xs
xsm
sm
md
lg

วิบัติ 4 : เหตุแห่งวิกฤตทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะที่ผู้คนในสังคมไทยกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากราคาสินค้า และบริการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

ด้านหนึ่งของสังคมไทยได้เกิดภาวะวิกฤตทางสังคม เนื่องจากภาวะเสื่อมทรามทางด้านศีลธรรม จริยธรรม และเป็นเหตุให้ประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง จะเห็นได้จากกรณีที่มีการนำธงชาติไทยไปใช้ในโอกาสและสถานที่ที่ไม่เหมาะไม่ควร รวมไปถึงกรณีที่มีผู้แสดงพฤติกรรมไม่ลุกขึ้นยืนในขณะที่มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นต้น และนอกจากมีการแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ได้มีผู้ออกมาตอบโต้ผู้ที่แสดงอาการต่อต้านการกระทำทั้ง 2 กรณี ในทำนองว่า ไม่ผิดกฎหมายและมีสิทธิเสรีภาพในการกระทำเช่นนั้นได้ โดยไม่พูดถึงความไม่เหมาะไม่ควรในแง่ของการทำลายวัฒนธรรม ประเพณี และการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งคนไทยให้ความเคารพนับถือ และจงรักภักดีติดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน และจากพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น ถ้ามองในแง่คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็พออนุมานได้ว่า สังคมไทยวันนี้ได้เกิดวิบัติขึ้นแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วิบัติ 4 ประการที่ว่านี้ก็คือ

1. ศีลวิบัติ
2. อาจารวิบัติ
3. ทิฏฐิวิบัติ
4. อาชีววิบัติ

คำว่า วิบัติ ตามนัยแห่งอรรถาธิบายของพระพรหมคุณาภรณ์ ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม หมายถึง ความผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน ความเสียหาย ความบกพร่อง และความใช้การไม่ได้

โดยนัยแห่งอรรถาธิบายดังกล่าวข้างต้น ศีลวิบัติ ก็คือ การกระทำที่ขัดต่อศีลหรือการทำให้ศีลบกพร่องนั่นเอง และพร้อมกันนี้ผู้รจนาอรรถาธิบายได้ยกตัวอย่างว่าศีลวิบัติที่เกิดขึ้นกับพระภิกษุก็คือ พระที่ล่วงละเมิดศีลข้อปาราชิก และสังฆาทิเสส แต่มิได้ยกอุทาหรณ์เกี่ยวกับศีลวิบัติสำหรับคฤหัสถ์

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามนัยแห่งศีลวิบัติดังกล่าวข้างต้น ก็พอจะนำมาอธิบายศีลวิบัติสำหรับคฤหัสถ์ได้ โดยแบ่งตามนัยของศีลที่คฤหัสถ์สามารถสมาทานได้ดังนี้

1. ศีล 5 สำหรับสาธุชน หรือที่เรียกว่าคนดีต้องมีศีล 5 ข้อเป็นนิจศีล คือ รักษาได้เป็นประจำไม่ขาด ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็อนุโลมเรียกได้ว่าศีลวิบัติ

2. อุบาสกศีล หรือศีล 8 สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ตลอดระยะเวลาที่สมาทานวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ถ้ามีการล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกได้ว่า ศีลวิบัติ

อาจารวิบัติ หรือวิบัติแห่งอาจาระก็ทำนองเดียวกัน ถ้ามีการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อหลักแห่งจริยธรรมก็ถือได้ว่าวิบัติแห่งอาจาระ ถ้าเป็นภิกษุล่วงละเมิดอาบัติตั้งแต่ถุลลัจจัยจนถึงทุพภาสิตก็เรียกได้ว่าอาจารวิบัติ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมขัดต่อหลักจริยธรรมอันดีงามของสังคม ก็ถือได้ว่าอาจารวิบัติ

สำหรับทิฏฐิวิบัติ ก็คือ ความเห็นที่ขัดต่อความเป็นจริงหรือความเห็นผิดเป็นถูกนั่นเอง ถ้าเป็นภิกษุก็คือเห็นผิดไปจากธรรม จากวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็เห็นจะได้แก่การเห็นที่ผิดไปจากกฎเกณฑ์และกติกาที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าควร รวมไปถึงความเห็นที่ผิดไปจากคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถืออยู่

ประการสุดท้าย อาชีววิบัติหมายถึง ความวิบัติแห่งการประกอบอาชีพ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศภาวะรวมไปถึงการเลี้ยงชีพในทางที่ผิดกฎหมายด้วย ถ้าเป็นภิกษุก็คือการแสวงหาลาภสักการะในทางมิชอบ ไม่ประกอบด้วยธรรมและวินัย แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็คือการเลี้ยงชีพที่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถืออยู่

จากนัยแห่งคำจำกัดความและคำอธิบายขยายความดังกล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าผู้คนในสังคมไทยวันนี้ได้ก่อให้เกิดวิบัติข้อไหน และมีมากน้อยเพียงไร

จากข่าวพ่อข่มขืนลูก ปู่ข่มขืนหลาน และครูข่มขืนศิษย์เพียงเรื่องเดียว ก็บอกได้ว่าศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาระได้ถูกล่วงละเมิดไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่

ถ้าไล่เรียงจนครบศีล 5 ข้อ 8 ข้อ และ 227 ข้อแล้วก็พอจะวาดภาพได้ว่า ผู้คนในสังคมไทยไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ ล้วนแล้วแต่มีศีลวิบัติเกิดขึ้น และเป็นข่าวให้สังคมได้วิพากษ์กันเกือบทุกวัน

ยิ่งถ้าพูดถึงอาจารวิบัติด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ที่ก่อวิบัติในข้อนี้ เพราะเพียงออกไปเห็นพระซื้อสลากกินแบ่งฯ พระเที่ยวน้ำตก และคฤหัสถ์แต่งตัวยั่วกิเลสเห็นแล้วให้สมเพช ก็ยิ่งทำให้มองเห็นความวิบัติในข้อนี้

สำหรับทิฏฐิวิบัติเห็นได้ชัดว่ามีอยู่ดาษดื่น ทั้งในหมู่สงฆ์ที่มีการตีความ พระวินัยเข้าข้างตนเองเพื่อหวังให้เกิดลาภผล เช่น นิพพานมีตัวตน และทำบุญผ่อนส่งได้ เป็นต้น และคฤหัสถ์ที่มีความเห็นขัดแย้งสวนทางกับคนส่วนใหญ่ในเรื่องประเพณีวัฒนธรรม รวมไปถึงคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือ เช่น พวกที่บอกว่าการเอาธงไตรรงค์มาเขียนชื่อคนแล้วนำมาแขวนเชียร์ในสนามฟุตบอลไม่ผิด และเป็นเรื่องคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้าทันสมัย และการไม่ยืนเคารพในขณะที่มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ผิด และมีสิทธิเสรีภาพทำได้เพราะไม่ขัดกฎหมาย เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของคนที่จัดอยู่ในประเภททิฏฐิวิบัติทั้งสิ้น

ส่วนวิบัติประการสุดท้ายคือ อาชีววิบัติ ได้แก่ การประกอบอาชีพที่ขัดต่อศีลธรรม หรือขัดแย้งต่อกฎหมายหรือทั้งศีลธรรมและกฎหมาย เช่น พระภิกษุที่แสวงหาลาภสักการะด้วยการแสวงหาที่ไม่สมควร ไม่เหมาะกับเพศภาวะของนักบวช และคฤหัสถ์ที่เลี้ยงชีพด้วยการประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรม เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าจะดูว่าสังคมไทยเกิดวิกฤตทางสังคมเนื่องด้วยมีความเสื่อมทรามทางด้านจิตใจมากน้อยเพียงไร และมีความรุนแรงขนาดไหน ก็ขอให้ท่านผู้อ่านลองอ่านข่าวสังคม และลองเก็บรวบรวมเรื่องที่มีผู้กระทำผิด และจำนวนผู้กระทำผิด ถ้าจะให้ละเอียดและสามารถบอกถึงความรุนแรงได้ด้วยก็ให้แยกประเภทของคนทำผิด ก็จะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ไม่ต้องอะไรมาก เพียงอ่านข่าวการเมือง และพบว่านักการเมืองกระทำผิดแล้วนำมาประยุกต์เข้ากับวิบัติ 4 ประการ ก็จะพบว่าทุกวันมีข่าวนักการเมืองก่อวิบัติไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง

ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงคนปกติทั่วไปที่มิได้เป็นตัวแทนปวงชน และไม่มีสถานะทางสังคมที่ต้องระวังว่าจะกระทำผิดขนาดไหน มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เนื่องจากว่าขนาดนักการเมืองที่ใครต่อใครเรียกท่านผู้ทรงเกียรติยังทำผิด แล้วจะให้คนทั่วไปซึ่งไม่มีเกียรติค้ำคอไม่กระทำผิดเหมือนนักการเมืองได้อย่างไร

ด้วยนัยแห่งคำกล่าวข้างต้น ถ้าจะแก้ไขป้องกันมิให้ผู้คนในสังคมไม่กระทำผิดอันเนื่องด้วยวิบัติ 4 ก็ควรอย่างยิ่งที่จะเริ่มแก้ที่นักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารก่อนอื่นใด ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่คนอื่นซึ่งอยู่ในฐานะผู้ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น