xs
xsm
sm
md
lg

“บอร์ดใหญ่” ตีชิ่งต่ออายุ ผอ.สสว.ขอต่ออายุตัวเองอีก 4 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดใหญ่ สสว.หลบฉาก ไม่อยากตัดสินใจต่ออายุผู้อำนวยการ สสว.อีก 4 ปี เพราะหวั่นผู้ขอต่ออายุติดปัญหาการทำงาน ถูก สตง.ทำหนังสือให้สอบสวนใน 7 ประเด็น 30 เรื่อง พร้อมสั่งสอบ ผอ.สสว.โดยตรง เกี่ยวกับการใช้เงินไม่ถูกต้องหลายเรื่องหลายร้อยล้านบาท

ตามที่ นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คนปัจจุบันทำหนังสือขอต่ออายุตัวเองอีก 4 ปี ไปยังบอร์ดบริหาร สสว.โดยขอให้มีการกำหนดการประชุมบอร์ดทั้งสองชุดไปด้วยนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยในเรื่องนี้ ว่า นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอให้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดใหญ่) ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ศกนี้ และจะมีการประชุมบอร์ดชุดนี้ในเร็วๆ นี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า บอร์ดบริหารจะมีการประชุมในวันที่ 4 มิ.ย.หลังจากนายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ดบริหาร สสว.จะเดินทางกลับจากประเทศอาร์เจนตินาในวันที่ 3 มิ.ย.แต่ไม่ทราบว่าจะนำเรื่องการขอต่ออายุของ ผอ.สสว.เข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ เพราะขณะนี้ในคณะกรรมการบริหารมีผู้ลาออกไปหลายคนแล้ว เพราะไม่อยากมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยหากบอร์ดบริหารเห็นชอบด้วยกับการขอต่ออายุของนางจิตราภรณ์ ก็จะเสนอให้บอร์ดชุดใหญ่ที่มีรองนายกฯสุวิทย์เป็นประธานพิจารารับรองต่อไป

“ท่านรองฯสุวิทย์ มีราชการเดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศในช่วงนี้ ไม่ได้หลบฉากอะไรใครที่ไหน ท่านเป็นคนทำอะไรตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้” แหล่งข่าวคนหนึ่งที่ทำงานหน้าห้องรัฐมนตรีอุตสาหกรรมบอกกับผู้สื่อข่าว และเผยต่อว่า การเดินทางไปราชการที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ติดต่อกันตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เป็นการทำงานตามปกติไม่ได้หลบฉาก เรื่องมีการวิ่งเต้นอยากเป็น ผอ. สสว.แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับลงวันที่ 27 ก.พ.2551 มาถึงประธานคณะกรรมการบริหาร สสว.นั้น มีสาระสำคัญว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบประเมินผล สสว.ตั้งแต่ปีงบระมาณ 2545-2550 ผลการตรวจสอบมีประเด็นข้อตรวจพบ 7 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 คณะกรรมการบริหารฯยังกำหนดระเบียบไม่ครบถ้วน สสว.กำหนดระเบียบไม่สอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการบริหารฯ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ปี 2543 ประเด็นที่ 2 การดำเนินงานเกี่ยวกับกองทุนร่วมลงทุนของ สสว.ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประเด็นที่ 3 การลงทุนจัดตั้งบริษัทจำกัดไม่สอดคล้องกับภารกิจและวัตถุประสงค์ของ สสว.
ประเด็นที่ 4 การใช้จ่ายเงินของ สสว.ไม่เหมาะสม ไม่ประหยัดและไม่คุ้มค่า ประเด็นที่ 5 การบริหารงานพัสดุของ สสว.ไม่มีประสิทธิภาพ ประเด็นที่ 6 การดำเนินงานของ สสว. ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ประเด็นที่ 7 งบการเงินของ สสว.ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

ในหนังสือดังกล่าว คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ใช้อำนาจตามกฏหมายขอให้ประธานคณะกรรมการบริหาร สสว. ดำเนินการในรายละเอียดใน 7 ประเด็นหลัก ซึ่งมีเรื่องที่ขอให้ดำเนินการรวมกันทั้งหมดจำนวน 30 เรื่อง ขอนำบางเรื่องมานำเสนอ ดังนี้
ในประเด็นที่หนึ่งมี 2 เรื่อง ประเด็นที่สองมี 4 เรื่อง มีเรื่องน่าสนใจ เช่น ให้เรียกเงินคืนจำนวน 60.21ล้านบาท ที่มีการนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าบุคลากร ครุภัณฑ์ การบริหาร การตลาด การประชาสัมพันธ์ และเบ็ดเตล็ดส่งคืนกองทุนร่วมลงทุน เพราะไม่มีระเบียบปฏิบัติ เรื่องที่สองให้ยุบเลิกกองทุนร่วมลงทุน และเรียกเงิน 2,000 ล้านบาท ส่งคืนให้สำนักงบประมาณ เรื่องที่สามให้ทบทวนการร่วมลงทุนไปทั้งหมด จำนวน 105 ราย วงเงินพันล้านบาทเศษ เนื่องจากไม่ชอบด้วย พรบ.ส่งเสริมฯ ปี 2543

ประเด็นที่สามมี 7 เรื่อง เช่น ให้ยกเลิกบริษัท ส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด และบริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด เพราะดำเนินการขาดทุนเกินกว่าทุนจดทะเบียนแล้ว และการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ และให้เรียกเงินค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการบริหารของทั้งสองบริษัทคืน เพราะรับเงินเดือนอยู่แล้ว ไม่มีสิทธิ์รับเงินค่าเบี้ยประชุมอีก

นอกจากนั้น คือ เรื่องให้มีการชำระบัญชีบริษัท กรุงเทพเมืองแฟชั่น จำกัด เพราะขาดทุนเกินจำนวนทุนที่จดทะเบียน และให้ชำระบัญชีบริษัทค้าปลีกเข้มแข็ง จำกัด และดำเนินการตามกฎหมายกับคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ ให้ชดใช้เงินคืน ให้พิจารณาผลดำเนินการของ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภันฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด เพราะมีการขาดทุนสะสมในปี 2549 เป็นเงิน 346.79 ล้านบาท

ประเด็นที่สี่ มี 8 เรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริหารงานของ ผอ.สสว.คนปัจจุบัน เรื่องแรกเป็นเรื่องให้ดำเนินการกับนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผอ.สสว.และผู้เกี่ยวข้อง เรื่องแบ่งจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้อยู่ในอำนาจของตนเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบการรับและการเบิกจ่ายกองทุนเอสเอ็มอี โดยนำเงินในโครงการถุงผ้าพระราชทานเสริมอาชีพสร้างขวัญกำลังใจปี 2549 และปี 2550 และโครงการเผยแพร่ความรู้แก่ SMEs ไปสนับสนุนบริษัท ส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอี จำกัด ให้ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสของการดำเนินการ SMEs Shop Channel รวมเป็นเงิน 210 ล้านบาท และให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินการเพิ่มศักยภาพของ SMEs ร่วมกับภาคเอกชน จำนวนเงิน 800 ล้านบาท และโครงการเสริมสร้างพื้นฐานทางปัญญาแก่ SMEs จำนวนเงิน 400 ล้านบาท เป็นต้น

ประเด็นที่ห้ามี 5 เรื่อง อาทิ เรื่องให้พิจารณาดำเนินการกับนางจิตราภรณ์กับพวก กรณีที่มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดทำหนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550 เป็นเงิน 40 ล้นบาท และโครงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาระหว่างประเทศเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 34 เป็นเงิน 32.23 ล้านบาท ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการจ้างออกแบบและตกแต่งภายในชั้น 23 สูงไปเป็นเงิน 3.37 ล้านบาท ชั้น G ชั้น M สูงไปเป็นเงิน 5.84 ล้านบาท หากพบว่ามีการกระทำที่มิชอบให้ดำเนินการตามกฎหมาย

ประเด็นที่หก มี 3 เรื่อง อาทิ ให้ปรับปรุงกระบวนการจัดทำงบประมาณของ สสว.ใหม่ และให้ปรับปรุงโครงสร้างอัตรากำลังของ สสว.ให้ชัดเจน (มีอัตรากำลังที่ผ่านการอนุมัติ 160 อัตรา แต่มีการจ้างพนักงานสูงถึง 419 คน) ประเด็นที่เจ็ด เป็นเรื่องให้ดำเนินการให้ สสว. ส่งงบการเงินตามมาตรา 30 แห่ง พรบ.ส่งเสริมฯ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบในหนังสือดังกล่าวขอให้ประธานคณะกรรมการบริหาร สสว.ดำเนินการและแจ้งผลการดำเนินการให้ทราบภายใน 60 วัน

นอกจากทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการบริหาร สสว.แล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยังได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เรื่องการตรวจสอบประเมินผล สสว.อีกด้วย โดยขอให้ดำเนินการ 2 ประการด้วยกันคือ ให้สำนักงบประมาณนำผลการใช้จ่ายเงินของ สสว. เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กับกองทุนส่งเสริมฯให้เหมาะสมกับศักยภาพของ สสว.และให้ระมัดระวังในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในลักษณะที่อาจไม่สอดคล้องกับกฎหมายของหน่วยงานนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น