“สมชาย” เตือนนักเรียนอย่าทำลายอนาคตตัวเองด้วยการโกงสอบ ให้เด็กรักศักดิ์ศรีมีความหยิ่งทรนงในตนเอง ด้าน “บุญลือ” เตรียมขัดเกลาเด็ก นิมนต์ “พระมหาสมปอง” มาเทศน์ให้รู้สึกชั่วดี ส่วน “สุเมธ” ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยเอกชน ลงโทษ 2 นักศึกษา แย้มมาตรการทุจริต เตรียมถุงดำให้นักเรียนใส่อุปกรณ์ไฮเทค
จากกรณีพบทุจริตการสอบโอเน็ตและเอเน็ต นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เด็กทั่วประเทศมีเป็นล้านคน และความเป็นเด็กอายุยังน้อยอาจทำให้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถึงว่าการทุจริตในห้องสอบจะไม่ถูกจับได้ แต่ในใจเด็กจะรู้สึกผิดตลอดเวลา อยากบอกว่าอย่าทำลายอนาคตของตนเอง แม้จะจับไม่ได้ เด็กก็ทำลายอนาคตตนเองแล้ว เพราะเขาไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น แต่มี ความรู้ไม่แน่นหนาพอ เท่ากับไม่ยอมรับความจริง และอาจมีปัญหาการเรียนตามมาในภายหลังได้ จึงฝากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง กำชับเรื่องความรับผิดชอบตนเองของเด็ก ขอให้มีความหยิ่งทรนงในตัวเอง บางคนสอบได้แม้ไม่ต้องโกง แต่ก็ตัดสินใจทำลายอนาคตตนเองด้วยการโกง
“ศธ.ต้องปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักเรียน ให้เด็กยิ่งทระนง รักศักดิ์ศรีของตัวเอง และเด็กจะเกิดความภาคภูมิใจ และแม้ว่าจะมีการยกเครื่องการคุมสอบเพื่อป้องกันเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น แต่คนสมัยเก่าอาจจะตามไม่ทันเทคโนโลยีอันทันสมัยเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การสอบโอเน็ต และเอเน็ต จะมีทุกปี และในปีถัดไปจะเข้มงวดมากขึ้น อาจารย์ผู้คุมสอบเข้าใจดี ก็ต้องกำชับเรื่องนี้ไม่ให้เกิดอีก และเท่าที่ทราบ มีบางโรงเรียนนำถุงดำมาให้นักเรียนใส่อุปกรณ์สื่อสาร ถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเราไม่รู้ว่าวิธีการทุจริตจะมาในรูปแบบใดบ้าง อาจจะมาในรูปเครื่องประดับ เช่น ตุ้มหู อาจต้องเอาออกด้วย”
ด้าน นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศธ.กล่าวภายหลังหารือกับ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เกี่ยวกับกรณีทุจริตการสอบว่า ตนมีแนวทางแก้ปัญหาอยู่แล้วคือ นิมนต์พระมหาสมปอง มาเทศน์เพื่อขัดเกลาจิตใจของเด็กให้มีศีลธรรม มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และมีความละอายต่อการกระทำผิด เพราะการสอบเอเน็ตเป็นการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยหากเริ่มต้นด้วยการทุจริตแล้วต่อไปหากออกไปทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะเป็นคนไม่มีคุณภาพ
“ศธ.กับ สกอ.ไม่มีนโยบายให้เด็กทำการทุจริตการสอบ ขณะเดียวกันก็ไม่มีนโยบายที่จะออกมาเพื่อกดดันนักเรียนด้วย เนื่องจากผู้ที่กระทำการทุจริตมีจำนวนน้อย แต่นักเรียนที่ดีๆ มีจำนวนมากและเด็กเป็นเด็กที่น่ารัก จึงไม่ต้องการออกมาตรการที่รุนแรง”
ดร.สุเมธ กล่าวว่า สกอ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของนักศึกษาทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนการลงโทษเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะลงโทษนักศึกษาทั้ง 2 คนตามระเบียบของมหาวิทยาลัย แต่ละแห่งมีการกำหนดโทษต่างกัน ซึ่งเคยมีกรณีนักศึกษาทุจริตการสอบ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยได้ลงโทษด้วยการไล่ออก ส่วนกรณีของนักศึกษา 2 คนนี้มั่นใจว่าไม่ใช่การทำเป็นกระบวนการแต่เป็นลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน
ในการสอบครั้งต่อไปจะมีการตรวจค้นนักเรียน โดยให้อาจารย์ผู้คุมสอบ 2 คนตรวจค้นตัวก่อนเข้าสอบ แต่การตรวจค้นไม่สามารถทำได้อย่างละเอียด เพราะนักเรียนมีทั้งหญิงและชาย ส่วนที่มีข้อเสนอว่าจะให้ติดเครื่องแสกนเนอร์หน้าห้องสอบนั้น ทำได้อยากเพราะค่าใช้จ่ายสูง และห้องสอบก็มีเป็นพันๆ ห้อง
“ผมไม่อยากตั้งป้อมจับผิดนักเรียนทุกคน ความจริงแล้วที่ทำผิดแล้วรอดพ้นไปก็มี แต่ถึงรอดไปเด็กก็ไม่มีความสุข เขารู้สึกบาปในใจ และการทุจริตส่วนมากพบในกทม. ไม่พบในต่างจังหวัด ผมมองว่าเกิดจากการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กต่างจังหวัดต่างกับเด็ก กทม.” ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ในอนาคตต้องมาดูเรื่องกติกาที่ห้ามนำมือถือเข้าห้องสอบ โดยอาจจะยินยอมให้นำเข้าแต่ต้องปิดมือถือและนำใส่ถุงดำวางไว้บนโต๊ะ
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า ตนจะหารือกับคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องสำหรับนักศึกษาทั้ง 2 คน ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนว่าจะต้องแจ้งชื่อให้มหาวิทยาลัยทราบหรือไม่ สำหรับโทษทางแพ่งหรือทางอาญาขณะนี้ สกอ.ยังไม่ได้คิดถึงว่าจะต้องกระทำถึงขั้นนั้น แต่จะมีการพิจารณาเรื่องบทลงโทษให้มากขึ้น