xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดหลบฉากต่ออายุ ผอ.สสว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดใหญ่ สสว. หลบฉาก ไม่อยากตัดสินใจต่ออายุผู้อำนวยการ สสว. อีก 4 ปี เพราะหวั่นผู้ขอต่ออายุติดปัญหาการทำงาน ถูก สตง. ทำหนังสือให้สอบสวนใน 7 ประเด็น 30 เรื่อง พร้อมสั่งสอบ ผอ. สสว. โดยตรง เกี่ยวกับการใช้เงินไม่ถูกต้องหลายเรื่องหลายร้อยล้านบาท
ตามที่นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คนปัจจุบันทำหนังสือขอต่ออายุตัวเองอีก 4 ปี ไปยังบอร์ดบริหาร สสว. โดยขอให้มีการกำหนดการประชุมบอร์ดทั้งสองชุดไปด้วยนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยในเรื่องนี้ว่า นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอให้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดใหญ่) ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ศกนี้ และจะมีการประชุมบอร์ดชุดนี้ในเร็ว ๆ นี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า บอร์ดบริหารจะมีการประชุมในวันที่ 4 มิ.ย. หลังจากนายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ดบริหาร สสว. จะเดินทางกลับจากประเทศอาร์เจนตินาในวันที่ 3 มิ.ย. แต่ไม่ทราบว่าจะนำเรื่องการขอต่ออายุของผอ. สสว. เข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ เพราะขณะนี้ในคณะกรรมการบริหารฯ มีผู้ลาออกไปหลายคนแล้ว เพราะไม่อยากมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยหากบอร์ดบริหารเห็นชอบด้วยกับการขอต่ออายุของนางจิตราภรณ์ ก็จะเสนอให้บอร์ดชุดใหญ่ที่มีรองนายกฯสุวิทย์เป็นประธานพิจารารับรองต่อไป
"ท่านรองฯ สุวิทย์มีราชการเดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศในช่วงนี้ ไม่ได้หลบฉากอะไรใครที่ไหน ท่านเป็นคนทำอะไรตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้" แหล่งข่าวคนหนึ่งที่ทำงานหน้าห้องรัฐมนตรีอุตสาหกรรมบอกกับผู้สื่อข่าว และเผยต่อว่า การเดินทางไปราชการที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ติดต่อกันตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นการทำงานตามปกติไม่ได้หลบฉาก เรื่องมีการวิ่งเต้นอยากเป็น ผอ. สสว.แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับลงวันที่ 27 ก.พ. 51มาถึงประธานคณะกรรมการบริหาร สสว. นั้น มีสาระสำคัญว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบประเมินผล สสว.ตั้งแต่ปีงบระมาณ 2545 - 2550 ผลการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบ 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 คณะกรรมการบริหารฯยังกำหนดระเบียบไม่ครบถ้วน สสว.กำหนดระเบียบไม่สอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการบริหารฯ และ พรบ.ส่งเสริมฯ ปี 2543 ประเด็นที่ 2 การดำเนินงานเกี่ยวกับกองทุนร่วมลงทุนของ สสว.ไม่เป็นไปตาม พรบ. ประเด็นที่ 3 การลงทุนจัดตั้งบริษัทจำกัดไม่สอดคล้องกับภารกิจและวัตถุประสงค์ของ สสว.
ประเด็นที่ 4 การใช้จ่ายเงินของ สสว.ไม่เหมาะสม ไม่ประหยัดและไม่คุ้มค่า ประเด็นที่ 5 การบริหารงานพัสดุของ สสว.ไม่มีประสิทธิภาพ ประเด็นที่ 6 การดำเนินงานของ สสว. ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ประเด็นที่ 7 งบการเงินของ สสว.ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ในหนังสือดังกล่าว คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ใช้อำนาจตามกฏหมายขอให้ประธานคณะกรรมการบริหาร สสว. ดำเนินการในรายละเอียดใน 7 ประเด็นหลัก ซึ่งมีเรื่องที่ขอให้ดำเนินการรวมกันทั้งหมดจำนวน 30 เรื่อง ขอนำบางเรื่องมานำเสนอ ดังนี้
ในประเด็นที่หนึ่งมี 2 เรื่อง ประเด็นที่สองมี 4 เรื่อง มีเรื่องน่าสนใจ เช่น ให้เรียกเงินคืนจำนวน 60.21ล้านบาท ที่มีการนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าบุคลากร ครุภัณฑ์ การบริหาร การตลาด การประชาสัมพันธ์ และเบ็ดเตล็ดส่งคืนกองทุนร่วมลงทุน เพราะไม่มีระเบียบปฏิบัติ เรื่องที่สองให้ยุบเลิกกองทุนร่วมลงทุน และเรียกเงิน 2,000 ล้านบาท ส่งคืนให้สำนักงบประมาณ เรื่องที่สามให้ทบทวนการร่วมลงทุนไปทั้งหมด จำนวน 105 ราย วงเงินพันล้านบาทเศษ เนื่องจากไม่ชอบด้วย พรบ.ส่งเสริมฯ ปี 2543
ประเด็นที่สามมี 7 เรื่อง เช่น ให้ยกเลิกบริษัท ส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด และบริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด เพราะดำเนินการขาดทุนเกินกว่าทุนจดทะเบียนแล้ว และการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวไม่ชอบด้วย พรบ.ส่งเสริมฯ และให้เรียกเงินค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการบริหารของทั้งสองบริษัทคืน เพราะรับเงินเดือนอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ์รับเงินค่าเบี้ยประชุมอีก
นอกจากนั้น คือ เรื่องให้มีการชำระบัญชีบริษัทกรุงเทพเมืองแฟชั่น จำกัด เพราะขาดทุนเกินจำนวนทุนที่จดทะเบียน และให้ชำระบัญชีบริษัทค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด และดำเนินการตามกฎหมายกับคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ ให้ชดใช้เงินคืน ให้พิจารณาผลดำเนินการของ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภันฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด เพราะมีการขาดทุนสะสมในปี 2549 เป็นเงิน 346.79 ล้านบาท
ประเด็นที่สี่มี 8 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหารงานของผอ. สสว. คนปัจจุบัน เรื่องแรกเป็นเรื่องให้ดำเนินการกับนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผอ. สสว. และผู้เกี่ยวข้อง เรื่องแบ่งจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้อยู่ในอำนาจของตนเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบการรับและการเบิกจ่ายกองทุนเอสเอ็มอี โดยนำเงินในโครงการถุงผ้าพระราชทานเสริมอาชีพสร้างขวัญกำลังใจปี 2549 และปี 2550 และโครงการเผยแพร่ความรู้แก่ SMEs ไปสนับสนุนบริษัท ส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด ให้ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสของการดำเนินการ SMEs Shop Channel รวมเป็นเงิน 210 ล้านบาท และให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการเพิ่มศักยภาพของ SMEs ร่วมกับภาคเอกชน จำนวนเงิน 800 ล้านบาท และโครงการเสริมสร้างพื้นฐานทางปัญญาแก่ SMEs จำนวนเงิน 400 ล้านบาท เป็นต้น
ประเด็นที่ห้ามี 5 เรื่อง อาทิ เรื่องให้พิจารณาดำเนินการกับนางจิตราภรณ์กับพวก กรณีที่มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดทำหนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปี 2550 เป็นเงิน 40 ล้นบาท และโครงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาระหว่างประเทศเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 34 เป็นเงิน 32.23 ล้านบาท ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการจ้างออกแบบและตกแต่งภายในชั้น 23 สูงไปเป็นเงิน 3.37 ล้านบาท ชั้น G ชั้น M สูงไปเป็นเงิน 5.84 ล้านบาท หากพบว่ามีการกระทำที่มิชอบให้ดำเนินการตามกฎหมาย
ประเด็นที่หกมี 3 เรื่อง อาทิ ให้ปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณของ สสว.ใหม่ และให้ปรับปรุงโครงสร้างอัตรากำลังของ สสว. ให้ชัดเจน (มีอัตรากำลังที่ผ่านการอนุมัติ 160 อัตรา แต่มีการจ้างพนักงานสูงถึง 419 คน) ประเด็นที่เจ็ด เป็นเรื่องให้ดำเนินการให้ สสว. ส่งงบการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พรบ.ส่งเสริมฯ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ
ในหนังสือดังกล่าวขอให้ประธานคณะกรรมการบริหาร สสว. ดำเนินการและแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบภายใน 60 วัน
นอกจากทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการบริหาร สสว.แล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่องการตรวจสอบประเมินผล สสว.อีกด้วย โดยขอให้ดำเนินการ 2 ประการด้วยกันคือ ให้สำนักงบประมาณนำผลการใช้จ่ายเงินของ สสว. เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับกองทุนส่งเสริมฯให้เหมาะสมกับศักยภาพของ สสว. และให้ระมัดระวังในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในลักษณะที่อาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายของหน่วยงานนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น