เอ็นจีโอจวก “แม้ว” ดึงซาอุฯ ทำนาไทย เท่ากับเป็นนอมินีข้าว สูญเสียอธิปไตย ชี้ “ทำนา” ควรเป็นอาชีพที่ควรสงวน ไม่ใช่ดึงต่างชาติรุมใช้ทรัพยากรไทย ด้านชาวนาโวยลั่นกระทบชาวนาจนๆ 100% เมื่อเป็นธุรกิจต้องหวังกำไร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและไม่สมควรอย่างยิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาดำเนินการเกี่ยวกับข้าวในประเทศไทย โดยให้ไร่ละ 5 พันบาท เพราะเป็นการพานักลงทุนต่างชาติมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของประเทศไทย และบริษัทที่คนไทยจัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดำเนินการแทนนักลงทุนต่างชาตินั้นก็ไม่ต่างอะไรไปกับนอมินีข้าวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ประเทศสูญเสียอำนาจอธิปไตยเปล่าๆ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ เพราะเมื่อต่างชาติเห็นความสำคัญในเรื่องทรัพยากรอาหาร แต่เมื่อประเทศเขาไม่มีขีดความสามารถและศักยภาพในการปลูก ผลิต พัฒนาสายพันธุ์ข้าว จึงนำเงินมาลงทุน เพื่อหวังว่าจะได้ข้าวจากประเทศไทย ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหวมากเพราะเป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้กับคนไทยเท่านั้น แต่วันนี้เป็นการดำเนินการแบบนอมินีข้าว ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ มีชื่อเสียงในด้านนอมินีอยู่แล้ว” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า หากต่างชาติต้องการความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศของตนเอง และพ.ต.ท.ทักษิณอยากช่วยประเทศชาติจริง ก็เสนอให้ทำสัญญาประกันราคาข้าวกับรัฐบาล เอกชน หรือทำสัญญาโดยตรงกับเกษตรกรชาวนาไปเลย ตั้งราคาสูงๆ รับรองว่าจะได้ข้าวตามที่ประเทศนั้นๆต้องการ และถือเป็นการช่วยชาวนาให้มีอาชีพด้วยเช่นกัน
“ขณะนี้ชาวนา 40% ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินทำนา ต้องเช่าที่นาสำหรับการทำนา แค่นายทุนในประเทศก็มีการแย่งใช้ที่ดินดังกล่าวแล้ว หากมีการลงทุนจากต่างประเทศยิ่งเป็นการกดดันแย่งชิงทรัพยากรที่ดินจากชาวนาตัวเล็กๆ จนๆ เข้าไปใหญ่ เรื่องนี้รับรองว่าชาวนาจะไม่ยอมอย่างมาก แต่ทั้งนี้จะเคลื่อนไหวกันอย่างไร ต้องดูความชัดเจนกันอีกครั้ง” นายวิฑูรย์ กล่าว
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยมีประเด็นดังกล่าว ที่รัฐบาลจีนจะติดต่อขอเช่าที่ดินประเทศไทยเพื่อปลูกข้าวหอมมะลิ แต่ก็ต้องยุติไปเมื่อมีการคัดค้าน แต่มาถึงขณะนี้กลับมาในรูปแบบใกล้เคียงกัน ทั้งที่อาชีพชาวนา แม้แต่ในสนธิสัญญากับประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับไทยมากอย่างสหรัฐอเมริกายังไม่เปิดโอกาสให้ดำเนินการกิจการที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของไทย เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ด้านนางกัญญา อ่อนศรี ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาชีพทางเลือก บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์ ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีแบบอินทรีย์ กล่าวว่า เรื่องแบบนี้หัวอกชาวนาได้รับผลกระทบแน่นอน 100% เพราะเมื่อการทำนาเป็นเรื่องของธุรกิจแล้ว ย่อมหวังผลกำไรอย่างสูงสุดแน่นอน ทำทุกวิถีทางที่ทำให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ทั้งใส่ปุ๋ยเคมีจำนวนมากเร่งผลผลิต ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่สนใจประชาชนที่อยู่โดยรอบว่าจะได้รับสารพิษตกค้างหรือไม่ ดินจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเหมือนกับที่ชาวนาในพื้นที่ทำอยู่ทุกวันนี้
“หากเป็นเช่นนี้ชาวนาจะหมดอาชีพ เพราะเจ้าของที่นาที่ปล่อยให้เช่าอยู่ทุกวันนี้จะขอเรียกที่นาคืนไปให้บริษัทจัดการให้แทน ชาวนาก็เดือดร้อน ไม่มีงานทำ สหกรณ์รายย่อยที่เป็นของหมู่บ้าน ของประชาชนที่รวมตัวกันตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนายทุนก็จะอยู่ยาก และในที่สุดอาชีพชาวนาก็ล้มไป” นางกัญญา กล่าว
นางกิมอั้ง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนเกษตรกรทำข้าวนาปรัง จ.ชัยนาท กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีบริษัทมาจัดการข้าว เพราะการทำนาของชาวนา ไม่ใช่เพียงอาชีพ แต่เป็นวัฒนธรรม เป็นอาชีพท้องถิ่นที่ทำงานด้วยใจรัก ไม่ใช่มุ่งเน้นกำไร และการค้าขายเพียงอย่างเดียว และไม่เห็นด้วยที่จะจัดให้ชาวนาไม่ใช่ลูกจ้าง ที่ใครจะมาบงการได้ เพราะชาวนาควรเป็นเจ้าของอาชีพตัวเอง เป็นเจ้านายตัวเองมากกว่า
“รัฐบาลมีความพยายามทำให้ชาวนาเป็นลูกจ้างมาโดยตลอด โดยให้ทำงานตามที่บริษัทเอกชน ผู้ส่งออกข้าวต้องการ ทั้งที่ชาวนาเป็นชีวิต ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น ที่เป็นผู้รักษาพื้นที่ รักษาธรรมชาติให้กับชุมชน ถ้าเป็นเรื่องของบริษัทเอกชนเข้ามาทำธุรกิจข้าว จะไม่เป็นแบบที่ชาวนาที่เป็นคนในพื้นที่ทำ จะหวังแต่กอบโกยให้ได้มากที่สุด ใช้สารเคมีอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ผลผลิตมากสุด เพื่อผลกำไรสูงสุด และกระบวนการของการบีบขายที่ดินจะเกิดขึ้น และนายทุนก็จะมาซื้อที่ดิน อาชีพทำนาก็จะไม่ใช่ของชาวนาต่อไป แต่เป็นของนายทุนแทน”นางกิมอั้ง กล่าว