xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” จี้รัฐเปิดประชุม 2 สภาอภิปรายทั่วไป-ปลดล็อกความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
“คำนูณ” เสนอรัฐใช้หนทางรัฐสภาคลี่คลายความขัดแย้ง แนะรัฐบาลลูกกรอกหยุดตอบโต้ ยั่วยุ พร้อมให้คำมั่นจะไม่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นใช้ ม.179 เปิดประชุมร่วม 2 สภา อภิปรายทั่วไปรับฟังความเห็น ส.ส.และ ส.ว.ถึงประเด็นความเดือดร้อน และปัญหา 12 ข้อตามแถลงพันธมิตรฯ ไม่เช่นนั้น ส.ว.จะใช้มาตรา 161 เปิดอภิปรายให้รัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง เตรียมหารือ 51 ส.ว.พรุ่งนี้

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบบสรรหา สายวิชาการ เปิดเผยว่า ในฐานะ ส.ว.ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเป็นการทำการเมืองในระบบ มีความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ก็คือ การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 คือ นายกรัฐมนตรีแจ้งไปยังประธานรัฐสภา ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไป ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถจะทำได้ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.นี้

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอื่นๆ ตามนัยที่แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 11/2551 ได้กล่าวหาไว้ 12 ข้อ ได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางในรัฐสภา ซึ่งจะมีทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ว. หากกระทำเช่นนี้ได้ก็จะทำให้เวทีรัฐสภาซึ่งเป็นการเมืองในระบบสามารถเป็นเวทีสะท้อนปัญหาของสังคมได้อย่างรอบด้าน

นายคำนูณ กล่าวว่า รัฐบาลควรจะใจกว้างและทำจิตให้ว่าง รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ที่จะเป็นหนทางที่สง่างามของรัฐบาล ถ้าหากรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรี ไม่ทำเช่นนี้ สมาชิกวุฒิสภาก็ควรจะใช้สิทธิตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดคือ 50 คน ขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งก็จะกระทำได้ในสมัยประชุมวิสามัญที่จะเปิดในวันที่ 9 มิ.ย.นี้เช่นกัน

นายคำนูณ เปิดเผยอีกว่า จะเสนอความเห็นนี้เข้าหารือกับเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาในเช้าวันพรุ่งนี้ ที่จะมีการหารือกัน ในกลุ่ม 51 ส.ว.ที่รวมตัวกันในนามคณะกรรมการประสานงาน ส.ว.และเคยแถลงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากพบปะกันที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซสเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา

“นี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ที่ทำการเมืองในระบบ สามารถจะใช้ความพยายามแก้ไขความขัดแย้งในสังคมโดยใช้เวทีรัฐสภาได้หรือไม่ เพราะการกระทำตามมาตรา 179 และมาตรา 161 นี้ มีโอกาสที่จะทำได้ เฉพาะในสมัยประชุมวิสามัญนี้เท่านั้น เพราะหากปล่อยถึงการเปิดประชุมสมัยที่ 2/2551 จะเป็นสมัยประชุมนิติบัญญัติ ม.127 วรรค 4 กำหนดไว้ ให้ประชุมเฉพาะเรื่องการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องอื่นๆ ไม่สามารถให้รัฐบาลเปิดอภิปรายขอรับฟังความคิดเห็น หรือให้ ส.ว.เปิดอภิปรายทั่วไปได้” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะถึงหนทางที่ดีที่สุดตามตามมา 179 รัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรี และตัวรัฐมนตรีเองต้องเลิกตอบโต้ในลักษณะยั่วยุ และเลิกใช้สื่อของรัฐโฆษณานาชวนเชื่อทำลายความชอบธรรมของการชุมนุม แต่ควรเปิดใจให้กว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะปัญหา 12 ประการ และถ้าเป็นไปได้ นายกฯ ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชาชนควรจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะกระทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงระยะนี้ โดยเฉพาะสมัยวิสามัญนี้ และสมัยนิติบัญญัติที่ 2/2551 ที่กำลังจะเปิด จากนั้นก็ประกาศว่าจะดำเนินการตามมาตรา 179 ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ทำตามมาตรา 179 ส.ว.ก็ควรทำตามมาตรา 161 คู่ขนานกันไป ซึ่งจะมีการพบปะหารือของกลุ่ม 51 ส.ว.ในวันพรุ่งนี้


มาตรา 179 “ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

มาตรา 161 “สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ

การขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ จะกระทำได้ครั้งเดียวในสมัยประชุมหนึ่ง”


มาตรา 127 วรรค 4 “ในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ให้รัฐสภาดำเนินการประชุมได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 หรือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติการอนุมัติพระราชกำหนด การให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา การเลือกหรือการให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การตั้งกระทู้ถาม และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่รัฐสภาจะมีมติให้พิจารณาเรื่องอื่นใดด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

กำลังโหลดความคิดเห็น