xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษาไทย-สมบัติผู้ดี!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

หนังสือการ์ตูน “สมบัติผู้ดี” ที่เพิ่งถูกนำมาสู่สายตาประชาชนเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานที่นำเสนอเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยทุกระดับชั้นได้อ่านกัน เนื่องด้วยเป็นภาพการ์ตูนและการบรรยายที่ง่ายๆ อ่านสบายๆ สนุกสนาน

หลายๆ ฝ่ายต่างถามกันว่า “วันดีคืนดี หนังสือการ์ตูนสมบัติผู้ดีทำไมถึงต้องถูกนำมาเผยแพร่ช่วงนี้?” ช่วงที่กล่าวถึงนี้เป็นช่วงที่ บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างจะร้อนฉ่า นอกเหนือจากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกรณีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่าง “สื่อมวลชน” กับ “นายกรัฐมนตรี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การตำหนิ” จากหลายๆ ฝ่ายกรณี “วาทะ” ของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ที่ค่อนข้างออกไปทาง “หยาบคาย” คำตอบก็น่าจะเป็นไปได้ว่า “ความเป็นสมบัติผู้ดีของคนไทยอาจจะบกพร่อง และ/หรือ ขาดหายไป!”

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว “สไตล์-ลีลา” ในการสนทนาพูดคุยและสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ก็เป็นเช่นนี้ตามปกติอยู่แล้ว ที่อยู่ในลักษณะของ “โผงผาง-ตรงไปตรงมา” จนถึงขั้น “ขวานผ่าซาก!” ที่แน่นอนไม่น่าจะไพเราะเสนาะหูหลายๆ ฝ่าย จึงไม่สบอารมณ์ประชาชนบางกลุ่ม

อย่างไรก็ดี “หนังสือการ์ตูนสมบัติผู้ดี!” ที่ถูกนำมาเผยแพร่นั้นอาจจะบังเอิญพอดีกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น จึงดูเสมือนว่าหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ถูกนำออกมาเพื่อให้คุณสมัคร สุนทรเวช ได้ตระหนักบ้าง แต่ “แสงแดด” ว่าน่าจะมีการดำเนินการเขียนมานานก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน

ทั้งนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดมิได้เข้าข้างนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อ “ความถูกต้อง-เป็นธรรม” เท่านั้น เนื่องด้วย “แสงแดด” มิได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถามว่า “สมบัติผู้ดี” ของคนไทยในยุคปัจจุบัน “สังคมสมัยใหม่” บกพร่องขาดหายไปหรือไม่ ก็ต้องตอบฟันธงเลยว่า “จริง!”

“แสงแดด” มีอาชีพหลักอีกอาชีพหนึ่งคือ “นักวิชาการ-ครูบาอาจารย์” ที่พร่ำเดินสายบรรยายและสอนหนังสือมายาวนานถึง 13 ปี ประกอบกับมีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เป็นทั้งลูกศิษย์ และครูอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า “สมบัติผู้ดี สำหรับผู้คนทั่วไปนั้น คงไม่ต้องไปกล่าวถึงมากนัก เพราะคงจะไม่เข้าใจ และ/หรือเข้าใจยากกับสภาวการณ์ของวัฒนธรรมโลกยุคใหม่”

เอาแค่นักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท และเอก ยังไม่ค่อยเข้าใจ จนถึงขั้น “ไร้สมบัติผู้ดี!” มีอยู่ดาษดื่น อาจจะเนื่องด้วยสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือ “พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอน!” หรือแม้กระทั่ง สถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับมัธยม แม้กระทั่งมหาวิทยาลัย ก็คงไม่ได้สั่งไม่ได้สอนเช่นเดียวกันก็ได้ เนื่องด้วยสังคมยุคใหม่ “ตัวใครตัวมัน!” และไม่สำคัญเท่ากับ “การแก่งแย่ง!” และ “ชิงดีชิงเด่น!” จนไม่สามารถเข้าใจและแยกแยะได้มากมายนักว่า “อะไรควร-อะไรไม่ควร”

มีเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเมืองไทย เล่าให้ “แสงแดด” อย่างมีอารมณ์ว่า ระหว่างเดินในรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาคนหนึ่งเดินผ่านแล้วชน ซึ่งอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่านักศึกษาคนนั้นเมื่อ “เดินชน” แล้ว ก็มิได้แสดงอาการตกใจ หรือรู้สึกตัวแต่ประการใด ด้วยการเดินต่อไปอย่างไม่ได้สนใจ และ/หรือ แยแสว่าได้เดินชนใครคนใดคนหนึ่ง เหมือน “ผีดิบ” อะไรทำนองนั้น “นี่…นักศึกษานะ!”

จนในที่สุด เพื่อนอาจารย์รุ่นน้องต้องเดินวกกลับและตามไปแตะบ่านักศึกษาคนนั้น พร้อมพูดว่า “นี่…คุณ…เมื่อกี้เดินชนผมน่ะ…ไม่รู้ตัวเลยหรือ?” นักศึกษาคนนั้นตอบด้วยอาการปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและตอบว่า “อ้าวเหรอ!...ผมมองไม่เห็น!” แล้วเขาก็เดินจากไป ปราศจาก “สำนึกผิด” และคำว่า “ขอโทษด้วยซ้ำ!”

เป็นกรณีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงที่เพื่อนอาจารย์รุ่นน้องท่านนั้นปัจจุบันยังคง “อารมณ์เสีย” กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานมาแล้ว ถามว่า “เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยและหลายแห่งหรือไม่?” ก็ต้องตอบอย่างไม่ต้องลังเล พร้อมการประมวลทั้งข้อมูลและเหตุการณ์จากที่ได้ยินได้ฟังและขอสารภาพว่า “เคยประสบกับตนเอง” กับ “สมบัติผู้ดีสูญ” ของ “คนรุ่นใหม่” แต่ที่น่าผิดหวังคือ “กลุ่มคนในระดับการศึกษาสูง!”

อย่าไปเพียงตำหนินักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับที่ต้องมี “ความรู้-ความคิด” ขั้นพื้นฐานพอสมควรที่จะมี “วุฒิภาวะ” เพียงพอสำหรับ “การสังเคราะห์-วิเคราะห์” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “แยกแยะ” เพียงว่า “อะไรควร- อะไรไม่ควร” หรือสามารถถึงขั้น “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” ซึ่งว่ากันตามความจริงแล้ว คนที่ศึกษาเล่าเรียนถึงระดับนี้น่าจะมีความคิดเกินระดับ “ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี” อย่างเพียงพอแล้ว และว่าไปแล้ว “อะไรควร-ไม่ควร” ก็น่าจะ “ตระหนัก” ไม่ต้องถึงขั้น “สำนึก”

“แสงแดด” เป็นบุคคลที่เดินทางต่างประเทศอย่างน้อยปีละประมาณ 2-3 ครั้ง หรือภายในประเทศปีละประมาณ 7-8 ครั้ง เพื่อการบรรยายกับสัมมนา แต่ในต่างประเทศนั้นก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศในมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องบอกอย่างไม่เกรงใจว่า “วัฒนธรรม” ของนักศึกษาทุกระดับ กล่าวคือ ปริญญาตรี โท เอก จะมี “มารยาท” ที่อ่อนน้อมถ่อมตน “สุภาพ” อย่างมาก ไม่ว่าต่อครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่ง “บรรณารักษ์” บุคคลที่ดูแลห้องสมุด

นักศึกษาฝรั่งและต่างชาติจะแสดง “ความเกรงใจ” จนถึงขั้น “ความเคารพ” กับอาจารย์และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย อาทิ เวลาเดินผ่านอาจารย์จะหลีกทางให้ ไม่ชนอาจารย์เหมือนนักศึกษาบ้านเรา เมื่อเวลาสนทนาจะมีคำว่า “เซอร์ (Sir) – แมม (Mam)” ตบท้ายตลอดเวลา ซึ่งแปลว่า “ครับท่านอาจารย์-ครับท่าน” อะไรทำนองนั้น แต่ที่สำคัญคือ การแสดงความเคารพนอบน้อม ซึ่งต้องเรียกว่า “วัฒนธรรมสูง (High Culture)” ของสังคมเขา

ในทางกลับกัน เป็นกรณีที่แทบไม่น่าเชื่อว่านักศึกษาไทย “ปราศจาก-ไร้วัฒนธรรม” อย่างมากทุกระดับชั้นที่ “ไร้มารยาท” ในการแสดง “ความเคารพ-เกรงใจ” ต่อครูอาจารย์ จนบางครั้งถึงกับ “เดินชน” หรือแม้กระทั่ง “ต้องเดินหลีกทาง” ให้กับนักศึกษา “ไม่งั้นมันชนแน่!”

แต่ที่น่าผิดหวังไปมากกว่านั้นคือ นักศึกษาที่ศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในระดับสูงสำหรับนักบริหาร (Executive) ซึ่งหมายความว่า เป็นนักศึกษาที่มีทั้ง “วุฒิภาวะ-วุฒิการศึกษา” และ “อายุ” พร้อม “ตำแหน่งหน้าที่การงาน” ที่สูงพอสมควร อย่างน้อยก็ราวๆ 32-45 มีประสบการณ์การทำงานไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี บางคนมี “มารยาทต่ำ!” ที่ไม่รู้สึกรู้สา ยินดียินร้าย โอภาปราศรัย ที่จะทักทายครูบาอาจารย์ที่ไม่ได้สอนเขาหรือ “ให้คุณให้โทษได้!”

ทั้งนี้ “พฤติกรรม” เช่นนี้ มิใช่เกิดขึ้นกับนักศึกษาทุกคน มีเพียงร้อยละ 20-30 เท่านั้น จะมีพฤติการณ์และพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งบางครั้งไม่ได้แยแสว่าครูบาอาจารย์จะเดินอย่างไร “ถ้าไม่หลีกฉันชนนะ!”

“แสงแดด” เคยประสบกับตนเองมาบ่อยครั้งกับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ที่ถ้าไม่ใช่อาจารย์ฉัน อย่าว่าแต่ทักทาย เพียงแค่พยักหน้ายิ้มเหมือน “กิ้งก่า” และกล่าว “สวัสดี” ก็พอรับได้ แต่ถึงขั้นต้องหลีกทางให้ “ฯพณฯ นักศึกษา” ก็เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้วไม่งั้นถูกชนล้มแน่นอน!

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “วัฒนธรรม” ของนักศึกษาไทย ตลอดจนคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งๆ ที่สังคมไทยเป็น “สังคมเก่าแก่” มี “วัฒนธรรมดีงาม” ที่จะโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่สำคัญเท่ากับ “ระบบอาวุโส” ที่ต้องให้เกียรติและเคารพผู้ที่มีอายุมากกว่า แต่ในทางกลับกัน “วัฒนธรรม-ขนบธรรมเนียมประเพณี” เหล่านี้กลับค่อยๆ สูญหายไปจากสังคมไทย

เป็นกรณีที่แทบไม่น่าเชื่อว่า “การลืมตัว-สำคัญผิด” ของพฤติกรรมนักศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึง “วุฒิภาวะ” ที่ขอเสียมารยาทเรียกขานว่า “ต่ำ” แต่กลับปรารถนาที่จะศึกษาเล่าเรียนในระดับการศึกษาที่สูง คำถามสำคัญต้องถามว่า “เล่าเรียนศึกษาเป็นมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิตเพื่อใบปริญญาเพื่อความโก้เก๋ หรือเพื่อความรู้ที่จะนำไปปรับประยุกต์ใช้กับการทำงานที่สร้างโอกาสก้าวหน้าให้กับตนเองและองค์กร โดยที่มิได้ประเทืองปัญญาเลยหรือ?”

การศึกษาไม่ว่าระดับใด เป้าหมายสำคัญคือ ความรู้ที่จะต้องถูกนำมาประเทืองปัญญาให้เกิดการคิด มีจิตวิเคราะห์แยกแยะผิดถูก ควรไม่ควร ซึ่งในที่สุดจะก่อให้เกิดวุฒิภาวะที่ค่อยๆ พัฒนาไต่ระดับสูงขึ้นไป จนกลายเป็นบุคคลที่มีสติและปัญญาในการช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเอง องค์กร และสังคมให้ดีขึ้น!

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น มิใช่นักศึกษาทุกคนเป็นเช่นนั้นหมด ดังที่กล่าวไว้ว่า มีเพียง 20-30 เท่านั้น นอกนั้น “ความเป็นสมบัติผู้ดี” ส่วนใหญ่ของนักศึกษายังมีอยู่มาก เพียงแต่นักศึกษา “มารยาทต่ำ-วัฒนธรรมต่ำ” มิได้ศึกษาและพัฒนาตนเองให้เหมาะสมกับระดับการศึกษา อายุ หน้าที่การงาน และไม่สำคัญเท่ากับ “วุฒิภาวะ!” ที่พึงจะเป็น

“สมบัติผู้ดี” ของคนไทยในปัจจุบัน เป็นกรณีที่ “น่าผิดหวัง-น่าเสียดาย” อย่างมากที่ค่อยๆ ขาดหายไปจาก “ความเป็นไทย” ไม่ว่าจะเป็นทั้ง “พฤติกรรม-วิธีคิด-วิธีพูดจาสนทนา-การกระทำ” ของบุคคลแทบจะทุกระดับชั้น ซึ่งต้องถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มต้นใหม่กับการรื้อฟื้น “สมบัติผู้ดี” ด้วยการเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว สื่อสารมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ สถาบันการศึกษา และแน่นอนสังคมองค์รวมที่ต้องช่วยกันจรรโลงให้คนไทยมี “ความเป็นผู้ดี!” มากกว่านี้ ซึ่งน่าเสียดายมากกับ “มารยาท” ของไทยที่เคยได้รับการยอมรับอย่างมากในอดีต

เราคงจะต้องเริ่มต้นเสียมารยาทกันแล้วล่ะมังกับการบอกกล่าวตักเตือนกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะได้เริ่มมี “สมบัติผู้ดี” กันบ้างได้แล้ว!
กำลังโหลดความคิดเห็น