xs
xsm
sm
md
lg

ปท.เอเชียเผชิญปัญหาเงินเฟ้อหนัก แม้รบ.ตรึงแต่คงอั้นไม่อยู่ต้องขึ้นด/บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - ประเทศแถบเอเชียกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อหนักหน่วง โดยเกาหลีใต้ขึ้นสู่อัตราสูงที่สุดในรอบ 7 ปีเมื่อเดือนพฤษภาคม ส่วนไทยก็อยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบสิบปี ขณะที่อินโดนีเซียขึ้นไปเป็นตัวเลขสองหลักแล้ว นับเป็นการทดสอบครั้งหนักหน่วงที่สุดสำหรับบรรดาผู้วางนโยบายทางการเงินของภูมิภาคนี้ ตั้งแต่วิกฤตทางการเงิน "ต้มยำกุ้ง" ปี 1997-98

ทั่วทั้งเอเชีย บรรดาธนาคารกลางกำลังตกอยู่ใต้แรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ต้องเข้มงวดนโยบายการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาน้ำมันดิบระดับ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งพุ่งละลิ่ว ลุกลามเข้าไปถึงเรื่องอัตราค่าจ้างตลอดจนต้นทุนอื่นๆ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ทางฝ่ายรัฐบาลก็หวั่นวิตกว่าหากแบงก์ชาติขยับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไปเช่นนี้ ก็อาจฉุดให้การเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลงมา

คำพูดของนายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ แห่งอินเดีย ดูจะสะท้อนความรู้สึกของบรรดาผู้วางนโยบายในแถบเอเชียได้เป็นอย่างดี เมื่อเขากล่าวแสดงความหวังว่า เศรษฐกิจแดนภารตะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย น่าจะสามารถทำได้ทั้งสองด้าน นั่นคือสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อ พร้อมกันนั้นก็สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่มีชนวนจากวิกฤตสินเชื่อในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายกันว่า ผู้บริโภคในอินเดียก็คงประสบชะตากรรมไม่แตกต่างจากชาติเอเชียอื่นๆ นั่นคือ ในเร็ววันนี้จะต้องรับภาระน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นอีกมาก เนื่องจากรัฐบาลทำท่าจะแบกรับภาระในการอุดหนุนต่อไปไม่ไหว

"พวกธนาคารกลางในเอเชียไม่ได้เผชิญกับภาพสถานการณ์ทำนองนี้มานานแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเอเชียคราวก่อน" ฮิว แมคคาย นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารเวสต์แพค ของออสเตรเลีย ให้ความเห็น พร้อมกับชี้ต่อไปว่า การที่ช่วงห่างระหว่างผลผลิตกับอุปสงค์ความต้องการใช้กำลังหดแคบลงเรื่อยๆ ในเวลานี้ จะทำให้เป็นเรื่องลำบากมากขึ้นอีกที่ประเทศแถบเอเชียจะเติบโตต่อไปโดยรวดเร็ว หากไม่ยอมปรับราคาให้ขยับสูงขึ้น

"มันเป็นการท้าทายอันใหญ่โตมากสำหรับพวกเขา เพราะการเดินนโยบายทางการเงินในเวลาที่เศรษฐกิจกำลังวิ่งไปด้วยระดับใกล้เต็มศักยภาพแล้ว ย่อมเป็นงานที่เรียกร้องความเชี่ยวชาญพลิกแพลง มากกว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินเมื่อคุณยังคงมีศักยภาพเหลือใช้อยู่อีกเยอะแยะ" เขากล่าว

ในบรรดาชาติเอเชียด้วยกัน คงไม่มีที่ไหนซึ่งการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องจะสู้เงินเฟ้อหรือจะกระตุ้นอัตราเติบโต อยู่ในสภาพขมขื่นมากเท่ากับในเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐบาลที่เพิ่งขึ้นครองอำนาจหมาดๆ กำลังกดดันธนาคารกลางให้ตัดลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาในเรื่องเศรษฐกิจตามที่รณรงค์หาเสียงเอาไว้
ฝ่ายธนาคารกลางโสมขาวดูจะเป็นฝ่ายได้เปรียบมากขึ้นเมื่อวานนี้(2) จากข้อมูลเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้น 4.9% ในเดือนพฤษภาคม นับเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2001 และอยู่เหนือระดับที่ทางแบงก์ชาติรู้สึกว่ายังปลอดภัยพอนอนใจได้

"ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีจะต้องพลาดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตัวเองกำหนดไว้อย่างแน่นอน ถ้าหากราคาน้ำมันยังไม่ไหลรูดลงมา" เป็นความเห็นของ โอซุกเต นักเศรษฐศาสตร์แห่งค่ายซิตี้แบงก์ "ดังนั้นตลาดจึงต่างคาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า รัฐบาลต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ"

การทะยานแรงของเงินเฟ้อก็ทำให้รัฐบาลรู้สึกวิตกอยู่เหมือนกัน ดังที่รัฐมนตรีคลังกล่าวไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่า ค่าเงินวอนอาจจะตกลงมารวดเร็วเกินไป และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็ได้เข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนเงินตราโสมขาวแล้ว

ไม่เฉพาะเกาหลีใต้ ทางด้านอินโดนีเซีย ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งประกาศกันออกมา ก็ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10.38% อัตราขนาดนี้ยังสูงกว่าเมื่อเดือนเมษายนที่เท่ากับ 8.96% อีกทั้งถือว่าเป็นอัตราทะยานแรงที่สุดในรอบ 20 เดือนด้วย

ประเทศไทยก็เช่นกัน อัตราเงินเฟ้อที่ดูจากราคาผู้บริโภคเมื่อเดือนพฤษภาคม อยู่ในระดับเท่ากับปีละ 7.6% ซึ่งสูงที่สุดในรอบเกือบสิบปี และทะยานขึ้นมากจากระดับ 6.2% เมื่อเดือนเมษายน

ตัวเลขของประเทศเหล่านี้ล้วนแต่สูงกว่าที่ทำนายกันไว้ และทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าน่าจะต้องมีการขยับดอกเบี้ย อันต้องถือเป็นยาขมมากในช่วงเวลาที่อุปสงค์ความต้องการของโลกที่ย่ำแย่ลง ก็กำลังคุกคามเศรษฐกิจหลายๆ แห่งในเอเชียอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น