xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิอำนาจหน้าที่ กับการส่งกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 211

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความนี้ผู้เขียนมีเจตนาที่จะเสนอข้อคิดเห็นในทางวิชาการในเรื่องหลักรัฐธรรมนูญ และจุดมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นขื่อเป็นแปของบ้านเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกรณีศึกษาในทางสาธารณะเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดผลกระทบแก่ผู้ใดทั้งสิ้น หากจะมีผลกระทบ ผู้เขียนต้องกราบขออภัยเป็นอย่างสูง

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

จากรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ในกรณีที่รัฐหรือองค์กรรัฐ (State หรือ State Organization) ได้ออกกฎหมายอันมีผลทำให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลขึ้น โดยบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ต้องการจะได้รับการเยียวยาเพราะเหตุที่ถูกละเมิดโดยผลของกฎหมายที่ได้ออกโดยอำนาจรัฐนั้นให้ยุติลง โดยบุคคลนั้นร้องขอต่อศาลให้ส่งความเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่นำมาใช้บังคับแก่คดีนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงเป็นเรื่องที่อ้างถึงการละเมิดต่อสิทธิของบุคคล อันเป็นผลมาจากการออกกฎหมายโดยรัฐหรือองค์กรของรัฐ มิใช่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคล โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาที่รัฐหรือองค์กรของรัฐได้ออกกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ หรือออกกฎหมายเพื่อจำกัดซึ่งสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสิทธิของบุคคลนั้น ๆ เสียก่อน ว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลได้หรือไม่ อย่างไร

จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้” กรณีจึงเห็นได้ว่า บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพไม่ว่าโดย “การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” หรือโดย “การกระทำของรัฐ” นั้นต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้เท่านั้น ผู้ที่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจของศาลเท่านั้น สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิในทางที่เป็นสิทธิเรียกร้อง หรือ Subjective Right บุคคลทั่วไปที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาล และไม่มีซึ่งสิทธิเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าตนเป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ หาได้ไม่

และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 การที่บุคคลจะอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เพื่อให้ศาลส่งความเห็นของตนเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อไม่ให้นำกฎหมายนั้นๆมาบังคับแก่ “ตนเอง” นั้นไม่อาจกระทำได้ แต่จะต้องเป็นเรื่องไม่ให้นำกฎหมายนั้นมา “บังคับแก่คดี” เท่านั้น กรณีจึงต้องเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นต้องเป็น “คู่ความ” ใน “คดี” คือจะต้องเป็น Case หรือ Controversy เสียก่อน จึงจะเป็นผู้มีสิทธิทำความเห็นเสนอต่อศาลให้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เพราะการที่ศาลจะส่งความเห็นของผู้ร้องซึ่งยังไม่ได้เข้ามาในคดีหรือยังไม่เป็น “คู่ความ” ใน “คดี” โดยศาลยังไม่ได้รับคำฟ้องเป็นคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดที่อ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นจะนำมาใช้บังคับแก่คดีใดในศาลนั้นได้เลย เพราะยังไม่มี “คดี” อยู่ในศาลแต่อย่างใด

และผู้ร้องที่ยื่นคำร้องก็ไม่อยู่ในฐานะเป็น “คู่ความ” ในคดี อำนาจศาลที่จะส่งเรื่องว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอำนาจที่เกิดจาก “สิทธิ” ของ “คู่ความ” เท่านั้น โดยคู่ความได้โต้แย้งขึ้นมาพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ศาลส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเรื่องที่ศาลเห็นเองก็ได้ว่า กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่ “คดี” นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อำนาจศาลที่เกิดจากสิทธิของคู่ความจึงไม่ใช่เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งศาลแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาล ถ้าไม่มีสิทธิของคู่ความในศาลแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ได้เลย

อำนาจที่เกิดจากสิทธิของคู่ความในการส่งปัญหากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เป็นกรณีที่ศาลจะใช้ดุลพินิจไม่ได้เลย เพราะจะมีผลกระทบต่อหลักความสมดุลแห่งอำนาจการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยของสามอำนาจ ซึ่งต้องมีอำนาจที่สมดุลซึ่งกันและกัน (Balance of Power) คือ อำนาจในการตรากฎหมาย (โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือรัฐสภา) อำนาจในการบริหาร (คณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล) และอำนาจตุลาการ (ศาล)

โดยอำนาจตุลาการจะไปก้าวก่ายอำนาจในการออกกฎหมาย หรืออำนาจในการบริหารไม่ได้ การใช้อำนาจตุลาการในปัญหาที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จึงเป็นอำนาจที่ถูกจำกัดให้กระทำได้เฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจได้เท่านั้น โดยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของสิทธิของคู่ความ โดยผู้ที่ร้องขอนั้นต้องเป็นคู่ความในคดีที่มาสู่ศาลแล้วเท่านั้น ถ้าไม่มีสิทธิของคู่ความอยู่ในศาลก่อนแล้ว อำนาจหน้าที่ ซึ่งศาลจะส่งปัญหากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

คำร้องขอของบุคคลภายนอกที่อ้างว่ากฎหมายขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ร้องมิใช่เป็นคู่ความในคดีหรือยังไม่มีคดีในศาล หรือยังไม่มีการฟ้องร้องคดี หรือสิทธิการเป็นคู่ความยังไม่เกิดขึ้นนั้น เป็นการร้องขอส่วนตนที่มีผลเป็นการปฏิเสธอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ตลอดจนการใช้อำนาจรัฐขององค์กรของรัฐ อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อ “หลักรัฐธรรมนูญและจุดมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” (Constitutionality and Constitution Declaration) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงและการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย

การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 โดยที่ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิของความเป็นคู่ความในคดีนั้น ย่อมเกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมา คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยจากคำโต้แย้งของผู้ที่เป็นคู่ความในคดีเท่านั้น และการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้บังเกิดผลให้นำไปใช้บังคับแก่คดีเป็นการเฉพาะเท่านั้น

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาไว้ก็ได้ ” เมื่อผู้โต้แย้งยังมิได้เป็นคู่ความ ก็จะไม่มีคำโต้แย้งใดๆของ “คู่ความ” ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยคำโต้แย้งส่วนตนของบุคคลนอกคดี ก็จะไม่มีผลที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไปใช้บังคับแก่คดีใดแต่อย่างใด เพราะยังไม่มีคดีเกิดขึ้นในศาล

แต่จะมีผลทำให้บุคคลภายนอกคดีนั้นสามารถเข้ามาใช้อำนาจทางศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดหรือทำลาย “อำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล”ได้ สามารถใช้กระบวนการทางศาลรัฐธรรมนูญ สร้างเงื่อนไข เงื่อนเวลา กับ “การใช้อำนาจของศาล”ได้ กรณีจึงกลายเป็นเรื่องที่จะทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มาใช้บังคับกับ “อำนาจศาลและอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล” หาใช่นำมาใช้บังคับแก่ “คดี” ที่เกิดขึ้นในศาลแต่อย่างใดไม่ อันเป็นปัญหาที่ “ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ” “ขัดต่อจุดมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ” และ “ขัดต่อหลักการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย”

กำลังโหลดความคิดเห็น