xs
xsm
sm
md
lg

แผนอุ้มดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี สะดุด! ขาดกรรมการทรงคุณวุฒิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางจิตราภรณ์   เตชาชาญ   ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
สสว. เผยแผนดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เจอตอต้องสะดุดชั่วคราว เหตุขาดคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่จากภาครัฐฯ ด้าน ผอ. สสว. เดินหน้าสานต่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 จังหวัดชายแดนใต้ กับ 10 โครงการ หวังสร้างรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 75 ล้านบาท

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าที่ทางคณะกรรมการสสว. ได้มีแผนที่จะเสนอ ต่อ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้พิจารณาขยายขอบเขตการอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้เอสเอ็มอีเป็นกรณีพิเศษ เพราะเห็นว่าเอสเอ็มอีมีปัญหาการขอสินเชื่อ ซึ่งการอุดหนุนดอกเบี้ยจะครอบคลุมสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ในสัดส่วน 2-3% ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย โดยใช้หลักการเดียวกับโครงการกองทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร นั้น

ในขณะนี้แผนดังกล่าวต้องสะดุดลงชั่วคราว เหตุเพราะยังขาดคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้ามารับผิดชอบในการตัดสินใจ เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล คณะกรรมการผู้ทรงวุฒิที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดเก่า ก็หมดวาระลง ส่งผลให้การตัดสินใจในการทำงานเร่งด่วนที่เป็นเรื่องใหญ่ ต้องชะลอไปก่อน โดยคาดว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะเข้ามารับผิดชอบดูแล สสว.ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

นางจิตราภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการ 6 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุด สสว.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพื่อการพัฒนาพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล และกระบี่ โดยมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาผู้ประกอบการเดิม และการขยายช่องทางการตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ

โดยจะดำเนินการทั้งสิ้น 10 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการปฏิบัติการส่งเสริม 2.โครงการขยายต้นแบบพัฒนาระบบ Logistic กลุ่มผู้ประกอบการเลี้ยงแพะทั้งวงจร 3.โครงการพัฒนาทักษะและเชื่อมโยงการตลาดของเครือข่ายผู้ประกอบการ 4.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการธุรกิจแพะครบวงจร 5.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปหอยเป๋าฮื้อ 6.โครงการมหกรรมสร้างผู้ประกอบการเศรษฐกิจพอเพียง 7.โครงการสร้างผู้ประกอบการเยาวชน

และ 8.โครงการจัดตั้งเครือข่ายการผลิตหัตถอุตสาหกรรมผ้าและสิ่งทอ 9.โครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดกระบี่ และ 10.โครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดสงขลาและสตูล คาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นอีกกว่า 3,000 ราย และสามารถสร้างงานเพิ่มกว่า 12,000 คน คิดเป็นรายได้จากแรงงานกว่า 60 ล้านบาท และสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและให้บริการ ไม่น้อยกว่า 75 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น