น้ำตาซึมเลยครับกับการเปิดใจพูดเรื่อง “สงครามครั้งสุดท้าย” ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลในรายการยามเฝ้าแผ่นดินเมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2551 แต่หลังจากเช็ดคราบน้ำตา มานั่งนิ่ง ๆ นึกอีกที ก็ขออนุโมทนาสาธุกับการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งของผู้ที่ทั้งเป็นนาย, พี่ และครู คนนี้
แล้วก็หวนนึกถึง “ซีซี”, “ขงเบ้ง” และ “ซุยเป๋ง” ในเรื่อง “สามก๊ก” ที่อยากจะมาเล่าทบทวนให้พิจารณากัน
เมื่อเล่าปี่ไปหาขงเบ้งครั้งแรก แต่ไม่เจอตัว ระหว่างกลับไปเจอกับซุยเป๋งที่กำลังเดินผ่านมา เห็นท่าทางเหมือนผู้มีความรู้ ไม่เหมือนคนทั่วไป จึงลงจากม้าไปคาราวะ เมื่อรู้ว่าคือซุยเป๋ง เพื่อนของขงเบ้งที่สุมาเต็กโชเคยกล่าวถึง จึงชวนเสวนาด้วย เมื่อได้เสวนากันแล้ว เล่าปี่เล่าถึงปณิธานของตนที่จะกอบกู้บ้านเมือง
ซุยเป๋งเมื่อได้ทราบแล้ว กล่าวชื่นชมปณิธานของเล่าปี่ แต่ก็กล่าวว่า สิ่งที่เล่าปี่พยายามจะทำนั้นคือการฝืนชะตาฟ้า แผ่นดินนั้นแม้จะฟื้นฟูขึ้นมาแต่ก็ไม่วายต้องล่มสลายอีก การฝืนชะตาฟ้าแม้จะพยายามแค่ไหนก็ไม่สำเร็จ
เล่าปี่ได้ฟังคำของซุยเป๋งก็เข้าใจอยู่ แต่ก็ยังยืนกรานความตั้งใจของตน และถามซุยเป๋งว่าจะไปที่ไหน ซุยเป๋งตอบว่ากำลังจะไปหาขงเบ้ง เล่าปี่ก็ตอบว่า ตนไปหาขงเบ้งแล้วแต่ไม่อยู่ จึงขอชวนท่านไปอยู่กับข้าพเจ้าที่เมืองซินเอี๋ยก่อน แล้วค่อยมาหาขงเบ้งด้วยกัน
แต่ซุยเป๋งกล่าวว่า ตนเป็นเพียงคนป่าคนดอย ไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรื่องบ้านเมืองดีกว่า
ว่าแล้วก็ขอตัวจากไป
ต่อมา เมื่อเล่าปี่ไปหาขงเบ้งครั้งที่ 2 ขณะที่หิมะกำลังตกหนัก เล่าปี่ทราบจากจูกัดจิ๋น น้องชายของขงเบ้งว่า พี่ชายตนไม่อยู่ เพราะออกไปเที่ยวกับซุยเป๋ง ซึ่งบางครั้งก็ไปเล่นหมากรุกกันในถ้ำ ล่องเรือตกปลาด้วยกัน หรือไปเยี่ยมเยือนนักปราชญ์ตามภูเขาต่าง ๆ
ในสำนวนแปลของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ในช่วงนี้ ที่ถือว่าเป็นหนึ่งใน “วรรคทอง” นั้นมีว่า...
เมื่อเล่าปี่บอกชื่อแซ่และความประสงค์ที่มาหาขงเบ้งแล้ว ซุยเป๋งก็หัวเราะแล้วจึงตอบว่า
"ซึ่งแผ่นดินเป็นจลาจลจะมาหาขงเบ้งไปช่วยทำนุบำรุงให้เป็นสุขนั้น ก็เห็นว่าท่านมีน้ำใจซื่อสัตย์รอบคอบดีแล้ว แต่ว่าประเพณีแผ่นดินนี้ เกิดจลาจลแล้วก็เป็นสุขเล่า เป็นสุขแล้วเกิดจลาจลเล่า เป็นธรรมดามาแต่ก่อน แลซึ่งท่านจะคิดอ่านปราบปรามแผ่นดินอันถึงกำหนดจลาจลแล้วให้กลับเป็นสุขนั้น เกลือกจะไม่สมปรารถนา ก็จะป่วยการเสียเปล่า อันเกิดมาเป็นคนทุกวันนี้ก็สุดแต่บุญและกรรม จะหักวาสนานั้นไม่ได้"
ใน “สามก๊ก – ฉบับคนขายชาติ” สำนวนแปลและเรียบเรียงใหม่ของ “เรืองวิทยาคม” มีความพิสดารกว่า พี่น้องที่มาร่วมต่อสู้ครั้งสุดท้ายกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุลในวันสองวันนี้แล้วจากนี้มีเวลาว่าง เกรงว่าจะเหงา ควรหาสามก๊กฉบับยาวที่สุดชุดนี้มาอ่านกัน
อยู่ในเล่ม 2 (จากทั้งหมด 6 เล่มโต) หน้า 633 ตอนที่ 199 ขอไม่ลอกมานะครับ
ทัศนะของซุยเป๋ง ใกล้เคียงกับ “ซีซี” ที่ปรึกษาคนหนึ่งของเล่าปี่
“แผ่นดินจะกลับ ก็เหมือนไฟดับสิ้นแสง ถ้ากบทูจะหัก จะเอาไม้อันน้อยค้ำ มิอาจจะทานกำลังไว้ได้”
คำว่า “กบทู” หมายถึงคานยอดหลังคา
“เรืองวิทยาคม” บอกว่าในภาษาจีน ระบุความตอนนี้ไว้ว่า...
“คฤหาสน์ใหญ่ใกล้พังทลาย จะเอาเสาไม้อันน้อยค้ำนั้นไม่ได้”
คุณสนธิ ลิ้มทองกุลยืนหยัดสู้มาเกือบจะ 3 ปีเต็ม ท่ามกลางการประณามหยามเหยียดของคนที่ไม่เข้าใจ ผลที่ได้มาแม้สำเร็จในระดับหนึ่ง แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้เป็นไปดังเป้าหมายสูงสุดที่วาดหวัง เพราะขอบเขตการต่อสู้ของประชาชนคนหนึ่งในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าจะมีศักยภาพแค่ไหนก็ไม่อาจกำหนดความเป็นไปได้ทั้งหมด
ในขณะที่ผู้ไม่เข้าใจและแกล้งไม่เข้าใจประณามว่าคุณสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นผู้ออกเทียบเชิญทหารมารัฐประหาร แต่ไม่ใช่เขาคนนี้หรือที่ออกมาประณามแนวทางของคมช.และรัฐบาลที่คมช.ตั้งเป็นคนแรก ๆ
คุณสนธิ ลิ้มทองกุลไม่เคยต้องการการรัฐประหารแบบเก่า ๆ ที่สักแต่เปลี่ยนมือผู้กุมอำนาจรัฐ
แต่ก็ไม่ต้องการระบอบเผด็จการรัฐสภาที่บงการโดยทุนใหญ่
ไม่ต้องการ “วงจรอุบาทว์ใหม่” ที่จะสลับกันครองอำนาจระหว่างเผด็จการรัฐสภากับเผด็จการทหารหน่อมแน้มไร้วิสัยทัศน์
นาย พี่ และครู ของผมคนนี้เคยประกาศหยุดการต่อสู้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2550 โดยยกประเด็นเรื่อง “ซุยเป๋ง – ขงเบ้ง” มาอ้างอิงด้วย
“วันนี้เรามาทบทวนบทเรียนต่าง ๆ ของเราแล้ว พ่อแม่พี่น้อง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องปล่อยให้พวกเขาเผชิญหน้ากันเอง ...คิดให้ดี ๆ พี่น้อง ยุทธศาสตร์เราผิดหรือเปล่า ยุทธวิธีเราผิดหรือเปล่า ทำไมเราไม่ถอยออกมา อุปมาอุปไมยเหมือนสามก๊กเลย เราถอยมาก๊กหนึ่ง เราไม่ยุ่ง เราดูแลซึ่งกันและกันให้ดี สามัคคีกันให้ดี ปกป้องพวกเรากันให้ดี อย่าให้ใครมารังแกพวกเรา ส่วนการแย่งชิงอำนาจ ให้ระบอบทักษิณกับพวกเขาชิงกันเอง ให้เขาฆ่าฟันกันเอาเอง”
แต่พอรัฐบาลใหม่เหิมเกริมในอำนาจเกินไป และมีเหตุการณ์ต่างกรรมต่างวาระแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า “มีคนกำลังจะหักกบทู” ลูกจีนแซ่ลิ้มไร้ยศถาบรรดาศักดิ์ไร้เครื่องราชอิสราภรณ์ประดับหน้าอกคนแต่สำนึกในคำสั่งเสียของผู้บิดาที่ให้สำนึกในชาติไทยและพระมหากรุณาธิคุณคนนี้ก็เรียกประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทันที
แถลงการณ์ฉบับที่ 1 – 9 โดยเนื้อหาสาระแล้วไม่ได้ผิดความจริงไปเลย
การต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่เริ่มต้นตั้งแต่บ่ายสามโมงวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2551 จะจบลงแบบใดไม่สำคัญเท่ากับว่านี่คือการกระทำที่สุดกำลังสุดความสามารถของ “คนธรรมดา ๆ” คนหนึ่งกลุ่มหนึ่งที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความเจ็บปวด เปรียบเสมือน “เสาไม้อันน้อย” จะเดินหน้าต่อไปได้
สุดแต่บุญแต่กรรม – จะหักวาสนานั้นไม่ได้ !