xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาเดือดขู่เคลื่อนชุมนุมแน่ กดดันรัฐบาลนอมินีเร่งแก้ไขหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์กรเครือข่ายชาวนาสุดทน ขู่เตรียมชุมนุมใหญ่ประท้วงรัฐบาลสมัคร เมินแก้ไขปัญหาหนี้สิน จวกอดีตนายกฯ “ทักษิณ” ดีแต่อาศัยรากหญ้าเป็นฐานหาเสียงสร้างภาพ รับปากส่งเดชให้กองทุนฟื้นฟูฯ รีบช่วยด่วนแต่จนบัดนี้ซื้อหนี้ได้แค่ 4 พันราย จากจำนวนเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 2 แสนราย กังขาเหตุไม่ช่วยเหลือจริงเพราะต้องการปล่อยให้ชาวนาล้มละลายขายที่ดินทำกินเพื่อพาเศรษฐีซาอุฯ กว้านซื้อ ไล่ต้อนชาวนาเป็นลูกจ้าง

นางกิมอัง พรนารายณ์ แกนนำสภาเครือข่ายประชาชนแห่งประเทศไทย จังหวัดชัยนาท องค์กรในเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “ข้าวคือชีวิต หยุดย่ำยีชาวนาไทย” เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) จัดโดยมูลนิธิชีววิถีและเครือข่าย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า เวลานี้ชาวนากำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วงเรื่องถูกไล่ยึดทรัพย์โดยสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ คือ สหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการทำนาปี พออยู่พอกินแต่ดั้งเดิม มาสู่การทำนาปรัง ปลูกข้าวเพื่อขายภายใต้การส่งเสริมของหน่วยงานรัฐ โดยมี ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร เป็นผู้ปล่อยกู้ และจัดหาปัจจัยการผลิต ซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไขการปล่อยกู้ ทั้งเครื่องจักร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ

นางกิมอัง กล่าวว่า เงื่อนไขการปล่อยกู้ซึ่งหมายถึงการกำหนดราคามาด้วยนั้น สร้างปัญหาให้ชาวนาแบกรับหนี้สินที่พอกพูนขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจวบจนบัดนี้ บางคนตายไปพร้อมกับมรดกหนี้ที่ส่งต่อให้ลูกหลาน ส่วนตนเองกู้มาร่วม 20 ปีตั้งแต่อายุ 25 ปีจนบัดนี้ ตั้งแต่วงเงินแค่ 3,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 จนปัจจุบันมียอดหนี้ 70,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 9 ปัญหาหนี้สินสถาบันการเงินในระบบที่บีบบังคับให้ต้องชำระเมื่อครบกำหนดไม่ว่าจะขายข้าวได้กำไรหรือขาดทุน ทำให้ชาวนาต้องพึ่งเงินกู้จากนายทุนมาโปะหนี้ กลายเป็นหนี้หมุนวนจนที่ดินหลุดมือไปมากขึ้นเรื่อยๆ และชาวนาก็กลายสภาพเป็นผู้เช่านาของตนเอง

แกนนำสภาเครือข่ายฯ กล่าวต่อว่า องค์กรเครือข่ายหนี้สินฯ ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหามาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งในช่วงใกล้เลือกตั้งทุกครั้ง อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ตระเวนสร้างภาพเที่ยวรับปากชาวนาสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาให้ โดยให้กองทุนฟื้นฟูเกษตรฯ รับซื้อหนี้สินจากสถาบันการเงินต่างๆ มาให้กองทุนฯ บริหารจัดการ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 เกษตรกรต่างมีความหวังแห่กันขึ้นทะเบียนทั่วประเทศถึง 2 แสนราย แต่ทว่าจนถึงบัดนี้รูปธรรมในการรับซื้อหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ทำได้แค่ 4 พันราย เท่านั้น

“ทำไมทักษิณ ไม่ช่วย รัฐบาลชุดนี้ซึ่งเป็นลูกน้องของทักษิณ ยิ่งไม่พูดถึงเลย ที่ไม่ช่วยเพราะอยากให้ชาวนาถูกบีบให้ขายที่ดิน เพื่อจะได้เอาแขกซาอุฯมาซื้อใช่ไหม คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ต่างถามไถ่ พูดกันว่าถ้าทำอย่างนั้นเป็นเรื่องที่แย่มากๆ “ แกนนำสภาเครือข่ายฯ กล่าวและว่าปัญหาหนี้สินชาวนา และปัญหาที่ดินทำกินที่กำลังหลุดมือไปสามารถแก้ไขได้ถ้ารัฐบาลจะแก้ เว้นแต่ต้องการให้ชาวนาไปเป็นลูกจ้างเศรษฐีซาอุฯ

นางกิมอัง กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจแก้ไขปัญหา และต้องการให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหาร ต้องรีบเข้ามาช่วยเหลือโดยเร่งให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามารับซื้อหนี้ จัดสรรที่ดินทำกิน หรือจัดให้เช่าในราคาถูก หากไม่ได้รับการเหลียวแล แก้ไข เครือข่ายชาวนาฯ พร้อมจะรวมตัวเดินขบวนกัน

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวในเวทีเดียวกันว่า เวลานี้มีชาวนากว่า 8 แสนครอบครัวที่ต้องเช่าที่นาและอีกกว่าล้านครอบครัวที่มีที่ดินไม่เพียงพอต่อการทำกิน แทนที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขกลับมีการกระทำที่ย่ำยีชาวนา ซึ่งมาจาก 3 รูปแบบ คือ 1) แย่งชิงที่ดินทำกิน แย่งชิงน้ำ ซึ่งรูปการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แทนที่วิกฤตจะเป็นโอกาสให้ชาวนาล้างหนี้สิน กลับเชิญนักลงทุนข้ามชาติเข้ามาแย่งชิงด้วย

2) การฉกชิงประโยชน์จากเกษตรกรโดยกลุ่มธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ ที่นำเสนอในรูปแบบเทคโนโลยี เช่น จีเอ็มโอ พันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งบริษัทที่เสนอเรื่องนี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกล่าวคือ ผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ เป็นทั้งกรรมการในสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้เกษตรกร และยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองทุกขั้ว 3) ระบบการลงทุน ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างภาพของอดีตนายกฯ ทักษิณ แต่เป็นความต้องการของนายทุนซาอุฯ ที่ต้องการเข้ามายึดฐานทางอาหารของไทยด้วย

นายวิฑูรย์ เสนอทางออกของปัญหาชาวนาไทยว่า ต้องผลักดันให้เรื่องปฏิรูปที่ดิน และปัญหาหนี้สิน เป็นวาระสำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน และไม่ว่าขั้วอำนาจไหนที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้เราพร้อมที่จะสนับสนุน

ทางด้านนายจักรชัย โฉมทองดี จากกลุ่มโฟกัสและเอฟทีเอ ว็อชท์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นจนก่อให้เกิดวิกฤตลุกลามไปทั่วโลกในขณะนี้ว่า เกิดจากการเก็งกำไรและการปั่นราคาของบรรษัทค้าธัญพืชข้ามชาติ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังทำกำไรอย่างมหาศาลจากธุรกิจนี้ คือ กลุ่มบริษัท BUMGE ที่สามารถทำกำไรในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เท่ากับ 289 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1,964% เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 เดือนแรกของปีก่อน กลุ่มบริษัทคาร์กิล ที่ทำกำไรในส่วนธุรกิจค้าธัญพืช ประมาณ 553 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มเป็น1.03 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 86% และกลุ่มบริษัท ADM ทำกำไรจาก 363 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 5.17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 341%

นายจักรชัย กล่าวต่อว่า ธุรกิจค้าข้าวของผู้ส่งออกจากประเทศไทยจำนวนครึ่งหนึ่งของปริมาณข้าวที่ส่งออก ค้าขายผ่านกลุ่มบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ ดังนั้นโอกาสที่ราคาอาหารจะผันผวนขึ้นลงตามแรงปั่นราคาจะยังคงมีอยู่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น