xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเร่งผุดท่าเรือเชียงแสน 2 เสร็จ 54 รับการค้าGMS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม เป็นประธานการสัมมนา การพัฒนาท่าเรือเชียงแสนและโครงข่ายเชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศ GMS
เชียงราย - รมช.คมนาคม เร่งรัดสร้างเรือเชียงแสน 2 รองรับการค้ากลุ่มประเทศ GMS ผ่านชายแดนเชียงแสนที่ล่าสุดมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท/ปี บนเนื้อที่ 402.3 ไร่ เตรียมใช้งบ 1,546.4 ล้านบาท ดีเดย์ลงเสาเอกปลายปีนี้ คาดแล้วเสร็จภายในปี 2554 ปี 2552-2554 ด้านกรมทางหลวงชนบท เตรียมสร้างถนนเชื่อมจากเชียงแสน –เมืองเชียงราย ระยะ 14.5 กม. รองรับแผนพัฒนาลอจิสติกส์

เมื่อเร็วๆนี้นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางมาเป็นประธานการสัมมนา การพัฒนาท่าเรือเชียงแสนและโครงข่ายเชื่อมโยงการค้ากับกลุ่มประเทศ GMS ที่โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย โดยมีนายนายมนัส คำภักดี ประธานกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี นายพงษ์เดช หวังสิทธิเดช รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบทและคณะ นายบุญสม ศรีสุริยะชัย ปลัดจังหวัดเชียงราย นายพิเชฐ มั่นคง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารธุรกิจ นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุม

นายนายมนัส คำภักดี เปิดเผยว่า ท่าเรือเชียงแสน ซึ่งตั้งอยู่บ้านป่าสักหางเวียง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ไม่เพียงพอรองรับต่อการเดินเรือในแม่น้ำโขง ที่ปัจจุบันมีมากขึ้น มีเรือสินค้าจากจีน แล่นเข้า-ออก ท่าเรือเชียงแสนจำนวนมาก แต่ท่าเทียบเรือที่เป็นโป๊ะลอยน้ำ สามารถรองรับการเรือได้คราวละ 6-8 ลำเท่านั้น

นอกจากนี้ มีพื้นที่รองรับสินค้าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งเพื่อเป็นการรองรับ การเดินเรือในแม่ำโขง ประเทศจีน-สหภาพพม่า-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว ) และไทย ตามความตกลงว่า ด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Agreement on Commercial Navigation On Lancang-Mekong River) และกรอบหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ (ไทย - ลาว - พม่า - กัมพูชา - เวียดนาม - จีนตอนใต้) Greater Mekong Subregion (GMS)

ดังนั้น จึงต้องเตรียมก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ขึ้น ที่บ้านสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ห่างจากท่าเรือเชียงแสนไปทางทิศใต้ ราว 6 กิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ริมสามเหลี่ยมปากแม่น้ำกก ที่บรรจบกับแม่น้ำโขง บนพื้นที่ 402.3 ไร่ ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 1,546.4 ล้านบาท เป็นงบผูกพันระหว่างปีงบประมาณปี 2552-2554

พื้นที่ ที่จะสร้างท่าเรือเป็นที่ดิน ส.ปก.4-01 ได้เวนคืนที่ดินจากเจ้าของ 19 ราย รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาทไปแล้ว รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร จ.เชียงใหม่ ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและโบราณสถาน เรียบร้อยแล้วพบว่าไม่มีปัญหาผลกระทบ ซึ่งจะเร่งเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะประกวดราคาและก่อสร้างได้ในเดือน ตุลาคมหรือพฤศจิกายน 2551 ในเวลาในการก่อสร้าง 960 วัน แล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ในปี 2554
รูปแบบท่าเรือเชียงแสน 2 ที่จะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้
ด้านกรมทางหลวงชนบทเตรียมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างถนนสนับสนุนยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์(Logistics) เชื่อมระหว่างทางหลวงหมายเลข 1129 และหมายเลข 1098 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มูลค่าก่อสร้าง 575 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อไปยังอำเภอเมืองเชียงราย และภาคกลางต่อไป

ถนนดังกล่าวเป็นช่องทางสี่เลนตัดจากบริเวณบ้านสันทรายกองงาม ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ใกล้ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ผ่านที่ลุ่มและตัดข้ามแม่น้ำกก ตามแนวถนนบ้านสันธาตุ ต.โยกนก อ.เชียงแสน ผ่านบ่านร่องโจ๊ก บ้านทับกุมารทอง ดอยผาตอง ดอยผาเรือ บ้านผาเรือ ดอยป่างิ้ว และ ผ่านทางทิศเหนือของวัดท่าข้าวเปลือก ต.ท่าข้าวข้าวเปลือก อ.แม่จัน ก่อนจะบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1098 บริเวณวัดท่าข้าวเปลือก ประมาณ กม.ที่ 14+200 รวมความยาวโครงการ 14.530 กิโลเมตร

ขณะที่นายอนุรักษ์ จุรีมาศ กล่าวว่า การสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จะเป็นประโยชน์ต่อการค้า การลงทุน ของประเทศลุ่มอนุภูมิภาคน้ำโขง โดยเฉพาะการเดินเรือในแม่น้ำโขงในอนาคตที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น การก่อสร้างจะเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทันสมัย และมีพื้นที่รองรับสินค้าจำนวนมาก ซึ่งจะเร่งรัดให้ทุกฝ่ายจัดทำแผนงานเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในการก่อสร้างท่าเรื่อแห่งนี้ต่อไป

ด้านนายประธาน อินทรียงค์ กรรมการผู้จัดการท่าเรือพาณิชย์ล้านช้าง เปิดเผยว่า การก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 จะต้องขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำโขงให้ลึกอย่างน้อย 5-10 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าจีนเดินทางได้สะดวก เนื่องจากในช่วงฤดูแล้ง เรือสินค้าจีนมักจะเกยตื้นสันดอนทรายบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และบริเวณก่อนถึงท่าเรือเชียงแสนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม อยากเสนอแนะสำหรับการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ด้วยเนื่องจากเป็นบริเวณปากแม่น้ำกกการเดินเรือเข้าเทียบท่าไม่ได้ตลอดทั้งปี และปัญหาตะกอนทราย การตื้นเขินปากแม่น้ำบริเวณเกาะช้างตาย และก่อให้เกิดสันดอนทรายซึ่งต้องศึกษาและหาทางแก้ไขด้วย

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ กล่าวว่า ท่าเรือเชียงแสน 2 จะรองรับการค้าทางเรือในแม่น้ำโขง ซึ่งมูลค่าการค้าที่ อ.เชียงแสน ในแต่ละปีมีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท ส่วน อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านแหล่งข่าว กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 ต้องเดินหน้าต่อไปถึงแม้อนาคตอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะท่าเรือเชียแสน 2 จะสามารถรองรับกับการเดินเรือในแม่น้ำโขงได้อย่างดี โดยขุดลอกแม่น้ำโขงบางช่วงได้ หากมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สหภาพพม่า และ สปป.ลาว
กำลังโหลดความคิดเห็น