
รายการยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2
( 56 k ) | ( 256 K )