xs
xsm
sm
md
lg

ราคาของผู้ทรยศ(2) : ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

เผยแพร่:   โดย: ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง

ทำไมไทยจึงมีปัญหาเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารกับกัมพูชาทั้งที่เวลาล่วงเลยมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ เกี่ยวเนื่องกันหรือไม่กับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ทำไมอดีตนายกฯ ไทยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจึงต้องไปเล่นกอล์ฟกับนายกฯ กัมพูชา ทำไมไม่มีใครสักคนในรัฐบาลไทยในยุคทักษิณบอกกับสาธารณชนในยุคราคาน้ำมันติดจรวดว่ามีขุมทรัพย์ในอ่าวไทยซุกซ่อนอยู่จริงหรือไม่จริง?

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ ได้ออกแถลงข่าวเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างเป็นทางการในวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ประเด็นในการเยือนกัมพูชาในครั้งนี้นอกจากจะหารือข้อราชการระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฝ่ายแล้วยังมีประเด็นสำคัญๆได้แก่ 1.การพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมทางบกในกัมพูชาและการเชื่อมโยงกับไทย 2.การสร้างความคืบหน้าในการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วมในพื้นที่ไหล่ทวีปที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อน และ3.ความร่วมมือด้านเขตแดนเพื่อจัดทำหลักเขตแดนทางบกให้ปรากฏผลคืบหน้าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในวันเดียวกันนี้ หนังสือพิมพ์ในกัมพูชาได้รายงานว่า ประเด็นที่จะมีการเจรจากันในระหว่างการเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 1 วันของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือเรื่องรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นดังกล่าวได้ (ไทยโพสต์ 10 ส.ค. 49)

การเดินทางครั้งนี้มีกำหนดการล่วงหน้าแน่นอนและเป็นทางการ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อ 7 วันก่อนหน้านั้น(2 ส.ค. 49)ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไปเยือนพม่าอย่างกะทันหันโดยไม่มีกำหนดการล่วงหน้าท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปทำธุรกิจส่วนตัว แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อ้างว่าเป็น “การทูตใหม่” (มติชน 6 ส.ค. 49)

ประเด็นเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชามิใช่ประเด็นใหม่ มีความพยายามที่จะเจรจากันมาโดยลำดับ เหตุที่มีความสำคัญมิใช่แต่เพียงเรื่องอาณาเขตแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลของน้ำมันที่เชื่อว่ามีอยู่ในบริเวณทับซ้อนดังกล่าว ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็ให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติมาลงทุนขุดเจาะสำรวจ โดยพื้นที่ดังกล่าวกัมพูชาเรียกว่า Block A และให้สัมปทานกับกลุ่มบริษัทที่นำโดย Chevron GS Caltex และ Mitsui Oil Exploration(MOECO) ซึ่งได้ดำเนินการขุดสำรวจตั้งแต่ปี 2546 พื้นที่ Block A อยู่ในบริเวณเดียวกับพื้นที่สัมปทาน Block 10,11,12,13,10A/11Aที่ทางฝ่ายไทยให้กับกลุ่มบริษัททั้ง 3 เช่นกัน

ผลการสำรวจที่ได้ขุดเจาะตั้งแต่ปี 2547 แม้จะมิได้มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการแต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าพื้นที่Block A น่าจะมีปริมาณน้ำมันในปริมาณที่มากกว่าทางฝั่งไทย สื่อมวลชน เช่น Asia Times ในปี 2550 โดย Shawn Crispin ได้อ้างถึง การประเมินของธนาคารโลกว่า น่าจะเป็นแหล่งที่มีน้ำมันสำรองอยู่ราว 2,000 ล้านบาร์เรลและก๊าซธรรมชาติกว่า 100,000 ล้านคิวบิกฟุตซึ่งธนาคารโลกได้ปฏิเสธในเวลาต่อมาถึงข่าวการประเมินตัวเลขดังกล่าว แต่ตัวแทนของUNDPในกัมพูชาคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาร์เรล สำหรับตัวเลขน้ำมันสำรองในแหล่งดังกล่าว(สำนักข่าวซินหัว) ปริมาณสำรองน้ำมันจึงน่าจะอยู่ระหว่าง 700 – 2,000 ล้านบาร์เรลและผู้ที่น่าจะรู้ดีที่สุดก็คือกลุ่มบริษัททั้ง 3 นั่นเอง

หากพิจารณาจากปริมาณสำรองน้ำมันที่มีการรับรองแล้ว(proven oil reserves)ในแถบบริเวณเดียวกันจะพบว่าตัวเลขปริมาณสำรองน้ำมันในบริเวณดังกล่าวจะเป็นรองแต่เพียง อินโดนีเซีย(4,300 ล้านบาร์เรล)และมาเลเซีย(3,000 ล้านบาร์เรล) เท่านั้น และอาจมีขนาดใกล้เคียงกับแหล่งของ บรูไน (1,400 ล้านบาร์เรล) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการในรายงานเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาว่า หากใช้ประมาณการขั้นต่ำที่สุดว่ามีสำรองเพียง 500 ล้านบาร์เรลมูลค่าปัจจุบันสุทธิจะมีประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้สมมติฐานของการเริ่มนำขึ้นมาใช้ได้ในปี 2554

การแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนจึงเป็นประเด็นในการเจรจาในช่วงนั้นโดยไม่มีประเด็นเรื่องน้ำมันสำรองปริมาณมหาศาลในอ่าวไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง จากการแถลงข่าวก่อนเดินทางไปเจรจาของนายดนุพร ปุณณกัณต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 4 ส.ค. 49 การแบ่งสัดส่วนดังกล่าวหากอยู่ในด้านที่ติดกับประเทศใด ฝ่ายไทยมีความเห็นว่าควรจะเป็นสัดส่วน 90 ต่อ 10 ขณะที่ทางฝ่ายกัมพูชามีความเห็นว่าควรจะเป็น 60 ต่อ 40 ในขณะที่หากอยู่ตรงกลางจะแบ่งกันที่ 50 ต่อ 50 (ข่าวสด 4 ส.ค. 49) แต่จากข่าวที่ปรากฏไม่มีใครให้ข่าวว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองอย่างมีนัยสำคัญในบริเวณที่กำลังเจรจาแต่อย่างใดทั้งที่ควรจะเป็นเรื่องที่ทราบดีอยู่แล้วเพราะกลุ่มบริษัททั้ง 3ที่สำรวจในBlock A ดำเนินการเจาะหลุมสำรวจตั้งแต่ตุลาคมปี 2547 และก็เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกันที่ได้สัมปทานจากฝ่ายไทยไปในบริเวณทับซ้อนดังกล่าว

เป็นไปได้หรือที่หากจะเจรจาแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์โดยที่ไม่ทราบถึงข้อมูลที่สำคัญว่ามีอะไรอยู่บ้างและในจำนวนเท่าใด? และเป็นการเจรจาโดยมีการเตรียมการล่วงหน้ามิใช่ทำโดยกะทันหันแต่อย่างใด หากจะไร้เดียงสาบอกว่าไม่ทราบหรือรู้เท่าที่เขาบอกเพราะไม่ได้ไปขุดเอง ดูจะไม่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติสักเท่าไร

กลับมาในห้วงเวลาที่ใกล้ปัจจุบันมากขึ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551 คตส. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฯ กล่าวหาการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ชินแซทฯและครอบครัวในการปล่อยกู้ให้กับพม่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับการซื้อสินค้าจากชินแซทฯ ทั้งที่ตนเองและครอบครัวยังมีส่วนได้เสียในบริษัทชินแซทฯอยู่ โดยนายสัก กอแสงเรืองกล่าวในการแถลงตอนหนึ่งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า(ธสน.) ได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเจรจาอย่างไม่เป็นทางการและให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีพม่าในสมัยนั้น ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปเพื่อความเข้าใจโดยง่ายได้ว่า ธสน. ซึ่งเป็นกิจการของรัฐได้ให้กู้กับรัฐบาลพม่าเพื่อซื้อสินค้าจากชินแซทฯที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมีส่วนได้เสียอยู่

จากประสบการณ์การทำงานด้านการต่างประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อ้างว่าเป็น ”การทูตใหม่” จะเห็นได้ว่าแยกไม่ออกระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ของประเทศ เพราะในกรณีพม่าข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตามคำกล่าวหาของ คตส. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่ไปขายสินค้าในเวลาเดียวกัน ใช้เวลา เครื่องบินและเงินหลวงไปขายสินค้าของตนเอง ช่างยากจนนักสำหรับนายกฯคนนี้

ในกรณีกัมพูชา การไปเจรจาความเมืองเมื่อ 10 ส.ค. 49 หรือ การนัดไปเล่นกอล์ฟกับ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีลักษณะคล้ายกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกล่าวในรายการวิทยุ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน “เมื่อ12 ส.ค. 49 ว่า “กัมพูชากับเรา (ประเทศไทย-ผู้เขียน) มีปัญหาเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลและเรื่องปักปันเขตแดนทางบก...ไม่สามารถตกลงกันได้...และตนมีความสัมพันธ์ส่วนตัว รู้จักกันดี…อยากจะใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ แม้กระทั่งตรงจุดเขาพระวิหาร...วันที่ 3 ก.ย. 49 เวลา 10.30 น. ท่าน(นายกรัฐมนตรีกัมพูชา-ผู้เขียน)ไปรอตนที่เขาพระวิหาร...และบินสำรวจกันว่า จุดไหนเป็นปัญหาจะได้เคลียร์กัน เจ้าหน้าที่จะได้เดินต่อได้ ” ฟังและอ่านแล้วมีความรู้สึกเหมือนจะมาชี้แนวเขตที่ดินของตนเองเพื่อสร้างรั้วหรือไม่? นายกฯถูกว่าจ้างมาทำหน้าที่ตัดสินใจก็จริงอยู่แต่ก็ต้องกระทำบนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ ไม่สามารถจะมากล่าวอ้างได้ว่าอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็สามารถอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวทำให้ชาติเสียประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน จริงหรือไม่?

ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ในบริเวณทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา และการแก้ปัญหาความยากจนในกัมพูชาจึงอาจกล่าวได้ว่าขึ้นอยู่กับหลักที่73 ที่เป็นหลักหินเก่าๆที่ดูแล้วไม่มีราคาค่างวดใดๆ แต่เป็นจุดอ้างอิงพรมแดนทางทะเลที่เป็นรูปธรรมระหว่าง 2 ประเทศมากที่สุดหรือไม่? การเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนย้ายหลักดังกล่าวอาจมีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าที่จะบรรยายได้เพราะอาจหมายถึงการสูญเสียดินแดนหลายร้อยตารางกิโลเมตรในทะเลและเป็นพื้นที่ที่มีสมบัติซุกซ่อนอยู่ ที่ซึ่งบางคนอาจตีราคาแล้วบอกว่าคุ้มกับเขาพระวิหาร ไม่เชื่ออาจถามคนทรยศคนนั้นดูก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น