“อภิสิทธิ์” หนุนพรรคการเมืองสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม และยังมีขั้นตอนในการต่อสู้อีกนานกว่าถึงขั้นตอนการพิจารณายุบพรรค ขณะเดียวกัน ขวาง “พลังแม้ว” แก้ รธน.1-2 มาตรา เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ย้ำหากแก้ไขต้องตั้ง กมธ.วิสามัญแก้ไข โดยดึงผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้าร่วม
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติ 6 ต่อ 1 ให้พรรคการเมืองมีส่วนรับผิด ถ้ากรรมการบริหารพรรคดังกล่าวได้รับใบแดง ว่า ขั้นตอนการพิจารณาของกกต.ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด และจะต้องส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นกรณีนี้เข้าข่ายการได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยชอบธรรมหรือไม่ และจะต้องมีการต่อสู้กันในศาลอีกครั้ง จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการยุบพรรคได้ และการต่อสู้คดีก็ต้องดำเนินต่อไป ส่วนส.ส.ของพรรคที่จะถูกยุบ ยังสามารถทำหน้าที่ในรัฐสภาต่อไปได้
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยังกล่าวถึงการที่คณะกรรมการประสานพรรคร่วม(วิป)รัฐบาลมีมติให้เพิ่มการแก้ไขรัฐธรรมมาตรา 237 และ 309 ว่า ถ้ามีการนำประเด็นในรัฐธรรมนูญมาแก้ไขเพียง 1-2 มาตราเพื่อหวังผลทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย และฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่มีข้อยุติถึงประเด็นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตามที่พรรคพลังประชาชนเสนอเป็นญัตติ เพื่อให้ทุกพรรคและคนภายนอกเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ทำให้เป็นระบบจะดีกว่า เพราะถ้าพูดกันรายวัน จะยิ่งเกิดความสับสนและเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น สำหรับฝ่ายค้านก็จะเข้าไปร่วมคณะกรรมาธิการฯเพื่อช่วยทำให้ทุกพรรคเห็นความสำคัญของบทบาทของฝ่ายประชาสังคม อีกทั้ง เรื่องคดียุบพรรคจากการทุจริตเลือกตั้งก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนและมีความเห็นที่หลากหลาย รวมทั้งยังมีช่องทางการต่อสู้คดีอีก จึงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าผลจะเป็นอย่างไร ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลอย่าไปเพิ่มความสับสนอีก แต่ควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาของประชาชน เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ปัญหายาเสพติด ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า
“การที่รัฐบาลยังมีท่าทีที่ปรับเปลี่ยนประเด็นที่จะแก้ไขนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสสังคมด้วย และการรีบเร่งทำเรื่องนี้จึงเหมือนไม่มีความชัดเจนว่าเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อส่วนรวมคืออะไร นอกจากเป็นการแก้ปัญหาความรู้สึกส่วนตัวว่าตรงนี้ไม่ชอบ ตรงนี้เป็นปัญหากับตัวเอง และรัฐบาลควรคิดว่าเวลาในขณะนี้ มันใช่เวลาที่จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมามากกว่าการไปแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศหรือไม่ และการหยิบเรื่องดังกล่าวขึ้นมา เมื่อในที่สุดได้สร้างปัญหาความขัดแย้งในสังคมแล้ว ทำให้การแก้ปัญหาของบ้านเมืองทำได้ยากขึ้นหรือไม่ น่าจะยึดประโยชน์ส่วนรวมนี้เป็นหลัก”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ต่อข้อถามที่ว่าการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวจะเป็นเกมที่มัดมือทุกฝ่ายให้แก้ไขบทบัญญัติตามที่ฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า คงไม่ง่ายอย่างนั้น ถ้าประเด็นใดที่เราไม่เห็นด้วย ก็บันทึกไว้เป็นเสียงข้างน้อยของที่ประชุมกรรมาธิการฯ และถ้ามีการสกัดการแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมาธิการฯ ก็จะปรากฏต่อสาธารณะว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร
เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 นี้จะเป็นการทำลายอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ตั้งแต่ก่อนที่จะปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละฝ่ายแต่ละองค์กรก็ทำหน้าที่ของตัวเองตรงไปตรงมาตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ เพราะฉะนั้น กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญก็คงไม่นำเรื่องการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญมาเป็นคำตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เคยระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนที่รัฐบาลจะหมดวาระ ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ตรงนี้ยิ่งฟ้องว่าการคิดเรื่องนี้ไม่ได้เพื่อประโยชน์ในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหาของตัวเอง ทั้งที่กรณีของพรรคพลังประชาชนยังห่างไกลมาก เพราะนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ต้องไปต่อสู้คดีในศาลฎีกา
เมื่อถามถึงการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะให้มีการทำฉันทามติเรื่องรัฐธรรมนูญในการสัมมนาของกลุ่ม ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ นายอภิสิทฺธิ์ กล่าวว่า เขามีสิทธิแสดงความเห็นว่าจะคัดค้านหรืออยากให้ทำ แต่อย่าให้เกิดการปะทะกัน
/0110