xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงการเมืองวุ่น ฉุดเศรษฐกิจไทยพินาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ห่วงการเมืองวุ่น ฉุดเศรษฐกิจไทยพินาศ โตต่ำกว่า 4.5% ชี้สัญญาณร้ายการบริโภค การลงทุน และการ จ้างงาน ลดลงทุกตัว คาดซึมยาวถึงปลายปี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจลงอีก 0.5% เหลือโต 4.5-5%
นายธนวรรธ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 และแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 51 โดยจัดทำร่วมกับสำนักการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง และคลังจังหวัด ว่า หากปัญหาการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยืดเยื้อและบานปลายจนถึงขั้นเลวร้ายจะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ต่ำกว่า 4.5% ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.0-5.5% และขณะนี้สัญญาณเติบโตเศรษฐกิจในทุกด้าน และทุกภูมิภาคชะลอตัวอย่างชัดเจน
“การเมืองเป็นปัญหาที่อันตรายที่สุด เมื่อไม่มีเสถียรภาพและสถานการณ์รุนแรงถึงการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล ยุบสภา หรือเหตุการณ์ประท้วงบานปลายไปต่อเนื่อง 3 เดือน จะทำให้การบริโภคและการลงทุนหายไปหมด และเศรษฐกิจจะกลับมาถดถอยเหลือการขยายตัวเพียง 4.5% หรือหากปล่อยให้ค่าครองชีพสูงขึ้นต่อเนื่องและบ้านเมืองกลับมาวุ่นวายอีกครั้งเหมือนก่อนการเลือกตั้งเศรษฐกิจจะต่ำกว่า 4.5% ทันที แม้ไตรมาสแรกเศรษฐกิจจะโตถึง 6% แต่ไตรมาสสองก็ตกเหลือ 5% และในครึ่งปีหลังไม่แน่ว่าเท่าไรอาจโตไม่ถึง 5%”
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2551 และมีแนวโน้มที่จะปรับลดจากประมาณการเดิม 5-5.5% เหลือ 4.5-5% เนื่องจากสมมุติฐานปัจจัยเสี่ยงรุนแรงขึ้นทั้งราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ยคาดว่าไม่เกิน 130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อาจขยับถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนกระทบต่อเงินเฟ้อจากเดิมคาดการณ์ 4.8% เพิ่มเป็น 5.5-6% โดยยังคงอัตราแลกเปลี่ยน 32-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ย 3.25% และส่งออกขยายตัว 12.5-13.5% โดยเฉพาะเศรษฐกิจรวมในไตรมาส 3 น่าจะลดลงอีกและมีโอกาสถึง 4.5% เนื่องจากภาคบริโภคและลงทุนชะลอตัวและเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
สำหรับผลประเมินเศรษฐกิจทั่วประเทศสรุปว่าการบริโภค การลงทุน และการจ้างงาน มีการชะลอตัวและลดลงในไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 และกลับมาขยายตัวอีกครั้งในไตรมาส 4 โดยประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจรายภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ ใต้ กลาง กทม.ปริมณฑล ไตรมาสสองลดเหลือ 4.20% 3.60% 3.80% 6.70% 4.40% จากไตรมาสแรกที่อยู่ระดับ 4.80% 4.40% 4.70% 7.70% 5.60% ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยลบเศรษฐกิจปีนี้ คือ การปรับขึ้นของราคาน้ำมันและพลังงาน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น สถานการณ์ทางเมืองไร้ทิศทาง รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกลดลง และภาคส่งออกในบางอุตสาหกรรมส่งออกไม่ได้เต็มที่ จากปัญหาต้นทุนสูงและอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยบวกในไตรมาส 1 ที่ขยายตัวได้สูงเนื่องจากได้ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวมาพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งราคาข้าวที่ดีอย่างต้นปีไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกและแนวโน้มลดลง เพราะผลผลิตและสต๊อกในตลาดโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา คือ ค่าครองชีพและระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เร่งแก้ไขปัญหาด้านราคาพลังงานและต้นทุนผลิตที่สูงมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น