xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ธรณีพิบัติภัยในเสฉวน : ชะตากรรมหรือน้ำมือมนุษย์?!

เผยแพร่:   โดย: อรสา รัตนอมรภิรมย์

แรงสั่นไหวที่รับรู้ได้ถึงกรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2008 ทำให้พนักงานออฟฟิศตามตึกระฟ้ากลางกรุงหลายแห่งต้องวิ่งหนีกันอลหม่านลงมาตั้งหลักกันนอกอาคาร โดยไม่มีใครคาดคิดว่า นี่เป็นเพียง ‘ห่างเลข’ ของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ไกลออกไปราว 2,000 กิโลเมตร

ถอยหลังไปไม่กี่อึดใจในเวลา 14.28 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ อำเภอเวิ่นชวน ซึ่งห่างจากนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 92 กิโลเมตร ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ (ต่อมาทางการจีนได้ปรับเพิ่มเป็น 8 ริกเตอร์) นาน 80 วินาที ฉีกรอยลึก 33 กิโลเมตรจากผิวดิน และมีอาฟเตอร์ช็อก 5.0-6.0 ริกเตอร์ ตามมาอีกหลายสิบครั้ง ทางการจีนคาดการณ์ว่ายอดผู้ตายและสูญหายครั้งนี้น่าจะทะลุ 80,000 คน รวมทั้งกระทบกับชีวิตผู้คนนับ 10 ล้านคน

แผ่นโลกเคลื่อนรอยเลื่อนขยับ

ทุกครั้งที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น สิ่งที่ทุกคนตั้งคำถามคือเหตุแห่งความวิปโยคที่ยังความเศร้าโศกมาให้ ต่อกรณีแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในรอบ 30 ปีของจีนนี้ นายจางกั๋วหมิน (张国民) นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและพยากรณ์แผ่นดินไหว สำนักงานแผ่นดินไหวแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ธรณีพิบัติภัยครั้งนี้มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวระดับตื้น (shallow-focus earthquakes) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งเวิ่นชวนอยู่ในเขตรอยเลื่อนมีพลัง ‘หลงเหมินซัน’ (Longmenshan Fault / 龙门山断层) ที่มีโอกาสเกิดธรณีไหวได้ค่อนข้างสูง

ด้านผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยธรณีฟิสิกส์ แห่งบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน ศาสตราจารย์หวังเอ้อชี (王二七) อธิบายสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ว่า เกิดจากแผ่นเปลือกโลกอินเดียเคลื่อนตัวไปทางเหนือ เข้าชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ซึ่งมีที่ราบสูงทิเบตอยู่ตอนใต้ ทำให้เกิดการยกตัวขึ้นแล้วขยับไปทางตะวันออก ไปกดทับแอ่งเสฉวน จนเกิดแผ่นดินไหวขึ้น และจะส่งผล
(บรรยายใต้ภาพ : ในอดีต บริเวณขอบแอ่งเสฉวนด้านตะวันตกเฉียงเหนือเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ดังเช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.5 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1933 ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 9,300 ราย)
ภัยแล้งคือสัญญาณมหันตภัยล่วงหน้า

ว่ากันว่า ธรณีพิโรธจัดเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่ไม่อาจพยากรณ์ล่วงหน้าได้ กระนั้น นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งก็เชื่อว่า ธรรมชาติและสรรพสิ่งรอบตัว มักจะส่งสัญญาณเตือนอันตรายให้เราระวังตัวเสมอ อยู่ที่เราจะสังเกตและนำมาพินิจพิเคราะห์หรือไม่

นายเกิ่งชิ่งกั๋ว (耿庆国) นักวิจัยประจำสำนักงานแผ่นดินไหวแห่งชาติจีน ผู้เคยพยากรณ์ธรณีพิโรธที่ถังซันเมื่อปี 1976 ได้อย่างแม่นยำมาแล้ว ระบุว่า ระหว่างปี 2005-2007 เสฉวนมีภาวะภัยแล้ง ซึ่งตามบันทึกที่มีมาในประวัติศาสตร์ หลังจากภัยแล้ง 1-3ปีครึ่ง จะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวบริเวณนั้นในระดับ 6 ริกเตอร์ขึ้นไป

ตามวิทยานิพนธ์เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างภัยแล้งกับแผ่นดินไหว และการพยากรณ์ธรณีพิบัติภัยในระยะกลาง” ของนายเกิ่งชิ่งกั๋ว ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์จีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 1984 รายงานว่า ตั้งแต่ 231 ปีก่อนคริสตกาล (ปีที่ 16 ในรัชสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี) จนถึงช่วงปี 1971-2202 บริเวณอ่าวป๋อไห่และภาคเหนือของจีน เคยเกิดแผ่นดินไหวสูงกว่า 6 ริกเตอร์ถึง 69 ครั้ง โดยก่อนเกิดเหตุ 67 ครั้ง เคยเกิดภัยแล้งล่วงหน้า คิดเป็นสัดส่วน 97.1% ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นภัยแล้งล่วงหน้า 1 ปี 27 ครั้ง ภัยแล้งล่วงหน้า 2 ปี 15 ครั้ง ภัยแล้งล่วงหน้า 3 ปี 16 ครั้ง ภัยแล้งล่วงหน้า 3 ปีครึ่งอีก 9 ครั้ง

ทั้งนี้ นายเกิ่งยังชี้ว่า ภาวะภัยแล้งถือเป็นดัชนีชี้วัดในระยะกลางและระยะยาว มักจะมีระยะห่างจากการเกิดแผ่นดินไหวในช่วง 1-3 ปีครึ่ง แต่ยังมีดัชนีชี้วัดในระยะสั้น ซึ่งประกอบด้วยความกดอากาศที่ลดลงกว่าปกติและต่อเนื่องกันหลายวัน อุณหภูมิมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นหรือลดต่ำลงอย่างมาก ปริมาณฝนตกหนาแน่นในรอบทศวรรษ รวมทั้งอาจสังเกตจากพฤติกรรมแปลกๆ ของสัตว์ อาทิ กบที่ยกคาราวานออกมา ระดับน้ำใต้ดินที่ผิดปกติ ฯลฯ

มีรายงานว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวไม่ถึง 3 สัปดาห์ คือเมื่อ 26 เมษายน สระน้ำขนาด 80,000 ลูกบาศก์เมตรที่เมืองเอินซือ มณฑลหูเป่ย ซึ่งห่างจากเมืองเวิ่นชวน ศูนย์กลางแผ่นดินไหวไปทางตะวันออกราว 560 กิโลเมตร เหือดแห้งไปในเวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง เหลือเพียงปลาขนาดใหญ่เพียง 2 ตัวไว้ก้นสระ ส่วนปลาตัวเล็กตัวน้อยล้วนหายหมด

และก่อนเกิดเหตุเพียง 3 วัน ชาวบ้านพบคางคกหลายพันตัว บนถนนในเมืองเหมียนจู ที่ห่างจากเวิ่นชวนเพียง 60 กิโลเมตรและได้รับความเสียหายหนักจากเหตุธรณีพิโรธ ซึ่งชาวบ้านต่างเกรงว่าคางคกเป็นลางบอกเหตุว่ากำลังจะมีหายนะเกิดขึ้น แต่กรมป่าไม้ท้องถิ่นกลับเมินเฉย บอกเพียงว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คางคกจะอพยพย้ายที่อยู่

ต่อคำถามที่ว่าแล้วเราจะสามารถรู้ล่วงหน้าได้หรือไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ผู้เชี่ยวชาญต่างมั่นใจว่า มนุษย์มีอุปกรณ์ที่พยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้ ทว่าปัญหาคือ ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า จะเกิดขึ้น ณ จุดใด และเวลาใด

ชะตากรรมหรือน้ำมือมนุษย์?!

ภัยพิบัติครั้งนี้หากจะโยนความผิดให้ธรรมชาติเพียงอย่างเดียว คงจะเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป เพราะเราทุกคนต่างอาศัยและใช้ทรัพยากรบนโลกอยู่ทุกอณูลมหายใจ โลกที่นับวันจะแปรปรวนผวนผันมากขึ้น จึงมีน้ำมือมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ บางคนยังถึงกับลงความเห็นว่า ธรณีพิโรธครั้งนี้ ตลอดจนภัยธรรมชาติที่กระหน่ำชะตากรรมมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน ล้วนเป็น ‘บทลงโทษ’ จากพลังธรรมชาติอันยิ่งใหญ่

นายหยางหย่ง (杨勇) นักธรณีวิทยา และนักอนุรักษนิยมชื่อดังของจีน เปิดเผยว่า การสร้างเขื่อนพลังน้ำหลายแห่งบนลำน้ำหมินเจียง (岷江) ทางตอนบนของแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ทำให้โครงสร้างทางธรณีวิทยาเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดธรณีไหวครั้งรุนแรงนี้ เนื่องจากลำน้ำหมินเจียงตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหวของจีน

“อำเภอเวิ่นชวนตั้งอยู่บนเขตกันชนระหว่างที่ราบสูงทิเบตกับแอ่งเสฉวน ขณะที่ลำน้ำหมินเจียงตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ‘หลงเหมินซัน’ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มักเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อยู่บ่อยครั้ง” นายหยางหย่งอธิบาย

ที่น่าสลดใจ คือ ข้อมูลดังกล่าวนี้ กลุ่มนักอนุรักษ์จีนได้ส่งเสียงเตือนไปยังรัฐบาลจีนมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยหวังให้เกิดการทบทวนและศึกษาถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่ของจีนอย่างจริงจัง ทว่าทุกฝ่ายกลับนิ่งเฉยพร้อมเดินหน้าการก่อสร้างสถานีผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต่อไป เพื่อเร่งป้อนพลังงานสำหรับการพัฒนาประเทศที่กำลังเดินเครื่องเต็มสูบ

ขณะเดียวกัน การศึกษาของนักธรณีฟิสิกส์ตะวันตกยังพบว่า การละลายของธารน้ำแข็งขั้วโลก ยังมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว เช่นที่เคยปรากฏแล้วในอลาสก้าและแคนาดา ในทางกลับกัน ธารน้ำแข็งก็มีสรรพคุณในการถ่วงรั้งการเกิดแผ่นดินไหว

แม้จะยังไม่มีบทพิสูจน์ว่า ‘น้ำมือ’ มนุษย์ที่ได้สร้างชะตากรรมต่อโลกในหลายรูปแบบ ทั้งปัญหาโลกร้อน จนส่งผลให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายในอัตราที่น่าวิตกยิ่ง หรือ การสร้างเขื่อนน้อยใหญ่ที่กระจายตัวตามแม่น้ำฉางเจียง จะเป็นต้นเหตุแห่ง 80 วินาทีพิฆาตในอีก 88 วันก่อนโอลิมปิก 8 สิงหาคม 2008 นี้หรือไม่ แต่ด้วยเพราะ “สรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนอาศัยกันและกัน” สิ่งที่เกิดขึ้นจึงพิสูจน์แล้วว่า เราทุกคนล้วนตกอยู่ใน ‘เงื้อมมือ’ ชะตากรรมของธรรมชาติ!

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: http://www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น