xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” ฆ่าชาวนา ปลาไหลช้ำใจแนวคิดพวกขายชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เครือข่ายชาวนาทั่วประเทศ เคลื่อนพล 1 มิ.ย.“บรรหาร-สมศักดิ์” ดาหน้าอัดแนวคิด “แม้ว” พวกขายชาติ ยกพระราชดำรัสในหลวง รับสั่งดูแลชาวนา สมาคมโรงสี รับลูก “มิ่งขวัญ” ช่วยรัฐแทรกแซง ส่งออกข้าว เน้นระบบ G TO G

วันนี้ (23 พ.ค.) นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่นักธุรกิจประเทศซาอุดีอาระเบียจะเข้ามาลงทุนทำนาในประเทศไทย ว่า เรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่เห็นด้วย และจะคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าความคิดนี้เป็นความคิดของใคร แต่แนวคิดนี้คือแนวคิดของการขายชาติ เกษตรเป็นวัฒนธรรมที่ผูกติดกับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ทุกครั้งที่ประเทศชาติได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีแต่ภาคการเกษตรเท่านั้นที่ช่วยรักษาชาติ ฉะนั้น วันนี้ถ้ามองไม่เห็นความสำคัญภาคการเกษตร ในการชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน กระทรวงเกษตรฯ ขอปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

“ต้องยอมรับว่า มีพระราชบัญญัติคุ้มครองอาชีพให้กับคนไทย หนึ่งในอาชีพที่คุ้มครองคืออาชีพการเกษตร อย่าไปมองในเรื่องของธุรกิจ อย่ามองในเรื่องของผลประโยชน์ ถ้ามองในเรื่องของธุรกิจและผลประโยชน์ ความเป็นชาติก็จะพินาศสลายอย่างแน่นอน” นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกคนที่คิดเรื่องนี้ น้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใส่เกล้าใส่กระหม่อม ว่า ควรจะรักษาชาวนาอย่างไร จะดูแลเกษตรกรอย่างไร อย่าคิดเอาผลประโยชน์ส่วนตัวมาเป็นที่ตั้ง ยิ่งได้มองเห็นรูปแบบในการคิดแล้ว บอกได้เลยว่าวิธีคิดอย่างนี้คือการทำลายล้างชาวนา ทำลายล้างเกษตรกรให้หมดไปจากแผ่นดิน

“มีอย่างที่ไหนมารวบรวมนักวิชาการ รวบรวมเกษตรกรแล้วไปรับจ้างปลูกข้าว ไร่หนึ่ง 5,000 บาท ไม่คิดถึงหัวอกเกษตรกรที่ไม่มีนาทำเหรอครับ เกษตรกรวันนี้ 62% ในภาคกลางเช่าที่ทำนา ถ้าวิธีคิดอย่างนี้ออกมาต่อไปเจ้าของที่นาก็ไล่เกษตรกรหมด เจ้าของที่ดินก็จ้างเข้ามาทำนาไร่ละ 5,000 บาท ผลผลิตได้เป็นกอบเป็นกำแล้วชาวนาจะอยู่ที่ใหน ใครจะรักษาชาวนา” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง และก็จะต่อต้านจนถึงที่สุด วีธีคิดอย่างอื่นมีเยอะ เช่น การชวนชาวต่างชาติมาลงทุน ภาคอุตสาหกรรมภาคอื่นๆ มีอีกเยอะ อย่ามาทำลายทางภาคการเกษตรเลย เมื่อถามว่าถ้าประเทศซาอุดีอาระเบียจะเข้ามาทำจริงๆ จะทำอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มันมีกฎหมายที่คุ้มครองอยู่แล้ว และถ้ากระทรวงเกษตรฯไม่ร่วมมือก็ไม่สามารถทำได้ แล้วการที่จะมาทำอย่างนี้ได้ก็ต้องมีการยกเลิกการสงวนอาชีพ ซึ่งการจะยกเลิกได้นั้น ตนก็อยากจะดูว่าเมื่อเวลานำเข้าสู่สภา และผู้แทนราษฎรคนไหนจะยกมือสนับสนุนตนก็อยากจะดู แล้วก็จะได้รู้กัน

เมื่อถามว่า การที่ นายประภัตร โพธสุธน ออกมาพูดอย่างนี้มีนัยอะไรหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่มองว่าใครจะเป็นคนพูด มองในหลักการว่าหลักการอย่างนี้ปฏิเสธ และรับไม่ได้ ทำไมเมื่อก่อนนี้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีถึงไม่มาคิด และวันนี้ประเทศที่จะมาเป็นประเทศมหาเศรษฐีทางน้ำมัน รู้ว่า วิกฤตโลกกำลังเกิดจากการขาดอาหาร ทำไมถึงคิดช้าจัง ทำไมถึงพึ่งมาคิดตอนนี้ละมันเป็นการส่งนัยมากกว่า

ในขณะที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวในเรื่องนี้ ว่า การทำนาที่ จ.สุพรรณบุรี ไม่จำเป็นให้คนต่างชาติมาช่วยทำ เพราะคนสุพรรณฯและคนไทยมีความสามารถมีศักยภาพที่จะทำนาเองได้อยู่แล้วซึ่งทำได้ดีด้วย และอาชีพทำนาก็เป็นอาชีพที่มีกฏหมายให้ไว้เฉพาะคนไทย เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับ นายประภัตร โพธสุทน เลขาธิการพรรค ถึงแนวคิดนี้แล้วหรือยัง นายบรรหาร กล่าวว่า ขอไม่ตอบในเรื่องนี้ และไม่จำเป็นต้องให้นโยบายกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เขารู้อยู่แล้วว่าควรจะต้องทำอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวัน นายประภัตร โพธสุทน ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ถึงประเด็นการให้ประเทศซาอุดีอาระเบียมาลงทุนในบริษัท รวมใจชาวนา โดยมีเพียงคนสนิทของ นายประภัตร เท่านั้น ที่รับโทรศัพท์และบอกแต่เพียงว่า นายไม่ว่าง นายไปกินข้าว

ด้าน นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย เลขาธิการเครือข่ายฯ กล่าวว่า ในวันที่ 26-27 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้เครือข่ายชายนาในภาคกลาง อันประกอบด้วย จ.นครปฐม อยุธยา ชัยนาท เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม ฯลฯ ที่มีสมาชิกกว่า 3 หมื่นคน จะมีการประชุมหารือกันครั้งใหญ่เพื่อกำหนดทิศทางการต่อสู้อย่างเร่งด่วน เพื่อคัดค้านแนวคิดขายชาติที่เกิดขึ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นางกิมอัง กล่าวว่า ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นจากคนไทย เพื่อทำลายคนไทยด้วยกัน ชาวนาไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่เรื่องธุรกิจ แต่การทำนาคือวิถีชีวิต ที่สืบทอดกันมาถ้าไม่มีชาวนาประเทศไทยคงไปไม่รอดพ้นจากวิกฤตในหลายครั้ง การทำนาเป็นพื้นฐานรากฐานของประเทศที่สืบทอดทางวัฒนธรรมกันมา

“คนคิดอย่างนี้ไม่ใช่คนไทย ไม่ควรอยู่ในประเทศไทย ขณะนี้ประเทศตะวันออกกลางก็มาคุกคามเราอยู่แล้วในเรื่องน้ำมัน อาวุธของพวกเราคือข้าว เมื่อถึงวันหนึ่งข้างหน้าเราไม่ต้องการน้ำมันก็ได้ เพราะน้ำมันกินไม่ได้ แต่ข้าวต้องกินทุกวัน เขาเข้ามาแสวงหาต่อรองเพื่อให้มีทั้งข้าวและน้ำมัน และคนของเราก็เปิดทางให้ทำกันอย่างนี้มันถือเป็นอาชญากรชาวนา ฆ่าชาวนาทั้งประเทศไทย” นางกิมอัง กล่าว

ในขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศจะร่วมกำหนดท่าทีและเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวให้ถึงที่สุด โดยจะมีการประชุมพร้อมกันในวันที่ 1 มิ.ย.ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แกนหลักมาจาก 5 องค์กรประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีและศึกษาผลกระทบต่อประชาชน หรือเอฟทีเอวอชต์ เครือข่ายหนี้สินชาวนา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินและสภาเครือข่ายองค์กรประชาชน ร่วมตัวกัน 400-500 คน โดยจะมีการหารือในเรื่องผลกระทบใน 2 ประเด็นหลัก ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลังจากที่เกิดวิกฤติอาหารโลกและวิกฤติราคาน้ำมัน ประกอบด้วย 1.กลุ่มทุนต่างชาติที่รวมหัวกับกลุ่มทุนในประเทศมาแย่งที่ดินทำกินและแย่งพื้นที่ทำเกษตรกรรมของคนไทย ซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใน 2-3 ปีนี้ จะปะทุและลามเป็นไฟลุกไหม้ไปทั่วประเทศ เพราะเกิดจากปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินซึ่งเป็น ปัจจัยพื้นฐานซึ่งเป็นหัวใจหลักการผลิตของประเทศ แต่กลับไปตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่เป็นกลุ่มต่างชาติ และกลุ่มทุนในประเทศ ที่ร่วมมือกับทุนท้องถิ่น เทียบเคียงได้กับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับ นายประภัตร โพธสุทน ที่จะพยายามเข้าไปแย่งพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งขณะนี้การตั้งบริษัทเข้าไปรับจ้างทำนาได้ลุกลามเข้าไปหลายจังหวัดแล้ว มีทั้ง จ.พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และ นครสวรรค์ รวมทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี บางพื้นที่ด้วย แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ พ.ศ. 2542 สงวนอาชีพไว้สำหรับคนไทยซึ่งอาชีพชาวนา ถูกขึ้นไว้ในบัญชีที่ 1 แต่ก็กลัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาลชุดนี้ จะสามารถผลักดันให้รัฐบาลยอมรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนมาเป็นเครื่องมือ และใช้บริษัทนอมินีที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นอย่างนายประภัตร เป็นผู้จดทะเบียนแทน ซึ่งเรื่องนี้ตนเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะรัฐบาลชุดนี้พยายามจะปรับความสำพันธ์กับซาอุฯให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ ซึ่งก็คงจะใช่การร่วมทุนดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความสัมพันธ์กับซาอุ และที่ผ่านมาได้เคยมีบริษัทญี่ปุ่น มาลงทุนปลูกข้างพันธุ์ลุกผสมที่ จ.สุโขทัย โดยให้นักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้จัดจัดตั้งบริษัท บังหน้าแทน 2.การลงทุนของทุนข้ามชาติโดยผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ร่วมกับทุนในประเทศและสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลเพื่อให้เป็นแนวนโยบายของประเทศที่จะใช้เทคโนโลยีนั้น เช่น พันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งขณะนี้ ได้มีการใช้แพร่หลายในหลายจังหวัด และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)หักกับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ให้หักค่าพันธุ์ข้าว ไร่ละ 1,600 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่ชาวนาเสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์แต่บริษัทดังกล่าวได้กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์

“ชาวนาอาจจะฆ่าตัวตายอีกมาก เพราะการลงทุนมันเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งค่าเช่าเพิ่มเป็น 2 พันบาทต่อไร่ต่อรอบ เป็นปัญหาที่ภาครัฐไม่เคยสนใจและกระทรวงเกษตรฯก็ไม่เคยลงมาดู ร่วมทั้งปัญหาเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองอีกเกือบ 2 ล้านครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงและใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐแก้ไขอย่างจริงจัง"

นายวิฑูรย์ กล่าวว่าหากเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจะล้าหลังกว่าเวียดนาม ไต้หวันและจีน อย่างแน่นอน เพราะประเทศเหล่านี้มีโครงสร้างที่จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรอย่างชัดเจน และมีการแบ่งโซนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและเพื่อเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และมีกฎหมายคุ้มครองที่เข้มงวด

ในขณะที่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ร่วมหารือกับ นายวัฒนา รัตนวงษ์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาชิกสมาคม 17 คน รวมทั้งตัวแทนธนาคาร 4 แห่งประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล

นายมิ่งขวัญ แถลงภายหลังว่า ได้ตกลงกับสมาคมโรงสีข้าวไทย และตัวแทนธนาคารทั้ง 4 แห่งแล้ว เห็นพ้องว่า ธนาคารทั้ง 4 แห่ง จะขยายการปล่อยสินเชื่อให้กับโรงสีเพิ่มเป็น 3 เท่าจากเดิม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องการจัดการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ สมาคมโรงสี ยังพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาล เพื่อดำเนินการส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศ ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล (G TO G) ทั้งสองระบบ ซึ่งตรงนี้สมาคมโรงสียินดีอาสาเพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการซื้อข้าวอย่างไม่มีเงื่อนไข

“สมาคมโรงสีเข้าพบครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องในการหมุนเงินเพื่อจัดซื้อข้าวเปลือก โดยตัวแทนธนาคาร ก็พร้อมจะปล่อยกู้เพิ่มให้ 3 เท่าตัว เนื่องจากตะหนักถึงราคาข้าวที่เพิ่มสูง แต่จะต้องดูแบคส์ลิสของโรงสีด้วย ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาในเรื่องของยุ้งฉางที่จะเก็บข้าวด้วย” รองนายกฯกล่าว

นายมิ่งขวัญ กล่าวอีกว่า สมาคมโรงสีข้าวยืนยันกับตน ว่า ไม่ต้องการที่จะกดราคาข้าวเปลือกจากชาวนา แต่เนื่องจากกำลังเผชิญกับปัญหาในการหมุนเงินเพื่อจัดซื้อข้าวจึงต้องมาขอเพิ่มเงินกู้จากธนาคาร ขณะเดียวกันผู้ส่งออกรายใหญ่ในประเทศที่มีเพียง 4-5 ราย ทางสมาคมโรงสีจึงพร้อมที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลส่งออกข้าวสารไปยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ระบุออเดอร์ว่าจะให้โรงสีส่งข้าวมาให้รัฐบาลเท่าไร และส่งออกเท่าไร แต่รัฐบาลคงจะไม่แบกภาระทั้งหมด เพราะรัฐบาลมุ่งเน้นแต่การทำ G TO G และการขายข้าวก็จะขายเป็นบางส่วนไม่ขายทั้งหมด รวมทั้งขณะนี้ทั้ง 4 ธนาคารก็ยังไม่ได้พิจารณาว่าจะปล่อยกู้ให้กับโรงสีเท่าใดด้วย ขณะที่การขายข้าวก็เป็นเพียงการสร้างความสัมพันธ์กับแต่ละประเทศเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ข้าวไม่ได้มีความรุนแรง

นายมิ่งขวัญ ระบุอีกว่า ขณะนี้กลุ่มประเทศที่สั่งซื้อข้าวกับประเทศไทย ประกอบด้วย มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ อินโดนีเซีย กลุ่ม 6 ประเทศอาหรับ ได้แก่ ยูเออี บาห์เรน กาตาร์ คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย ติมอร์เลสเต เกาหลี และกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในสัปดาห์หน้าสมาคมโรงสี จะเข้าพบกับ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อกำหนดกรอบในการรับออเดอร์ในการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น