xs
xsm
sm
md
lg

ส่งสัญญาณ SMEs โคม่า ปัญหารุมกระทบไตรมาส 2 ทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ  ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เตือนภัย SMEs ส่งสัญญาณเศร้า ชี้ไตรมาส 2 ยังทรุด SMEs ไทยเผชิญปัจจัยลบสารพัด ทั้งน้ำมันพุ่ง การเมืองป่วน เงินเฟ้อ คู่แข่ง และความเชื่อมั่นผู้บริโภคลด เผยตลาด และรายได้เพิ่ม แต่กำไรกลับหดกว่าครึ่ง จาก 4 แสนล้าน เหลือ 2 แสนล้าน เตรียมคลอดแพจเกจ ช่วยพยุงลมหายใจ

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า โครงการการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) ทิศทางในไตรมาสที่ 2/2551 คาดว่า SMEs ไทยคงยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน ประกอบด้วย ราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมือง อัตราเงินเฟ้อ การแข่งขันทางธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ตามลำดับ โดย SMEs ให้ความคิดเห็นว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้ส่งออกไม่ค่อยกังวลมากนัก ขณะที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจจะส่งผลต่อต้นทุนและความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ซึ่งในส่วนของสถานการณ์ทางการเมือง อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการลงทุน และสุดท้ายส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง ตามลำดับ

ทั้งนี้ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของ SMEs มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10 – 12 สร้างรายได้ประมาณ 1.30 – 1.70 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 29 – 30 จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยเริ่มมีการได้ดุลทางการค้าตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรงก็ตาม

เช่นเดียวกันกับรายได้รวมสุทธิของ SMEs ที่พบว่าในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.50 อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเพิ่ม แต่กำไรสุทธิกลับลดลง โดยในช่วงปี 2548 ถึงปัจจุบันพบว่า ส่วนแบ่งของกำไรที่ทำได้ร้อยละ 26.70 ในปี 2548 อาจจะลดเหลือเพียงร้อยละ 22 หรือจาก 400,000 ล้านบาทเป็น 220,000 บาทเท่านั้นในปี 2551 เพราะต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มมากกว่ารายได้

“ผลกำไรที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการที่ SMEs ขาดโอกาสทางการตลาด เพราะตัวเลขอื่นยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ SMEs มีจุดอ่อนด้านการจัดการตนเองเพื่อลดต้นทุน และความรู้ในการปรับตัวรับความเสี่ยง ซึ่ง 3 ดัชนีชี้วัดศักยภาพของ SMEs ชี้ว่า อัตราผลตอบแทนที่เคยทำได้ร้อยละ 8.05 ในปี 2548 อาจจะลดลงอย่างต่อเนื่องตามกำไรสุทธิที่ลดลง เหลือเพียงร้อยละ 3.69 ในปี 2551 และจะส่งผลต่อการลดลงของผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงานในปีนี้ด้วย” นางจิตราภรณ์ เผย

นางจิตราภรณ์ เผยต่อว่า สาขาที่ต้องระวังเป็นพิเศษเรื่องผลตอบแทนจากการทำธุรกิจ เพราะอาจจะประสบปัญหาขาดทุน ถึงขั้นขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในภาคการค้าและบริการ คือ สาขาบริการเสริมสร้างสุขภาพ สปา และโรงแรม ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหนัก เบา และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือ ต่อเรือ ซ่อมเรือ แก้วและเซรามิก อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากต้นทุนผลิตเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม สสว. เตรียมเสนอแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต่อนายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในสัปดาห์หน้า โดยจะออกมาตรการเป็น “SMEs แพจเกจ” ช่วยเหลือทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว

“แผนที่จะเสนอสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม SMEs ที่ท่านรองนายกฯ วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเน้นเพิ่มผลิตภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าหรือบริการ บุกตลาดเฉพาะ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ และการสร้างแบรนด์ นอกจากนั้น เป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ตามความจำเป็น เช่น สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขยายขอบเขตกองทุนฟื้นฟูเครื่องจักรไปสู่กลุ่มNon –Bank ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และใช้โอกาสจากข้อตกลง JTEPA มากขึ้น เป็นต้น” ผอ.สสว. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น