xs
xsm
sm
md
lg

เฉลิมจี้ตั้งรองนายกฯปราบยา แฉผู้ค้าซื้อเบนซ์ประเคนผบ.คุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (16 พ.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว. มหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.) ได้เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน อุบลราชธานี นครพนม หนองคาย มุกดาหาร และสระแก้ว รวมทั้งนายอำเภอ 22 แห่ง ที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดจากชายแดนเข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด พร้อมด้วยนายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายกิตติ ลิ้มชัยกิจ เลขาธิการ ป.ป.ส เข้าร่วมหารือเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขป้องกันปัญหาการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดน และอุปสรรคอื่นๆที่เกิดขึ้น
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การแก้ปัญหายาเสพติดทุกฝ่ายต้องเอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ ขอให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้นัดผู้บัญชาการเรือนจำทั้งหมดมาพูดคุยกัน เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมายังพบว่า มีเรื่องของการปล่อยให้นักโทษใช้มือถือภายในเรือนจำได้ แม้จะถูกจับกุมแล้ว โดยล่าสุดที่เรือนจำราชบุรี จากการไปตรวจค้นพบว่า มีการลักลอบนำมือถือเข้าไปจำนวนมาก ตรงนี้เชื่อว่าผู้คุมจะต้องรู้เห็นเป็นใจในการนำมือถือไปให้นักโทษที่ค้ายาเสพติด ขณะเดียวกัน มีแหล่งข่าวบอกมาว่า พวกค้ายามีการซื้อรถเบนซ์คันละ 7-8 ล้านไปแจกให้กับ ผบ.เรือนจำด้วย ดังนั้นจึงเตรียมที่จะเสนอ รมว.ยุติธรรม ให้มีการแยกคุมขังนักโทษคดียาเสพติดออกจากผู้คุมขังคดีอื่นแยกไปอยู่ต่างหาก
ด้านนาย กิตติ เลขาธิการ ป.ป.ส กล่าวว่า ในการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ 9 จังหวัด พบว่า มีการนำเข้ายาเสพติดมากถึง 80 % โดยเฉพาะยาไอซ์ ซึ่งเป็นปัญหา ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะมีการใช้อย่างแพร่หลายในสถานบันเทิง โดยแหล่งผลิตจะเป็นพม่า และมาเลเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก ขณะที่การแพร่ระบาดของยาเสพติด หากนับปริมาณมากที่สุดที่มีการแพร่ระบาดในปี 2545 หลังจากนั้นก็เริ่มลดลง ในช่วงของปี 2547 ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติด ต่อมาก็เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งปี 2549 -50 เริ่มชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีการนำยาเสพติดชนิดใหม่เข้ามา จากเดิมที่นิยมใช้ใบกระท่อม ต่อมาได้เปลี่ยน รูปแบบเป็นชื่อต่างๆ อาทิ 4 คูณ 100 วันทูคอล ซึ่งยอมรับปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับปี 45
ส่วนนายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักโทษ คดียาเสพติดในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 90,000 คน หรือ 56 % จากนักโทษทั้งหมด 1 แสน 7 หมื่นคน และกว่า 80 % เป็นนักโทษหญิงที่ผู้เดินยา หรือขายยาเสพติด อย่างไรก็ตามกรมราชทัณฑ์ได้เตรียมจัดสร้างเรือนที่มีความมั่นคงสูง 5 แห่งเพื่อแยกนักโทษคดียาเสพติดออกมา
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันเชียงใหม่ มีพื้นที่ 5 อำเภอ ที่มีการแพร่ระบาดยาเสพติด ประกอบด้วย อ.แม่อาย , ฝาง , ไชยปราการ , เชียงดาว และเวียงแห ดังนั้นจึงอยากเสนอให้ใช้ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ ๒ กองกำลังผาเมืองเป็นผู้ดูแลในการปราบปราม
ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงงบประมาณในการปราบปราม ยาเสพติดว่า การปราบปรามยาเสพติดได้พยายามพูดกับทุกฝ่ายยังมีปัญหาหลายส่วน ถึงแม้จะมีปัญหาในหลายส่วนแต่ก็ทำงานไป งบประมาณก็ต้องหาไป ซึ่งตรงนี้ได้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการเสนอให้มีรองนายกรัฐมนตรีมาดูแลการปราบปรามจะเอาไหม ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนไม่พร้อม ไม่เอาเพราะอาวุโสน้อยที่สุดในพรรค เพิ่งเข้าพรรคมาได้ไม่นาน เป็นแค่ รมว.มหาดไทยภารกิจหน้าที่มากแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากไม่มีรองนายกรัฐมนตีสามารถบริหารจัดการได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่ง ให้บูรณาการในการออกคำสั่งให้งานหน่วยอื่น สอดคล้องกระทรวงมหาดไทยจะทำงานได้กระชับและเร็วขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าคำสั่งที่เกิดขึ้นในตอนแรกมีปัญหาอยู่บ้างในการจัดการ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า นิดหน่อยเท่านั้น ค่อนข้างสมบูรณ์ 90 เปอร์เซ็นต์ เพราะในข้อ 6 ของคำสั่งให้อำนาจ แต่ด้วยมารยาททางการเมืองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง เราจะไปสั่งการอีกกระทรวงหนึ่งไม่ได้ เมื่อถามว่า หากไม่มีคำสั่งจากท่านนายกรัฐมนตรี ใครจะเหมาะที่จะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาช่วยท่าน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่กล้าแสดงความเห็นต้องนายกรัฐมนตรี
“วันนี้ผมตั้งใจมาทำงานจริงๆ แล้วทำงานทุกภาคส่วน ไม่ใช่ปราบเฉพาะที่มารับผิดชอบ ผมวางแนวคิดแนวทางในอนาคต ใครมารับงานก็สบาย เพราะผมรู้ที่มาของปัญหา อย่างเช่นเรือนจำก็ต้องเอาผู้บัญชาการมาคุยกัน คนเราถ้าได้พูดได้คุยจะไม่มีปัญหา ส่วนจะนัดวันไหนนั้นขอดูวันว่างของผมก่อน”
ส่วนการเร่งปราบปรามยาเสพติดจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องตั้งรองนายกรัฐมนตรี ขึ้นมา ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของตนที่จะไปบอกนายกรัฐมนตรี เพราะท่านเองก็ทราบปัญหาอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในห้องประชุมที่ผู้บัญชาการเรือนจำอาจจะมีส่วนรู้เห็นกับนักโทษในการนำเครื่องมือสื่อสารเข้าไป ร.ต.อเฉลิม กล่าวว่า แน่นอน ถ้าคนรับผิดชอบ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง โทรศัพท์จะเหาะเข้าไปได้อย่างไร อาจจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา หรืออาจจะบกพร่อง เช่น ในการตรวจสิ่งของเข้าเยี่ยม มันต้องรับผิดชอบ ถ้าสามารถแก้ในส่วนนี้ได้ก็เบาไป 30 เปอร์เซ็นต์ พวกมีอิทธิพลในการสั่งซื้อยายังอยู่ในเรือนจำ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการเอารถเบ็นซ์มาให้ผู้บัญชาการเรือนจำ เป็นผู้บัญญชาการ คนไหน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พวกตำรวจที่จับมาแล้วเขาสอบสวน ผู้ต้องหาเล่าให้ ตำรวจฟัง และตำรวจก็มากระซิบให้ตนฟัง และจะเอาจริงเอาจัง ไม่มีวันเบา
กำลังโหลดความคิดเห็น