ที่ประชุมวิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน เห็นพ้องตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาร่วมกันในการแก้ไขรธน. คลายความตึงเครียดสถานการณ์ ก่อนเปิดสมัยประชุมวิสามัญ 9 มิ.ย.นี้ “สามารถ” เผยนำเข้าที่ประชุมพรรคร่วมก่อน เชื่อไม่น่ามีปัญหา
วันนี้ (2 มิ.ย.) นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยมีนายวิทยา บูรณะศิริ รองประธานวิปรัฐบาล และนายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการวิปรัฐบาล และคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน และนายวิยา แก้วภารดรัย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนาย อภิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการเปิดสมัยประชุมวิสามัญที่จะเปิดในวันที่ 9 มิ.ย.
จากนั้นเวลา 11.00 น. นายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 พร้อมด้วยตัวแทนผู้ร่วมประชุมแถลงว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ข้อยุติ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้เห็นตรงกันโดยนายชัยก็เห็นชอบด้วยในหลักการที่จะให้มีการเสนอญัตติเพื่อตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาร่วมกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี
ด้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงเปิดสมัยประชุมวิสามัญนั้น สิ่งที่เราต้องการคือ สภาต้องใช้วิธีฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ให้ได้เต็มที่มากกว่าเดิม จึงได้มีการพูดคุยกันในการตั้งกมธ.ประจำสภาฯ ให้ได้ และขณะเดียวกันคือ กฎหมายที่ต้องตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญประมาณ 10 ฉบับ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องสามารถเร่งรัดให้มีการพิจารณาในสมัยวิสามัญให้เสร็จสิ้น ซึ่งทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ ตนได้นำเสนอด้วยว่าเมื่อเราอยากเห็นฝ่ายสภาได้มีบทบาทในการช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองจึงได้ปรึกษาประธานสภาฯ ว่า หากเรื่องของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นปมของความขัดแย้งในปัจจุบัน สภาควรมีบทบาทที่ชัดเจนโดยการมี กมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ โดยประกอบไปด้วยผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และบุคคลภายนอกเพื่อเข้ามาใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ในการคลี่คลายข้อขัดแย้ง ซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายในที่ประชุม จึงคิดว่าจุดนี้น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ถือว่าพวกเราที่อยู่ในสภาพยายามทำหน้าที่ที่แก้ไขและคลี่คลายปัญหาของบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าวจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการทำประชามติด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การทำประชามติจะต้องมีการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดทำประชามติซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาลที่จะต้องเสนอมายังสภาเพื่อพิจารณาผ่านเป็นกฎหมาย ซึ่งไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะมีกรอบเวลาอยู่แล้ว ส่วนที่จะมีการจัดทำประชามติตามกฎหมาย ซึ่งปมความขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญควรที่จะเริ่มตรงนี้ คือ การมี กมธ.ของสภา ซึ่งที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงการทำประชามติเพราะไม่เกี่ยวข้องกัน
ส่วน นายวิทยา บูรณะศิริ รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ทางวิปรัฐบาลเห็นด้วยที่สภาจะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปิดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ ข้อเสนอการตั้งกมธ.วิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญขึ้นมานั้น ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลจะนำไปหารือกันในพรรคก่อน
ต่อข้อถามว่าเมื่อสภามีมติตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษารัฐธรรมนูญแล้ว ทางพรรคพลังประชาชนควรยุติการล่ารายชื่อเพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรมนูญรอบ 2 หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนนี้ถือเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพของสมาชิกในเมื่อกรอบของกฎหมายกำหนดให้เขาทำได้ เขาก็มีสิทธิที่จะทำ แต่คงต้องนำสิ่งที่คุยในวันนี้ไปหารือกับสมาชิกก่อน เมื่อถามว่าทางออกที่ให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน นายวิทยากล่าวว่า ไม่ใช่ประเด็นว่าคลี่คลายได้หรือไม่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สภาแห่งนี้จะช่วยให้บรรยากาศที่ตรึงเครียดอยู่ได้มีโอกาสเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการวิปรัฐบาล กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหารือกันเพื่อหาทางออกแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง ซึ่งเราทุกคนตระหนักกันดีในประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประเด็นหลักของปัญหาและมีความไม่เข้าใจกันอยู่ ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นชอบร่วมกันว่า เราน่าจะชะลอการแก้รัฐธรรมนูญไปก่อนซึ่งจริงๆ ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่า รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ควรจะต้องชะลอก่อน และอยากให้ช่วงเวลาที่ชะลอจะได้ระดมความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนโดยผ่านกมธ.วิสามัญที่กำลังจะตั้งขึ้นโดยมีจำนวน 60 คนที่มาจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมกันในการแสดงความคิดเห็น เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้กมธ.วิสามัญชุดนี้ยังสามารถไปตั้งอนุ กมธ.ได้อีกหลายชุดเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่สภาสามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการดูว่ารัฐธรรมนูญมีประเด็นใดบ้างที่ต้องแก้ไข ขณะเดียวกัน สามารถที่จะชะลอปัญหาที่ทุกคนเป็นห่วงอยู่ออกไปก่อน
นายสามารถ กล่าวว่า ขณะเดียวกันจะไปโยงถึงเรื่องประชามติซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้นั้น ต้องมีกฎหมายการจัดทำประชามติ ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูว่ากฎหมายเดิมใช้ได้หรือไม่ โดยทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งว่าไม่สามารถใช้ได้ เพราะตกไปแล้วตามรัฐรรมนูญ ปี 2540 ดังนั้นจึงต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยทาง กกต.เป็นผู้เสนอกฎหมายเข้ามา ซึ่งสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ต้องเสร็จให้ทันกำหนดเวลา เราต้องดำเนินการเรื่องนี้ไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงคิดว่าในช่วงนี้ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่อนคลายความขัดแย้งลงไปได้บ้าง
นายสามารถ กล่าวต่อว่า จากข้อหารือในที่ประชุม ทางตนจะนำไปหารือในที่ประชุมพรรคพลังประชาชน โดยจะมีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ในพรรคก่อนที่จะเข้าที่ประชุมใหญ่ ส่วนผู้ที่เข้าชื่อกันเพื่อเตรียมยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบ 2 นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะประธานสภาฯ ได้เห็นชอบแล้ว